Business

โลกล้ำแค่ไหน ภาษีก็ล้ำตาม: บัญชีโอนถี่ ยอดเยอะ เชิญทางนี้ ภาษีออนไลน์ลงดาบแล้ว

By: anonymK March 21, 2019

ถึงจะมีข่าวเป็นระยะ แต่หลายคนก็ยังปล่อยเบลออยู่ไม่ได้กระตุ้นตัวเองดูยอดทั้งรายรับและรายจ่ายที่วิ่งเข้าวิ่งออกบัญชีเลย เพราะไม่รู้ว่าดาบภาษีจะลงวันไหน ใครที่ไม่ตามข่าวให้รู้ไว้ว่าเขาประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงพระปรมาภิไธยให้เป็นข้อบังคับแล้ววันนี้ (วันที่ 21 มีนาคม 2562)

ชาว UNLOCKMEN คนไหนที่สงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายนี้หรือเปล่า จะรอดภาษีนี้ไหม ลองมาดูพร้อมกันว่าคุณจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง แต่บอกไว้ก่อนเลยว่าในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฉบับที่ 48 พ.ศ. 2562 นี้ เริ่มใช้งานแล้วตั้งแต่นาทีแรกของวันนี้และถ้าพวกเราคนไหนก็ตามเข้าข่าย จะต้องดำเนินการส่งรายการข้อมูลต่อกรมสรรพากรครั้งแรกภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 นี้ หรือเรียกเก็บภายในปีหน้านั่นเอง

จับได้ ไล่ทันเพราะมีตัวช่วย

เมื่อข้อมูลคือหลักฐานยืนยันการเรียกเก็บภาษี หลายคนคงสงสัยว่าแล้วใครบ้างที่จะมีเอี่ยวเรื่องการส่งข้อมูลครั้งนี้ คำตอบชัด ๆ ระบุในพรบ. ไม่ได้มีแค่เฉพาะหน้าร้านออนไลน์ของเราเท่านั้น แต่ยังมีสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยมีคนที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 3 กลุ่มที่ต้องรายงานข้อมูลบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ (e-payment หรือคนที่ทำธุรกรรม) ได้แก่

  1. สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
  2. สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
  3. ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน

แปลว่าอะไร? แปลว่าต่อให้เราไม่ส่ง บุคคลต่าง ๆ ที่เรามีบัญชีไปเอี่ยวด้วยทั้งหลาย ทั้งสถาบันการเงินที่เราเป็นเจ้าของบัญชี หรือใช้เป็นทางผ่านของเส้นทางการเงินทั้งหลายจะต้องเปิดเผยข้อมูลกับภาครัฐ ดังนั้น ไม่ต้องคิดว่าไม่ส่งแล้วบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เขาจะสุ่มไม่เจอ เราจะรอด เพราะถ้ายอดเข้าข่ายหรือรูปแบบการโอนเข้าข่าย ข้อมูลหลักฐานของเราล้วนต้องโดนรายงานด้วยกันทั้งนั้น

แบบไหนถึงเข้าข่ายโดนรีดภาษี

บุคคลธรรมดายังมีเกณฑ์เลย พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ตาดำ ๆ อย่างเรา ๆ เขาก็ไม่ได้ถึงกับจะรีดเลือดกับปู พรบ. นี้เขายังเปิดช่องให้ยื่นตามมาตรฐานการเรียกว่า “ธุรกรรมลักษะเฉพาะ” สำหรับส่งข้อมูลเช่นเดียวกัน แบ่งออกเป็น 2 เกณฑ์ต่อไปนี้

  1. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป
  2. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

