Business

CONVERSATION WITH อมร ทรัพย์ทวีกุล แม่ทัพ EA ผู้บุกเบิกธุรกิจพลังงานทางเลือกหมื่นล้าน

By: anonymK September 13, 2018

รู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้ขณะที่เรากำลังชื่นชมปรากฏการณ์การใช้พลังงานทดแทนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์ พลังงานลม หรือรถยนต์ไฟฟ้าสุดเฉียบแบรนด์ Tesla ที่มีเจ้าของผู้โด่งดังอย่าง ‘Elon Musk’

บนขวานทองของเราเองก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากัน หลายคนอาจไม่รู้ว่าเรามีโรงไฟฟ้าโซลาร์ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 90 เมกะวัตต์จำนวน 3 โรงบนพื้นที่หลายพันไร่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เตรียมจ่ายไฟเข้าระบบ มี Charging station นับ 100 แห่งที่ติดตั้งไว้สำหรับรถยนต์ EV

ที่สำคัญ เรายังเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทยได้ที่ผลิตขึ้นจากฝีมือคนไทยเอง อยู่ระหว่างเตรียมผลิตเพื่อจำหน่ายปีหน้าที่จะถึงนี้ด้วย

แล้วมันอยู่ที่ไหนกัน? เพื่อคลายข้อสงสัยเราจึงขอพาทุกคนไปเห็นกับตาผ่านการพูดคุยกับ คุณอมร ทรัพย์ทวีกุล หนึ่งใน co-founder ผู้ปลุกปั้น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือที่คุ้นหูในชื่อ Energy absolute (EA) บริษัทที่อยู่ใน Top List ด้านพลังงานทางเลือกครบวงจรเบอร์ใหญ่สุดของประเทศไทยขณะนี้

 

หลักกิโลเมตรที่ศูนย์จากไบโอดีเซล

ก่อนจะเป็นผู้สร้างความโดดเด่นด้านพลังงานทางเลือก เวทีที่คุณอมรโลดแล่นคือโลกทางธุรกิจจากสายอาชีพที่ใช้ชื่อไม่คุ้นหูว่า “วาณิชธนากร (Investment Banker)” ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัททั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับการเงินและการลงทุน รวมไปถึงช่วยกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ จึงมีดีกรีเก็บดีเทลกิจการเก่งไม่แพ้เจ้าของกิจการ

ด้วยวิสัยทัศน์ด้านการเงินที่หล่อหลอมมายาวนาน ทำให้มีความฝันการเป็นเจ้าของธุรกิจติดตัว ประกอบกับการจับพลัดจับผลูให้คำปรึกษาลูกค้าที่ประกอบกิจการด้านไบโอดีเซลและตั้งใจขายธุรกิจนี้ให้กับคุณสมโภชน์ เขาจึงดำเนินการและเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างกิจการนี้จากศูนย์มาจนประสบความสำเร็จ การเข้ามาทำธุรกิจครั้งนี้ไม่ใช่เข้ามาแบบสุ่มสี่สุ่มห้า แต่มาจากหลายปัจจัยที่พิจารณาแล้วมั่นใจว่า ‘ลงตัว’

เรื่องแรก คืออายุกับภาระผูกพันที่ยังน้อย หากล้มก็ลุกขึ้นใหม่ได้ และเรื่องที่สองคือจังหวะขาขึ้นของธุรกิจที่ดูมีอนาคต เพราะช่วงเวลานั้นพลังงานทางเลือกได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล มีร่างกฎหมายให้น้ำมันพื้นฐานรถยนต์ต้องเพิ่มส่วนผสม ดีเซลต้องผสมไบโอดีเซล ส่วนเบนซินต้องผสมเอทานอล

