Life

ผลเสียของการมองโลกแบบ OVER OPTIMISTIC และวิธีการคิดตามหลัก REALISTIC THINKING

By: unlockmen July 22, 2020

ก่อนหน้านี้เราเคยนำเสนอผลวิจัยว่า คนมองโลกตามความเป็นจริง มีความสุขมากกว่ามองโลกแง่บวก เกี่ยวกับผลเสียที่จะเกิดจากการเป็นคนที่มองโลกในแง่บวกมากเกินไป (overly optimistic) และมีการพูดถึงสอบถามเข้ามาค่อนข้างเยอะ เราจึงอยากนำเสนอเพิ่มเติม ซึ่งการมองโลกในแง่บวกมากเกินไป ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว โดย Amy Morin นักจิตบำบัดและนักเขียนชิ่อดังในฟลอริดา ในปี 2017 ในบทความของเธอบนเว็บไซต์ Bussiness Insider ที่ชื่อว่า ‘3 times optimism does you more harm than good’

ในบทความนี้ เธอได้อธิบายถึงผลเสียของการมองโลกแบบ overly optimistic ว่า แม้มันจะทำให้เรารู้สึกดีก็จริง (เพราะความคิดลบถูกกลบ) แต่มันก็ทำให้เราต่อต้านการรับฟังเหตุผลในอีกแง่มุม เพราะเหตุการณ์จริงอาจจะไม่ได้ง่าย หรือโรยด้วยกลีบกุหลาบแบบที่เราคิดเอาไว้ได้เหมือนกัน

– คิดบวกเกินจริง (exaggerating the positive.) มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่เรื่องดีๆ ไปหมด เช่น คิดว่าทุกคนชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ หรือคนที่เราชอบเป็นคนที่แสนดีมากๆ เป็นต้น ซึ่งคนประเภทนี้อาจเจอกับปัญหาที่ทำให้เกิดความเสียหายได้ เช่น ไม่ยอมรับข้อผิดพลาด ไม่พัฒนาปรับปรุงตัวเอง หรือตกเป็นเหยื่อถูกคนอื่นหลอกได้ง่าย ๆ

– มั่นใจในความสามารถมากเกินไป (being overconfident in one’s abilities) แน่นอนว่าเราควรมีความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเรามีความมั่นใจมากเกินไป ก็อาจจะส่งผลเสียต่อเราได้เช่นกัน เพราะมันอาจทำให้เราไม่เตรียมตัวรับมือกับเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น คิดว่าการ Present project ใหญ่กับลูกค้าเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องซ้อม ไม่ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น เมื่อถึงเวลากลับทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

– คาดหวังความสำเร็จมากเกินจะเป็นไปได้ (overestimating your chances of success) มองว่าทุกอย่างต้องสำเร็จ ทุกอย่างเป็นไปตามที่เราคิด โดยไม่เหลือที่ว่างให้ความล้มเหลว เช่น ถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจ ก็อาจจะมองว่าธุรกิจของตัวเองล้มเหลวไม่ได้ หรือถ้าเป็นนักลงทุนก็อาจจะมองว่าการลงทุนในธุรกิจตัวใหม่นี้จะนำผลกำไรกลับมาเป็นกอบเป็นกำ ความคิดทำนองนี้จะทำให้เรามองข้ามความเสี่ยงที่ต้องเผชิญไป และเมื่อความเสี่ยงเหล่านั้นมาถึง เราอาจจะรับมือกับมันไม่ทัน

 

หากใครที่มีความคิดแบบ Over Optimistic แต่ไม่รู้จะแก้ยังไงดี เราได้นำวิธีที่จะช่วยให้ทุกคน พัฒนาการคิดตามหลักความเป็นจริง (realistic thinking) ไปพร้อมๆ กันได้

– หาข้อมูล (do your homework) การตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยใช้อารมณ์และความรู้สึกอย่างเดียว มักไม่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่ายินดีสักเท่าไหร่ ดังนั้นเวลาที่จะตัดสินใจอะไรต่างๆ เราต้องมีข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจเสมอ เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาตามความเป็นจริง ซึ่งวิธีการหาข้อมูลก็มีหลายวิธี และหลายช่องทาง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตัดสินใจหาข้อมูลเรื่องอะไร เพราะแม้แต่ผู้บริหารใหญ่ที่มีประสบการณ์ทำงาน 30 ปี วันนี้ยังพึ่ง Big Data มากกว่าแค่ Gut Feeling ส่วนตัว

– คิดถึงข้อดีข้อเสีย (think through the pros and cons) ในการตัดสินใจที่เราต้องเลือกระหว่างสองสิ่ง หรือ มากกว่าสองสิ่งขึ้นไป บางครั้งผลลัพธ์มันก็มีความใกล้เคียงกันมากๆ เราจึงต้องมีการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย เพื่อหาตัวเลือกที่น่าพอใจที่สุด ซึ่งการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียก่อนตัดสินใจยังทำให้เรามั่นใจว่าเราเลือกสิ่งที่มีโอกาสสำเร็จสูงสุดแบบมีเหตุและผล

– จินตนาการถึงเหตุการณ์ที่แย่ที่สุด (picture the worst-case scenario) ไม่ใช่ทุกวันที่ชีวิตจะราบเรียบเหมือนที่เราคาดการณ์เอาไว้ ดังนั้นเราควรคิดถึงสถานการณ์ที่แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย เช่น ถ้าอยู่ ๆ มีเหตุการณ์อย่าง Covid-19 ระลอก 2 หรือ 3 เกิดขึ้นมาอีกจนยอดขายหายหมดยิ่งกว่าเดิม เราจะทำยังไง ซึ่งการคิดถึงเหตุการณ์ที่แย่ที่สุด ไม่ได้เท่ากับว่า เราคาดหวังในผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดเพื่อให้เครียด แต่มันคือการคิดเพื่อหาทางรับมือกับเหตุการณ์เหล่านั้นก่อนที่มันจะมาถึง เพื่อให้เราพร้อมรับมือกับมันในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของ Realistic Thinking ไม่ได้แค่ช่วยทำให้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้องที่สุด หรือช่วยให้เราพร้อมรับมือกับอนาคตเท่านั้น แต่ยังทำให้เรามีสมดุลทางความคิด คือ ไม่คิดบวกเกินไป หรือ คิดลบเกินไป และผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเราก็อาจไม่ทำร้ายจิตใจของเราได้มากนัก

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line