Business

เบื่องานจังทำไงดี ? เข้าใจหน้าที่ของความเบื่อและวิธีการรับมือกับมัน

By: unlockmen September 24, 2020

เคยรู้สึกเบื่องานกันบ้างไหม? รู้สึกว่างานที่ทำอยู่ช่างไม่มีความสุขเอาซะเลย?

หลายคนน่าจะเคย และรู้สึกว่า ความน่าเบื่อ (boredom) เป็นพิษภัยต่อการทำงานอย่างมาก เพราะมันทำให้ ‘ซัฟเฟอร์’ กับการทำงาน ทำให้รู้สึกว่าต้องอดทนทำงานไปวันๆ ไม่มีแพสชั่นกับสิ่งที่ทำอยู่เลย ผลร้ายที่สุด คือ ทำให้ไม่สามารถก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ และท้ายที่สุดก็อาจลาออกจากงาน

แต่ไม่ว่าความน่าเบื่อจะเป็นพิษกับเรามากแค่ไหน เราก็อาจจะขาดความเบื่อไม่ได้! เพราะมันเหมือนเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีวิวัฒนาการและไม่หยุดนิ่ง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?  วันนี้ UNLOCKMEN จะพาทุกคนไปเข้าใจอาการเบื่อ และแนะนำวิธีการป้องกันและหลีกเลี่ยงผลเสียจากมัน เพื่อให้ทุกคนมีความสุขในชีวิตการทำงาน

 

 

หลายคนพอได้ยินคำว่า “น่าเบื่อ” จากอารมณ์ดีอยู่ๆ ก็อาจหม่นหมองได้ เพราะทำให้นึกถึงอะไรลบๆ หลายอย่าง แต่อย่าเพิ่งดาวน์นะ! ทำใจให้สบายๆ แล้วมาฟังเราอธิบายเรื่องความเบื่อเสียก่อน ไม่แน่ว่าหลังจากอ่านบทความนี้จบ คุณอาจเปลี่ยนมุมมองต่อความน่าเบื่อก็เป็นได้!

ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญได้ชี้ให้เราเห็นว่า ความน่าเบื่อมีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน เพราะถ้าเราไม่เบื่อ เราคงไม่ออกจากสถานการณ์ที่ทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตของตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นในเรื่องงาน ความเบื่อจะเตือนเราว่า งานที่เราทำอยู่อาจไม่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายในการทำงานของตัวเอง (เช่น มีเงินเก็บมากพอที่จะซื้อรถยนต์ภายใน 2 ปี หรือ ไต่เต้าขึ้นไปทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นไม่ได้ เป็นต้น ) และความเบื่อยังเป็นสัญญาณเตือนด้วยว่า เราอาจกำลังทำในสิ่งที่ไม่อยากทำอยู่ และผลักดันให้เราเปลี่ยนเป้าหมายเป็นสิ่งอื่นที่ดีกว่าด้วย

 

 

Andreas Elpidorou ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ ได้เขียนในบทความเชิงวิชาการของเขา “The bright side of boredom” ว่า ความน่าเบื่อเป็นสัญญาณเตือนว่าเรากำลังอยู่ในภาวะหยุดนิ่ง มองไม่เห็นเป้าหมายของตัวเอง และถึงเวลาที่เราจะต้องเปลี่ยน

ความน่าเบื่อผลักดันให้เราตามล่าเป้าหมายและทางเลือกที่มีความน่าดึงดูดมากกว่า พร้อมกระตุ้นให้เราออกจากสถานการณ์ที่น่าเบื่อและไม่ท้าทาย และยังช่วยให้เรากลับมามีมุมมองต่อกิจกรรม (เช่น งาน) ที่เราทำอยู่ว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายและสอดคล้องกับโครงการทั้งหมดของเรา แต่สิ่งที่ทำให้เราหายจากความเบื่อได้ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนกิจกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเปลี่ยนจากสถานการณ์ที่ไม่น่าสนใจ ไม่เติมเต็มความต้องการ หรือ ไม่เร้าใจ ไปยังอีกสถานการณ์หนึ่งที่รู้สึกได้ว่าน่าพอใจกว่า และสอดคล้องกับแผนและความปราถนาของเรามากกว่า

