Life

EFFECTIVE ALTRUISM การช่วยเหลือคนอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ลำบากตัวเอง

By: unlockmen August 28, 2020

เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราเห็นคนยากคนจน หรือคนป่วยหนักจนใช้ชีวิตลำบากแล้วรู้สึกสงสาร พร้อมจะควักเงินในกระเป๋ามอบให้เพื่อช่วยเหลือทันที หรือเห็นคอมเม้นด้านลบในโพส Facebook ของเพื่อนเราแล้วอยากช่วยปกป้อง

พฤติกรรมเหล่านี้คือการช่วยเหลือคนอื่น หรือ Altruism ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งวันนี้ UNLOCKMEN จะอธิบายให้ฟังว่า Altruism คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร? และจะพัฒนาให้ช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจนไม่เดือนร้อนตัวเองได้อย่างไร?


Altruism คือ ลักษณะของมนุษย์ที่ใส่ใขความอยู่เย็นเป็นสุข และทำในสิ่งที่ช่วยเหลือผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น อาจจะยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องคนอื่น หรือ บริจาคเงินช่วยเหลือให้มูลนิธิต่างๆ เป็นต้น โดย altruism มักจะมาพร้อมกับลักษณะของมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง คือ ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ที่เกิดควบคู่กัน ในสถานการณ์ที่เราพบกับคนที่ตกอยู่ในสถานการณที่ยากลำบาก เราเกิดความเข้าอกเข้าใจเขา พร้อมความรู้สึกอยากช่วยเหลือ

ส่วนเหตุผลที่ทำให้เราเป็นคนที่มี altruism นั่นมีหลากหลาย โดย นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ยกทฤษฎี และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ มาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

– เหตุผลทางชีววิทยา (biological reasons) ตามที่หลักทฤษฏีวิวัฒนาการว่าด้วยการคัดเลือกโดยญาติ (Kin Selection) ได้กล่าวไว้ว่า มนุษย์มักช่วยเหลือคนที่มีสายเลือดเดียวกันมากกว่าคนอื่น เพราะมีความต้องการที่จะส่งต่อพันธุกรรมของเผ่าพันธ์ุตัวเองไปยังคนรุ่นถัดไป ดังนั้น altruism จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ซึ่งยิ่งคนที่ใกล้ชิดกับเรามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งอยากช่วยเหลือพวกเขามากเท่านั้น

– เหตุผลด้านประสาทวิทยา (neurological reasons) หลายคนคงสงสัยว่าทำไมเราถึงมีความสุขเวลาช่วยเหลือผู้อื่น เรื่องนี้มีคำตอบจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Social Cognitive and Affective Neuroscience (2014) ที่พบว่า ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น (compassionate actions) กระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการให้รางวัล ได้แก่ ventral tegmental และ ventral striatum ทำให้เรามีความรู้สึกทางบวก เช่น ความสุข และกระตุ้นให้เราลงมือช่วยเหลือผู้อื่น (altruistic behaviors) ดังนั้นความสุขที่ได้จากการทำความดีจึงเกิดจากการทำงานอย่างเป็นระบบของสมองและร่างกาย

– เหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม (environmental reasons) งานวิจัยบางชิ้นระบุว่า การมีปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์กับคนอื่นเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมช่วยเหลือผู้อื่น แต่งานวิจัยที่แย้งว่า การเข้าสังคม (socialization) จะมีผลต่อพฤติกรรมช่วยเหลือคนอื่นในกลุ่มเด็กที่มีอายุ 1 – 2 ปี โดยเด็กที่ได้เห็นพฤติกรรมช่วยเหลือผู้อื่นจะมีโอกาสสูงกว่าเด็กคนอื่นที่จะแสดงพฤติกรรมช่วยเหลือออกมา กล่าวคือ เด็กแค่เลียนแบบพฤติกรรมเฉยๆ แต่อาจไม่ได้เข้าใจสาเหตุที่ต้องช่วยเหลือคนอื่นจริงๆ

