Girls

‘ข้าวฟ่าง-สิริยาภร แซ่จิว’ ความกลัวเป็นแค่ภาพลวงตา ศัตรูเดียวในชีวิตคือตัวเราเอง ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ในกีฬา ‘สเก็ตบอร์ด’

By: GEESUCH September 23, 2022

ถ้าให้เปรียบกีฬา ‘สเก็ตบอร์ด’ เป็นสัตว์สักตัวคุณจะนึกถึงสัตว์ชนิดไหนครับ … ถามคำถามนี้กับผมสิ แล้วผมจะให้คำตอบเดียวทุกครั้งคือ ‘นกอินทรีย์’ เพราะไม่มีกีฬาชนิดไหนบนโลกนี้อีกแล้ว ที่ทำให้มนุษย์บินได้อย่างอิสระสวยงามขนาดนี้ อ่อ ๆ และคงเป็นเพราะคำว่า ‘อิสระ’ นี่เองที่ทำให้ผมหลงใหลกีฬาชนิดนี้จนหมดใจ พร้อม ๆ กับที่สนใจว่า ถ้าสเก็ตบอร์ดสามารถสร้างอิสระได้ด้วยตัวเองขนาดนั้น ทำไมถึงเป็นกีฬาที่ผู้หญิงเลือกเล่นน้อยนัก? 

“ความกลัวคืออุปสรรคเดียว”

– เธอบอก

เธอคือใคร ? เธอชื่อ ‘ข้าวฟ่าง – สิริยาภร แซ่จิว’ (หลังจากนี้เราจะเรียกเธอด้วยชื่อเล่น) ข้าวฟ่างเป็นสเก็ตเตอร์ที่ปีนี้ก็จะครบรอบปีที่ 3 ในการไถบอร์ดของเธอแล้ว ด้วยระยะเวลาเท่านี้เราอาจจะไม่สามารถเรียกเธอว่าเป็น New Face ได้ทีเดียว แต่ว่าความสดใหม่นั้นยังคงมีอยู่ เราจึงขอใช้คำว่า New Blood จะตรงความหมายมากกว่า

ข้าวฟ่างเป็นสเก็ตเตอร์หญิงซึ่งในปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มากในประเทศไทย และการเติบโตในเส้นทางบนกระดานสี่ล้อของเธอก็น่าสนใจนัก ทั้งเป็น Artist ที่ถูกเลือกเข้าโปรเจ็คต์ของ Converse X จนกระทั่งถูกทีม Preduce จีบให้เข้าสังกัด โดยเพิ่งปล่อยคลิป ‘Sajai Raw’ ไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ทว่า นี่เป็นเพียงเหตุผลในจำนวนนิดเดียวจาก 100% ที่เราสนใจอยากคุยกับเธอ และขอให้เธอมาเป็น Foxy Lady คนที่ 10 ของ UNLOCKMEN หลังจากที่รอคอยคนเหมาะสมสำหรับตัวเลขนี้ในซีรีส์มาอย่างยาวนาน 

‘บ้านพรีดิวซ์’ (Baan Preduce) ร้านสเก็ตบอร์ดและจุดรวมพลของทีม Preduce ที่ข้าวฟ่างสังกัดอยู่ คือสถานที่ที่เราใช้คุยกัน ในวันที่ฟ้าครึ้มฝนแบบนี้ ยิ่งสร้างความขลังให้กับการเป็นสถานที่สำคัญของประวัติศาสตร์สเก็ตบอร์ดของที่นี่ ในการเป็นบริษัทแรกที่จดทะเบียนธุรกิจเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ดในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2006 และมีโปรสเก็ตชื่อดังอย่าง ‘เก่ง จักรินทร์’, ‘เต๋า กิจพูลลาภ’ และ ‘โจเซฟ สิรินัท’ อยู่ในทีม ซึ่งในปี 2022 ที่ตั้งดั้งเดิมของพรีดิวซ์ในสยามได้ปิดตัวลงไปแล้ว พร้อมกับย้ายบ้านใหม่ที่มีสนามสุดเจ๋งรอให้เหล่า sk8er boy ไม่ว่าหน้าใหม่หรือใครก็ตามมาเล่น คงไม่มีสถานที่ไหนเหมาะกับการพูดคุยกับข้าวฟ่างเท่านี้อีกแล้ว 

