Business

หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา: ย้อนดูการเติบโต 7-ELEVEN ในวันที่ใครก็บอกว่าเซเว่นหิวโชว์ห่วยและร้าน LOCAL

By: anonymK November 12, 2018

หนุ่มเมืองทุกคนรู้กันดีว่าหัวมุมถนนของประเทศเราไม่เคยเงียบเหงา เพราะเราจะได้แสงสว่างของป้ายร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นมาเป็นเพื่อนคู่ใจเสมอ ยิ่งเป็นชายโสดยิ่งได้ใช้บริการบ่อยกว่าเพราะที่แห่งนี้มันช่วยเติมความอิ่มท้อง กับแกล้มเคี้ยวเพลิน พร้อมกับแอลกอฮอล์สะดวกซื้อให้พวกเราได้จิบกันชุ่มคอ

แต่อาทิตย์ที่ผ่านมาหลังเจอดราม่าจดหมายคุณอลงกรณ์ พลบุตร ส่งถึงเจ้าสัว CP ธนินทร์ เจียรวนนท์ เข้าไป เราเชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนคงอยากรู้เรื่องราวเส้นทางธุรกิจของ 7-Eleven มากขึ้น ว่าเส้นทางบริการเติบโตมาอย่างไรและจริงหรือที่เซเว่นจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยทยอยตายไปเรื่อย ๆ UNLOCKMEN ขอไล่เรียง Timeline ธุรกิจเซเว่นในประเทศไทยเพื่อให้การพูดคุยของพวกเรามันส์และจริงจังขึ้น ใครพร้อมแล้วเราไปดูพร้อมกัน

 

จากร้านขายน้ำแข็งใน Taxas สู่ร้านสะดวกซื้อทั่วโลก

เริ่มกันที่ภาพกว้างกันก่อนลงดีเทลในบ้านเรา จุดเริ่มต้นของเซเว่น อีเลฟเว่น (ที่ยังไม่ได้ชื่อว่าเซเว่น) กำเนิดขึ้นครั้งแรก พ.ศ. 2470 ณ เมืองดัลลัส มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา โดยบริษัทเซาท์แลนด์คอร์ปอเรชั่น ดำเนินกิจการผลิตและจัดจำหน่ายน้ำแข็ง แต่หลังจากขายน้ำแข็งแล้วก็เริ่มขยายกิจการต่อด้วยการเอาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นมาขายเพิ่มเติมด้วย พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อว่า “Tote’M store” ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง พ.ศ. 2489 เป็น “เซเว่น – อีเลฟเว่น”

โฆษณาชิ้นแรกของเซเว่น

ทำไมต้องเซเว่น – อีเลฟเว่น (7-11)

บางคนอาจเรียกชื่อเซเว่นทุกวันแต่ว่ายังไม่รู้ความหมายของชื่อนี้ว่ามีที่มาอย่างไร ความจริงที่มาของมันมาจากคอนเซ็ปต์ที่บริษัทต้องการเปิดให้บริการลูกค้าครอบคลุมช่วงเวลาทั้งวันตั้งแต่ 7 โมงเช้า จนถึง 5 ทุ่ม ตามเข็มนาฬิกา ซึ่งเป็นกิมมิกหนึ่งที่สร้างภาพจำให้กับคนที่ฟังได้ และเมื่อบริการทุกอย่างครอบคลุม

สุดท้ายเซเว่นแห่งแรกในอเมริกาก็ถึงเวลาชอนรากด้วยการขยายแฟรนด์ไชน์ใน พ.ศ. 2506 เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโต โดยเริ่มต้นในยุโรปก่อนข้ามทวีปมายังเอเชียภายใน 10 ปีหลังจากนั้น และในที่สุดก็เข้ามาในประเทศไทยเมื่อบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ซีพี ออลล์ (ชื่อเดิม: บมจ.ซีพีเซเว่นอีเลฟเว่น) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ลงนามในสัญญา ซื้อสิทธิประกอบกิจการ จากเจ้าของสิทธิ์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ก่อนจะตอกเสาเข็มเปิดเซเว่นแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2532 สาขาถนนพัฒน์พงศ์

 

หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา ไม่หิวก็ต้องแวะมา

ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นที่ต้องปรับตัวตามสภาพสังคม หรือความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค เซเว่นเองก็เช่นกัน ถ้าเป็นเพียงร้านขายของที่ทำอะไรแบบเดิม ๆ เซเว่นเองก็คงเติบโตไม่ได้ถึงทุกวันนี้ ดังนั้น ก้าวแต่ละก้าวของเซเว่นจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการวางแผนปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ทั้งเรื่องของบริการ จนถึงการมีบริษัทในเครือเบื้องหลังไว้เสิร์ฟของให้เซเว่น เรียกง่าย ๆ ก็คือเซเว่นเป็นหน้าร้านไว้ขายของ ส่วนบริษัทในเครืออื่น ๆ ก็เป็นหลังบ้านไว้ผลิตของมาขายคละรวมกับแบรนด์อาหารยอดนิยมอื่น ๆ

จากสโลแกน “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา” ที่ได้ยินติดหูทั้งจากโฆษณาและหน้าหนังสือพิมพ์ในปี 2532 หลัง ๆ ต่อให้ไม่หิวก็คงต้องแวะมาแล้ว เพราะเซเว่นนี่เป็นทุกอย่างให้เธอแล้วของจริง ด้วยการทำหน้าที่ One Stop Service ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราไปเสียทุกอย่าง ลองมาดูไทม์ไลน์พัฒนาการด้านบริการกันก่อน

2537: เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือบริการทำธุรกรรมผ่านเซเว่น ไว้จ่ายค่าน้ำค่าไฟค่าโทรศัพท์ เกิดขึ้นหลังจากตั้งเพียง 5 ปี

2544: ให้บริการจำหน่ายหนังสือชื่อ BOOK Smile โดยใช้ชื่อว่า เซเว่นทูเดย์ (7-Today) ที่สาขาเมืองทองธานี

2548: ขายเบเกอรี่ในชื่อ KUDSAN สาขาแรกที่ซอยแบริ่ง สุขุมวิท 107

2549: เปิดตัวบัตร Smart Purse บัตรเงินสดดิจิทัล ก่อนที่เราจะบูมเรื่อง Cashless อย่างทุกวันนี้

2557: ให้จำหน่ายยาโดยเภสัชกรในชื่อร้านยา เอ็กซ์ตรา พลัส

2557: เปิดขายบริการกาแฟสดในชื่อ All Cafe

2557: ให้บริการ All meal ขายอาหารตามสั่ง สาขาแรกที่ประชาสงเคราะห์ 23

เมษายน 2558: ให้บริการ ซัก อบ รีด และรับซักแห้ง ร่วมกับ Cleanmate ฝากผ้ามาเราซักให้ เปิดให้บริการแล้วที่สาขาสีบุญเรือง 2 สาขาสีลมซอย 9 สาขาอโศก ดินแดง และ สาขาวิภาวดี 64 ปากซอย

กรกฎาคม 2558: เปิดขายประกันชีวิต พ.ร.บ. ผ่านบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส

กันยายน 2559: เปิดบริการออนไลน์ช้อปปิ้งบนเว็บไซต์ shopat24.com

ธันวาคม 2559: มีธนาคารพาณิชย์ CIMB เปิดในสาขาครั้งแรกที่สาขาสีตบุตร สามารถให้บริการทุกด้านเทียบเท่ากับบริการธนาคารพาณิชย์ปกติ

ตุลาคม 2560: เปิดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบกด-จ่าย (ยุติไปแล้ว)

พฤศจิกายน 2560: ให้บริการถ่ายเอกสาร

ตุลาคม 2561: ให้บริการ ฝาก-ถอนเงินเงินสดใน 7-Eleven ผ่าน Mymemo MyCard ในร้านเซเว่นฯ ผ่านจุดให้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส โดยฝากได้สูงสุด 3 หมื่นบาทต่อรายการ ให้บริการในช่วงเวลา 08.00-22.00 น. โดยคิดค่าธรรมเนียมครั้งละ 15 บาทต่อรายการ (แต่สำหรับเด็กอายุ 7-20 ปี ฝากเงินได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเบื้องต้นพิจารณาในระยะเวลา 1 ปี)

ตุลาคม 2561: ให้บริการ Speed-D รับ – ส่ง พัสดุ ภายใน 1 วัน

ตุลาคม 2561: ให้บริการจัดส่ง Delivery สำหรับสั่งสินค้าของเซเว่นทางออนไลน์เพื่อจัดส่งถึงบ้าน รอรับภายใน 30 นาทีหากลูกค้าสั่งสินค้าในราคา 100 บาทขึ้นไป ไม่คิดค่าบริการ

ที่มา: ศูนย์บริการลูกค้า, Counter Service, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

SMEs กำลังจะตายจริงหรือ?

