Business

‘GRAB’ ALL SMART CAB! : ฉกให้เรียบสมชื่อ GRAB กับการเทคโอเวอร์โยก UBER มาเป็นลูกไก่ในกำมือ

By: anonymK March 26, 2018

COUNTDOWN ต่อไปอีก 2 อาทิตย์ ก่อน D-day วันที่ 8 เมษายน 2561 ถึงจะได้เวลาปิดไฟว่างรับผู้โดยสารไปตลอดกาลภายใต้แบรนด์สีเทา – ดำ กับโลโก้ตัว “U” ของ UBER เพราะจากนี้ต้องย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ใต้อาณัติของ GRAB โดยสมบูรณ์ จากข่าวที่ออกมายืนยันอย่างเป็นทางการและกระฉ่อนที่สุดต้นสัปดาห์นี้ เรื่อง GRAB เข้าเทคโอเวอร์กิจการโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เหี้ยนกับการประกาศการจับมือครอบครัวเดียวกันระหว่าง GRAB และ UBER แต่ครอบครัวนี้เน้นสีเขียวเป็นใหญ่เท่านั้นเอง

ชาว UNLOCKMEN คนไหนอยากจะมันส์และไม่ตกข่าวกับกลยุทธ์สุดพิเศษนี้มาตามดู RECAP ให้เป็นเรื่องเป็นราวด้านล่างกัน

 

อุแว้ UBER

บ๊ายบายยยย นายอูเบอร์เพื่อนยาก ไหน ๆ นายจะลอกคราบไปเกิดใหม่เป็น GRAB เราก็จะไม่ลืมการมีอยู่ของนาย เพราะก็พึ่งพากันมาแต่ไหนแต่ไร ขอบคุณนะที่ยกระดับการขับขี่แท็กซี่ไทย

  • UBER ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว (ปี 2009) บุกลงสนามแท็กซี่สาธารณะในรูปแบบ niche market หรือตลาดเฉพาะที่เน้นรับลูกค้าหรู โดยศัพท์คำว่า UBER ที่เราเรียก ๆ กันมาจากภาษาเยอรมันที่แปลว่า  “เหนือกว่า” หรือ “ที่สุด” เริ่มจากผู้ก่อตั้ง 2 คน ได้แก่ Garrett Camp และ Travis Kalanick
  • จุดประสงค์ของการเกิด UBER ก็มาจากการปรับทุกข์เรื่องแท็กซี่ในซานฟรานซิสโก แล้วมโนกันเล่น ๆ ว่าถ้าสามารถจัดหารถยนต์ที่หรูหราและคุณภาพของการบริการที่ดี ในลักษณะของการแบ่งเวลา (timeshare) ก็น่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดี
  • UBER ประกาศหาเพื่อนร่วมงานจากทวิตเตอร์ จนได้ Ryan Graves ผู้ร่วมก่อตั้งคนที่สามมาร่วมทีม และเริ่มเปิดให้บริการช่วงทดลองที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปี 2010 และเปิดให้บริการจริงในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันหลังจากนั้น Uber ก็ขยายตัวออกไปยังเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเริ่มต้นขยายตัวไปยังยุโรปและเอเชีย ในปัจจุบัน Uber มีการดำเนินการอยู่ที่เมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกทั้งหมด 633 เมือง
  • UBER ถือเป็นผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีสไตล์ start up ที่ matching ระหว่างคนขับกับคนเรียกให้มาพบกัน ซึ่งทำให้พวกเขาไม่ต้องมีรถในสังกัดของตัวเองที่ต้องลงทุนเลยแม้แต่คันเดียว ถือเป็นวิถีการจับเสือมือเปล่าที่ยอดเยี่ยมและทำให้อีกหลายธุรกิจเอามาใช้เป็นแบบอย่างบ้าง

 

ตั้งไข่ล้ม…อดกินไข่เน้อ

รากไอเดียทางธุรกิจของ UBER มันล้ำและเฉียบเหนือคนอื่น เพราะทั้งดำริทั้งลงมือบุกตลาดไปตามเมืองใหญ่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทว่าการเติบโตขยายตัวของ UBER เปรียบได้กับเด็กวัยตั้งไข่ที่อยากลุกวิ่งพรวดเสียเต็มแก่ในธุรกิจแท็กซี่ เพราะพอก้าวแรกมันดีก็คิดว่าก้าวต่อไปจะดี แต่ความจริงการขยายอย่างรวดเร็วคือดาบสองคม เพราะย่ิงโตเร็วเท่าไหร่หมายถึงหนี้ที่เพิ่มขึ้นตามด้วย ผสมกับเมื่อเอะอะขยายสาขาเป็นว่าเล่นมันก็มาถึงจุดที่ต้องเจอตอของเจ้าถิ่นกันบ้าง ทั้งเรื่องกฎหมาย วัฒนธรรม เช่น ในประเทศไทยของเราอย่างน้อยก็หนึ่งแห่งที่การเรียก UBER แต่ละทีต้องระแวดระวังเหล่าพี่ชายในเครื่องแบบโบกเพราะขัดกับข้อกฎหมาย ขัดขากับเจ้าถิ่น ทำให้เรียกได้ว่าอยู่ยากกันพอสมควร หรือในสิงคโปร์ที่ GRAB เอาชนะไปทั้งเรื่องค่าใช้บริการที่ถูกกว่า และการชำระเงินที่สะดวกกว่าไม่ต้องจ่ายผ่านบัตรเครดิตเพียงอย่างเดียว

จากต้นทุนที่ที่ต้องแบกรับและปัญหามากมายที่กล่าวไปจึงอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ UBER ต้องสมยอมขายกิจการหรือเปิดโอกาสให้กิจการคู่แข่งในประเทศต่าง ๆ เข้า TAKE OVER

 

“ฝากเอาไว้ในกายเธอ” กลยุทธ์ Othello หรือการพ่ายแพ้แบบลูกไก่ ?

