Life

ว่างงาน-เลิกจ้าง-เจ็บป่วย เพราะ COVID-19 อย่าท้อ รวมวิธีขอเงินชดเชยยังชีพจากประกันสังคม

By: anonymK March 23, 2020

หนึ่งในสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของการทำงาน คือยังไม่ได้ทำใจในวันจากลา

เหตุผลนี้กลายเป็นวิกฤตสำคัญของสถานการณ์ Covid-19 ไปเรียบร้อย บางคนโดนลอยแพกระทันหัน บางคนยังไม่รู้ชะตากรรม ตกงานระนาว ส่วนหนี้สินที่รุงรังอยู่ยังไม่รู้จะเริ่มสางตรงไหน เพราะมันไม่ได้หยุดทำงานเหมือนเรา

เรื่องนี้อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมาจากประกันสังคมและกระทรวงแรงงานว่าผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบ Covid-19 เพื่อให้เรายังพอมีเงินยังชีพระหว่างที่ขาดรายได้ โดยใครที่เข้าเกณฑ์เงื่อนไขใดในนี้ สามารถไปเข้าไปกรอกเพื่อรับสิทธิ์เงินสมทบได้ตามที่กำหนด

Keyword: เพื่อให้อ่านต่อเนื่องจากนี้ไปแล้วเข้าใจมากขึ้น เราอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจรูปแบบการเป็นผู้ประกันตนมาตราต่าง ๆ ก่อนว่าเราเข้าข่ายแบบไหน และแต่ละคนมีความแตกต่างอย่างไร

  • ผู้ประกันตน มาตรา 33 = พนักงานเอกชนทั่วไป
  • ผู้ประกันตน มาตรา 39 = เคยเป็นพนักงานแต่ลาออกและต้องการความคุ้มครองต่อเนื่อง
  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 = อาชีพอิสระ/แรงงานนอกระบบ หรือผู้ที่ต้องการทำประกันสังคม ไม่เคยทำมาก่อน ต้องมีอายุ 15-60 ปี

 

เงื่อนไข

แน่นอนว่าการคุ้มครองแรงงานในสถานการณ์นี้ ถึงจะบอกว่าช่วยเยียวยาแต่ก็มีเงื่อนไข โดยเงื่อนไขครั้งนี้คือลูกจ้างที่สามารถรับสิทธิ์ได้ ต้องส่งประกันสังคมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ถ้าคุณเข้าเงื่อนไขนี้ก็ขอให้ข้ามไปดูต่อได้ว่าคุณอยู่ในข่ายผู้ได้รับผลกระทบแบบไหน

นายจ้างสั่งหยุดงานเพราะ Covid-19

  • หน่วยงานภาครัฐ: ประกันสังคมสั่งจ่าย 50% ของเงินเดือน (ไม่เกิน 7,500 บาท) ระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน
  • หน่วยงานเอกชน: ประกันสังคมสั่งจ่าย 50% ของเงินเดือน (ไม่เกิน 7,500 บาท) ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน

เลิกจ้างเพราะ Covid-19

  • ผู้ประกันตนว่างงานจะได้รับเงิน 70 %ของเงินเดือนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน

ลาออกพราะ Covid-19

  •  ผู้ประกันตนที่ว่างงานจากกรณีลาออกได้รับเงิน 45 % เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

 

ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

ไม่ใช่แค่รายได้หลักที่ขาดหายแล้วได้รับกลับมาเท่านั้น แต่รายจ่ายอย่างอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่เราและนายจ้าง รวมถึงผู้ประกันตนทั้งหลายโดนหักทุกเดือน ๆ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการยกร่างเสนอกระทรวงแรงงานและครม. พิจารณาความเห็นชอบให้ออกประกาศฯ ลดอัตราเงินสมทบอีกด้วย โดยอ้างอิงมาตรา 46/1 การลดหย่อนอัตราเงินสมทบในกรณีประสบภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ประเภทของผู้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  • นายจ้าง (มาตรา 33) จากเดิมส่งอัตราเงินสมทบ 5% เหลือ 4%
  • ลูกจ้าง (มาตรา 33) จากเดิมส่งอัตราเงินสมทบ 5% เหลือ 4%
  • ผู้ประกันตน (มาตรา 39) จากเดิมส่งอัตราเงินสมทบ 9% เหลือ 7%

ขณะเดียวกันยังขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 สำหรับงวดค่าจ้างตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ออกไปอีก 3 เดือน

เรียกง่าย ๆ ว่ายอดเดิมของเดือนมีนาคมสามารถยืดยกไปจ่ายกรกฏาคมได้ ส่วนยอดเมษายนก็ย้ายไปจ่ายสิงหาคมได้ และยอดพฤษภาคมก็สามารถจ่ายในเดือนกันยายน ตามลำดับ ที่สำคัญการลดอัตราเงินสมทบยังไม่ส่งผลกับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับอีกด้วย

ระยะเวลาการใช้สิทธิ์: 6 เดือน นับตั้งแต่งวดค่าจ้างประจำเดือนมีนาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2563

 

ผู้ประกันตน 39 และ 40 ไม่มีบริษัทหนุนหลัง เป็นโควิดต้องทำอย่างไร?

จบจากเรื่องเงิน มาปิดท้ายเรื่องการรักษากันบ้าง เพราะถ้าคนจะป่วยอะไรก็มาฉุดไม่อยู่ทั้งนั้น เรื่องน้ีคนที่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ก็ค่อนข้างจะสบายใจกันอยู่แล้วว่าบริษัทคงยังไม่ลอยแพ และช่วยดูแลเรื่องค่ารักษาให้ แต่ผู้ประกันตน มาตรา 39 กับผู้ประกันตน มาตรา 40 หลายคนคงสงสัยว่าถ้าป่วยจะรอดไหม เพราะงานก็รับลำพัง ส่งประกันก็ส่งลำพัง

เรื่องนี้นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยว่าสิทธิประโยชน์ด้านการรักษายังคงใช้แม้จะได้รับเชื้อ Covid-19 โดยแบ่งรายละเอียดออกได้ดังนี้

ผู้ประกันตน มาตรา 39: สามารถเข้ารักษาได้ในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ที่เลือก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เว้นกรณีฉุกเฉินให้เข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ หากแพทย์พบว่าติดเชื้อ Covid-19 จะได้รับเงินค่าทดแทนการขาดรายได้และต้องหยุดงานตามคำสั่งแพทย์ ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง (วันละ 80 บาท)

ผู้ประกันตน มาตรา 40: สามารถขอเข้ารักษาโดนใช้สิทธิ์ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) และหากพบว่าป่วยต้องหยุดพัก จะได้รับค่าทนแทนการขาดรายได้สูงสุดวันละ 300 บาท ไม่เกิน 90 วัน

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวสิทธิ์ของคนทำงานในช่วงวิกฤตนี้ เราอยากให้ทุกคนรู้ว่าทุกปัญหายังมีทางออกเหลืออยู่เสมอ แม้มันจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพียงพอกับสถานการณ์ที่ต้องใช้จ่ายจริง แต่ก็ยังดีกว่าเราไม่มีหนทางตั้งตัวแล้วตกงานโดยไม่มีเงินติดประเป๋า

ใครที่สงสัยอยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506 ที่สำคัญ หากคุณเข้าข่าย อย่าพลาดการลงทะเบียนภายใน 30 วันหลังรับผลกระทบ รู้แล้วแจ้งเลย ได้ดำเนินการไวกว่าย่อมดีที่สุด

 

SOURCE

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line