ความน่าเบื่อจะมีหน้าที่อยู่ 2 อย่าง ได้แก่ 1.ช่วยให้เรารู้ว่า ตัวเองกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ห่างไกลจากความสนใจของตัวเอง ผ่านการสร้างความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ เพื่อกระตุ้นให้เราเปลี่ยนไปอยู่ในสถานการณ์ที่น่าพึงพอใจและมีความหมายมากกว่า 2.ช่วยให้เราเห็นความสำคัญของความต้องการของตัวเอง โดยการส่งเสริมให้เรายึดมั่นในสิ่งที่เราสนใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เราติดกับดักทางอารมณ์ และความไม่มีชีวิตชีวาในระยะยาว


 

ความเบื่อเป็นอารมณ์ร้ายที่เกิดขึ้น เพื่อกำกับดูแลและสองส่องพฤติกรรมของเรา มันเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การพักผ่อนไม่เพียงพอหรือขาดสารอาหาร ขาดสิ่งกระตุ้นทางจิตใจ (เช่น เป้าหมายในการทำงาน) ขาดความสามารถในการเลือกหรือการควบคุมในชีวิตประจำวัน ขาดความสนใจ กลัวว่าจะทำผิดพลาด ทำกิจกรรมเดิมซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลานานเกินไป ฯลฯ

นักวิจัยบอกว่า บุคลิกภาพก็ส่งผลให้เรา ‘ไว’ ต่ออาการเบื่อเหมือนกัน โดยคนที่ไวต่อความเบื่อสูงจะมีอาการเหล่านี้ ได้แก่

  1. รู้สึกเบื่อง่ายกว่าคนอื่น แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่คนอื่นรู้สึกว่าน่าสนใจและเร้าใจก็ตาม
  2. ไม่สามารถรักษาสมาธิให้จดจอหรือสนใจอยู่กับเรื่องที่ตัวเองทำ
  3. ไม่รู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ หรือ ไม่รู้จุดประสงค์ในสิ่งที่ตัวเองทำ
  4. มักท้อแท้ง่าย หงุดหงิดง่าย เบื่อหน่ายง่าย แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยเร้าใจ หรือ สถานการณ์ที่ท้าทายมากๆ ก็ตาม
  5. ไม่ค่อยชอบคิด
  6. มักเจอข้อผิดพลาดในการทำงานทั่วไป (common tasks) มากกว่าคนอื่น
  7. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความสัมพันธ์ในระดับสังคมแย่
  8. ไม่พึงพอใจในชีวิตและการงาน

นอกจากอาการแย่ๆ เหล่านี้ ความน่าเบื่อที่มากเกินไปก็อาจส่งผลเสียอีกหลายอย่างเหมือนกัน โดยงานวิจัยบอกว่า ความน่าเบื่อมีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ ซึมเศร้า วิตกกังวล รวมถึงความโกรธและความเกรี้ยวกราดด้วย แถมยังเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ที่ย่ำแย่อีกต่างหาก เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ติดยาเสพติด การพนัน พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ฯลฯ

ดังนั้น เราจึงไม่ควรเพิกเฉยต่อความรู้สึกเบื่อ แต่หันมารับมือกับมันอย่างจริงจัง ซึ่งเราได้นำคำแนะนำของ David Sturt และ Todd Nordstrom จากสถาบัน โอ.ซี.แทนเนอร์ (O.C. Tanner Institute) บริษัทด้านการรับรองลูกจ้าง (employee recognition) ให้ทุกคนนำไปใช้เป็นแนวทางรับมือกับความเบื่อกัน!

