Work

สำรวจความคิด วิธีการทำงานของ BOB DYLAN ราชาเพลงโฟล์คและนักแต่งเพลงระดับโลก

By: PERLE August 21, 2018

ถ้าพูดถึงศิลปินระดับตำนานที่ยังมีลมหายใจชื่อแรก ๆ ที่ทุกคนน่าจะพร้อมใจพูดถึงคงหนีไม่พ้น Paul McCartney, Eric Clapton, Keith Richards, และแน่นอนว่าต้องมี Bob Dylan รวมอยู่ในนั้นด้วย

แต่จากลิสต์ที่กล่าวมาปู่ Bob Dylan ของเราดูจะผ่าเหล่าผ่ากอที่สุดเนื่องจากคนอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่มีฝีมือชั้นอ๋องในศาสตร์ด้านดนตรีและร้องเพลงด้วยกันทั้งนั้น ต่างจากราชาเพลงโฟล์คที่เคยออกมายอมรับว่าเสียงร้องและฝีมือกีตาร์ของเขานั้นไม่ได้ดีเด่อะไรเลย เข้าขั้นห่วยด้วยซ้ำในวงการดนตรีอาชีพ แต่สิ่งที่ทดแทนข้อด้อยเหล่านั้นคือฝีมือการแต่งเพลงที่ยอดเยี่ยมถึงขนาดที่ Rolling Stone นิตยสารดนตรีระดับโลกจัดอันดับให้ Bob Dylan เป็นนักแต่งเพลงอันดับ 1 ในประวัติศาสตร์วงการดนตรีเลยทีเดียว

แม้ว่าฝีมือการแต่งเพลงของเขาจะร้ายกาจเพียงใดก็คงไม่เพียงพอให้เขาอยู่บนบัลลังก์ค้างฟ้ามาจนทุกวันนี้แน่นอน วันนี้ UNLOCKMEN เลยจะพาไปดูวิธีการทำงานและแนวคิดของราชาเพลงโฟล์คคนนี้กัน

Learning from the Best

ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิดและ Bob Dylan ก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้ตอนนี้เขาจะเป็นโคตรของโคตรอาจารย์แห่งวงการดนตรีไปแล้วแต่กว่าเขาจะมาถึงจุดนี้ได้เขาเองก็มีอาจารย์เหมือนกัน

‘Woodie Guthrie’ คือชายที่เป็นทั้งอาจารย์ แรงบันดาลใจ และแนวทางการดำเนินชีวิตให้กับ Bob Dylan ก็ว่าได้ ถ้าใครเป็นแฟนเพลงของทั้งคู่คงสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายที่คล้ายกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องเนื้อหาที่เน้นการเสียดสีการเมืองและสไตล์อื่น ๆ ในบทเพลง ถึงแม้ว่า Woodie Guthrie จะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1967 แต่ Bob Dylan ก็ยังคงยึดมั่นในแนวทางที่อาจารย์ของเขาวางไว้ให้เสมอมา

Practicing Your Art

อาจจะฟังดู Cliche แต่มันก็เป็นสัจธรรมที่ว่าถ้าคุณไม่ฝึกฝนคุณก็ไม่มีวันเชี่ยวชาญ และสำหรับ Bob Dylan ไม่ใช่แค่ฝีมือการเล่นดนตรีและร้องเท่านั้นที่ดีขึ้นจากการฝึกฝน แต่มันยังช่วยให้ข้อความในบทเพลงที่เขาต้องการสื่อสารชัดเจนขึ้นอีกด้วย

เช่นเดียวกับนักดนตรีทั่วไป ดนตรีของ Bob Dylan ก็ถือกำเนิดจากบาร์เล็ก ๆ ในย่าน Greenwich Village ช่วงยุค การตระเวณเล่นดนตรีโฟล์คพร้อมกีตาร์คู่ใจอยู่หลายปีเป็นเหมือนถังไม้โอ๊กที่หมักบ่มตัวเขาจนสุกงอมและเป็นบันไดขั้นสำคัญในการก้าวขึ้นเป็นศิลปินระดับตำนานได้ในที่สุด

Speaking to Your Audience

‘Speaking’ ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายตรงตัว แต่หมายถึงการเข้าใจความต้องการและความคาดหวังของเหล่าแฟน ๆ ซึ่ง Bob Dylan ก็อ่านคนดูได้อย่างเฉียบขาด เขารู้ว่าคนที่มาดูการแสดงของเขาต้องการอะไร ควรจะสื่อสารและวางตัวแบบไหน

Bob Dylan เป็นผู้เชี่ยวชาญในการสื่อสารกับเหล่าแฟน ๆ ดังนั้นเขาจึงแต่งเพลง Masters of War  และ Blowin ‘in the Wind ขึ้นมาเพื่อเป็นกระบอกเสียงไปถึงทุกคนที่ติดตามเขาว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับสงคราม

