Work

งานก็ต้องทำ โซเชียลฯ ก็ต้องดู ‘เคล็ดลับฝึกสมองให้โฟกัส’ทำงานได้แม้มีสิ่งกวนใจ

By: PSYCAT July 16, 2020

โลกของการทำงานไม่เคยง่าย ล้านโปรเจกต์ที่รอให้เราเร่งทำให้สำเร็จ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจลุ่ม ๆ ดอน ๆ ยิ่งขยัน ยิ่งทำงานให้มีคุณภาพมากเท่าไรยิ่งดี แต่ในทางกลับกันโลกปัจจุบันก็เต็มไปด้วยสิ่งบันเทิงและสิ่งเร้าที่ชวนให้ไขว้เขวอย่างง่ายดาย

หันซ้ายก็สมาร์ตโฟนและเหล่าโซเชียลมีเดียสารพัดที่รอให้เราเปิดไปไถอัปเดตเรื่องราว หันขวาก็พร้อมหลุดโฟกัสได้ง่าย ๆ คล้ายกับว่าโลกใบนี้มีสิ่งดึงดูดใจให้ทุ่มเวลาให้ไม่รู้จบ (ยกเว้นการทุ่มเวลาทำงาน) ถ้าอย่างนั้นในวันที่โลกเต็มไปด้วยสิ่งรบกวนมากขนาดนี้ จะมีวิธีไหนที่เราจะฝึกสมองของเราไม่ให้ไหลไปกับสิ่งเหล่านั้นได้บ้าง?

UNLOCKMEN ชวนมาปลดล็อกด้วย เคล็ดลับฝึกสมองให้โฟกัส ทำงานได้แม้มีสิ่งยั่วใจ กลับไปทำงานครั้งหน้า จะได้รู้ว่าต้องจัดการกับสมองและการโฟกัสได้อย่างไร

ความลับของสมองที่ไม่เคยมีใครบอกเรา

หลายคนมักเข้าใจว่าถ้าอยากได้งานเยอะ ๆ ก็ต้องทำงานหนัก ทำงานต่อเนื่องหรือทำงานยาวนาน แต่จริง ๆ แล้วถ้าเราอยากได้งานที่มีคุณภาพนั้นไม่เกี่ยวกับความยาวนาน หรือเรื่องระเวลา แต่เป็นการที่เราสามารถโฟกัสกับงานอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพต่างหาก

เมื่อเราสามารถโฟกัส เราจะได้งานที่มีคุณภาพ และมีเวลาเหลือไปทำสิ่งอื่นอย่างมีคุณภาพได้เช่นกัน ไม่ว่าจะพักผ่อน เดินเล่น หรือใช้เวลากับคนที่เรารักโดยไม่ต้องกังวลเรื่องงานให้เสียเวลาพัก และไม่เอาการพักไปปนในเวลางาน การโฟกัสงานให้ได้จึงเป็นหัวใจสำคัญของคนที่อยากทำงานให้มีคุณภาพ

อย่างไรก็ตามการมีสมาธิจดจ่อกับงานหรือโฟกัสกับการทำอะไรสักสิ่งได้ ไม่ใช่แค่การบังคับตัวเองเท่านั้น แต่เป็นความสามารถของสมองที่จะจดจ่อด้วย และสมองก็มีธรรมชาติของมัน โดยหลายคนบอกแค่ว่าก็นั่ง ๆ ทำงานไปเถอะ อย่าไปคิดอะไร แต่ถ้าเราเข้าใจวิธีการทำงานของสมองเราก็จะทำงานอย่างมีคุณภาพได้มากขึ้น

งานวิจัย “Brief and rare mental ‘breaks’ keep you focused: Deactivation and reactivation of task goals preempt vigilance decrements” ระบุว่าสมองของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานหนักเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนาน ๆ การดันทุรังทำแบบนั้นแทนที่จะทำให้คุณทำงานเสร็จ  กลายเป็นว่าคุณจะเกิดอาการสมองตัน ตื้อ คิดอะไรไม่ออกเสียอย่างนั้น

โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิด หรือการสร้างสรรค์ เราเชื่อว่าหลายคนที่เคยพยายามบังคับให้ตัวเองนั่งคิดงานนาน ๆ จะเข้าใจว่าต่อให้นั่งไปก็คิดอะไรไม่ออก หรือคิดออกมาก็ไม่เป็นตามต้องการ

