Life

รับมือกับ Happiness Guilt เมื่อเราไม่กล้ามีความสุขเพราะเห็นความทุกข์ของคนอื่น

By: unlockmen June 21, 2021

หลายคนเวลาไถ่หน้าฟีดโซเชียลมีเดีย ฟังวิทยุ หรือ เปิดทีวี มักจะรับรู้แต่ข่าวร้ายที่สื่อเผยแพร่ให้เรา ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ไปจนถึง โรคระบาด หรือ อาชญากรรม ซึ่งการรับข้อมูลเหล่านี้มาก อาจทำให้รู้สึกว่า เวลานี้ไม่ใช่เวลาของความสุข และการเผยแพร่พลังงานบวกในเวลานี้อาจเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะมันจะทำให้คนอื่นจะมองพวกเขาเป็น Ignorant หรือ คนที่ไม่สนใจโลกได้

บางคนเวลามีความสุข จึงพยายามทำพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อบดบังความรู้สึกของตัวเอง เช่น เสแสร้งว่าตัวเองโศกเศร้า หรือ ไม่สนใจความสุขของตัวเอง เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่มองโลกในแง่ลบไป และไม่มีความสุขในชีวิตตามมา

อาการนี้มีชื่อเรียกว่า Happiness Guilt และอาจส่งผลเสียต่อเราได้หลายอย่าง เช่น ทำให้เรามีความสุขได้ไม่เต็มที่ หรือ ทำให้เราไม่สามารถแสดงความจริงใจกับคนอื่นได้ เราเลยอยากมาแนะวิธีการรับมือกับอาการ Happiness Guilt ให้อยู่หมัด

อย่าจมกับความรู้สึกแย่

Happiness Guilt มักทำให้เราไม่สนใจความสุขของตัวเอง เช่น พยายามซ่อนมัน หรือ ไม่สนใจมัน ซึ่งส่งผลให้เราไม่มีความสุขในชีวิต และเสี่ยงต่อการเป็นซึมเศร้ามากขึ้น เพื่อปกป้องสุขภาพจิตของเรา เราควรรับว่า Happiness Guilt เป็นปัญหา และหมั่นตรวจสอบความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การตั้งชื่อให้กับอารมณ์ที่เราเผชิญอยู่ เช่น โกรธ เศร้า เหงา หรือ การเรียนและทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเองเพิ่มเติม เป็นต้น ซึ่งวืธีเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจ และรับมือกับอารมณ์ของตัวเองได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

ปล่อยให้ตัวเองมีความสุข

เราไม่สามารถมีความสุขหรือความทุกข์ตลอดเวลาได้ เพราะแต่ละวันเราเจอเหตุการณ์มากมาย และเกิดอารมณ์มากมายเช่นกัน ถ้าเราฝืนธรรมชาติ พยายามรู้สึกเศร้าในเวลาที่ไม่ได้เศร้า หรือ พยายามรู้สึกดีในเวลาที่ไม่ได้รู้สึกดี (Toxic Positivity) ชีวิตของเราอาจถึงขั้นพังได้เลยทีเดียว ความสุขถือเป็นเหมือนแรงจูงใจที่จะทำให้เราฝ่าฟันอุปสรรคชีวิตไปได้  ถ้าเราไม่อนุญาตให้ตัวเองมีความสุข เราก็คงจะแก้ไขปัญหาได้ยาก จะดีกว่าถ้า เราปล่อยให้ตัวเองมีความสุขอย่างเต็มที่ และใช้ความสุขเป็นแรงขับเคลื่อนในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและสังคม

เลิกเสแสร้งว่าตัวเองทุกข์

งานวิจัยบอกว่า คนที่นิยามว่าตัวเองซึมเศร้า (โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว) อาจคิดลบกับตัวเองมากขึ้น และกลายเป็นคนซึมเศร้าอย่างแท้จริงในที่สุด นอกจากนี้ คนที่แอคติ้งว่าตัวเองโกรธ ก็สามารถมีความโกรธเกรี้ยวมากขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น เราจึงไม่ควรเฟคอารมณ์ของตัวเอง และควรเปิดเผยความรู้สึกของตัวเองกับคนอื่นอย่างตรงไปตรงมทา

บอกข่าวดีให้เพื่อนของคุณรู้

หลายคนคงเคยได้ยินสำนวนของชาวสวีเดนที่ว่า “ความสุขถ้าแบ่งปันกันก็จะเพิ่มเป็นสองเท่า แต่ความทุกข์ถ้าแบ่งปันกันจะลดลงครึ่งนึง (Shared joy is a double joy; shared sorrow is half a sorrow.) เรื่องนี้มีงานวิจัยที่พบว่า คนที่แชร์ประสบการณ์เชิงบวก หรือ ข่าวดี กับคนอื่น จะมีความสุขในชีวิตมากขึ้น ส่วนผู้ฟังที่ตอบสนองกับข่าวดีแบบ active-constructive response (เช่น แสดงความสนใจในเรื่องราวที่อีกฝ่ายพูดอย่างแท้จริง และกระตือรือร้นที่อยากจะรู้เรื่องราวของคนอื่นมากขึ้น) ก็จะมีความสุขมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ถ้าคุณเจอเรื่องดี ๆ มา อย่าพยายามซ่อนมาเอาไว้ แต่ควรแชร์กับคนรอบข้าง เพราะมันอาจช่วยให้พวกเขามีความสุขมากขึ้นได้

สุดท้าย อย่าลืมว่าความสุขไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และเราไม่จำเป็นต้องซ่อนมัน เพราะการแชร์ความสุขกับคนรอบตัวอาจช่วยให้พวกเขามีความสุขมากขึ้นได้ และความสุขอาจเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ฟันฝ่าอุปสรรค์ไปได้ เพราะฉะนั้น แทนที่จะเก็บความสุขไว้ในใจ และแกล้งเศร้า เราควรกล้าที่จะเปิดเผยมัน และรู้จักแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่น


Appendix: 1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line