Life

ไม่ชอบขี้หน้าใคร อยากไล่ออกนอกประเทศ “ตามกฎหมาย” ทำได้จริงหรือเปล่า?

By: PSYCAT August 3, 2017

ก็รู้ว่าไม่ค่อยชอบขี้หน้าคนนั้นคนนี้เต็มไปหมด อาจเพราะคนคนนั้นเคยทำอะไรให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ หรือเคยมาต่อว่าสิ่งที่เรารักเราชอบจนอดรนทนไม่ไหว หรือไม่ก็แค่หมั่นไส้กันก็เท่านั้นเอง จะให้มาบอกเขาว่า ไปซะ อย่าโผล่หน้ามาให้เห็นอีก ก็คงเป็นไปไม่ได้ วิธีสุดท้ายที่พูดออกไปง่าย ๆ (แต่ทำได้ยากเหลือเกิน) ก็คือไล่คนนั้นออกนอกประเทศไปซะ!

เอะอะ  ก็ไม่รักประเทศนี้ก็ออกไปจากประเทศนี้สิ เอะอะ เขาพูดอะไรไม่ถูกใจก็บอกให้เขาเก็บข้าวเก็บของออกจากแผ่นดินนี้ไปเลยนอกจากเราจะออกเงิน ทำวีซ่าให้เขาแล้ว เราสามารถซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วเฉดใครสักคนออกไปได้จริงไหมนะ? ในความเป็นจริง เราสามารถทำอย่างนั้นได้จริงหรือเปล่า?

UNLOCKMEN สนับสนุนให้ทำอะไรตามข้อเท็จจริง เลยขอเอากฏหมายสูงสุดของประเทศมาฝากกัน รู้ไว้เป็นผู้ชายแมน ๆ แถมกฏหมายเรื่องนี้แน่น เจอใครไล่ใครออกนอกประเทศครั้งหน้าจะได้ให้ความรู้ความเข้าใจเขาได้

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559 ฉบับลงประชามติ มาตรา 39 บัญญัติไว้ว่า การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้ การถอนสัญชาติของบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด จะกระทำมิได้

ถ้าอ่านภาษากฎหมายแล้วมันยังงง ๆ ไม่เข้าใจมากนัก UNLOCKMEN ก็ขอแปลให้ฟังแบบง่าย ๆ ว่ามาตรา 39 ของกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างรัฐธรรมนูญนั้นบอกว่าอยู่ ๆ เราจะไปไล่คนไทยคนไหนออกนอกประเทศไม่ได้! หรืออยู่ ๆ จะไปห้ามเขาไม่ให้เข้าประเทศก็ไม่ได้! (นอกจากจะทำผิดกฎหมายแล้วเขาจะหนีหายต๋อมไปเองนะ)

ไม่หมดแค่นั้น เพราะนอกจากเราจะไล่เขาออกนอกประเทศไม่ได้แล้ว อยู่ ๆ จะบอกว่า เฮ้ย! เลิกเป็นคนไทยไปเถอะ ไปถือสัญชาติอื่นเลย มาตรา 39 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าทำไม่ได้เช่นกัน

สุดท้ายแล้วจะพูดด้วยความคะนองปาก ความเกลียดชัง ความหมั่นไส้ หรือความไม่ชอบขี้หน้ายังไง ตามกฎหมายก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเราไม่มีสิทธิไล่ใครออกนอกประเทศ ไม่มีสิทธิไล่ใครออกจากความเป็นคนไทย รู้อย่างนี้แล้ว เราต่างก็ควรฝึกความอดทนอดกลั้น ไม่ต้องรักกันมากก็ได้ แต่ต้องยอมรับว่าความคิดเห็นที่แตกต่างมีอยู่จริงและเราต้องอยู่ร่วมกันภายในประเทศของเราต่อไปให้ได้

 SOURCE: ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line