Life

มองโลกในแง่ดีใช้ไม่ได้กับทุกเรื่อง! รู้จัก ‘Toxic Positivity’ เมื่อเราคิดบวกแต่ในใจยิ่งลบ

By: unlockmen October 7, 2020

ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) นักเขียน นักกวี และนักประพันธ์ชาวอเมริกัน เคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตคือการเดินทางไม่ใช่จุดหมาย” (life is a journey not a destination) ประโยคนี้อาจตีความได้ว่า สิ่งที่สำคัญในชีวิต ไม่ใช่การบรรลุเป้าหมายในชีวิต แต่เป็นสิ่งที่เราพบเจอในระหว่างที่กำลังจะไปถึงเป้าหมาย และนั่นรวมถึงอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น ความสุข ความทุกข์ ความเศร้า ฯลฯ

หลายคนเวลาเจอกับเรื่องแย่ๆ และรู้สึกแย่ อาจพยายามคิดบวก เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น การคิดบวกช่วยเราได้จริง แต่การคิดบวกมากเกินไปอาจนำมาซึ่งผลเสียมากกว่าผลดี วันนี้ Unlockmen เลยอยากจะพูดถึงเรื่อง Toxic Positivity ภาวะที่เราคิดบวกมากเกินไปจนเป็นพิษ ว่ามันมีผลเสียอย่างไรบ้าง พร้อมแนะนำวิธีการรับมือกับความรู้สึกด้านลบที่จะช่วยให้เราทุกข์ใจกับอารมณ์ลบน้อยลง

‘Toxic positivity’ เมื่อยิ่งคิดบวกแล้วความรู้สึกยิ่งลบ

เวลาเจอเรื่องทุกข์ใจมา แล้วไปคุยเรื่องนี้กับใครสักคน เช่น พ่อแม่ เพื่อน ฯลฯ เราคงเคยได้ยินคำแนะนำประมาณว่า “ลองมองเรื่องนั้นในแง่ดีสิ อย่ามองแต่แง่ร้าย” แน่นอนว่า การมองโลกในแง่ดีส่งผลดีต่อเรามากกว่ามองโลกในแง่ลบ แต่การมองโลกในแง่ดีก็ไม่สามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง (ลองนึกดูว่า ถ้าเกิดคนในครอบครัวเราเสียชีวิต มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องรู้สึกเศร้าแล้ว ต่อให้คิดบวกยังไงมันก็เศร้าอยู่ดี) การมองโลกในแง่ดีกับทุกเรื่องจึงเป็นปัญหา เพราะอาจทำให้เกิดการเก็บกดความรู้สึกด้านลบมากเกินไป จนจิตใจบอบช้ำอย่างหนัก ซึ่งปัญหานี้มีความสำคัญจนมีการนิยามคำว่า ‘Toxic Positivity’ ขึ้นมาเลย

คิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) คือ ความเชื่อที่ว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะยากลำบากเพียงใด หรือ จิตใจจะได้รับความเจ็บปวดมากแค่ไหน ให้คิดบวกไว้เสมอ ไม่ต้องใส่ใจความรู้สึกแย่ๆ ที่เกิดขึ้นในใจ เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้าได้ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้ดีอย่างที่คิด เพราะยิ่งเราหลีกเลี่ยงอารมณ์ด้านลบมากเท่าไร เราก็ยิ่งเจ็บปวดจากอารมณ์ด้านลบมากเท่านั้น ข้อมูลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ยิ่งเราพยายามไม่คิดถึงอะไรบางอย่าง เรากลับยิ่งคิดถึงมันมากขึ้น และการเก็บความรู้สึกแย่ๆ ไว้ในใจ หรือ หลีกเลี่ยงความรู้สึกที่ทำให้ไม่สบายใจ นานๆ เข้า สามารถทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ได้เหมือนกัน

นอกจากเรื่องสุขภาพจิตแล้ว การเพิกเฉยต่อความรู้สึกด้านลบตลอดเวลายังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เมื่ออารมณ์ (โดยเฉพาะอารมณ์ด้านลบ) เป็นกลไกหนึ่งที่เตือนเราว่าอาจมีภัยคุกคามเกิดขึ้น หรือ ทำให้เราเห็นคุณค่าในสิ่งต่างๆ เช่น ความกลัว – เราระมัดระวังตัว หรือ ความเศร้า – ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่สูญเสียไป เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อเราไม่สนใจด้านลบแล้ว เราก็อาจไม่พร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่อาจมาถึง หรือ มองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่รอบตัวเราก็เป็นได้

