Business

“รู้เท่าไม่ถึงการณ์”ไม่ใช่ข้ออ้าง! รับมือข้อผิดพลาดแบบรุ่นใหญ่ ไม่ใช่แค่พูดพล่อย ๆ

By: PSYCAT March 11, 2020

“รู้เท่าไม่ถึงการณ์” คือการ์ดยอดฮิตติดอันดับของมนุษย์ผู้ทำผิดพลาด แล้วไม่รู้จะรับมือกับความผิดพลาดนั้นอย่างไร แม้จะมีคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้วทำผิดพลาดอยู่จริง (ซึ่งถ้าพลาดครั้งแรก สังคมก็พร้อมรับฟังและให้โอกาส) แต่ก็มีมนุษย์บางจำพวกที่พูดคำว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” เป็นรอบที่สิบ ไม่ว่าผิดกี่ครั้ง ไม่ว่าพลาดกี่หนก็พูดพล่อย ๆ เพื่อเอาตัวรอดให้พ้น ๆ ไป แล้วก็ปล่อยความผิดพลาดยุ่งเหยิงนั้นให้ยังอยู่ต่อไป

ผู้ชายอย่างเรา ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งลองสิ่งใหม่ ๆ อยู่ทุกวัน ก็ย่อมต้องผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา หรือบางครั้งเราไม่ใช่คนพลาด แต่คนในปกครองหรือคนในความรับผิดชอบทำพลาด เราเองก็ต้องเป็นคนออกหน้า ในฐานะที่เราก็เบื่อคนพูดว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” เต็มทน เพราะเหมือนพูดแบบขอไปที

UNLOCKMEN ขอเสนอคำพูดที่ผู้ชายอย่างเราใช้รับมือเมื่อเจอภาวะวิกฤต หรือทำผิดพลาด โดยเป็นคำพูดหรือวิธีการที่ดูเป็นรุ่นใหญ่ใจนิ่ง แถมดูเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่แค่ปัดความรับผิดชอบให้พ้น ๆ ตัว

โลกยุค 5G ทุกอย่างต้องแสดงออกเร็วนะ!

หากเกิดทันยุคที่ข้อมูลข่าวสารทุกอย่างมาจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์เท่านั้น เราจะเข้าใจได้ทันทีว่าข้อมูลในยุคนี้ไหลเร็วขนาดไหน ไม่ใช่ระดับเวลาเช้า-เย็น เหมือนข่าวภาคเช้าและภาคค่ำอีกต่อไป แต่ข่าวนั้นเชี่ยวกรากกันเป็นระดับนาที!

ดังนั้นเมื่อเราทำพลาดและมีคนพบข้อผิดพลาดนั้นแล้ว ให้รีบ Take Action ให้เร็วที่สุด แต่ละนาทีที่เราปล่อยเวลาให้ผ่านไป หมายถึงคอมเมนต์คาดเดาไปสารพัด หมายถึงการบอกกันปากต่อปาก (ที่ข้อมูลอาจจะผิดพลาดและไปกันใหญ่ยิ่งกว่าเดิม)

โลกที่ทุกอย่างหมุนไว การหวังว่าคนจะลืมไปเองนั้นทำได้ยาก ทางที่ดีกว่าจึงควรแสดงออกให้เร็วที่สุด โดยอาจยังไม่ต้องถึงขั้นบอกวิธีแก้ไขเสร็จสรรพ แต่อย่างน้อยต้องบอกว่าเราไม่ได้เพิกเฉยกับปัญหานั้น

โฟกัสในสิ่งที่ต้องแก้ ไม่ใช่ตอแยกับเรื่องอื่นไปเรื่อย

ถ้าคนในอำนาจการปกครองหรือคนใกล้ชิดของเราเอาชื่อเราไปแอบอ้าง เช่น นายบอยคนสนิทเรากักตุนแมสก์ 200 ล้านชิ้นไว้ขายเอากำไร ในวันที่เมืองทั้งเมืองกำลังเผชิญไวรัสและขาดแคลนแมสก์อย่างหนัก เมื่อนายบอยถูกจับได้ว่าทำผิด แทนที่จะพูดคำว่า “ผมรู้เท่าไม่ถึงการณ์” แล้วไล่เหวี่ยงว่าใครเป็นคนปล่อยข่าว? ใครเป็นคนแฉ? จะแจ้งความเอาผิดให้หมด!  (นี่เป็นเหตุการณ์และตัวละครสมมติเท่านั้น)

การรับมือกับภาวะวิกฤตแบบที่ยกตัวอย่างคือการโฟกัสไม่ตรงจุด เมื่อเราทำผิดไป เราควรโฟกัสว่าเราจะแก้ไขมันอย่างไร? จากนั้นขอโทษพร้อมบอกทางแก้ไข หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรบอกว่าเรากำลังพยายามหาทางแก้ไขความผิดพลาดนี้ (รวมถึงบอกวันที่แน่นอนว่าจะให้คำตอบได้เมื่อไร)

หนทางนี้จะช่วยให้ทุกคนเห็นว่าเราแสดงความรับผิดชอบ และจริงใจที่จะแก้ปัญหานั้น ๆ มากกว่าการฟาดงวงฟาดงาเบี่ยงประเด็นไปโทษคนอื่นหรืออย่างอื่น ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างแย่ลงแทนที่ทุกอย่างจะคลี่คลาย

