APPS

สปายไม่ได้แอ้ม แจกวิธี BLOCK เส้นทางคนเจาะข้อมูล ใช้แอปฯ ไหนก็วิดีโอคอลเวิร์กได้ไม่กังวล

By: anonymK April 23, 2020

ไม่นานนี้ เราเจอเหตุการณ์ที่แม่ยื่นมือถือมาให้แก้ปัญหา เพราะเข้าจอวิดีโอคอลใน WhatsApp คุยกับญาติไม่ได้ เกิดจากบังเอิญไปจิ้มผิดปุ่มจนทำให้หน้าตา interface ที่เคยใช้ประจำกลายเป็นหน้าที่ไม่คุ้นเคย

ทุกครั้งแม่มักจะพูดเสียงอ่อย เวลามาขอความช่วยเหลือว่าดูให้หน่อยสิ โทรศัพท์มันเสียหรือเปล่า

ตอนฟัง เชื่อว่าหลายคนเป็นเหมือนกันคือรู้สึกหงุดหงิด เพราะมันก็ไม่ได้เป็นอะไร ถ้ากดปุ่ม Home มันก็กลับเข้าหน้าเดิม กดเข้าแอปฯ ได้เหมือนเดิมแล้ว แต่พอมานั่งคิดเอาดี ว่าทำไมถึงเกิดปัญหาเดิมซ้ำ ทำไมเราต้องมาเป็นคนแก้ให้ซ้ำ คำตอบง่าย ที่เจอก็คือ กลัวนั่นแหละ

กลัวอุปกรณ์พังบ้าง กลัวจะเสียเงินบ้าง

สิ่งสำคัญไม่ใช่การยอมถอยเพราะกลัวมัน แต่ต้องความเข้าใจและหาทางป้องกันมันอย่างมีประสิทธิภาพ

มันทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า แล้วเราล่ะมีอะไรที่กลัวบ้างหรือเปล่า ประจวบเหมาะกับเรื่องข่าวโดยสปายข้อมูลของการวิดีโอคอลจาก ZOOM ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ ว่าแฮกเกอร์เข้าไปป่วนดึงข้อมูลการประชุมบริษัทมาได้ เรื่องนี้ทำให้หลายคนย้ายแอปฯ ไปเลย แต่เอาเข้าจริงนี่ไม่ใช่ทางแก้ เพราะในอนาคตแฮกเกอร์ก็อาจจะเจาะเข้าไปแอปฯ อื่นที่เราใช้ได้เหมือนกัน

เราจึงขอแชร์หลักการที่ต่อให้คุณใช้แอปฯ ไหน สปายทั้งหลายก็เจาะเข้ามาไม่ได้ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

สร้างห้องต้องล็อกได้ คีย์เปิดห้องต้องแน่นหนา

เวลาเราจะ Video Meeting กับปกติเราจะต้องได้รับลิงก์ของห้องเพื่อเข้าไปก่อน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของคนสร้างหรือผู้เข้าร่วม สิ่งแรกที่ต้องระวังคือการแปะลิงก์นั้นในที่สาธารณะ เพราะถ้ามันเป็นห้องเปิดอยู่ล่ะก็ รับรองได้เลยว่ามิจฉาชีพบุกแน่นอน (แถมคนส่วนใหญ่ก็มักจะใช้ลิงก์เดิมซ้ำ เพื่อเข้าห้องเดิมที่สร้างไว้)

ขณะที่อีกเรื่องคือฟีเจอร์ล็อกห้อง ตราบเท่าที่คุณไม่ได้เปิดห้องเป็นสาธารณะ การส่งคำเชิญไปให้ใครต้องมีพาสเวิร์ดล็อกส่งไปให้ พยายามตั้งพาสเวิร์ดที่ยากกว่าปกติหน่อย อย่าให้ใครเดาได้ และอาจเปิดฟีเจอร์ล็อกห้องที่ต่อให้ได้พาสเวิร์ดมาแล้วก็ยังต้องกด Accept เพื่อเข้าร่วมอีกที จะช่วงกรองคนนอกออกไปได้

ระวังเรื่องการสื่อสาร หรือสภาพแวดล้อมที่โชว์ข้อมูลความลับ

ด้วยความที่เราไม่มีทางรู้ว่าสิ่งที่เราพูดวันนี้มันจะโดนดักฟังหรือไปโผล่ในโลกออนไลน์เมื่อไร เวลาพูดคุยในช่องทางนี้ให้ระลึกไว้เสมอว่าต้องระวังคำพูดไว้ให้ดี เลี่ยงพูดอะไรที่มันลับมาก หรือถ้าลับขนาดนั้นให้เปลี่ยนวิธีจากคุยออนไลน์ไปคุยออฟไลน์ โทรหากันจะปลอดภัยกว่า

ส่วนใครที่กลัวว่าข้อมูลในบ้าน ทั้งภาพ ทั้งหนังสือ อะไรต่อมิอะไรจะโดยขโมยไปเพื่อสร้างความเสียหายให้ใช้ฟีเจอร์เปลี่ยน Background เพื่อรักษาความปลอดภัยจากผู้ไม่หวังดีทั้งหลาย ถ้าใช้ Zoom ก็มีฟีเจอร์ที่สามารถเปลี่ยนฉากหลังได้ แต่กรณีที่ใช้ Skype ลองหันไปใช้ฟีเจอร์เบลอฉากหลังก็เพิ่มความปลอดภัยได้เช่นกัน