คนที่ไม่สนใจความรู้สึกด้านลบอาจมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคมด้วย เพราะพวกเขาจะไม่แสดงอารมณ์ที่แท้จริงของตัวเองออกมา แต่ทำตัวร่าเริงมองโลกบวกตลอดเวลา เมื่อมนุษย์ต้องมีทั้งสุข และเศร้า ปะปนกันไป คนที่แสดงแค่อารมณ์ด้านบวกอย่างเดียว จึงดูเฟค และดูเข้าถึงได้ยากในสายตาของคนอื่น ส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับคนในสังคมเหมือนกัน


‘ยอมรับและระบาย’ วิธีการรับมือกับความรู้สึกด้านลบที่ดีที่สุด

วิธีการรับมือกับความรู้สึกด้านลบที่ถูกต้องควรเริ่มจาก ยอมรับความรู้สึกแย่ๆ ให้ได้ก่อน จะช่วยให้เราสามารถจัดการและลดความรุนแรงของความรู้สึกด้านลบได้ง่ายขึ้น งานวิจัยชิ้นหนึ่ง (2018) ชี้ให้เห็นว่า การยอมรับอารมณ์ด้านลบจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตในระยะยาวมากกว่าการหลีกเลี่ยงหรือปิดรับอารมณ์เหล่านั้น โดยสรุปผลจากการทดลองในผู้ใหญ่จำนวนกว่า 1,300 คน แล้วพบว่า ผู้ที่หลีกเลี่ยงความรู้สึกที่ทำให้พวกเขาไม่สบายใจจนเป็นนิสัย จะรู้สึกแย่กว่าเดิมได้

เมื่อยอมรับแล้ว สิ่งที่ควรทำต่อมาก็คือ ระบายอารมณ์เหล่านั้นออกมาผ่านการพูดคุยกับใครสักคนที่เราเชื่อใจ เช่น เพื่อน แฟน หรือ คนในครอบครัว งานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า การพูดคุยถึงปัญหาและแบ่งปันอารมณ์ด้านลบกับคนที่เราเชื่อใจ สามารถฟื้นฟูเรา ช่วยลดความเครียด ทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้น อีกทั้งช่วยลดความทุกข์ทรมานทางกายและใจได้ด้วย เพราะการเก็บอารมณ์แย่ๆ ไว้ก็เหมือนกับการมีภาระอยู่บนบ่า ยิ่งเก็บไว้มาก ก็ยิ่งรู้สึกหนัก หรือ สร้างความเสียหายให้กับเรามาก มันจึงดีกว่าถ้าเราจะระบายมันออกมา

แต่ที่สำคัญ ทางผู้ฟังก็ต้องอย่าทำให้คนที่พูดถึงปัญหาต้องรู้สึกแย่ขึ้นไปอีก เช่น ทำให้เขารู้สึกอับอายที่แสดงความรู้สึกแย่ๆ ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองยังคิดบวกไม่พอเลยไม่มีความสุข ฯลฯ

สิ่งที่ควรทำคือ เวลามีคนมาปรึกษาเรื่องอะไรก็ตาม ควรระลึกไว้เสมอว่า ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถจัดการกับปัญหาโดยใช้วิธีการเดียวกันกับเราได้ และบางทีอีกฝ่ายอาจต้องการแค่คนฟังเฉยๆ ไม่ได้ต้องการคำแนะนำ ดังนั้น จึงต้องเริ่มจากการฟังก่อน หากเขาต้องการคำแนะนำจริงๆ ก็ค่อยให้ตามควาใเหมาะสม

และเรื่องสุดท้ายที่เราอยากย้ำก็คือ ทุกอารมณ์มีความสำคัญต่อชีวิตเราหมด มันทำให้เราเห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่ เช่น หน้าที่การงาน เพื่อน เงินตรา ดังนั้น เมื่อสูญเสียมันไป ความเจ็บปวดทางอารมณ์จึงเกิดขึ้น แต่แนะนำแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า อยากให้ทุกคนเป็นคนอารมณ์ร้อน โกรธก็แสดงออกมา เศร้าก็แสดงออกมา (ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเราและคนอื่นตามหลัก ‘Emotional contagion’ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่: https://www.unlockmen.com/emotional-contagion/ ) เราแค่อยากให้ทุกคนใส่ใจกับอารมณ์ของตัวเอง และสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้นเอง

 

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าอารมณ์ลบรบกวนชีวิตมากเกินไป ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ไม่อยากทำอะไร รู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง ฯลฯ และรู้สึกว่ามันยากเกินไปที่จะรับมือกับมันด้วยตัวเอง เราขอแนะนำให้ลองพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา เพื่อรับคำแนะนำหรือการรักษาที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ


 

Appendixs: 1/ 2 / 3

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line