Delivering Quality Content

‘Content is king’ วลีไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ที่เต็มไปด้วยการสร้างสรรค์คอนเทนต์เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน อาจจะเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการแต่ปลายทางก็ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนที่จะนำเสนออะไรสักอย่างสู่ผู้ชมจึงต้องคิดให้รอบด้านว่าข้อความที่ต้องการสื่อสารคืออะไร ภาษาที่จะใช้ในการสื่อสาร และผู้ชมจะเข้าถึงหรือมีส่วนร่วมได้อย่างไร

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า Dylan รู้ดีว่าเสียงและฝีมือดนตรีของเขานั้นไม่โดดเด่น ดังนั้นคอนเทนต์ที่เขาจะนำเสนอต่อผู้ชมจึงต้องมากกว่านักร้องนักดนตรีทั่วไป ดังนั้นเขาจึงทุ่มเทให้กับเนื้อหาและภาษาที่อยู่ในบทเพลง ใส่เอกลักษณ์การอุปมาเข้าไปและถ่ายทอดข้อความออกมาให้สวยงามราวบทกวี ดึงดูดผู้คนให้หลงใหลในบทเพลงของเขาทดแทนข้อด้อยของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม

Surprising Your Audience

การเป็นตัวของตัวเองเป็นเรื่องดี แต่บางทีถ้าคุณนำเสนอสิ่งเดิม ๆ แก่ผู้ชมติดต่อกันเป็นระยะเวลานานผู้ชมอาจเกิดความเบื่อหน่ายในผลงานของคุณได้ ดังนั้นการรักษาสมดุลระหว่างแนวทางตัวเองกับการพยายามพลิกแพลงนำเสนอสิ่งแปลกใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หากต้องการประสบความสำเร็จ

ในงาน Newport Folk Festival 1965 Bob Dylan ที่มักจะทำการแสดงคนเดียวพร้อมกีตาร์คู่ใจได้สร้างความประหลาดใจให้แก่เหล่าคนดูเบื้องล่างด้วยการขนนักดนตรี Backup มาเล่นในรูปแบบเต็มวง นอกจากนั้น Bob Dylan ราชาเพลงโฟล์คยังเปลี่ยนสไตล์มาเล่นเพลงตัวเองในรูปแบบร็อคอีกด้วย ด้วยความแปลกใหม่นี้ส่งผลให้การแสดงของ Bob Dylan ที่ Newport Folk Festival 1965 เป็นหนึ่งในการแสดงที่น่าจดจำที่สุดของตัวเขา

Working with the Best

ไม่ว่าจะเป็นการทำงานรูปแบบไหนการมีเพื่อนร่วมงานที่รู้ใจหรือมี Teamwork ที่ดีย่อมส่งผลให้ผลลัพธ์ของงานออกมาเป็นที่น่าพอใจ เช่นเดียวกับวงการดนตรี กว่าครึ่งศตวรรษในเส้นทางสายนี้ Bob Dylan ได้ร่วมงานกับอัจฉริยะด้านเสียงเพลงหลายต่อหลายคนเช่น Johnny Cash, Pete Seeger, George Harrison, Roy Orbison แน่นอนว่าเมื่ออัจฉริยะโคจรมาเจอกับอัจฉริยะ ผลงานที่ออกมาจึงยอดเยี่ยมขึ้นไปอีก

Using Visuals and Props

ในบางครั้งถึงแม้ว่าข้อความและเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอนั้นจะน่าสนใจเพียงใดแต่ถ้ารูปแบบในการนำเสนอไม่ดึงดูดสิ่งนั้นก็อาจจะไปไม่ถึงปลายทาง

Bob Dylan รู้ดีว่าเนื้อหาเพลงของเขานั้นลึกซึ้งและอาจเข้าถึงได้ยาก ดังนั้นใน MV หลายตัวของเขาจึงพยายามใส่ความสร้างสรรค์ในการนำเสนอเข้าไป ที่เด่นชัดที่สุดคือเพลง Subterranean Homesick Blues ยากที่จะเชื่อว่า MV นี้จะมีอายุกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ยังดูสดใหม่ราวกับเดินทางข้ามกาลเวลามา

ถึงแม้คุณจะไม่ได้อยู่ในวงการดนตรีแต่แนวคิดและวิธีการทำงานของ Bob Dylan นั้นสามารถปรับใช้ได้กับงานแทบทุกประเภทบนโลกใบนี้ และเชื่อเถอะว่ามันจะเป็นประโยชน์กับตัวคุณอย่างแน่นอน การันตีด้วยความสำเร็จอันยาวนานของราชาเพลงโฟล์คผู้นี้

 

SOURCE1

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line