สรุปเป็นเลขมองง่าย ๆ เผื่อใครจะงงตามนี้

  • ใครที่มียอดฝากหรือรับโอนทุกบัญชีรวมกันเฉลี่ยเดือนละ 250 ครั้ง ไม่สนใจเรื่องยอดถือว่าเข้าข่าย
  • ถ้าฝากหรือรับโอนทุกบัญชีรวมกัน 400 ครั้งต่อปี เฉลี่ยราว 34 ครั้งต่อเดือน แต่ยอดต่อครั้งเฉลี่ยเกิน 5,000 บาท ก็ถือว่าเข้าข่ายแล้ว อ้อ! แต่แน่นอนว่าถ้าเงินเกินแต่ยอดไม่ถึงเขาก็ไม่นับนะ ดังนั้น ก็ยังเป็นช่องว่างทางกฎหมายให้บางเคสไม่ถูกนับในนี้

ส่วนที่หลายคนกำลังกังวลเรื่องการนำข้อมูลไปใช้งานนั้น พรบ. คาดโทษกับเจ้าหน้าที่นำข้อมูลของเราไปใช้ประโยชน์ พรบ. ด้วยการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 10 ที่มีสาระว่า เจ้าพนักงานผู้ใดโดยหน้าที่ราชการตามลักษณะนี้ ได้รู้เรื่องกิจการของผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ห้ามมิให้นำออกแจ้งแก่ผู้ใด หรือยังให้ทราบกันไปโดยวิธีใด เว้นแต่จะมีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

โทษของการไม่จ่าย ไม่สน ไม่หือไม่อือ

เมื่อออกเป็น พรบ. ลงนามเป็นข้อบังคับ แน่นอนว่าต้องมีบทลงโทษสำหรับคนฝ่าฝืน ใครที่อยากงัดข้อก็ลองดูก่อนว่าทั้ง 2 ข้อต่อไปนี้คุณไหวรึเปล่า

1. คำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท
2. ปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

แต่ภาษี E-PAYMENT ก็มีข้อยกเว้น !?

แม้เงินไหลที่ไหลผ่านไปมาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์รัฐจะได้รับข้อมูลจากสถาบันต่าง ๆ ซึ่งในบ้านเราถ้าติดตามข้อมูลได้ง่ายขนาดนี้ยังไงก็ต้องเก็บภาษีไว้ แต่ก็มีเจ้าที่ได้รับการยกเว้น อย่าง E-Commerce เจ้ายักษ์ของแจ็ค หม่า Alibaba ที่ไม่ต้องจ่ายสักกะแดงเดียว แถมไม่ต้องจ่ายยาวนานถึง 13 ปี ด้วย เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ BOI ซึ่งในปัจจุบันการส่งเสริมการลงทุนจะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรมบุคลากรควบคู่ไปด้วย เลยบวกระยะเวลายกเว้นภาษีรวมเป็น 13 ปี

งานนี้แม้จะทำให้หลายคนรู้สึกหัวร้อนแต่สรรพากรก็แจ้งว่า ต่อให้ไม่ใช่ Alibaba แต่เจ้าอื่นที่เข้าหลักเกณฑ์นี้ยังไงเขาก็ยกเว้นอยู่ดี และการเก็บภาษีครั้งนี้ก็ไม่ถือเป็นเรื่องแปลกอะไรเพราะเขาก็เก็บภาษีบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลเป็นปกติอยู่แล้ว

เอาเป็นว่า ใครมีเงินได้เข้าเกณฑ์หรือความเคลื่อนไหวทางการเงินเข้าเกณฑ์ที่กำหนดก็จ่ายให้ถูกต้องน่าจะดีกว่าต้องมาโดนย้อนหลัง แต่อยากฝากให้จับตามองความน่าสนใจจากเหตุการณ์นี้ไว้ให้ดี ระบบภาษีใหม่เหล่านี้จะเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นหรือไม่ และคงต้องติดตามว่ารัฐบาลใหม่ที่จะก้าวเข้ามาจะสร้างผลงานบริหารประเทศจะบริหารจัดการเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นจาก พรบ. ฉบับนี้อย่างไร เพราะเงินหมุนเวียนที่กำลังเข้ามาเติมเต็มนับจากนี้ไปเป็นเงินจำนวนมหาศาลเลยทีเดียว

 

SOURCE: 1 / 2

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line