และหลังจากเธอแนะนำตัวจบด้วยคำว่า “อายุ 18 ปีค่ะ” หัวใจเราเต้นแรงด้วยความทึ่งกับอายุที่ยังน้อย พร้อม ๆ กันกับบทสนทนาที่ค่อย ๆ เริ่มต้นขึ้น



UNLOCKMEN : ทำไมแค่การไถไปไถมาเฉย ๆ ถึงทำเราตัดสินใจเล่นเสก็ตบอร์ดได้

ข้าวฟ่าง : ถ้าเล่นได้เราจะไถไปที่ไหนก็ได้ เราจะใช้มันเป็นพาหนะได้ แล้วมันก็เท่ด้วย ครั้งแรกที่ไถรู้สึกว่า ‘อิสระ’ มาก ทุก ๆ อย่างขับเคลื่อนโดยที่เราไม่ต้องเดิน มันสบายเหมือนเราได้ลอยอยู่บนอากาศ

หลังจากการแนะนำตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ข้าวฟ่างก็เล่าให้เราฟังว่าจริง ๆ แล้วก่อนเจอกีฬาสเก็ตบอร์ด เธอก็เป็นคนที่สนใจในกีฬามากมายพร้อมกับเล่นมาก่อนอยู่แล้ว และลองทุกอย่างเท่าที่จะลองได้ ตั้งแต่ฟุตบอล บาสเกตบอล มวย เทควันโด โรลเลอร์เบส ไปจนถึงอินไลน์สเกต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกีฬาที่มีความ extreme ทั้งนั้น ก็คงจะไม่แปลกใจนักที่ในท้ายที่สุดแล้วชีวิตเธอจะได้มาเจอกับสเก็ตบอร์ด แต่จุดเริ่มต้นของเธออยู่ตรงไหน แล้วทำไมสเก็ตบอร์ดถึงกลายเป็นกีฬาที่อยู่คู่กับชีวิตของข้าวฟ่างยาวนานกว่ากีฬาชนิดอื่น ๆ ที่เคยเล่นมา?

“จริง ๆ แล้วเราเริ่มเล่นสเก็ตบอร์ดจากการที่ตัวเองมีปัญหาชีวิต มีความเครียด แล้วก็อีกส่วนหนึ่งจุดเริ่มต้นมาจากเพื่อนของเราเล่นสเก็ตบอร์ดด้วย แล้วช่วงนั้นมันมีซีรีส์เรื่อง ‘SOS Skate ซึม ซ่าส์’ และเราชอบมาก เพราะเขาเอาเรื่องของเด็กที่เป็นซึมเศร้ามาบวกกับกีฬาสเก็ตบอร์ด ว่ามันสามารถบำบัดได้นะ แต่เอาจริง ๆ ไม่ใช่แค่กีฬาสเก็ตบอร์ดหรอก ทุกกีฬามันช่วยบำบัดสมองได้ แล้วเราก็สนใจเลยได้มาลองเล่นสเก็ตเอง’

ขอแวะอธิบายเพิ่มเติมสักนิดก่อนจะไปต่อ สำหรับคนที่อาจจะไม่เคยดูซีรีส์เรื่อง ‘SOS Skate ซึม ซ่าส์’ นี่คือซีรีส์กีฬาน้ำดีจาก GDH ในโปรเจคต์ที่มีชื่อว่า Project S The Series (2017-2018) ว่าด้วยเรื่องราวของเหล่าวัยรุ่น กับกีฬาชนิดที่ต่าง ๆ ที่ผูกพันกับชีวิตของพวกเขา มีบาสเกตบอล แบดมินตัน ยิงธนู และสเก็ตบอร์ด (ติดตามดูได้ใน Netflix) และในช่วงเวลาที่ ‘SOS Skate ซึม ซ่าส์’ ออกอากาศนั้น ก็ต้องบอกว่าสังคมวัยรุ่นไทยกำลังเผชิญกับ ‘โรคซึมเศร้า’ อย่างหนักเอามาก ๆ ทางออกในการต่อสู้กับศัตรูตัวร้ายชนิดนี้ของแต่ละคนก็ต่างกันออกไป แต่สำหรับข้าวฟ่างมันคือการได้เล่นสเก็ตบอร์ด เช่นเดียวกันกับ ‘บู’ ตัวเอกของเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอ    

“มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราเป็นโรคซึมเศร้าและหลุดพ้นจากมันไม่ได้เลย เหตุการณ์ที่ทำให้เราหลุดออกมาจากสิ่ง ๆ นั้นได้ ส่วนหลักในชีวิตของเราคือสเก็ตบอร์ดทั้งนั้น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสเก็ตคือกีฬาที่ต้องเอาชนะตัวเอง เวลาที่เป็นโรคซึมเศร้าคนเราจะรู้สึกว่าตัวเองแพ้ เราไม่มีค่า รู้สึกว่าทำไมชีวิตนี้เราทำอะไรไม่ได้เลย แล้วการเล่นสเก็ตมันเป็นการต่อสู้กับตัวเอง ซึ่งมันช่วยผลักความรู้สึกที่ว่าเราทำไม่ได้ของตัวเองออกไป พอเราทำได้ท่าหนึ่งก็เหมือนเราได้ปลดล็อคในสิ่ง ๆ นั้น ปลดล็อคในสิ่งที่เราไม่เคยทำหรือทำไม่ได้ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราก็ทำได้นี่หว่า เราก็ทำอะไรเป็นนี่หว่า เราก็มีสิ่งที่เราทำได้นะ”

“แต่ส่วนหลัก ๆ อีกส่วนคือ ‘สังคมสเก็ตบอร์ด’ ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยให้เราหลุดพ้นจากโรคซึมเศร้า”

“คือในสังคมจะมีความคิดว่าสเก็ตคือสังคมของเด็กข้างถนน เด็กเกเร ดูไม่โอเคมานานแล้ว แต่พอเราเข้ามาในวงการนี้ทุกคน Nice มาก ทุกคนน่ารักมากจริง ๆ พอเราชอบสเก็ตบอร์ดเราก็คุยภาษาเดียวกันกับเขา ทุกคนให้ความช่วยเหลือ และยังทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้เป็นโรคนี้คนเดียวนะ บางคนก็ใช้สเก็ตบอร์ดเพื่อบำบัดสิ่งนี้เหมือนกัน เลยกลายเป็นว่าพอเรามาอยู่ในสังคมนี้ เราได้กลุ่มคนที่เป็นเหมือน ๆ กับเรา แล้วพอเราได้แลกเปลี่ยน คุยทัศนคติต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคนี้ การเล่นสเก็ตมันเลยทำให้เรามีความคิดในแง่บวกเกี่ยวกับโรคนี้ และสามารถหลุดพ้นจากตรงนั้นได้”

เมื่อได้ยินแบบนี้แล้ว เราจึงเกิดคำถามสงสัยปนกับความเป็นห่วง ว่าตอนนี้ชีวิตนอกบอร์ดสเก็ตของเธอเป็นอย่างไรบ้างนะ แต่เมื่อได้เห็นรอยยิ้มปนคำตอบกลับมาว่า ปัจจุบันเธอหยุดกินยามาสักพักใหญ่แล้ว อาจจะมีช่วงเวลาที่ดาวน์อยู่บ้าง แต่เมื่อกลับมาใช้ชีวิตอยู่บนบอร์ดอีกครั้ง ความเศร้าทั้งหลายก็จะถูกพัดหายไปในทันที ก็ทำให้เราอดยิ้มพร้อมกับดีใจตามไปด้วยไม่ได้เลย



UNLOCKMEN : การที่เล่นสเก็ตแล้วเกิดบาดแผล เรียกว่าเป็นความสวยงามของกีฬาชนิดนี้ได้มั้ย 

ข้าวฟ่าง : คือเราก็ไม่ได้อยากมีแผลหรอก แต่ว่ามันก็เหมือนเป็นความทรงจำส่วนหนึ่งของการเล่นสเก็ตบอร์ด

เมื่อพูดถึงความสวยงามของสเก็ตบอร์ด เหล่าผู้เล่นก็คงจะนิยามต่างกันไปด้วยเหตุผลนานานับไม่ถ้วน แต่สิ่งที่ทำให้เราสนใจข้าวฟ่างในการเป็นผู้ตอบคำถามนี้ คือก่อนช่วงเวลาของสเก็ตบอร์ด เธอเคยเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ประกวด Miss Teen มาก่อน ใช่ครับ ผมก็ตกใจไม่ต่างจากพวกคุณตอนที่ได้รู้เป็นครั้งแรก