สำหรับการลงทุนในธุรกิจที่คาดเดาหัวก้อยไม่ได้ในครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยเม็ดเงินจำนวน 50 ล้านบาท และระดมทุนต่อยอดพร้อมพัฒนาไปทีละก้าวสั้น ๆ เพราะข้อจำกัดเรื่องทุน แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราได้คลุกคลีศึกษาลึกซึ้งทุกกระบวนการ จึงทำให้แม้จะเดินหน้ายากกว่าคนอื่นเล็กน้อย แต่ความเข้าใจที่มากกว่าก็เป็นข้อดีให้สามารถประยุกต์ธุรกิจให้ได้ตามต้องการ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า กระทั่งมีผู้เล่นมากขึ้น ทำให้มีความผันผวนเพิ่มขึ้น แม้ปิดงบปลายปปีจะเป็นบวกแต่ก็ไม่ทำให้สบายใจมากนัก จึงถึงคราวกระจายความเสี่ยงด้วยการหาธุรกิจอื่นที่สามารถนำมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทมากขึ้น

 

Zero to Hero ทุนร้อยล้าน โปรเจกต์หมื่นล้าน

คุณอมรเล่าเป้าหมายถัดมาที่ EA เลือกต่อจากการทำธุรกิจไบโอดีเซล นั่นคือการสร้าง “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 จำนวนโรง ผลิตไฟฟ้ารวม 270 เมกะวัตต์” ถือเป็นความท้าทายที่คนภายนอกคงมองว่ามุทะลุ เพราะไม่เฉพาะตัวเค้าและบริษัทที่ไม่คุ้นเคยกับธุรกิจนี้มาก่อน คนในสังคมเองก็ยังมองไม่เห็นภาพความสำเร็จของมันด้วย แต่ถ้าได้ฟังการวางแผนความเสี่ยงสุดรัดกุมในครั้งนี้ คงยากที่คุณจะอดใจไม่ปันเงินไปร่วมทุนกับธุรกิจที่อนาคตสดใสตัวนี้อย่างแน่นอน

“ตอนนั้นช่วงปี 52 เข้าใจว่าบ้านเราใหม่มาก พูดไปคนก็ยังไม่เข้าใจว่าแผงโซลาร์เซลล์ทำไฟได้จริงหรือเปล่า เราเริ่มศึกษาจนไปยื่นเอกสารขอขายที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เราเองก็นับเป็นเจ้าแรก ๆ ย่ิงด้วยไซส์ธุรกิจตอนนั้นมันเล็ก เรามีทุนอยู่ร้อยกว่าล้าน โปรเจ็กต์ที่จะทำประเมินการลงทุนออกมา 2 หมื่นกว่าล้าน แต่ที่เราเลือกเดินไปเพราะเรามีแผนในหัวแล้วว่าจะหาเงินยังไง

เราวางแผนตั้งแต่วันที่ยื่นเอกสารว่าโรงไฟฟ้าแต่ละโรงต้องเสร็จปีไหน วางแผนการการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนมาสร้าง ฉะนั้นช่วงปลายปี 52 เป็นต้นมา เราเตรียมตัวเข้าตลาด ปรับโครงสร้างองค์กร พิสูจน์ตัวเองมาทีละก้าว โน้มน้าวเพื่อกู้เงินธนาคารมาครั้งแรกจำนวน 600 ล้านบาท รวมกับเงินทุนของเราจำนวน 200 ล้านบาท ซื้อโรงไฟฟ้าขนาดเล็กขนาด 8 เมกะวัตต์ที่มีใบสัญญาซื้อขายไฟมาแล้ว นำมาสร้างจนสำเร็จปี 55 พอเริ่มดำเนินการ

โชคดีมันออกมาค่อนข้างดี เลยทำให้เราสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 56 จากนั้นเราได้ทุนมาจำนวนสามพันล้านบาท เราใช้เงินพันกว่าล้านมาสร้างโรงไฟฟ้าโรงแรก มันเป็นลำดับที่เราวางและคำนวณไว้หมดแล้วเพื่อเราจะได้เอาเงินมาหมุนต่อกันไปเรื่อย ๆ ถามว่าถ้าวันนั้นผมไม่มีโรงไฟฟ้าโรงนั้น ผมว่าคงเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้และไม่มีวันนี้”