 

โอบรับความรู้สึก

บางครั้งเราพยายามต้านความเบื่อโดยการเลิกสนใจมัน เช่น พยายามทำตัวให้ยุ่งตลอดเวลา หรือ หาสิ่งอื่นๆ ทำเพื่อละความสนใจจากมัน (วิธีการดังกล่าวไม่ใช่วิธีการรับมือกับความเบื่อที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ทำให้ความเบื่อหายไป) สิ่งที่เราควรทำมากกว่าก็คือ ลองกลับมาคิดทบทวนหาต้นเหตุของความเบื่อดูว่าเกิดจากอะไร ? ความปราถนาใดในเรื่องงานที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ? และหากเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการคิด ก็ควรหยุดงานหรือพักร้อนถ้าจำเป็น

 

คิดถึงคนอื่น

ความเบื่อมักมาคู่กับความเห็นแก่ตัวเสมอ เพราะเวลาเราเบื่อ เรามักคืดถึงแต่ความเจ็บปวดของตัวเอง จนไม่คิดถึงความรู้สึกของคนอื่น ถ้าเราลองปรับโฟกัสจากเรื่องของตัวเองไปเป็นเรื่องของคนอื่นบ้าง ลองคิดว่าการทำงานของเราจะส่งผลดีต่อคนอื่นอย่างไร ก็น่าจะเป็นวิธีการรับมือกับความเบื่อได้ดีขึ้น วิธีการนี้ยังส่งผลดีต่อการสร้างสรรค์โปรเจกต์ (หรือ ผลงานประเภท นวัตกรรม หรือ งานเขียน) ด้วย เพราะโปรเจกต์ที่ได้รางวัล มักเริ่มต้นจากคำถามประมาณว่า สิ่งที่สร้างจะส่งผลกระทบที่คนอื่นชื่นชอบได้อย่างไร ?

 

เพิ่มความท้าทายให้ชีวิต

ความซ้ำซากจำเจ (monotony) มักเป็นต้นเหตุที่ทำให้เราเกิดอาการเบื่อหน่าย และธรรมชาติของเรามักตอบสนองต่อความซ้ำซากโดยการตามหาตัวกระตุ้นภายนอก เช่น งานใหม่ ตำแหน่งใหม่ หรือ คนใหม่ที่จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้เรา วิธีการรักษาที่ดีที่สุดเกิดขึ้นจากตัวกระตุ้นภายใน ลองยกระดับเป้าหมายและความคาดหวังของตัวเองดู คิดใหญ่ทำใหญ่ แล้วแรงบันดาลใจ คุณค่า รวมถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็จะตามมาเอง

 

ดูผลที่เกิดขึ้นด้วยสายตาตัวเอง

หลังจากที่ได้ทำตาม 3 ขั้นตอนที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เรื่องสำคัญที่ต้องทำต่อมา คือ ต้องรู้ว่าตัวเองได้สร้างอิมแพคอย่างไรกับคนอื่น ลองคิดถึงผู้รับงานของคุณ (อาจจะเป็นลูกค้า เพื่อนร่วมงาน หรือ ชุมชนเฉพาะ) ความตั้งใจของคุณอาจเพื่อสร้างอิมแพคที่พวกเขารัก แต่คุณอาจไม่มีวันรู้จริงๆ เลยว่าตัวเองได้สร้างอิมแพคอะไรไว้ หากคุณไม่ได้เห็นมันด้วยสายตาของตัวเอง (งานวิจัยบอกว่า คนที่ไปดูการรับส่งงานของตัวเองด้วยตัวเอง จะมีแพสชั่นในงานของตัวเองมากกว่าคนอื่น 17 เท่า)

 

ทำงานเดิมซ้ำๆ จนรู้สึกเบื่ออีกครั้ง

พอเป็นเรื่องความน่าเบื่อ การทำอะไรซ้ำๆ เพื่อรับมือกับความน่าเบื่อ อาจฟังดูคลีเช่ แต่ที่ต้องทำแบบนี้ก็เพื่อให้ตัวเองรู้ว่า สิ่งที่ทำอยู่มันเป็นปัญหาที่กลับมาเกิดซ้ำอีกครั้ง (คือ ทำกี่ครั้งก็เบื่อ) และปล่อยไว้แบบนี้ไม่โอเค ความเบื่อทำให้เรารู้ว่ามันถึงเวลาที่จะต้องเริ่มเปลี่ยน ต้องมีความคืบหน้า และต้องตามหาความพยายามใหม่ ไอเดียใหม่ และความท้าทายใหม่ ที่จะเติมเต็มความปราถนาของเราให้มากกว่าเดิม

 


Appendix: 1 / 2 / 3

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line