แต่ทว่า ข้าวฟ่างยืนยันอย่างชัดเจนว่าการประกวดหาสาววัยทีนน่ารัก ๆ ไม่ใช่สไตล์ของเธอเลย ที่ลงประกวดเป็นเพราะที่บ้านอยากให้เป็นดารา เพื่อที่จะได้มีเส้นทางความมั่นคงอะไรบางอย่างในอนาคตของตัวเอง และเธอก็ยืนยันอีกครั้งในความไม่ใช่ตัวเองตอนจบของประโยคว่า “ใจจริงก็ไม่ได้อยากประกวดแต่ก็ทำให้แม่ค่ะ” 

เข้าสู่คำถามที่เราปูเอาไว้ก่อนหน้า ถ้าหากการประกวด Miss Teen คือความสวยงามทางกายภาพ แล้วความสวยงามของสเก็ตบอร์ดคืออะไร

“จริง ๆ แล้วถ้าถามถึงความสวยงามของกีฬาสเก็ต มันก็แน่นอนอยู่แล้วว่าคือการที่เราเล่นท่าต่าง ๆ มันคือท่าทางเวลาเราขยับตัว เวลาเราเล่นท่าต่าง ๆ ทุกท่า ความสวยงามเราว่ามันอยู่ตรงนั้น”

และเมื่ออ้างอิงจากคำตอบของข้าวฟ่าง ก็เรียกได้ว่าจุดผลิบานการเกิดความสวยงามของสเก็ตบอร์ด ไม่สามารถแยกขาดจาก ‘ความกลัว’ ได้เลย เพราะอย่างที่รู้กันดีว่ากว่าจะสามารถเล่นแต่ละท่าของสเก็ตบอร์ดได้ ร่างกายก็เต็มไปด้วยความล้ม ลุก คลุก คลานเสมอ ด้วยเหตุนี้เอง นี่จึงอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งจากคำถามที่เราสงสัยตั้งแต่ต้น ถึงเหตุผลทำให้ประเทศไทยมีสเก็ตเตอร์หญิงน้อย แต่เอาจริง ๆ ความกลัวก็น่าจะเป็นเหตุผลที่หลาย ๆ คนไม่กล้าที่จะเล่นสเก็ตบอร์ดอยู่แล้วล่ะ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม

“ใช่แล้ว ที่ผู้หญิงไม่เล่นสเก็ตบอร์ดกันส่วนหนึ่งก็เพราะความกลัว ส่วนที่สองคือบางคนไม่ได้มั่นใจในตัวเองพอที่จะเล่น เพราะมันมีความคิดที่มองเกี่ยวกับสเก็ตว่าเป็นกีฬาของผู้ชาย บางคนก็ยังไม่ได้เปิดขนาดนั้น”  

แล้วเมื่อเข้ามาเป็นสเก็ตเตอร์หญิงชนกลุ่มน้อยในวงการแล้ว เราก็อยากรู้ต่อไปอีกว่ามันมีข้อดีข้อเสียอะไรจากการเป็นเพศที่ต่างกันมั้ย

“เอาในประเทศไทยนะ ข้อดีในตอนนี้ก็คือการแข่งขันน้อยกว่าผู้ชายเยอะเลย ถ้ามองถึงเรื่องการแข่งขัน การแข่งขันของผู้ชายคือต้องเก่งมาก ๆ เก่งโคตร ๆ แล้วคือผู้ชายที่เล่นสเก็ตเก่งมันมีเยอะ ส่วนผู้หญิงในประเทศการแข่งขันมันน้อยกว่า เพราะผู้หญิงที่เล่นสเก็ตในไทยมันยังมีไม่มาก ความแข่งขันก็จะไม่สูงเท่าผู้ชาย” 

“ส่วนข้อเสียที่เรามองเห็นแรก ๆ เลยคือการหาเพื่อนผู้หญิงที่จะเล่นด้วยกันได้ยาก ในประเทศเราไม่ได้มาเจอกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน บางทีเราก็อยากเล่นกับเพื่อนผู้หญิง แต่มันก็ยากที่จะออกมาเล่นเฉพาะกลุ่มผู้หญิงด้วยกัน แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายก็เล่นด้วยกันได้หมดไม่มีปัญหา”


