Business
การโกหกต้องมีคนเจ็บเสมอ! ว่าด้วยผลเสียของการโกหก และการทำงานของสมอง
By: unlockmen October 12, 2020 189452
เรารู้จักการโกหกกันมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เราอาจเคยโกหกพ่อแม่ เวลาทำข้าวของในบ้านเสียหาย เพราะกลัวโดนดุ พอโตขึ้นมาหน่วยเป็นวัยรุ่น เราอาจโกหกครูประจำชั้นว่ารอยช้ำบนหน้าเกิดจากการหกล้ม ไม่ได้ทะเลาะวิวาทกับใครมา พอเข้าวัยทำงาน เราอาจเคยโกหกเจ้านายว่าป่วย เพื่อขอโดดงาน
กล่าวได้ว่าคนทุกเพศทุกวัยรู้จักการโกหก แต่การโกหกก็มีพร้อมราคาที่ต้องจ่ายอยู่เสมอ! UNLOCKMEN อยากอธิบายเรื่องนี้ผ่านหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่าการโกหกทำงานกับสมองของเราอย่างไร
การโกหก (lying) เป็นการหลอกลวงแบบหนึ่งที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน การโกหกรูปแบบหนึ่งเรียกว่า การโกหกทั้งหมด หรือ ‘lies of commission’ เป็นการพูดในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงเลย เช่น โกหกพ่อแม่ว่าไปอ่านหนังสือ เพื่อจะได้ไปเที่ยวกลางคืน หรือ โกหกเจ้านายว่าป่วย เพื่อที่จะได้หยุดงาน เป็นต้น
บางเคสการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว (half – truth) ก็ถือว่าเป็นการโกหกเหมือนกัน เช่น สมมติว่าเราจะซื้อรถมือ 2 แล้ว พนักงานขายรถบอกเราว่า รถยนต์คันนี้เพิ่งผ่านการใช้งานไม่นาน เจ้าของไปนอก สภาพเหมือนใหม่ แต่เขาไม่ได้บอกเราว่า รถคันนี้เคยจมน้ำหรือชนจนเสียหายยับเยิน เพราะอยากขายรถให้เราให้ได้ แบบนี้เป็นการโกหกประเภทที่เรียกว่า การโกหกด้วยการละเว้น หรือ ‘lies of omission’
การโกหกอีกรูปแบบหนึ่งคือ โกหกเพราะสถานการณ์บังคับ ‘lies of influence’ หมายถึง การพูดในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับความจริง หรือใส่ร้าย เพื่อหลีกเลี่ยงความจริง ยกตัวอย่างเช่น การตอบไม่ตรงคำถาม เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบคำถาม หรือ การตอบปฏิเสธเพื่อให้ตัวเองดูดี
สรุปการพูดโกหก หมายถึง การพูดในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง เป็นความจริงบางส่วน หรือ นอกเรื่อง เพื่อหลอกลวงและทำให้อีกฝ่ายเข้าใจผิด อาจมีเจตนาเพื่อให้ตัวเองได้ผลประโยชน์ เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือเพื่อให้ตัวเองดูดีในสายตาของคนอื่น
อย่างไรก็ตาม บางครั้งการโกหกก็ทำด้วยเจตนาที่ดีเหมือนกัน อย่างในภาษาอังกฤษมีคำว่า ‘white lies’ หรือ การโกหกสีขาว ซึ่งหมายถึง การโกหกเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายต้องรู้สึกแย่หากรู้ความจริง โดยเคสที่เห็นได้บ่อย คือ การโกหกผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงและอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน (เช่น มะเร็งระยะสุดท้าย) เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องรู้สึกเสียใจ และใช้ชีวิตอย่างมีกำลังใจต่อไป
จึงเกิดข้อถกเถียงกันว่า บางครั้งการโกหกก็เป็นสิ่งที่ควรทำได้หรือไม่?
