Life

HIJRA ดอกไม้พลาสติกที่เบ่งบานแห่งบังกลาเทศ

By: anonymK May 17, 2019

“ฉันรู้สึกเหมือนเป็นนางเงือก ร่างชี้ว่าเป็นชายแต่จิตวิญญาณคือหญิงสาว
ฉันเหมือนดอกไม้ ดอกไม้ที่สร้างขึ้นจากกระดาษ
แม้รับความรักท่วมท้นจากภายนอกเมื่อมองมา แต่ไม่ได้อาจสัมผัสความรู้สึกนี้จากการแตะต้องและดอมดม” Heena, 51, ธากา, บังกลาเทศ, 2012

Heena ⓒ Shahrai Sharmin

Hijra (ฮิจรา) คือกลุ่มคนที่มีเพศสภาพที่แตกต่างจากเพศสถานะภายใน ใช้สำหรับเรียกเพศที่สามที่กายเป็นชายแต่ใจเป็นหญิงและดำเนินชีวิตแบบหญิงสาว คำศัพท์ที่ชี้หน้าและตีตราความรู้สึกของบทบาทความเป็นชายหญิงและความ “เป็นอื่น” ทางสังคม ถ้าพูดในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว “ฮิจรา” ปรากฏหลักฐานมายาวนาน นานพอจะเชื่อว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม แต่ค่านิยมแง่ลบไม่ได้หายไปพร้อมกาลเวลา เหลือเป็นคราบติดแน่นฝังไว้ถึงวันนี้แม้รัฐบาลบังกลาเทศจะออกกฎหมายแสดงการรับรองสิทธิทางเพศมา 5 ปีแล้วก็ตาม

ⓒ Shahrai Sharmi

การใช้ชีวิตต้องสาปด้วยคำสาป

บางคนสงสัยว่าสถานะต้องสาปที่ผู้คนไม่อยากเข้าใกล้นี้จะใช้ชีวิตอย่างไร คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องการหางานเพราะไม่มีใครยอมรับ หรือสิทธิพลเมืองอื่น ๆ ที่ถูกริดรอนไป

สิ่งที่พิทักษ์ฮิจราไว้คือระบบความเชื่อบางอย่างของสังคมที่ฝังมายาวนาน ว่าเพศที่สามอย่างพวกเธอคือผู้มีอำนาจพิเศษจากการบูชาพระแม่พหุชระหรือมาตากี ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระแม่อุมา ทำให้สามารถสาปแช่งหรือให้พรได้ ดังนั้น วาจาศักดิ์สิทธิ์นี้จึงกลายเป็นเครื่องมือทำกินที่ทำให้ฮิจราสามารถรับเงินมาได้จากการอวยพรเด็กแรกเกิดที่ครอบครัวต่าง ๆ เชิญไป และเป็นอาวุธปกป้องตัวเองจากผู้ไม่ประสงค์ดีด้วยการสาปแช่งผู้คน ซึ่งเชื่อกันว่าใครได้รับคำบริภาษนั้นไปจะต้องโชคร้าย

เงือกที่ไม่อาจเป็นมนุษย์ ดอกไม้เทียมที่ไม่อาจเป็นดอกไม้จริง คือความเจ็บปวดที่ฮิจราชาวบังกลาเทศต้องยอมรับ จิตวิญญาณที่ขัดแย้งกับเปลือกที่รับมาทำให้พวกเธอต้องกลายเป็นคนไร้ราก หอบชีวิตออกจากแผ่นดินเกิดคนแล้วคนเล่า ถูกทอดทิ้งจากความสัมพันธ์เบื้องหลังทุกรูปแบบเพื่อย้ายไปยังอินเดีย สถานที่ที่พวกเธอยังคงได้รับการดูหมิ่นดูแคลนไม่แพ้กันแต่ระดับความเลวร้ายต่ำกว่า ทว่าในความมืดมิดอ้างว้างก็แทนที่ได้ด้วยความสัมพันธ์เหนียวแน่นระหว่างฮิจราด้วยกัน ดังนั้น ถ้าเราไปพบพวกเธอเป็นกลุ่มใหญ่ นั่นคือครอบครัวใหม่ของพวกเธอ

