Life

ฉลาดจริงหรือแค่ขี้อวด? “วิธีกระชากหน้ากากคนอวดรู้แต่รู้ไม่จริง” ใน 5 ขั้นตอน

By: PSYCAT March 27, 2018

โลกเต็มไปด้วยความหลากหลายของมนุษย์ บางคนเก่งด้านนี้ บางคนฉลาดด้านนั้น เราต่างมีความสามารถเป็นของตัวเอง หรือแม้แต่การไม่รู้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด แต่ที่โคตรไม่เข้าใจคือ “พวกกูก็ไม่รู้ แต่กูอยากอวด” หรือพูดง่าย ๆ ว่าอวดฉลาดไปทั่ว พูดเหมือนตัวเองรู้ทุกอย่าง เอาล่ะ ไม่ว่ากัน ถ้าใครอยากแชร์ความรู้ เราก็พร้อมฟัง แต่ถ้าเกิดเอะใจสงสัยว่าอีตาคนนี้มันรู้จริงไหมหรือมันแค่อวดว่ารู้มั่ว ๆ ? เราก็มี 5 หนทางดีต่อใจมาให้ลองเช็คกัน

พุ่งคำถามเข้าใส่

การจะเช็คว่าใครรู้จริงไหม เราไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ มากมายแต่อย่างใด แค่คำถามง่าย ๆ โยนลงไปกลางวงก็พอ คนที่รู้ว่าตัวเองมีพื้นฐานการคิดเรื่องนั้น ๆ แน่นอยู่แล้ว เขาก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ซ้ำยังจะตอบคุณกลับมาอย่างง่ายดาย เพราะคิดว่าคุณไม่เข้าใจ แต่พวกฉลาดปลอม ๆ แต่ชอบอวด จะติดแหง็กทันที ถ้าเจอคำถามง่าย ๆ เช่น “ทำไมคุณถึงเชื่อว่า … ล่ะครับ” หรือ “อธิบายเรื่อง … ที่คุณพูดเมื่อกี๊เพิ่มอีกหน่อยได้ไหมครับ” ถ้าตอบไม่รู้ เราก็ไม่ว่ากัน เพราะคนเรารู้อะไรไปหมดทั้งโลกไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าอึกอักแล้วทำโกรธใส่ หรือโยนกลับมาว่าคนถามนี่โง่เองที่ไม่รู้ ก็แสยะยิ้มมุมปากให้นายขี้อวดได้เลย

พูดถึงคนที่มีความสามารถในฟิล์ดนั้น ๆ

ถ้านายอวดรู้กำลังโม้เรื่องประวัติศาสตร์อย่าเมามัน ออกรส และเรารู้สึกว่านี่ไม่น่าจริงแน่ ๆ ลองเสิร์ชชื่อนักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ๆ แล้วถามเขาดูว่า “อาจารย์…พูดถึงเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน คุณเห็นด้วยกับอาจารย์เขาไหมครับ” เพื่อดูว่าคนศึกษาประวัติศาสตร์ตัวจริงจะไม่รู้จักนักประวัติศาสตร์ชื่อดังเชียว? หรือถ้าจะให้ฮาไปเลยลองเสิร์ชชื่อบุคคลสำคัญที่ไม่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไปเลยแล้วถามเขาดูว่าคิดยังไงกับคนนี้ ถ้าคนไม่รู้จริง ๆ ก็จะตอบว่าไม่รู้ หรือไม่เคยได้ยินชื่อนักประวัติศาสตร์คนนี้มาก่อน แต่ถ้าเป็นสายอวด อยากแสดงรู้ทุกเรื่อง อาจจะมโนว่าชื่อนักเศรษฐศาสตร์ที่เราเสิร์ชมาเป็นนักประวัติศาสตร์แล้วโม้ต่อหน้าตาเฉยไปเลยก็ได้