UNLOCKMEN : ถ้าให้เลือกท่าที่เจ็บที่สุดในการเล่นสเก็ตบอร์ดจะเป็นท่าไหน 

ข้าวฟ่าง : Drop In เพราะมันคือท่าที่เล่นกับความสูง เล่นกับความกล้า เล่นกับความมั่นใจของเรา แล้วเราไม่สามารถเดาได้เลยว่าเราลงไปเราจะรอดหรือเราจะร่วง

ไม่น่าจะมีกีฬาชนิดไหนบนโลกนี้ ที่สอนให้เราเล่นจากสิ่งที่ยากที่สุดก่อน แล้วค่อยมาเล่นท่าพื้นฐานเอาทีหลัง จริง ๆ การใช้ชีวิตก็ไม่ค่อยมีใครบอกให้เราเริ่มทำจากสิ่งที่ยากก่อน แล้วค่อยไปปรับพื้นฐานเหมือนกันนะ เพราะเราอาจจะท้อก่อนที่จะสนุกได้ แต่! ข้าวฟ่างกลับมี Step ในการเล่นสเก็ตบอร์ดแบบที่ต่างจากคนส่วนมากออกไป เธอเริ่มต้นเล่นสเก็ตจากการ Drop In ตั้งแต่ยังเริ่มไถได้ไม่แข็งแรงด้วยซ้ำ

“คือเราจำได้เลยในตอนที่เริ่มเล่นเราเริ่มจากท่าที่เรียกว่า Drop In ก่อนเลย มันเป็นท่าที่ปราบเซียนมาก ๆ เราเห็นผู้ชายเล่น Street เยอะแล้ว แต่เราไม่เคยเห็นอุปกรณ์ที่เรียกว่า Bowl กับ Ramp ก็รู้สึกว่ามันน่าเล่นจังเลย ซึ่งตอนนั้นเราก็ไถได้ประมาณหนึ่งแล้วแม้จะยังไม่ค่อยคล่อง แต่ก็คิดว่าทำไมล่ะ ทำไมเราฝึกจากท่านี้ก่อนไม่ได้เหรอ กีฬาสเก็ตบอร์ดไม่มีข้อจำกัด มันไม่ได้มีบทเรียน มันไม่ได้มีกติกาว่าต้องเล่นท่าไหนก่อน เรารู้สึกว่ามันไม่เกี่ยว เราก็เลยเลือกที่จะทำเพราะเรารู้สึกว่าก็มันไม่มีขีดจำกัดเราอยากทำอะไรก็ทำ และเรารู้สึกว่าถ้าเราทำท่า Drop In ได้แล้ว เราค่อยกลับไป Basic ก็ได้ไม่เห็นเป็นอะไรเลย”

อธิบายท่า Drop In เพิ่มเพิ่มเติม By ‘ข้าวฟ่าง – สิริยาภร แซ่จิว’ 

“Drop In คือการที่เราเอาแผ่นสเก็ตไปยืนอยู่ข้างบน Ramp ซึ่งการ Drop คือการที่เราวางแผ่น แล้วเราเหยียบแผ่นให้ลงมาข้างล่างให้มันไถไปข้างหน้าต่อไป ความน่ากลัวของท่านี้คือความสูง อย่าง Street ความท้าทายของมันคือการกระโดด การเล่นกับบล็อค ส่วนอุปกรณ์ Ramp ก็เหมือนกัน เราก็เล่นกับอุปกรณ์คือความสูงของมันด้วยส่วนหนึ่ง มันเลยเป็นความน่ากลัวว่าเราขึ้นไปอยู่สูง ๆ แล้วเรากดเท้าลงไป มันเหมือนเรากระโดดตึก บางคนที่เพิ่ง Drop ใหม่ ๆ รู้สึกเหมือนเหมือนกำลังกระโดดตึกฆ่าตัวตายเลย”

“ตอน Drop In ครั้งแรกเราจะไม่รู้เลยว่าเราจะล้มแบบไหน นั่นคือความน่ากลัวอย่างหนึ่ง การเซฟในการ Drop มันก็ยากมาก ๆ ด้วย ตอนแรกเราก็กลัวมาก กลัวแบบจะทำได้ไหม มันก็ต้องใช้ความกล้าอยู่ส่วนหนึ่งรวมกับความมั่นใจ การ Drop หลักสำคัญคือเราต้องมั่นใจ”