สิ่งที่น่าสนใจที่หลายเพจออกมาพูดถึงคือการยอมยกธงขาวให้ take over ของ UBER ถึง 3 หน ทั้งจากประเทศมหาอำนาจซัวเถาอย่างจีน ยักษ์ใหญ่วงการไอทีอย่างรัฐเซีย และการยื่นมือไปจับกับ GRAB เอาดื้อ ๆ ให้ take over โซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดทั้งที่ขับเคี่ยวกับมาดี ๆ และที่สำคัญยังครอบกิจการแท็กซี่ในบางประเทศอย่างเวียดนามได้แล้วแท้ ๆ มันอาจเป็นแผนหรือการล้มบนฟูกของ UBER หรือไม่

เพราะแม้จะยอมให้เจ้าอื่นเข้าเทคโอเวอร์แต่ UBER ก็ไม่ทิ้งลายใช้วิธีฝากเอาไว้ในกายเธอ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการยอมแพ้ที่ดูจะกลิ่นตุ ๆ หน่อย เพราะเฮียแกเล่นขอพื้นที่เป็นหุ้นส่วนกับทุกเจ้าที่เข้า take over ในจำนวนไม่น้อย เช่น

  • ขายธุรกิจให้ Didi Chuxing ที่เป็นธุรกิจแท็กซี่ในจีนแต่พี่ UBERchina ถือหุ้นในบริษัท 20% และกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด
  • ขายธุรกิจให้ Yandex ยักษ์ใหญ่ของวงการไอทีรัสเซีย Uber จะถือหุ้น 36.6% แลกกับการอัดเงินเข้าไปอีก 225 ล้านดอลลาร์
  • ขายธุรกิจให้ GRAB ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดแต่พี่ UBER จะถือหุ้น 27.5% และที่สำคัญยังส่ง Dara Khosrowshahi ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอูเบอร์ เข้าร่วมเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารด้วย

ที่สำคัญการย้ายค่ายครั้งนี้ พวก DATA ทั้งหลายของ UBER ไม่ว่าจะเป็นคนขับ ลูกค้า ผู้จัดส่งและพันธมิตรร้านอาหารจากแอพพลิเคชั่น UBER EATS จะถูกย้ายไปยังแพลตฟอร์มของ GRAB ทำให้สิ่งที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ UBER ทั้งหมดไม่ระหกระเหินตกระกำลำบากมากนัก จึงน่าสนใจว่าการเคลื่อนไหวของ UBER ในครั้งนี้อาจเป็นการยอมขายเพื่อหวังฮุบเอากำไรจากภายใน ตามเกม Othello ที่แม้จะโดนอีกฝ่ายกินแต่สุดท้ายการวางหมากแฝงไว้ในแดนศัตรูก็อาจพาชัยชนะกลับมาได้ ไม่ใช่การพ่ายแพ้แบบลูกไก่อย่างที่หลายคนเข้าใจ

Dara Khosrowshahi / Credit Photo: http://fortune.com/

แต่ไม่ว่ามันจะเกมหรือความซวยจริงแล้วพยายามถอยหลังตั้งหลัก สิ่งที่ฝั่ง Dara Khosrowshahi ออกมาชี้แจงคือ

“ไม่ว่าจะเป็นการขายธุรกิจที่ รัสเซีย จีน หรือในครั้งนี้เองไม่ใช่กลยุทธ์หลักของบริษัท แต่ทำไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายเพื่อที่จะได้กลับไปโฟกัสหลังของตลาดตัวเองอีกครั้ง”

ผลลัพธ์สุดท้ายปลายทางที่แท้ของ UBER ไม่ว่าจะเป็นลูกไก่ หรือเจ้าเกมกระดาน หรือจะมีรูทอื่นอีกในรูปแบบไหนก็ตาม แต่พูดแทนชาว UNLOCKMEN ในฐานะผู้บริโภคแล้ว เมื่อมีการลดหน่วยการแข่งขันทางธุรกิจให้เหลือเพียงเจ้าเดียว อาจทำให้เราเจอปัญหาการผูกขาดทางราคาภายหลังก็ได้ซึ่งเรื่องมันจะหมู่หรือจ่า เราคงจะได้เห็นหลังวันที่ 8 เมษายนนี้ก่อนรับปีใหม่ไทยกันนี่แหละ หรือบางทีภาพมันอาจจะไม่เป็นแง่ร้ายอย่างที่คิด แต่เป็นของขวัญรับปีใหม่อย่างที่ Anthony Tan ซึ่งเป็น CEO ของทาง GRAB กล่าวไว้ก็ได้ว่า

Anthony Tan / Credit Photo: www.forbes.com

“วันนี้เป็นยุคใหม่ที่ผู้นำกิจการแพลตฟอร์มเรียกรถสองกิจการควบรวมกัน เพื่อที่จะได้เติมเต็มสำหรับผู้ใช้บริการ”

ชาว UNLOCKMEN ก็อย่าลืมติดตามแล้วมาอัปเดตการใช้บริการแท็กซี่โฉมใหม่แล้วเล่าสู่กันฟังบ้างนะ

 

SOURCE1   SOURCE2   SOURCE3   SOURCE4

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line