ผู้เชี่ยวชาญบางคน เช่น บาร์บาร่า กรีนเบิร์ก (Barbara Greenberg) นักจิตวิทยาคลินิก ให้ความเห็นว่า การโกหกสีขาวแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจ ช่วยให้คนไม่ต้องได้รับความเจ็บปวดโดยไม่จำเป็น และเป็นการแสดงความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์
ในขณะที่ ดร.จูเลีย บรูเออร์ (Dr. Julia Breur) นักบำบัดครอบครัวและการแต่งงาน มองว่า การไม่พูดความจริงส่งผลเสียต่อตัวผู้พูดมากกว่า และมีผลเสียในระยะยาว โดยคนที่ชอบตอบคนอื่นว่า “ทุกอย่างราบรื่น” (“all is good”) เวลาถูกถามเรื่องชีวิต เช่น ธุรกิจช่วงนี้เป็นไงบ้าง หรือสุขภาพของพ่อแม่ที่ป่วยหนัก เพื่อหลีกเลี่ยงการอธิบายถึงความสาหัสของอาการป่วย พวกเขามักต้องเผชิญกับประสบการณ์ที่ตรึงเครียดถ้าพ่อแม่เกิดอาการทรุดหนัก
อีกทั้งการโกหกสีขาว แม้จะหวังดี แต่ก็นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันได้ และแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์ด้วย
ว่ากันว่าในสมองส่วน dorsolateral prefrontal cortex อาจเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการหลอกลวง การพูดโกหก หรือ พูดความจริง ดังนั้น หากสมองส่วนนี้ทำงานผิดปกติ เราก็อาจจะควบคุมตัวเองให้เป็นคนซื่อสัตย์ไม่ได้ และมักโกหกคนอื่นอยู่เสมอ
งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากวารสาร Nature Neuroscience (2014) ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่สมองส่วน dorsolateral prefrontal cortex เสียหาย กลุ่มที่สมองส่วนอื่นเสียหาย และกลุ่มควบคุมที่มีสมองปกติ โดยแต่ละกลุ่มจะได้เล่นเกม 2 เกม เป็นเกมที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเรื่องจำนวนเงินที่จะเก็บไว้กับตัวเอง หรือ ให้กับคนอื่นที่ไม่รู้จัก และมีเพียงหนึ่งเกมที่ใช้วัดความซื่อสัตย์ของผู้เข้าร่วมการทดลอง
เกมแรก พวกเขาต้องเลือกระหว่าง 2 ข้อ ได้แก่ 1. เก็บเงิน 10 เหรียญฯ และให้อีกคน 5 เหรียญฯ หรือ 2. เก็บเงิน 5 เหรียญฯ และให้อีกคน 10 เหรียญฯ โดยช้อยส์แรกเป็นตัวเลือกที่แสดงถึงความเห็นแก่ตัว
ส่วนอีกเกมหนึ่งจะให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเลือกส่งข้อความให้คนอื่นระหว่าง 1.“ออฟชัน A เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณ” หรือ 2.“ออฟชัน B เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณ” หลังจากนั้น ผู้รับข้อความจะต้องเลือกว่าจะเอาออฟชันไหน เกมนี้การกระทำที่แสดงถึงความเห็นแก่ตัว คือ การส่งข้อความที่ทำให้คนอื่นเข้าใจผิด เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์
ผลการทดลองพบว่า ในเกมที่ไม่ได้ใช้ความซื่อสัตย์ ผู้ป่วยที่มีความเสียหายในสมองส่วน dorsolateral prefrontal cortex จะมีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่มีสมองปกติ หรือกลุ่มควบคุม
แต่ในเกมที่ต้องใช้ความซื่อสัตย์ ผู้ป่วยที่มีความเสียหายในสมองส่วน dorsolateral prefrontal cortex จะตั้งใจโกหกเพื่อผลประโยชน์ทางการเงินของตัวเอง มากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าสมองส่วน dorsolateral prefrontal cortex มีบทบาทสำคัญต่อความพฤติกรรมซื่อสัตย์และเห็นแก่ตัวของเรา