เหตุผลที่เริ่มต้นในการ Drop In ของข้าวฟ่างเราคงพอจะเข้าใจกันแล้วจากสิ่งที่เธอเล่ามา การที่เธอยังเล่นสเก็ตบอร์ดอยู่ แสดงว่าเธอไม่ได้กลัวหรือท้อไปก่อนเลยแม้สักนิด แต่นั่นก็เป็นอุปนิสัยส่วนตัวด้วยอย่างหนึ่ง เรากลับสนใจผลลัพธ์ที่เธอบอกว่า การเริ่มจากท่ายากก่อนช่วยให้มีความกล้ามากขึ้น เมื่อเริ่มจากสิ่งที่ยาก พอกลับไปจับท่าพื้นฐานทุกอย่างก็ง่ายละ เหมือนปลดล็อคท่าที่ต้องใช้สกิลหลายด้านไปล่วงหน้า จนมีสกิลให้เล่นท่าไหนก็ตามที่ดูจะง่ายกว่าได้อย่างรวดเร็ว

“มันไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้เลยในกีฬาสเก็ตบอร์ด กีฬาสเก็ตบอร์ดไม่มีขีดจำกัด ทุกอย่างเป็นอิสระ คุณเล่นไปเรื่อย ๆ มันไม่มีจุดจบแบบว่าฉันเล่นสเก็ตบอร์ดจนตอนนี้ฉันอยู่จุดสูงสุดแล้ว มันไม่มี เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ไม่มีขีดจำกัดต่อการเล่นสเก็ตบอร์ดเลย”


UNLOCKMEN : ท่าที่ใช้บอกรักกีฬาสเก็ตบอร์ด

ข้าวฟ่าง : พูดได้เลยว่าทุกท่าที่เราเล่น ตั้งแต่หัดไถ ไปจนถึงออลลี่ แค่ได้เล่นมันก็บอกได้แล้วว่าเรารักมัน เราใช้เวลาอยู่กับมัน

เรารู้สึกว่าช่วงระยะเวลาตลอด 3 ปีบนเสก็ตบอร์ดของข้าวฟ่าง มันไม่ได้สั้นเลยกับที่เธอบอกว่าเพิ่งเล่นได้แค่แปปเดียวเอง เพราะการที่กีฬาสักชนิดจะสามารถมีพลังเปลี่ยนแปลงคนเราได้ขนาดนี้ ก็เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากแล้ว ระยะทางของเวลา คงไม่สำคัญเท่ากับปริมาณจากสิ่งที่เราได้เรียนรู้ตลอดเวลาที่เล่นหรอกจริงมั้ย

“ตั้งแต่เริ่มเล่นสเก็ตบอร์ดมาสังคมของเราเปลี่ยนไปเลย ก่อนหน้านี้เราอยู่ในสังคมที่วัยตรงกัน ความคิดก็อยู่ใกล้ ๆ กัน แต่การที่เราออกมาเล่นสเก็ตมันเจอคนต่างวัยมากมาย เรามีเพื่อนตั้งแต่ที่เด็กกว่าเรามาก ๆ อายุ 5 ขวบ 9 ขวบ ไปจนถึง 40-50 ก็มี เราได้เจอคนมากมาย ได้แลกเปลี่ยนทัศนคติ จนทำให้ความคิดของเราโตขึ้น เรามีทัศนคติหลายแง่มุมมากขึ้นที่ไม่ใช่แค่เรื่องสเก็ตนะ เราได้คุยกับหลาย ๆ คนในหลาย ๆ เรื่องที่เราอยากรู้ ไปจนถึงมีอิทธิพลในการแต่งตัวที่เปลี่ยนไป การฟังเพลงก็เปลี่ยนไปตามสิ่งที่เราชอบด้วย”

“และแน่นอนว่าส่วนที่สนุกที่สุดของกีฬาสเก็ตเลยคือการได้แข่งกับตัวเอง การที่เราได้ท้าทายตัวเอง แล้วเราตอบโจทย์ตัวเอง จนเราสามารถปลดล็อคทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง มันทำให้เรารู้ว่าเราทำได้และมันสะใจมากที่สุดในชีวิตแล้ว เพราะเราทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ศัตรูเดียวคือตัวของเราเอง นี่คือกีฬาที่แข่งกับตัวเองไม่แข่งกับใคร”