โมเดลโซลาร์ที่สำเร็จทำกำไรได้ดีเกินคาด ลงทุนไปเมกะวัตต์ละ 100 ล้าน ก็ยังให้ผลตอบแทนดี แต่ก่อนจะเริ่มต้นทำโรงที่สอง เขาก็ต่อยอดริเร่ิมสิ่งใหม่อย่างการขายพลังงานลม, การทำแบตเตอรี่เก็บพลังงาน, ปั๊มเติมพลังงานไฟฟ้า (energy station) และ รถยนต์ EV ตามลำดับ เจาะตลาดความเสี่ยงสูงที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้ากระโดดเข้าไปเล่น

“โดยธรรมชาติของคนทำธุรกิจเนี่ย เมื่อคุณเห็นคนทำแล้วกำไรดี มันก็เหมือนเรียกแขก คนจะมาเล่นด้วยเต็มไปหมด ที่เรายื่นไว้ 270 เมกะวัตต์มันเป็นทุนที่ทำให้เราเติบโตต่อได้ และนอกจากธุรกิจโซลาร์ เราก็เริ่มมองไปที่พลังงานลม คนยิ่งมองว่าเสี่ยง ก็ยิ่งไม่ยุ่ง ทำให้คู่แข่งไม่เยอะมากนัก แต่ข้อเสียของ Renewable คือเรื่องการควบคุม ถ้าคุณสั่งมันในเวลาที่ต้องการไม่ได้ คุณไม่มีวันทำให้บริษัทโตอย่างยั่งยืนด้วยธุรกิจนี้ได้ เพราะมิชชั่นการไฟฟ้าคือการห้ามไฟดับ ถ้าเรากำกับไม่ได้ renewable จะเป็นได้แค่ตัวเสริมเท่ ๆ เพื่อสนองนโยบายรักสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

เราเลยศึกษาเรื่องเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน เพราะเรามองเห็นแนวโน้มเติบโตชัดเจน แล้วถึงเริ่มมองหาว่าใครเก่งในตลาดนี้ ดูข้อมูล บินไปพิสูจน์ จากคอนเนคชั่นที่ลิงก์ต่อกันไป ทำให้รู้ว่าที่จริงแล้วคนเอเชียเก่งเรื่องนี้มากกว่ายุโรป ช่วงนั้นประเทศที่เก่งมีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

เผอิญเราโชคดีได้คำแนะนำไปเจอบริษัทที่ไต้หวัน ชื่อ Amita เป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่ทำแบตเตอรี่มา 20 ปีแล้ว Founder ของเค้ามีแพสชันในเรื่องนี้ คุยกันเป็นปีกว่าจะมาวางแผนธุรกิจด้วยกัน

เราถามเขาว่าราคา Energy Storage มันลงไปถึงจุดที่เราคำนวณไว้ไหม เขาบอกว่ามันถึงนะ แต่วันนี้ยังไม่ถึง ตรวจสอบกันอยู่นานจนเรามั่นใจว่า คนนี้แหละคือคนที่เหมาะจะร่วมงานกับเรา เราเลยเริ่มซื้อหุ้นเขาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนวันนี้ผมถือมา 70% เป็นผู้ถือหุ้นหลักของที่นี่แล้ว”

นอกจากโปรเจ็กต์หลักเรื่องการเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ ด้วย mission ที่ต้องการให้เมืองไทยก้าวสู่ยุค 4.0 และเป็น Smart City เต็มรูปแบบ จึงทำให้เขาต่อยอดสร้างสถานีชาร์ตไฟฟ้า ‘EAAnywhere’ ตามจุดต่าง ๆ ก่อนคนอื่น และก่อนที่จะมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนถนนซะอีก เมื่อครอบคลุมพื้นที่บางส่วนแล้วจึงถึงเวลาลงมือทำรถยนต์ EV โดยศักยภาพคนไทยทั้งคัน จนได้ต้นแบบออกโชว์ในงาน Motor Show 2018 ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า ‘Mine Mobility’ ถึง 3 ประเภท ได้แก่ City EV, MINE MPV, รถ SPORT EV  และจะนำมาประกอบเพื่อจำหน่ายจริงภายในปีหน้านี้ ส่วนเป้าหมายอนาคตที่ตั้งไว้คือการทำให้เมืองไทยเป็น Hub ด้านพลังงานทดแทนที่ยิ่งใหญ่

 