เหตุผลทางสติปัญญา (cognitive reasons) แม้เราจะมีนิสัยชอบช่วยเหลือผู้อื่นแบบไม่หวังผลตอบแทน แต่ก็เป็นไปได้ที่เราจะไม่รู้ตัวว่ากำลังคาดหวังผลตอบแทนอยู่ เช่น เราอาจจะอยากช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อกำจัดความทุกข์ของตัวเอง หรือ ใจดีกับคนอื่นเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นคนที่ใจดีและเห็นอกเห็นใจคนอื่น เป็นต้น บางครั้งเราอาจแสดงพฤติกรรมช่วยเหลือคนอื่นออกมา เพื่อหนีจากปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้พรมก็ได้ ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจตัวเองให้ดี เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้โดยไว


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สังคมที่เข้มแข็ง ต้องมีสมาชิกที่คอยช่วยเหลือซึ่งกันและ ซึ่งมนุษย์เองก็มีธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม และต้องพึ่งพาคนอื่นเพื่อเอาชีวิตรอด ความเห็นแก่ตัวจึงอาจเป็นภัยต่อเรา เพราะจะทำให้คนในสังคมไม่ยอมรับเราได้ ดังนั้น altruism จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความผูกผันกับคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว หรือ กลุ่มเพื่อน เพื่อให้เกิดความร่วมมือกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

นอกจากจะมีประโยชน์ต่อการสร้างสังคมที่มีความเหนี่ยวแน่นแล้ว altruism ยังมีประโยชน์ต่อเราในเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ช่วยให้เรารู้สึกดี (เพราะร่างกายจะหลั่งสารเอ็นโดรฟินออกมาเมื่อเราทำดี) หรือ ช่วยให้สุขภาวะทางกายของเราดีขึ้น (งานวิจัยบางชิ้นระบุว่า กลุ่มอาสาสมัครมักมีชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพทางกายดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นอาสาสมัคร) เป็นต้น

แต่ altruism ก็เปรียบเหมือนดาบ 2 คม ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ยกตัวอย่างเช่น คนที่งานยุ่งอยู่แล้ว หากช่วยเหลือคนอื่นเพิ่มอีก ก็อาจเป็นการเพิ่มภาระให้ตัวเองและทำให้การบริหารจัดการเวลาพังได้ หรือ คนที่ชอบยื่นมือเข้าช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก บ่อยครั้งอาจเกิดความเหนื่อยล้าที่เรียกว่า compassion fatigue เช่น คนที่รับฟังปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ของคนอื่นๆ บ่อยๆ ก็อาจมีความเครียดสะสมและเป็นทุกข์ได้ เป็นต้น

ดังนั้น เราควรเลือกทางที่ดีที่สุด คือ ทางสายกลาง ไม่ช่วยเหลือคนอื่นมากเกินไป หรือ น้อยเกินไป เพื่อให้เรายังคงมีความสุขกับการช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างยาวนาน


เมื่อการช่วยเหลือผู้อื่นไม่ได้นำผลดีมาสู่ตัวเราเสมอไป คำถามที่ตามมา คือ แล้วเราจะมีวิธีช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไรดีที่ทำให้ทั้งผู้ช่วยและผู้รับความช่วยเหลือมีความสุข ? เราขออธิบายเรื่องนี้ให้ทุกคน ผ่านหลักการ Effective Altruism

Effective Altruism คือ หลักปรัชญา และความเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) ที่รณรงค์ให้คนนำหลักฐานและเหตุผล มาค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น การดูสถิติว่าเงินจำนวนหนึ่งช่วยเหลือคนได้เท่าไหร่ เพื่อประเมินว่า ต้องบริจาคเงินหรือรับเงินบริจาคเป็นจำนวนเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ เป็นต้น โดยผู้ที่รับแนวคิดนี้มักถูกเรียกว่าเป็น effective altruists

effective altruism มีประโยชน์ต่อเราในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ช่วยให้คนพยายามคิดหาวิธีช่วยเหลือคนอื่นที่เป็นไปได้มากที่สุด หรือ พยายามคำนวณปริมาณเงินบริจาคที่เหมาะสมที่สุดในการช่วยเหลือคนอื่น และทำให้เราไม่เจอกับปัญหาเรื่องการบริจาคมากไป หรือ น้อยเกินไป ด้วย จึงต้องมีการฝึนฝนสำหรับการเป็น effective altruists เอาไว้ ซึ่งเราอยากแนะนำหลักการดังนี้

  • อย่าสนับสนุนเรื่องที่ไม่มีประโยชน์หรือส่งผลเสียมากกว่าผลดี

บางกรณีการบริจาคดูจะมีเจตนาที่ดี แต่ก็นำผลเสียมาให้มากกว่าผลดี ยกตัวอย่างกรณีศึกษาโครงการติดตั้งปั๊มน้ำใหม่ของ PlayPumps เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในทวีปแอฟริกาใต้ ของ Trevor Field และ Ronnie Stuiver ซึ่งเจ้าปั๊มน้ำตัวนี้ทำงานผ่านการเล่นม้าหมุนโดยการเล่นแต่ละครั้งจะช่วยสูบน้ำจากบ่อน้ำใต้ดินขึ้นมาได้ แม้ช่วงแรกโครงการนี้จะได้รับผลตอบรับที่ดี แต่ภายหลังคนเริ่มเจอข้อเสียหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เด็กไม่ได้เล่น PlayPumps ตลอด จนบางครั้งคนในหมู่บ้านจึงต้องมาเล่นเอง หรือ PlayPumps มีราคาแพงกว่าและรักษาได้ยากกว่าปั๊มน้ำมือ และชาวบ้านบางคนยังรู้สึกว่าอยากได้ปั๊มน้ำเก่ากลับมาด้วย ดังนั้น เราต้องจึงต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจสนับสนุนโครงการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้การสนับสนุนของเรามีคุณค่ามากที่สุด

  • ทำในเรื่องที่เราถนัดและมีความสุขที่ได้ทำมัน

เราควรเลือกงานอาสาหรือโครงการระดมทุนที่เรารู้สึกมีแพสชั่นกับมัน เช่น ถ้าเราชอบช่วยเหลือสัตว์ เราก็อาจบริจาคเงินให้กับโครงการช่วยเหลือสุนัข หรือ ถ้าเราถนัดเรื่องการสร้างบ้าน เราก็อาจจะร่วมโครงการจิตอาสาสร้างบ้านให้คนยากไร้ เป็นต้น เพื่อให้เรามีแรงจูงใจในการบริจาคหรือทำงานอาสาต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ท้อใจไปเสียก่อน และจะทำให้เราลงแรงอย่างเต็มในการบริจาคหรืองานอาสาที่ทำด้วย

  • อย่ามีความมั่นใจมากเกินไป

แม้ effective altruists จะคิดหาสิ่งที่ดีที่สุดต่อคนอื่นตลอดเวลา แต่เราไม่มีทางแน่ใจได้เลยว่าสิ่งที่เราคิดและทำเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เพราะโลกนี้มีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเห็นแนวคิดที่ดีกว่ายอดเยี่ยมกว่าออกมาอยู่เรื่อยๆ เราจึงต้องศึกษาหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำความดี อยู่เสมอ และพูดคุยกับคนอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่เรื่อยๆ

อยากย้ำอีกครั้งว่า ทุกการกระทำล้วนมีค่าใช้จ่าย และการช่วยเหลือคนอื่นก็มีค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน ร่างกายเรามีขีดจำกัดทำให้เราไม่สามารถทำงานจำนวนมากโดยไม่มีเวลาพักผ่อนได้ เราจึงต้องรู้จักตอบปฏิเสธงานบ้าง สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะตอบปฏิเสธยังไงดี เราอยากแนะนำให้ลองอ่านบทความนี้ดูนะ: https://www.unlockmen.com/effective-way-to-say-no/

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line