แม้ว่าการพูดคุยของเราสองคนจะกินเวลาค่อนข้างยาวนานแล้ว แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าข้าวฟ่างจะเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย เอเนอร์จี้ของสเก็ตเตอร์หญิงคนนี้เป็นอีกเหตุผลหลักที่ทำให้เราอยากคุยกับเธอมาตั้งแต่แรก เพราะรู้ดีว่าการอยู่กับสิ่งที่รักอย่างเอาเป็นเอาตาย ใช้เวลาฝึกอย่างหนักหน่วงก็มีช่วงเวลาที่ ‘ท้อ’ ได้เหมือนกัน เมื่อเราถามเรื่องนี้กับข้าวฟ่าง คำตอบของเธอก็ทำให้เรามองการทุ่มเทให้กับสิ่งที่ตัวเองรักเปลี่ยนไปเลย 

“ในการเล่นสเก็ตบอร์ดมันจะมีจุดหนึ่งที่หลายคนเป็นเหมือนกัน คือรู้สึกว่าทำไมมันไปต่อไม่ได้แล้ว เราเล่นท่าที่มันยาก ๆ ได้แล้ว และอยากจะไปต่อแหละ แต่จู่ ๆ เรารู้สึกเหนื่อยกับมัน รู้สึกหมดกำลังใจจะเล่นท่าอื่นต่อไป เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าหรือมันหมดแค่นี้เหรอ มันจะมีความรู้สึกนั้นเข้ามาอยู่” 

“แต่สำหรับเราเวลาที่รู้สึกแบบนั้น เราจะคิดว่าโอเค มันอาจเป็นช่วงหนึ่งที่เราแค่เหนื่อยกับมัน เราแค่ต้องลองไปหาสิ่งใหม่ ๆ ทำดู เราอาจพักมันบ้างสักอาทิตย์หนึ่ง ถ้าเรารักสเก็ตจริง ๆ ถ้าเราอยู่กับมันมากพอ อย่างไรเราก็จะกลับไปเล่นมันใหม่อยู่ดี ให้เวลากับมันหน่อย แล้วก็ให้เวลากับตัวเองด้วย ให้ตัวเองได้พักร่างกาย มันไม่ควรต้องฝืนร่างกายตัวเองมากมายขนาดนั้น”



UNLOCKMEN : ท่าที่นิยามความเป็นข้าวฟ่าง

ข้าวฟ่าง : Lay Back, Lay Slide เรียกว่าเป็นท่า old-school ท่าหนึ่งที่เราเราคิดว่ามันเท่มากเลย คือเราชอบทีมสเก็ตทีมหนึ่งที่ชื่อ Scum Skates มากกก พวกเขาเป็นทีมที่เล่นแนว Verse เล่น Bowl เล่น Old-school ในสายที่เราชอบอยู่แล้ว เรายังไม่เคยเห็นผู้หญิงเล่นท่านี้ ก็เลยลองฝึก แล้วก็เล่นบ่อยมาก ๆ จนกลายเป็นท่าประจำของเราไปเลย

ในช่วงสุดท้ายของบทสนทนา เราถามคำถามที่ค่อนข้างเอาแต่ใจตัวเองอยู่บ้างนิดหน่อย ด้วยความเป็นคนหลงใหลในกีฬาสเก็ตบอร์ด กดดูช่อง The Berrics กับ Trasher ทุกวัน ว่าง ๆ ก็ดูบอร์ดของ Preduce ไปพลาง ๆ แต่จนแล้วจนรอดก็ยัง ‘กลัว’ ไม่กล้าเล่นสเก็ตบอร์ดอยู่ดี เราจึงขอเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อที่จะเริ่มต้นได้เองจากเธอ

“ทัศนคติที่อยากให้ทุกคนที่กำลังจะเล่นสเก็ตมีคือ ‘ความมั่นใจ’ สเก็ตบอร์ดคือกีฬา extreme แล้วกีฬา extreme คือกีฬาที่ใช้ความกล้าของตัวเป็นส่วนหลัก ๆ เลย แล้วการที่เราจะกล้าเราต้องมั่นใจ ไม่ว่าเราจะเล่นอะไร เราต้องมีความมั่นใจ พอเรามั่นใจร่างกายเราก็จะขยับไปตามที่เราต้องการ  ถ้าเรากล้า ๆ กลัว ๆ สมองมันจะไม่สั่งการร่างกายเรา ร่างกายของเราก็จะไม่ไป มันก็อาจจะยากแล้วในการที่เราจะเล่นหรือทำสิ่งต่อ ๆ ไปจากสิ่งนั้น เราก็เลยอยากให้ทุกคนมั่นใจแล้วออกมาเล่นสเก็ตกัน”

