Business

สัมภาษณ์งานครั้งนี้ไม่มีพลาด “10 หนทางแนะนำตัวเองให้โคตรน่าสนใจ” ในวันสัมภาษณ์งาน

By: PSYCAT April 25, 2018

หนึ่งในคำถามแรกสุดของการสัมภาษณ์งานแต่ละครั้งคงหนีไม่พ้น “แนะนำตัวเองหน่อยครับ” หรือ “เล่าเรื่องของคุณให้เราฟังหน่อยค่ะ” แม้จะดูเป็นคำถามสุดพื้นฐานและง่ายแสนง่ายเพราะก็แค่บรรยายความเป็นตัวเองให้เขาฟัง แต่หลายต่อหลายคนก็ตกม้าตายเพราะไม่รู้ว่าจะทำให้การแนะนำตัวเองนี้มันน่าสนใจหรือแตกต่างจากคนอื่นได้อย่างไร ? แค่แนะนำชื่อ นามสกุล จบจากที่ไหน ทำงานอะไรมา มีประสบการณ์แค่ไหนอาจจะเพียงพอสำหรับการให้ข้อมูล แต่การเริ่มต้นแบบที่แตกต่างจะสร้างความประทับใจและทำให้คุณได้เปรียบผู้เข้าสมัครคนอื่น ๆ แบบไม่เห็นฝุ่นแน่นอน

“ผมสามารถสรุปความเป็นตัวเองได้ใน 3 คำ” : ดึงความสนใจจากคนสัมภาษณ์มาอย่างรวดเร็วด้วยการบอกเขาว่า ไม่ต้องฟังอะไรให้ยืดยาวแต่อย่างใด เริ่มต้นด้วยคำที่บ่งบอกความเป็นตัวคุณได้อยู่หมัดและสร้างสรรค์ เป็นการปล่อยหมัดฮุกเด็ดให้เขาอยากถามเราต่อไปว่าทำไมเราถึงเลือก 3 คำนี้

“โควตที่ผมใช้ในการดำรงชีวิตเสมอมาก็คือ …” : ยกโควตของคนดัง คนประสบความสำเร็จ (จะดีมากถ้าเป็นสายงานเดียวกับคุณ) หรือใครก็ได้ขึ้นมา เพื่อบอกให้เขารู้ว่านี่แหละคือวิถีที่คุณยึดถือมาตลอด วิธีการเลือกโควตที่ใช่ของคุณ หรือคนที่กล่าวโควตนั้นออกมามีผลอย่างมากต่อวิธีที่คนสัมภาษณ์จะมองคุณ ดีกว่าบอกลอย ๆ ว่าคุณเชื่ออะไร หรือดำรงชีวิตแบบไหน แต่ให้คำพูดของคนที่คุณยึดถือมาช่วยบอกด้วยกลาย ๆ

“ปรัชญาส่วนตัวของผมคือ…” : การบอกปรัชญาในการใช้ชีวิตของตัวเองเป็นการบอกให้คนสัมภาษณ์รู้ว่าคุณไม่ได้แค่ใช้ชีวิต ทำงาน แล้วปล่อยให้วันเวลาไหลไปเรื่อย ๆ แต่คุณมีปรัชญาหลักที่คุณยึดถือ คุณเป็นนักคิด เป็นนักไตร่ตรอง และคุณจะใช้ชีวิตเพื่อบรรลุถึงปรัชญาที่คุณตั้งไว้ ไม่ใช่ใช้ชีวิตไปวัน ๆ

“คนที่รู้จักผมดีมักจะบอกว่าผมเป็นคน…” : แทนที่จะแนะนำตัวเอง หรือเสนอข้อดีของตัวเองว่าเราเป็นคนแบบไหน ลองเพิ่มความน่าเชื่อถือลงไปว่าคนที่อยู่รอบตัวเรา คนที่รู้จักเราดีบอกว่าเราเป็นคนอย่างไร คำพูดจะดูน่าสนใจและมีน้ำหนักมากกว่าบอกว่าเราเป็นคนอย่างไรเฉย ๆ

“ผมเสิร์ชชื่อตัวเองในกูเกิลเมื่อเช้า และนี่คือสิ่งที่ผมได้มาครับ …” : วิธีนี้จะว้าวมาก ถ้าคุณสมัครงานในสายงานออนไลน์ เพราะมันไม่ใช่เป็นการบอกเฉย ๆ ว่าคุณคือใครหรือทำอะไรมา แต่มันบอกได้ว่านี่ไงครับ ดูสิ แค่เสิร์ชชื่อผม คุณก็จะเห็นผลงานที่ผมทำมาแล้วนะ ไม่ว่าคุณจะเป็นกราฟิกดีไซน์ เป็นคอนเทนต์ไรท์เตอร์ หรือฝากฝีไม้ลายมือบนโลกออนไลน์ไว่อย่างไร มันเป็นการประกาศว่านี่แหละสิ่งที่คุณจะได้ ถ้ารับผมไว้เข้าทำงาน