จากผลการทดลอง หมิ่ง ซู (Ming Hsu) ผู้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ ได้อธิบายว่า ที่ผู้ป่วยสมองส่วน dorsolateral prefrontal cortex (DLFC) เสียหาย แสดงพฤติกรรมซื่อสัตย์ได้น้อยกว่าคนอื่น แสดงให้เห็นว่า DLFC ทำให้เกิดพฤติกรรมซื่อสัตย์ และ DLFC เป็นสมองส่วนที่ควบคุมกระแสประสาทอัตโนมัติ (automatic impulses) ดังนั้น ผลการวิจัยจึงแสดงให้เห็นว่า การแสดงความซื่อสัตย์ในเวลาที่การโกหกจะให้ประโยชน์มากกว่า เกิดจากความสามารถในการควบคุมตัวเอง (ซึ่งสมองส่วน DLFC ช่วยให้เราควบคุมตัวเองได้นั้นเอง )
ถ้าเราเป็นคนที่โกหกบ่อยๆ เราอาจจะมีความบกพร่องด้านอารมณ์ได้ เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากวารสาร Nature Neuroscience (2016) ที่ได้ศึกษาสมองส่วน amygdala (ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองทางอารมณ์ของเรา) และพบว่า ยิ่งเราโกหกมากเท่าไหร่ amygdala ยิ่งทำงานน้อยลงเท่านั้น กล่าวคือ ยิ่งเราโกหกมากขึ้นความรู้สึกผิดต่อการโกหกก็จะยิ่งน้อยลงตามมา
อย่างที่กล่าวไปว่า การโกหกเป็นนิสัยที่ไม่ดี เพราะทำให้เราสูญเสียความไว้วางใจจากคนรอบข้าง และการโกหกบ่อยๆ จนติดเป็นนิสัย จะทำให้เราอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ลำบาก เพราะคนชอบโกหก (liars) มักไม่ได้รับการยอมจากคนในสังคม อีกทั้งในการทำงาน ถ้าเราเป็นคนชอบโกหกก็อาจถูกเหม็นขี้หน้าจากเพื่อนร่วมงาน และไม่มีอยากทำงานร่วมกับเราได้
นอกจากนี้ การเป็นคนโกหกยังส่งผลต่อสุขภาพจิตใจของเราด้วย เพราะทำให้เรากลัว…กลัวว่าความลับจะถูกเปิดโปง และการเก็บความจริงไว้ในใจคนเดียวก็ทำให้เราเครียดได้เหมือนกัน ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเลิกนิสัยโกหก เพื่อหยุดยั้งผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราในระยะยาว อาจเริ่มจากการพูดคุยขอรับการสนับสนุนจากคนที่เราไว้วางใจ ระลึกถึงผลเสียของการโกหกไว้เสมอ ระบุเหตุผลที่ทำให้เราชอบโกหก พยายามพูดความจริงให้ได้มากที่สุดและรีบสารภาพเมื่อโกหก และที่สำคัญ คือ พยายามรักษาความซื่อสัตย์ต่อคนอื่นให้ได้มากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม การโกหกก็อาจจะเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากความผิดปกติในร่างกาย หรือ เป็นอาการของโรคที่ควรได้รับการรักษา เช่น โรคหลอกตัวเอง (Pathological Liar) ที่ผู้ป่วยจะมีอาการชอบพูดโกหกเพื่อเรียกร้องความสนใจ ใครที่พบว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีอาการ เช่น ชอบเล่าเรื่องที่ตัวเองเป็นตัวเอก หรือ ตกเป็นเหยื่อ เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือ ความสงสาร ตอบคำถามอย่างรวดเร็ว แต่คำตอบค่อนข้างคลุมเครือ หรือ ไม่ตอบไม่ตรงคำถาม เป็นต้น ก็อาจเข้าข่ายเป็นโรคหลอกตัวเอง และควรได้รับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญ