Life

DON’T GET LOST IN LOGIC แนะนำ 5 ตรรกะวิบัติที่พวกเราควรรู้ ก่อนไปเสียเวลาอันมีค่าเถียงกับคนอื่น

By: unlockmen February 16, 2018

โลกออนไลน์ตอนนี้แทบไม่ต่างจากสนามรบ แต่เป็นสนามรบทางความคิด ไม่ว่าจะมีประเด็นอะไรออกมา ก็มักจะมีคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์ฟาดฟันกันอย่างดุเดือดอยู่เสมอ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องดี เพราะการรู้จักวิพากษ์เรื่องราวใกล้ตัว แสดงถึงความมี Critical Thinking

แต่ใช่ว่าทุกคนจะมี Critical Thinking เหมือนกันเสมอไป บ้างครั้งเราก็จะเห็นการถกเถียงแบบตลก ๆ พูดเหมือนจะมีเหตุผลแต่อ่านดี ๆ กลับรู้สึกแปลก ๆ กับการให้เหตุผลซะอย่างงั้น เหมือนมันมีช่องว่างอะไรบางอย่างอยู่ หากไม่อยากเป็นคนเด๋อเผลอพูดอะไรกลวง ๆ ออกไป UNLOCKMEN มาเทรน 5 ตรรกะวิบัติใกล้ตัวที่มักเจอบ่อย ๆ มาอธิบายกันแบบศัพท์ง่าย ๆ ไม่กำกวม อ่านให้รู้แล้วหลีกเลี่ยง จะได้ไม่ต้องหน้าแตกเวลาโดนสวนกลับ

แต่ก่อนอื่นหลายคนอาจสับสนว่าเจ้า “ตรรกะวิบัติ” ที่เรานำมาเสนอนี้คืออะไรกันแน่? ตรรกะวิบัติหากแปลง่าย ๆ ก็คือการใช้เหตุผลแบบผิด ๆ เหมือนว่าตัวเองมีเหตุผลแต่จริง ๆ แล้วไม่เป็นเหตุเป็นผลเอาซะเลย โดยตรรกะวิบัติมีหลายประเภทมาก แต่เราจะมาบอกกันว่า 5 วิธีการเถียง การให้เหตุผลแบบผิด ๆ ที่คนมักใช่บ่อย 5 อันดับนั้นมีอะไรกันบ้าง?

False Dilemma

การแบ่งตัวเลือกเป็นสองฝ่ายแล้วบังคับให้เลือกอันใดอันหนึ่ง แล้วยังบอกอีกว่าถ้าเราไม่ใช่อันนี้เราก็ต้องเป็นอีกอัน

ตัวอย่างการเถียงแบบผิด ๆ : ถ้าสนับสนุนการเลือกตั้งแสดงว่าเป็นเสื้อแดง / ถ้าวิจารณ์ประเทศนี้ก็ออกจากประเทศนี้ไปเลย

มันแย่ยังไง? : การเถียงโดยบอกว่าถ้าไม่เชื่ออย่างฉันแสดงว่าเป็นศัตรูกับฉัน เป็นตรรกะวิบัติหรือการใช้เหตุผลแบบผิด ๆ อย่างหนึ่ง เพราะในความเป็นจริงการแก้ปัญหาอาจไม่ได้มีแค่สองทาง อาจมีหนทางอื่นอีกเยอะแยะ เหมือนบอกว่าโลกนี้มันมีแค่ขาวกับดำ เลือกมาสักอันสิ ถ้าไม่เอาขาว แสดงว่าเป็นสึดำ ถ้าเธอไม่เชื่อฉัน เธอก็ต้องเป็นคนผิด แต่ เฮ้ย! เฉดสีเทามันมี เฉดสีอื่นมันก็มี แม้แต่ความจริงยังมีหลายมุม การบอกว่าคำตอบที่ถูกต้องมีเพียงหนึ่ง ส่วนอีกทางคือผิด มันเหมือนไปบิดเบือนว่าการแก้ปัญหามันจะมีแค่สองทางเท่านั้น

Straw Man

หาช่องโหว่แล้วโจมตีไปเกินจากสิ่งที่อีกคนอ้างไว้

ตัวอย่างการเถียงแบบผิด ๆ : นาย ก : วัฒนธรรมของญี่ปุ่นนี่ดีนะ เป็นอะไรที่แตะต้องได้ และทันโลกอยู่เสมอ

นาย ข : นายมันคนชังชาติไง ไม่ต้องทำมาเป็นชมญี่ปุ่นเพื่อแซะไทย อย่างน้อยประเทศเราก็ไม่เป็นเมืองขึ้นใคร

มันแย่ยังไง? : นี่คือการเบี่ยงประเด็นแบบต่อหน้าต่อตาเลย เราเถียงสิ่งที่เขาเสนอมาไม่ได้ เลยเลี่ยงยกเรื่องอื่นมา แล้วไปเถียงอีกอัน โดยหาอะไรอ่อนไหว ๆ มาเล่น เหมือนที่นาย ข เอาเรื่องความภูมิใจในชาติมาพูด ทั้งที่นาย ก ไม่ได้พูดถึงเรื่องนั้นเลย พูดถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ได้หมายความว่าของไทยไม่ดี แล้วก็ไม่ใช่ประเด็นที่เขาเอามาเถียงด้วย “ความชังชาติ” “ความเป็นเมืองขึ้น” จึงเป็นเหมือนหุ่นฟางที่นาย ข ตั้งขึ้นมาแล้วเตะให้ล้มซะเอง เพราะเถียงกับประเด็นที่นาย ก พูดมาไม่ได้

Two Wrong Make A Right

ไอ้นั่นทำได้ กูก็ทำได้ดิ! / เคยทำแบบนี้มาแล้ว

ตัวอย่างการเถียงแบบผิด ๆ : โธ่! ไอ้คนนู้นมันก็โกงข้อสอบตั้งสองวิชา ผมโกงวิชาเดียวเองนะ! / ผมย้อนศรตรงนี้ประจำ ไม่เห็นจะมีใครว่าอะไรเลย!

มันแย่ยังไง? : แทบจะไม่ต้องบอกเลยว่าแย่ยังไง แม่งเป็นอะไรที่โคตรไม่เมกเซนส์และชวนหงุดหงิดที่สุดแล้วกับอันนี้ การที่เห็นคนอื่นทำผิดไม่ได้แปลว่าเราจะทำได้เหมือนกัน หรือไม่ใช่ว่าเคยทำผิดมาแล้วครั้งนึงแล้วไม่ถูกจับได้หรืออะไรก็ตามแต่ ผิดครั้งที่เท่าไหร่มันก็ยังผิดอยู่ดี! ดังนั้นการเถียงโดยบอกว่าใคร ๆ ก็ทำกัน หรือเถียงโดยบอกว่าเพราะฉันเคยทำมาแล้วไม่เห็นมีใครว่าอะไรนี่เป็นตรรกะวิบัติอย่างแรง!

Fallacy Of The Single Cause

สาเหตุเดียวเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ที่มันน่าจะมีผลจากอย่างอื่นด้วย

ตัวอย่างการเถียงแบบผิด ๆ : วิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อตอนนั้นไง เศรษฐกิจมันถึงแย่มาจนถึงวันนี้

มันแย่ยังไง? : มันเหมือนการหาคนผิดเอาไว้ให้ตัวเองสบายใจ ทั้งที่จริงมันมีสาเหตุและที่มาที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก อย่างในตัวอย่าง เรื่องเศรษฐกิจอาจมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลอยู่แล้ว มันไม่ได้ล้มทีเดียวแล้วล้มยาวไปเลย มันมีสาเหตุอื่น ๆ ยิบย่อยอีกมากที่เรามองข้ามไป แล้วไปตั้งให้ “ต้มยำกุ้ง” เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจล้ม

Anecdotal Fallacy

อ้างประสบการณ์/ความจำของตัวเอง

ตัวอย่างการเถียงแบบผิด ๆ : ไม่ได้มีลูกเองไม่รู้หรอก / ตอนเด็ก ๆ ฉันก็เลี้ยงแกมาด้วยกล้วยบด มันจะท้องอืดได้ยังไง!

มันแย่ยังไง? : เป็นการเอาความเห็น/ประสบการณ์ส่วนตัวที่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง มาสรุปรวมกับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นว่าจะต้องเป็นแบบที่ตัวเองเจอมา แค่นี้ก็น่าเศร้าแล้ว ไม่ต้องอธิบายอะไรยืดยาวเลย เพราะประสบการณ์เดียวของเราไม่ได้เป็นข้อชี้วัดว่าทุกอย่างจะถูกทั้งหมดนั่นเอง

นี่เป็นแค่ตัวอย่างของตรรกะวิบัติที่เจอบ่อย ๆ บนโลกอินเตอร์เน็ตและชีวิตจริง แต่มันมีตรรกะวิบัติหลายรูปแบบมากกว่านี้อีกเยอะมาก ใครสนใจสามารถหาอ่านกันได้ เอาไว้เพิ่มเติมจุดที่ตัวเองบกพร่องไป หรือเอาไว้ถกเถียงเวลาเจอสิ่งที่มันขัดกับความจริง หรือเกิดใครใช้ตรรกะวิบัติขึ้นมา ถ้าชาว UNLOCKMEN คนไหนสายบู๊ก็เปิดวอร์กันแบบไม่ต้องกลัวเด๋อเพราะอ่านมาแน่นแล้ว

ทั้งนี้ก็ไม่สนับสนุนให้เอาไปวอร์มันทุกคนที่เจอ จะเสียสุขภาพจิตเปล่า ๆ เอาเป็นว่าเริ่มต้นแก้ไขจากที่ตัวเองก่อนนี่แหละ ให้ตัวเองเป็นคนอ้างเหตุผลแบบถูกต้อง แค่นั้นก็สุดยอดแล้ว

SOURCE, SOURCE2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line