นักวิจัยยืนยันว่าเป็นเพราะ “สมองถูกออกแบบมาให้ตรวจจับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง” พูดง่าย ๆ ว่าเมื่อเรานั่งจุ้มปุ๊กและเค้นสมองทำงานอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน ๆ นับเป็นกิจกรรมเดิม กิจกรรมเดียวที่เราแทบไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนความคิด จึงทำให้สมองไม่ตอบสนอง เราจะคิดงานไม่ได้ในท้ายที่สุด หรือคิดได้แบบไม่มีคุณภาพ

ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำงานอย่างโฟกัสและมีคุณภาพ คือการต้องรู้จักโฟกัสและทำงานเป็นช่วง ๆ และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องพัก เพื่อให้สมองได้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ได้พัก ได้กลับมาตอบสนองกับการทำงานอีกหน

“ลุยงานบ้าคลั่ง พักอย่างปลอดโปร่ง” เทคนิคยอดนิยมที่ได้ผลจริง

ด้วยวิธีการทำงานของสมองที่ต้องการการพักนี่เอง ทำให้วิธีโฟกัสที่ดีที่สุดคือการอย่าโหมหนัก และอย่าหลอกตัวเองว่าการทำงานยาวนานคือการทำงานที่ได้ผลดีเสมอไป สำหรับใครที่อาจจะยังไม่เชื่อนัก เรามีเทคนิคการทำงานแบบเป็นช่วง ๆ ที่คนทั่วโลกนิยมใช้ จะลองคว้าไปใช้สักวิธี แล้วสำรวจตัวเองดูก่อนก็ได้ว่าทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นจริงไหม?

Pomodoro Technique: ‘Pomodoro Technique’ คือชื่อเทคนิคการทำงานทรงประสิทธิภาพที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย Francesco Cirillo วิธีการของเขาก็คือให้ตั้งเวลาทำงาน 25 นาที (ซึ่งก็เป็นเวลาสั้น ๆ ที่เราจะโฟกัสแค่งานได้ไม่ยาก) โดย 25 นาทีนับเป็น 1 Pomodoro เมื่อหมด 25 นาทีก็ให้พัก 5-10 นาที (เวลาพักก็ต้องพักจริง ๆ ห้ามคิดเรื่องงานเด็ดขาด) และทุก ๆ 4 Pomodoro ให้พักยาว 20-30 นาที สำหรับใครที่สนใจวิธีนี้อ่านเพิ่มเติมได้ที่ POMODORO TECHNIQUE กฏการเคลียร์งาน 25 นาทีจบ ที่จะช่วยให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปตลอดกาล

52/17: สำหรับคนที่รู้สึกว่าเวลาทำงาน 25 นาทีสไตล์ Pomodoro นั้นสั้นเกินไป ลองสัดส่วนทองคำ 52/17 ดู  เนื่องจากมีการสำรวจมาแล้วว่าสมองเราจะพีคสุดทำงานได้เต็มประสิทธิภาพสุดประมาณ 1 ชั่วโมง และต้องการช่วงเวลาพักราว ๆ 15-20 นาที โดยสัดส่วนนี้เราต้องทำงาน 52 นาที พัก 17 นาที จากการเก็บข้อมูลพบว่าคนที่ทำตามสัดส่วนทองคำนี้อย่างเคร่งครัดมีผลการทำงานที่โดดเด่นกว่าคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด ถ้าสนใจวิธีนี้ลองอ่านเพิ่มเติมได้ที่ หมดยุคทำงานวันละ 8 ชั่วโมง! “52:17 สัดส่วนทองคำแห่งการทำงาน”วิถีใหม่ที่ดีต่อชีวิตและงาน

เพราะหัวใจของการโฟกัส คือ “การพักสมอง” งานเป็นงาน เล่นเป็นเล่น

ท้ายที่สุดการโฟกัสกับงานไม่ใช่แค่เรื่องการบังคับตัวเองให้มาทำงาน ๆ ๆ แต่คือการเข้าใจวิธีการทำงานของสมอง และเข้าใจการพักให้เป็น การพักจึงไม่ใช่เรื่องของความขี้เกียจ แต่เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนให้ดี เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพตามไปด้วย สำหรับใครที่ถนัดแต่การวางแผนการทำงานแต่จินตนาการไม่ออกว่า “วางแผนการพัก” นั้นเป็นอย่างไร ลองทำตามไปด้วยกัน