นอกจากนี้ถ้าใครจะเป็นต้องแชร์จอระหว่างวิดีโอเพื่อพรีเซนต์ในที่ประชุม ควรเตรียมตัวเคลียร์ Tab ต่าง ในจอก่อน หรือเลือกสกรีนถ้าให้ดีก็ให้เลือกเฉพาะหน้าที่พรีเซนต์ อย่าไปเลือกแบบ Whole Screen ที่โชว์หน้าจอเครื่องทั้งหมด เพราะหลายไฟล์งานที่เป็นความลับอาจจะหลุดไปเผยแพร่ได้

ทำความรู้จักช่องทางการใช้งานก่อนใช้งาน

แม้จะต้องเสียเวลาหน่อย แต่รู้ไว้ยังไงก็ปลอดภัยกว่า ก่อนจะใช้งานซอฟต์แวร์ทุกชนิดที่เกี่ยวกับวิดีโอ ไม่ว่าจะมาจากค่ายไหน เราควรเข้าไปอ่านหรือทำความเข้าใจมันก่อนว่ามันสามารถบันทึกจอได้ไหม หรือเช็กว่าเราใช้งานส่วนไหนได้บ้าง เวลามีคนเข้าหรือออกเราจะรู้ได้อย่างไร รวมทั้งเส้นทางการดาวน์โหลดและส่งไฟล์

เมื่อเรารู้ เราก็จะพอเห็นช่องทางประมาทอื่น ว่า หาก worse case เกิดขึ้นมันจะมาทางไหนได้บ้างและนำมาป้องกันก่อน

เลือกระบบป้องกันแบบครบวงจร

ใครที่กังวลว่า สิ่งที่เราพูดมันเสี่ยงเหลือเกิน ถ้าโดนดักจับนอนซังเตแน่ หรือถ้าคนอื่นมารู้เข้าบริษัทอาจจะเสียหาย ก็ให้เลือกดี ตั้งแต่ต้นทาง เลือกแอปฯ ที่ล็อกแน่นหนาหน่อย จะเอาระดับที่ถ้าออกหมายค้นก็ยังเข้าไปตรวจอะไรไม่ได้ระดับนั้นเขาก็มีให้เลือก

ตัวอย่างก็ล็อกครบวงจรแบบนั้นมีทั้ง Google Duo, Apple Facetime หรือถ้าเน้นเรื่องธุรกิจ เป็นหลังจะใช้ Webex จาก Cisco ก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่เราไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องใช้ เพราะบางเว็บไซต์อาจก็มีค่าใช้จ่าย ถือว่าเสนอไว้เป็นทางเลือกก็พอ

ไม่อยากให้ใครหาเจอ ให้ปิดการค้นหา

อันนี้ต่อเนื่องกับข้อที่แล้ว ปกติบางแอปฯ ที่เราใช้บัญชีล็อกอินเข้าไป อาจมีระบบ search ที่ทำให้ค้นหา ID เราเจอได้ ใครที่อยากกันแล้วกันอีก ไม่ให้คนแปลกหน้าเจาะมาถึงตัว ให้เลือกตั้งค่าระบบ ไม่ปรากฏชื่อเรายามค้นหา แต่อันนี้อาจจะใช้งานได้กับบางแอปฯ เช่น Skype หรือ Facetime

ส่วน Google Duo มีฟีเจอร์ชื่อ Knock Knock เป็นฟีเจอร์เพื่อโชว์รายชื่อของคนที่ต้องการติดต่อเราก่อนรับ ถ้าไม่อยากรับก็มีปุ่มใน Interface ให้กดเลือกปิดได้ ถือเป็นการกันปัญหาคนแปลกหน้าอย่างอยู่หมัด

อัปเดตซอฟต์แวร์เรื่อย

บางคนมักติดความรู้สึกคิดลบกับการอัปเดตซอฟต์แวร์เพราะคิดว่ามันเปลืองพื้นที่ในอุปกรณ์ แต่ความจริงแอปฯ ต่างง ที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอคอลหรือข้อมูลความปลอดภัย เราต้องพยายามติดตามและอัปเดตมันให้ถี่ ไว้ เพื่อป้องกันช่องโหว่หรืออาการบั๊กเดิม ที่คนอื่นเคยเจอ

อย่าง Zoom เองหลังจากมีข่าวด้านลบออกมา ผู้พัฒนาเขาก็ออกแพตช์อัปเดตมาให้เพิ่ม เพิ่มฟีเจอร์ปกปิด ID การตั้งรหัสผ่าน ฯลฯ ดังนั้น อย่ามองข้ามมันไปเด็ดขาด

คนที่เคยกลัวลองกลับมาเช็กตาม 6 ข้อนี้ว่าอันไหนเรายังไม่ได้ทำแล้วทำตาม แชร์วิธีไปให้ทุกคนที่อยู่ในกลุ่มรับรู้ร่วมกัน เพราะแค่ตัวคุณคนเดียวก็คงกันข้อมูลรั่วไม่ได้ ต่อไปเวลาคอลจะได้สบายใจขึ้น ถ้าเราเลือกจะสู้อย่างเข้าใจ ยังไงผลลัพธ์ก็ดีกว่าอยู่แล้ว

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line