พูดถึงหนังสือสักเล่มที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาพูด

อาจจะไม่ต้องเฉพาะเจาะจงว่าเป็นหนังสือเล่มไหน แต่ลองถามเขาเล่น ๆ ว่า “คุณสนใจเรื่องนี้ขนาดนี้ หนังสือเล่มไหนที่คุณชอบที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ ผมจะได้ไปหามาอ่านบ้าง” อย่างน้อยที่สุด ต้องมีหนังสือสักเล่มที่เขาเคยอ่านผ่านตามาแล้วประทับใจในการต่อยอดความรู้แน่ ๆ และถ้าเขาเป็นตัวจริงเสียงจริง เขาจะไม่ลังเลที่จะแนะนำหนังสือเล่มโปรดที่ให้ความรู้เขาให้คุณบ้างแน่นอน แต่ถ้ามาแนวอึกอัก ผมลืมไปแล้ว ผมไม่ค่อยอ่านหนังสือ (แถมชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ ก็ไม่รู้จัก) นี่ก็น่าสงสัย เพราะขนาดเราทำวิทยานิพนธ์ยังต้องมีแหล่งอ้างอิง แล้วคนคนหนึ่งมาพ่นความรู้ฉอด ๆ โดยไม่บอกแหล่งที่มา ก็น่าสงสัยไม่เบา

ประสบการณ์ของเขาล่ะ ถามดูหน่อยซิ?

บางคนอาจไม่เคยฟังหรือศึกษาอะไรจากนักคิดหรือผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ โดยตรง หรือไม่ได้อ่านหนังสือเอาซะเลย (นี่เรามองโลกในแง่ดีมาก) แต่เป็นคนที่ลงทำงานภาคสนามอย่างจริงจังในเรื่องนั้น ๆ เช่น อาจจะเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง เลยมีความรู้เรื่องธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กเป็นพิเศษ รู้เรื่องการบริหารจัดการคนด้วยการเรียนรู้จากธุรกิจของตัวเอง หรือภูมิปัญญาจากท้องถิ่นแบบที่คนเมืองเข้าไม่ถึง แบบนี้ก็น่ายกย่องไม่เบา ดังนั้นอย่าลืมถามเขาว่า “ประสบการณ์อะไรในชีวิตที่สอนให้เขารู้เรื่องนี้” ถ้าคนจริงเขาก็ยินดีจะแชร์อยู่แล้ว แต่ถ้าหนังสือก็ไม่อ่าน ประสบการณ์ก็ไม่มี อึกอักไปทุกสิ่ง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราควรเชื่อแม้แต่น้อย

สรุปเรื่องนี้ให้ฟังสั้น ๆ หน่อยครับ

บางทีการอวดรู้มาในรูปแบบการพูดไทยคำอังกฤษคำ หรือใช้ศัพท์แสงยาก ๆ จนเราตามไม่ทันว่าเขาพูดถึงอะไรกันแน่ แล้วเราก็พลอยหลงเชื่อไปว่าที่เขาพูดอะไรยาก ๆ แล้วเราไม่เข้าใจได้นั้นเป็นเพราะเขาฉลาด ซึ่งไม่จริง! คนที่รู้และเข้าใจอะไรดีย่อมย่อยเรื่องราวยาก ๆ ให้คนเข้าใจได้ง่าย ๆ ได้ ดังนั้นท่าไม้ตายในการจับผิดคนอวดรู้ใช้คำยาก ๆ อีกอย่าง คือการขอให้เขาสรุปให้เราฟังง่าย ๆ หน่อย เพราะเราใหม่ต่อเรื่องนี้มาก อย่าพูดยากเลยครับ ผมไม่เข้าใจ ซึ่งถ้าเขาทำให้ง่ายไม่ได้ มันก็หมายความว่าเขายังไม่เข้าใจสิ่งนั้นดีพอด้วยซ้ำ

การไม่รู้ไม่ใช่สิ่งคอขาดบาดตายอะไรเลย การยอมรับว่าไม่รู้ก็เช่นกัน แต่การไม่รู้แต่อวดว่ารู้อวดว่าฉลาดนั้นเป็นภัยต่อตัวเอง แถมสร้างความเข้าใจผิดให้ผู้อื่นซ้ำไปอีกนี่คงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ UNLOCKMEN สนับสนุนให้ทุกคนหาความรู้ความสามารถในทางที่ตัวเองถนัดโดยไม่ต้องมั่วว่าเรารู้ทุกเรื่อง เจ๋งทุกเรื่อง เพียงเพื่อจะอวดคนอื่นเท่านั้น

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line