มากคนก็มากความ พยายามพูดแค่คนเดียว

ความผิดพลาดในระดับองค์กร หรือในระดับมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป การออกมาพูดควรเลือกหนึ่งคนเป็นตัวแทนเท่านั้น เพราะยิ่งพูดหลายคนก็ยิ่งมีหลายน้ำเสียง หลายคำที่เลือกใช้ หลายข้อความที่สื่อออกไปซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะพูดไม่ตรงกัน หรือบางทีอาจเจตนาให้ตรงกัน แต่แค่เลือกใช้คำคนละแบบก็อาจตีความไปได้ต่างกันแล้ว

เพื่อให้ข้อมูลตรงกันและเป็นหนึ่งเดียวจึงควรตั้งตัวแทนเป็นคนออกมาขอโทษ แสดงความรับผิดชอบ ชี้แจงวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

แม้แต่ความผิดพลาดของเราคนเดียว แต่เราเองก็ย่อมมีเพื่อน พี่ น้อง ครอบครัวที่รักและห่วงเรา ดังนั้นอย่าลืมบอกคนรอบตัวเราว่าถ้ารักและห่วงเราจริง ช่วยเคารพกันด้วยการให้เราพูดสิ่งนี้คนเดียว เพราะถ้าคนอื่นไปกระพือข่าว ไปแก้ตัวให้ (แม้จะหวังดี) แต่เราก็ไม่อาจควบคุมผลลัพธ์หรืออารมณ์ของทั้งผู้พูดและผู้ฟังได้แน่ ๆ

พูดคนเดียวแต่คิดเป็นทีม

เมื่อเจอความผิดพลาด และวิธีการที่เหมาะคือการหาตัวแทนออกไปพูด (หรือเราพูดคนเดียว โดยขอให้คนอื่นที่ห่วงเราเงียบไว้) แต่การระดมความคิดควรทำเป็นทีม

ซูเปอร์ฮีโร่ยังไม่สู้คนเดียว เพราะคนเดียวหัวหาย หลายคนมีแต่แข็งแกร่ง หลังจากวิกฤตการณ์เกิดขึ้นแล้ว ให้รีบรวบรวมทีมผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรทั้งหมดให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยกันปรึกษา ขอความคิดเห็นหลากหลายแบบเพื่อรับมือ หรือร่างข้อความที่จะสื่อสารกลับไป ไม่ว่าจะเป็นการขอโทษ การชี้แจงในส่วนของเรา หรือการโต้ตอบด้วยเหตุผลในกรณีที่จำเป็น

นอกจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กรแล้ว ควรเชิญผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่กำลังดราม่านั้นมาด้วย แต่ถ้าเป็นกรณีที่บุกเดี่ยวก่อดราม่าคนเดียวมาแต่แรก ก็อาจปรึกษาเพื่อน คนใกล้ตัว หรือผู้ใหญ่ที่เราเชื่อถือควบคู่กันไปแทน เพื่อหาน้ำเสียงหรือวิธีการสื่อสารที่หลายฝ่ายมองว่าเหมาะสม เพราะบางทีเราคิดว่าดี แต่พอให้คนอื่นฟังมันอาจดูเกรี้ยวกราดก็ได้

เข้าถึงแต่ไม่ถกเถียง

ข้อผิดพลาดและดราม่าจะตามเราไปทุกหนทุกแห่ง เพราะปัจจุบันเราแทบทุกคนมีแอคเคานต์โซเชียลมีเดียเป็นของตัวเอง (รวมถึงแอคเคานต์องค์กรด้วย) แค่ออกมาชี้แจงขอโทษจึงอาจยังไม่พอ โดยเฉพาะถ้าเราเป็นบุคคลสาธารณะ หรือเป็นความผิดพลาดระดับองค์กร ดังนั้นเราควรทำให้แอคเคานต์ของเราเข้าถึงได้ แต่ไม่ต้องเข้าไปถกเถียง

เพราะถ้าเราผิดพลาดจริง ๆ การออกมาพูดแล้วปิดแอคเคานต์หนีหายไป อาจดูเหมือนเราไม่ยอมรับความจริง หรือละเลยได้ ดังนั้นการรับความคิดเห็นพร้อมตอบข้อสงสัยเพิ่มเติมก็สำคัญ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าความคิดเห็นบางประเภทที่ไม่ได้มาเพื่อจะให้โอกาสเรา หรือมาเพื่อพ่น Hate Speech ใส่ เราไม่จำเป็นต้องใส่ใจ อาจกดไฮด์ นอกจากนั้นก็ต้องไม่ลืมว่าการตอบคำถามควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน (ซึ่งควรผ่านการหารือมาอย่างถี่ถ้วนอย่างที่เราแนะนำไป)

 

ไม่เคยมีใครไม่เคยผิดพลาด แต่ความแตกต่างของคนที่ผิดแล้วอยากแก้ไขกับคนที่ผิดซ้ำ ๆ คือการยอมรับความผิดและเก็บความผิดไปเป็นบทเรียนหรือไม่? การพูด การสื่อสาร ก็ถือเป็นขั้นตอนต้น ๆ ของการยอมรับความผิดที่คนอื่นจะเลือกว่าอยากให้โอกาสเราแก้ตัวหรือไม่ ดังนั้นเมื่อทำผิดพลาดไปแล้วอย่าแค่พูดปัด ๆ ให้พ้นตัวด้วยคำว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” อีกเลย มารับมือความผิดพลาดอย่างรุ่นใหญ่และมืออาชีพดีกว่า

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line