“แพสชั่นของผมคือ …” : มันไม่สำคัญแค่ว่าคุณเป็นใคร แต่มันสำคัญว่าคุณมีแพสชั่นไหม ? และคุณมีแพสชั่นกับอะไร ? การบอกว่าคุณมีแพสชั่น และแพสชั่นนั้นมันสามารถขับเคลื่อนองค์กรของเขาไปข้างหน้าได้ ก็เป็นอีกวิธีที่จะบ่งบอกว่าคุณนั้นเหมาะสมกับองค์กรของเขามากยิ่งกว่าการบอกว่าคุณเคยทำงานที่ไหน มีประสบการณ์อย่างไรเพียงอย่างเดียว

“ตอนผมเรียนมัธยม ผมอยากเป็น … มาตลอด” : การเล่าถึงความฝันตั้งแต่ในวัยเรียนของคุณ เป็นการย้ำให้เขาเห็นว่าคุณตั้งใจที่จะทำหน้าที่นี้มานานแค่ไหน ไม่ใช่แค่บอกว่าเรียนที่ไหนแล้วจบไป แต่มันคือการสร้างความประทับใจว่าที่คุณเลือกเรียนที่นี่ เรียนคณะนี้มันมีเหตุผลคือการอยากทำตำแหน่งนี้ มันจึงเป็นวิธีที่แสดงถึงความตั้งใจมาหลายสิบปี ไม่ใช่แค่เพิ่งเตรียมตัวสัมภาษณ์เมื่อคืนนี้

“ถ้าฮอลลีวู้ดจะสร้างหนังสักเรื่องเกี่ยวกับชีวิตผม หนังเรื่องนั้นคงมีชื่อว่า …” : ลองสรุปชีวิต ความฝัน ความตั้งใจของตัวเองออกมาเป็นหนังสักเรื่องดู เช่น “ผู้ชายคนนี้ไม่หยุดฝัน” “From Zero To Hero” หรืออะไรก็ได้ที่บ่งบอกความเป็นตัวเราตลอดมา การเล่าความเป็นตัวเองด้วยวิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีที่โคตรสร้างสรรค์ เพราะสรุปความเป็นเราออกมาแบบไม่เยิ่นเย้อ แถมสนุก และเล่าต่อได้อีกว่าที่มาของชื่อหนังที่เราตั้งมันคืออะไร แถมชวนคุยได้ยาว ๆ ว่าเราเป็นพระเอกไหม เป้าหมายของพระเอกคืออะไร วางแผนให้หนังเรื่องนี้จบอย่างไร

“ผมขอโชว์ให้คุณดู แทนที่จะตอบคุณได้ไหมครับ…” : แทนที่จะแนะนำตัวเองบ้าน ๆ ด้วยคำพูด ลองควักอะไรออกมาจากกระเป๋าที่บ่งบอกความเป็นตัวคุณ เล่าเรื่องราวของคุณได้ อาจะเป็นบัตรพนักงานจากที่ทำงานที่แรกแล้วบอกว่ามันคือตัวแทนของความพยายามของคุณ หรือรูปหน้าจอมือถือที่บ่งบอกเรื่องความหลงใหลเกี่ยวกับงานอะไรบางอย่าง หรือเป็นโพสต์อิทในกระเป๋าที่จดสิ่งที่ต้องทำเพื่อบอกถึงความเป็นคนละเอียด ฯลฯ การเริ่มเล่าจากสิ่งของจะดึงดูดความสนใจและสร้างความแตกต่างได้มากกว่าการเล่าธรรมดา ๆ แน่นอน

“คำชื่นชมที่ผมได้จากคนอื่นบ่อย ๆ คือ …” : การจะบอกว่าตัวเองเจ๋งตรงไหน มันก็ดูเคอะเขินไปหน่อย แต่การบอกว่าเราเจ๋งเพราะคนอื่นชมเรา ก็ดูเป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจมากกว่า เช่น บอสเก่ามักจะชมผมว่าผมเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนร่วมงานมักชมที่ผมเข้ากับคนได้ง่าย มันเป็นการแสดงให้เห็นด้วยว่าคุณสมบัติเหล่านี้ในตัวคุณนี่แหละที่จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรเขาแน่ ๆ

ลองเลือกไปปรับใช้กันดู บางคำตอบอาจเหมาะกับบางสายงาน ในขณะที่บางคำตอบก็สามารถปรับใช้ได้กับทุกสายงาน แต่ไม่ว่ายังไงการเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่คำถามพื้นฐานอย่างการแนะนำตัวก็เป็นเรื่องที่สร้างความมั่นใจและความเป็นมืออาชีพให้เราได้ อย่างน้อยก็ไม่ต้องตื่นเต้นจนทำพังไปหมด เริ่มต้นดีก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line