และแม้ว่าจะเป็นกีฬาที่ผู้เล่นต้องยืนอยู่บนบอร์ดคนเดียว การมีเพื่อนรวมตัวกันเยอะ ๆ กลับเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมสำคัญอันเป็นหน้าตาของชาวสเก็ตเตอร์ และข้าวฟ่างบอกว่ามันเป็นส่วนที่ดีในการช่วยให้เราเล่นเป็นเร็วขึ้น แถมสนุกมากขึ้นด้วย เพราะอย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่าสังคมสเก็ตบอร์ดมีส่วนส่วนสำคัญต่อเธอทั้งในการสู้กับโรคซึมเศร้า และการเปลี่ยนแปลงให้เธอเติบโตขึ้นในหลาย ๆ ด้านด้วย

คำถามสุดท้ายที่ไม่ถามไม่ได้คือ ‘ความฝัน’ ในการเล่นสเก็ตบอร์ดของเธอ ด้วยอายุที่ยังน้อย และสไตล์ที่น่าสนใจเราจะไม่แปลกใจเลยที่เธออยากจะไถขึ้นไปอยู่บนยอดพีระมิด แต่ทว่า เธอกลับมอบคำตอบเซอไพรส์ให้เราประหลาดใจอีกครั้ง

“เราแค่รู้สึกว่าอยู่กับมันไปจนถึงวันสุดท้าย จนกว่าที่เราจะเล่นสเก็ตไม่ได้ เพราะกีฬาสเก็ตบอร์ดมันคือกีฬา extreme เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายเราก็ไม่ได้ถึกทนตามบอร์ดไปด้วย และเอาจริง ๆ สเก็ตบอร์ดก็ไม่ได้มีจุดสูงสุด มันสามารถเล่นไปได้เรื่อย ๆ และเราเองก็อยากอยู่กับสเก็ตบอร์ดไปเรื่อย ๆ แค่นั้นเลย”


 ตลอดระยะเวลาที่เราคุยกับสเก็ตเตอร์หญิงคนนี้ เราจะได้ยินคำว่า ‘ไม่มีขีดจำกัด’ แทบจะตลอดเวลา ที่เราเชื่อว่าเธอหมายความตามนั้นจริง ๆ เพราะการแสดงออกผ่านสายตาอันมุ่งมั่น เปล่งออกมาพร้อมน้ำเสียงที่ถ้อยชัดทุกจุด มันแสดงถึงและความอิสระในทุกสิ่งที่เป็นไปได้ และเราก็แทบจะไม่ได้ยินคำว่า ‘กลัว’ ออกมาจากปากของเธอเลย ที่สำคัญที่สุดคือเมื่อมีคำว่ากลัวออกมา เธอก็ไม่ได้ใช้มันในความหมายซึ่งบอกถึงความกลัวที่จะไม่กล้าทำสิ่งต่าง ๆ บนบอร์ดของตัวเอง แต่กลับมองเป็นเป้าหมายที่ต้องเอาชนะให้ได้ เสน่ห์ตรงนี้เองที่ทำให้เรามั่นใจอีกครั้งว่าเธอคือ Foxy Lady ที่เราเลือกไม่ผิดจริง ๆ 

“ถ้าเปรียบชีวิตของเราเป็นบอร์ดสักแผ่น มันคงเป็นบอร์ดที่ซิ่งมาก Set Up จะต้องเป็นล้อใหญ่ ๆ ลูกปืนซิ่ง ๆ  แบบที่ตัวเองเล่น เพราะเวลาที่ผ่านมาที่เราอยู่กับสเก็ต เราเติบโตกับมันเร็วมาก ซึ่งไม่คิดเลยว่ามันจะเร็วขนาดนี้ ทุกอย่างผ่านไปไวจริง ๆ สิ่งที่เราได้มามันเกินคาด เราก็ขอเปรียบว่าเราคือสเก็ตตัวหนึ่งเลยที่มีสเปกที่แรง เร็ว ล้อใหญ่ และไม่สะดุดอะไรเลย”

IG : kaaofangs

Photographer : Krittapas Suttikittibut

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line