Sharhia Sharmin ช่างภาพสาวบังกลาเทศที่ได้รับรางวัลถ่ายภาพหลายเวที ถ่ายทอดเรื่องราวของฮิจราผ่านเลนส์ด้วยมุมมองที่ต่างออกไปหลังจากได้พบกับ Heena ฮิจราผู้เผยมุมใหม่ให้เธอรับรู้ ฮิจราที่ไม่ใช่ภาพความบิดเบี้ยวของสังคมที่เธอเติบโตมา ฮิจราที่ไม่ใช่ภาพน่าสงสารหรือโดดเดี่ยว แต่เป็นภาพชุมชนฮิจราที่มีแม่ พี่น้อง และเพื่อน กลุ่มคนที่รักในตัวตนของพวกเขาอย่างแท้จริง

Tip Tap เด็กน้อยวัย 8 ปียังเต้นรำใต้แสงอย่างเบิกบาน ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวันที่ชะตากรรมจะขีดเส้นกำหนด ⓒ Shahrai Sharmi

Nayan วัย 24 ปี ใช้ชีวิตย่ำรุ่งไปทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าและรับรายได้ที่พึงได้จากครอบครัวเธอ แต่เมื่อตะวันลับฟ้า เธอจะกลับมาอยู่ที่ชุมชนฮิจราของเธอ ⓒ Shahrai Sharmi

“ความอยากเป็นแม่คนทำให้ฉันอยากรับอุปการะลูกบุญธรรม แต่สงสัยจังว่าจะเป็นยังไงกันนะถ้าวันหนึ่งเธอเรียกฉันว่าพ่อ!” — คำพูดพร้อมรอยยิ้มของ Salma, 27. ธากา, บังกลาเทศ, 2013 ⓒ Shahrai Sharmi

Nishi 21 ปีกำลังเฝ้ารอชายในฝัน © Shahria Sharmin

Monya วัย 54 กลายเป็นม่ายเพราะชายคนหนึ่งที่ตายจากไป ทิ้งความรับผิดชอบมากมายไว้พร้อมกรอบกฎเกณฑ์ของโลกแห่งความจริง 40 ปีแล้วนับจาก Mona กลับไปที่บ้าน ระหว่างระบายควันจากปอดเธอฝันถึงการกลับไปตายที่บ้านเกิดของตัวเอง ⓒ Shahrai Sharmi

Poppy วัย 47 ปีและ Kesri วัย 45 ปีอาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวที่ทิ้งพวกเธอเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่พวกเธอพบกับความมั่นคง แข็งแรงทางมิตรภาพที่เติมเต็มความรักอย่างไร้เงื่อนไข ⓒ Shahrai Sharmi

China ในวัย 26 เซ็กซ์คือกลไกและความยินดีซึ่งเป็นเพียงบางสิ่งแสนห่างไกลที่เธอได้รับกลับมา ⓒ Shahrai Sharmi

Mohona อายุ 29 ปี ตอน 10 ขวบพ่อของเธอขังเธอไว้นานถึง 3 ปีเพื่อซ่อนความเป็นหญิงของเธอไว้ แต่หลังจากการหนีตามแฟนและปลดปล่อยตัวตนสู่อิสรภาพนำเธอมาที่เดลี ตอนนี้เธอได้อยู่อย่างอิสระ แต่มูลค่าของสิ่งที่ต้องจ่ายคือบ้านและครอบครัว ⓒ Shahrai Sharmi

อิสระหรือกักขัง ความดำมืดเสื่อมโทรมหรือความสว่างสวยงาม โลกนี้ยังคงมีมุมมองที่แตกต่างมากมายให้เราค้นพบและรับความแตกต่างเสมอ เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม เรายังคงเป็นหนึ่งชีวิตที่อยู่บนโลกใบเดียวกัน

 

SOURCE

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line