ตั้งเวลาการพัก: ไม่ต่างจากการตั้งเวลานัดหมาย ตั้งเวลาไปคุยงาน ตั้งเวลาประชุม ตั้งเวลาให้การส่งงาน เมื่อมีกำหนดเวลา เราก็ย่อมต้องทำตามกำหนดเวลานั้น การพักก็เช่นกัน เราต้องวางแผนและกำหนดเวลาให้มัน ถ้าเราเข้าใจขีดความสามารถของตัวเองดี ไม่อยากใช้สัดส่วนเวลาที่คนอื่นคิดขึ้น ก็ต้องตั้งเวลาพักในแบบของตัวเอง เราอาจจะทำงานได้ 60-90 นาที พัก แล้วงานออกมาดี หรือทำ 45 นาทีแล้วดีที่สุด มีแต่เราที่รู้เวลาของตัวเอง เมื่อมีกำหนดให้เวลางาน ก็ต้องมีกำหนดให้เวลาพัก ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่เพราะจะทำให้งานออกมาดีกว่าเดิม

ระวังกับดักการพัก (พักต้องเป็นพัก): อย่างไรก็ตามการพักก็มีหลายสิ่งที่เราเข้าใจผิด เพราะร่างกายพัก (หยุดทำงาน) ไม่ได้แปลว่าสมองจะได้พักด้วยเสมอไป ดังนั้นในช่วงเวลาพัก ใครที่เผลอเอาเวลาไปไถเฟซบุ๊ก หมกในโซเชียลมีเดีย แสงจากหน้าจอ และข้อมูลที่ไหลบ่าเข้ามานั้นทำให้สมองเราไม่ได้พักตามไปด้วย ดังนั้นเวลาพักควรปล่อยให้สมองได้พักจริง ๆ ออกไปเดินเล่น ยืดเส้นยืดสาย พักสายตา ไม่อย่างนั้นเมื่อพักไม่มีคุณภาพ ก็แทบเท่ากับการไม่ได้พักเลยนั่นเอง

เคลื่อนไหวและพูดคุย: สำหรับคนที่รู้สึกเซ็ง อ้าว! เล่นมือถือก็ไม่ได้ แล้วจะพักยังไง? The Distracted Mind: Ancient Brains in a High-Tech World งานชิ้นนี้พูดถึงธรรมชาติของมวลมนุษยชาติว่าจริง ๆ แล้วเราไม่ได้ถูกวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อนั่งเฉย ๆ ดังนั้นเมื่อเราก็ฝืนวิวัฒนาการด้วยการนั่งทำงานหน้าจอนิ่ง ๆ มาคราวละเกือบชั่วโมง หรือชั่วโมงกว่าแล้ว เราต้องพาตัวเองออกไปเคลื่อนไหว เดินไปเดินมา ถ้าเดินออกไปรับแสงนอกตึกด้วยจะยิ่งดี แต่ถ้าไม่ได้ก็เดินไปกินน้ำ เข้าห้องน้ำ รวมถึงพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน (ในเรื่องที่ไม่ใช่งาน) เพราะมนุษย์เองก็เป็นสัตว์สังคม การได้เคลื่อนไหว และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น จะทำให้การพักมีคุณภาพและกลับมาทำงานอย่างมีคุณภาพได้อย่างไม่น่าเชื่อ

การโฟกัสไม่ใช่การบังคับหรือฝืนตัวเองให้จดจ่อนาน ๆ แต่คือการเรียนรู้และรับมือกับข้อจำกัดของร่างกายและสมองอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อรู้ว่าการโฟกัส และการทำงานที่มีคุณภาพ ย่อมมาจากการพักสมองอย่างมีคุณภาพ ก็อย่าลืมปรับใช้ เพราะไม่ใช่แค่งานเท่านั้นที่ดีขึ้น แต่เราจะเหลือเวลาไปใช้ชีวิตในแบบของเรามากขึ้นอีกด้วย

SOURCE : 12 ,3

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line