นอกจากเรื่องที่บอกว่า SMEs จะตาย และเซเว่นเป็นผู้ร้ายหน้าเลือดฆ่าโชว์ห่วยนั้น ถ้าเท่าที่เห็นกันอยู่แน่นอนว่ามันเหมือนวัฎจักรของธุรกิจบนโลกใบนี้แหละ ที่ถ้าไม่ปรับตัวก็ต้องตาย แต่มันมักจะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นเสมอเมื่อมีสิ่งอื่นล้มหายตายจากไป ลองมาดูตัวเลขของผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ทั่วประเทศเทศในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเพื่อพิจารณาไปพร้อมกันดู

2556: จำนวนวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีจำนวนทั้งสิ้น 2,763,997 ราย มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.22 เมื่อเทียบกับปี 2555

2557: ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศมี จำนวนถึง 2.74 ล้านราย

2558: จำนวนวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีจำนวนทั้งสิ้น 2,773,625 ราย มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.07 เมื่อเทียบกับปี 2557

2559: จำนวนวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีจำนวนทั้งสิ้น 3,004,679 ราย มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 8.63 เมื่อเทียบกับปี 2558

2560: วิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีจำนวนทั้งสิ้น 3,046,793 ราย มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.30 เมื่อเทียบกับวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม ในปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 99.78 ของจำนวน วิสาหกิจทั้งประเทศ

จากสถิติในรอบ 5 ปีย้อนหลัง จะเห็นว่าจำนวนของ SMEs ยังคงมีภาพรวมที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งแม้ว่าสัดส่วนการขยายตัวอาจจะเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ไม่มากนัก แต่ก็ยังไม่ถึงกับติดลบ ผลกระทบจากสถานการณ์บริการครบวงจรที่กินรวบบางธุรกิจที่เป็น local แม้หายไปจากพื้นที่ แต่ยังคงมีผู้ประกอบการหน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน และเราเชื่อมั่นว่าทุกคนย่อมหวังจะเติบโตจากการเป็น SMEs เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ยั่งยืนต่อไป

อีกด้านหนึ่ง เราเชื่อว่าการเติบโตของเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นก็ทำให้ผู้ประกอบการอย่างสตาร์ทอัพหรือ SMEs หลายแห่งมีความสามารถหันไปแข่งขัน ตอกกลับจนทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่หลายแห่งต้องตื่นตัวเช่นกัน ถ้าหันมาดูความจริงจะพบว่าทุกวันนี้เรามีร้านค้าที่สั่งผ่านออนไลน์มากมาย โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจ delivery อาหารที่ปรุงสดใหม่ จึงน่าคิดว่าหากเซเว่นยังคงทำตัวเป็นร้านสะดวกซื้อที่ “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา” ธรรมดา ๆ ไม่พิเศษ แต่เจ้าอื่นเขา “หิวแต่ไม่ต้องแวะแล้ว” อนาคตเราอาจจะไม่ต้องเดินเข้าเซเว่นอีกก็ได้

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมทุกวันนี้ผู้เขียนคิดว่าเรื่องการทำธุรกิจถ้ากินรวบ อิ่มนานมันย่อมเป็นความฝันของคนที่ทำธุรกิจทุกคน ที่คิดจะปั้นบ่อเงินให้ใช้ได้ยาวยั่งยืนไปจนชั่วลูกชั่วหลาน แต่คงไม่มีใครคาดหวังจะเป็นปลาใหญ่ที่กินปลาเล็กจนหมดบ่อ และเลือกพยายามตอบแทนสังคมในรูปแบบอื่น ๆ ที่ถนัด เอื้อเฟื้อกันมากกว่า เราจึงไม่ขอพูดว่าการทำแบบนี้มันผิดหรือถูกเพราะอันที่จริงจากบรรดาเซเว่นนับหมื่นสาขาทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งก็ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจซื้อเฟรนไชน์ก็เป็นคนตาดำ ๆ อย่างเราเช่นกัน

 

SOURCE:

ประวัติของเซเว่นฯ 1/ 2 / 3 / 4 และ Annual Report CPALL

บริการต่าง ๆ ของเซเว่นฯ 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6 / 7 / 8 / 9 / 10 / 11 / 12

ภาพรวม สถิติธุรกิจ SMEs : 1 / 2

 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line