KEY SUCCESS WITHOUT TURNKEY

สำหรับคนภายนอกการซื้อ Turnkey หรือโครงการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จคือเรื่องยอดนิยม แต่สำหรับที่ EA เอกลักษณ์และกุญแจไขความสำเร็จคือองค์ความรู้ที่ได้จากคนในชาติ ซึ่งสามารถรับประกันศักยภาพได้ด้วยสายตาชาวโลก

“บริษัทผมส่วนใหญ่ ถ้าคนไทยทำได้ ผมใช้คนไทยทั้งหมด ผมว่าคนเริ่มรู้แล้วในวงการว่าบริษัทนี้ไม่ค่อยใช้ turn key ของเมืองนอก ความเชื่อมั่นมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เริ่มจากโรงงานไบโอดีเซล คนไทยก็ทำได้ครับ โรงไฟฟ้าผมก็ใช้คนไทยออกแบบระบบทั้งหมด บริษัทต่างประเทศที่ทำ insurance มาตรวจสอบ เขาจะเขียนชื่นชมในรายงานเสมอว่า very high standard และ low risk ครับ”

 

UNLOCK BIZ POTENTIAL

ใครที่อยากได้ไกด์ไลน์การทำธุรกิจใหม่ที่ต้องรับความเสี่ยงระดับนี้ แต่ขับเคลื่อนพลด้วยกองทัพขนาดเล็กได้ UNLOCKMEN แอบกระซิบถามรุ่นพี่ของเราคนนี้ให้แล้ว คำตอบของงานนี้ไม่ใช่แค่ฝันแล้วออกไปทำเพราะเบื้องหลังต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ

1. เตรียมเก็บข้อมูลธุรกิจที่สนใจให้เยอะ และตรวจสอบข้อมูลที่ได้ว่าแม่นยำถูกต้องจริง

2. วางแผนประเมินความเสี่ยงของโมเดลธุรกิจ และหาวิธีปิดความเสี่ยงนั้น ก่อนตัดสินใจเริ่มลงมือทำตามแผน

3. ติดตามกระแสโลกกับสิ่งที่ต้องการลงทุนว่าไปมีทิศทางเดียวกันไหม และหมุนตามให้ทัน

4. สร้างธุรกิจสำเร็จมีหัวใจสำคัญถัดมาคือการพัฒนา ถ้าไม่วิ่งต่อเนื่อง คนอื่นจะวิ่งแซงเราไปในที่สุด

5. ทุกปัญหามีทางแก้เสมอ เมื่อเราพยายามมากพอ บางครั้งทางแก้อาจไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็ยังมีทางเสมอ

6. ทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งโอกาส ดังนั้นอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง

สุดท้ายสนามรบในใจคือสิ่งสำคัญ คาถาทางใจของคุณอมรที่เราฟังแล้วชอบและอยากให้ชาว UNLOCKMEN นำไปประยุกต์ใช้ก่อนไปสร้างธุรกิจจริงของตัวเอง คือ การยอมรับและกล้าเผชิญหน้ากับเรื่องเหนือความคาดหมายได้อย่างมีสติ

“คุณ aim high ได้นะ หวังร้อยได้ แต่คุณต้องทำใจเวลาคุณได้ไม่ถึงร้อยด้วย ถ้าคุณรู้สึกว่ามันแย่ วันนี้ทุกคนมันแข่งกันหมด ไม่มีใครที่ยืนกับที่เฉย ๆ เพราะฉะนั้นโอกาสที่คุณจะได้ร้อยตลอดทุกครั้งมันเป็นไปไม่ได้

คุณต้องรับได้ในบางครั้งที่มันไม่เป็นไปตามแผน เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว คุณต้องเรียนรู้กับมันดีกว่า ถ้าไปรอบนี้คุณแพ้ หรือไปแล้วไม่ได้ที่หนึ่ง ได้ที่สาม รอบหน้าทำยังไงให้ได้ที่สอง เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ และไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่”

แนวคิดดี ๆ แบบนี้เป็นที่มาของการเปลี่ยนหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สังคมที่พวกเรากำลังจะได้เห็นในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า

….. แล้วเราล่ะอยากจะเปลี่ยนอะไรในอนาคต

 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line