Business

หมดยุคทำงานวันละ 8 ชั่วโมง! “52:17 สัดส่วนทองคำแห่งการทำงาน”วิถีใหม่ที่ดีต่อชีวิตและงาน

By: PSYCAT March 16, 2018

สมัครเข้าบริษัทไหน ๆ เขาก็ยืนยันชัดเจนว่าเวลาทำงานต้อง 8 ชัวโมงเป๊ะ บวกกับเวลาพักกินข้าว 1 ชั่วโมง เท่ากับ 9 ชั่วโมงทำงานและพักที่ผู้ชายอย่างเราต้องใช้ไป แต่เคยสงสัยไหมว่าไอ้วิธีการทำงานด้วยสัดส่วนแบบนี้มันเวิร์คจริง ๆ หรือ? มันทำให้ประสิทธิภาพการทำงานพุ่งกระฉูดได้สุดจริงหรือเปล่า? UNLOCKMEN ประกาศตรงนี้เลยแล้วกันว่า “ไม่จริง!” แล้วมันต้องทำงานแบบไหนที่ผู้ชายอย่างเราจะได้งานอย่างจริงจัง?

วิธีคิดเรื่องการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันไม่ใช่แค่เป็นความคิดสุดล้าสมัย (ที่ใคร ๆ ก็ยังใช้อยู่) แต่ยังไม่ได้ผลการทำงานอย่างเต็มที่อีกด้วย แต่ถ้าเราสงสัยว่า “อ้าว ถ้ามันไม่เวิร์คแล้วมันมีที่มาจากไหนล่ะ?” คำตอบที่จะมอบให้ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วง ค.ศ. 1750 ถึง ค.ศ. 1850 นู่นเลย กฎการทำงาน 8 ชั่วโมง ถูกกำหนดขึ้นมาเนื่องจาก แรงงานในโรงงานต้องทำงานห่ามรุ่งหามค่ำอย่างไม่เป็นธรรม การทำงาน 8 ชั่วโมงจึงถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อกำหนดการทำงานอย่างมีมนุษยธรรมมากขึ้น แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบันแต่อย่างใด

พูดง่าย ๆ ว่าวิธีการทำงานที่คิดขึ้นเมื่อ 2-3 ร้อยปีก่อน นอกจากมันจะไม่เวิร์คแล้ว มันยังฉุดรั้งการทำงานของเราอีกด้วย โดยการศึกษาของบริษัท Draugiem Group ที่ใช้แอปพลิเคชันสำรวจการทำงานของพนักงาน โดยเฉพาะการตรวจดูว่าเวลาที่ใช้ในการทำงานต่าง ๆ กับประสิทธิภาพงานที่ได้มันพอดีกันหรือเปล่า

ผลปรากฏว่าการทำงานต่อเนื่องยาวนานไม่ได้สำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงานขนาดนั้น พูดง่าย ๆ คือการทำงานติดต่อกันนาน ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับการทำงานออกมาดีแต่อย่างใด สิ่งที่สำคัญคือการแบ่งโครงสร้างของวันทำงานออกมาเป็นระบบมากกว่า คนที่เคร่งครัดต่อการพักเบรคตัวเองระหว่างการทำงานจึงทำงานออกมาได้มีประสิทธิภาพมากกว่าคนทำงานติดต่อกันยาว ๆ

สัดส่วนทองคำสำหรับการทำงานที่พิสูจน์มาแล้วว่าดีงามที่สุดคือทำงาน 52 นาที พัก 17 นาที โดยคนที่ทำตามสัดส่วนทองคำนี้อย่างเคร่งครัดมีผลการทำงานที่โดดเด่นกว่าคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด กฎก็คืองานเป็นงานเล่นเป็นเล่นโดยระหว่างเวลา 52 นาทีนั้นจะไม่มีการใช้เฟซบุ๊ก การไถทวิตเตอร์ การแอบส่องอินสตาแกรมแม้แต่น้อย แต่ทุ่มเทให้กับงาน 100% เต็ม ในขณะที่เวลาพักก็พักเต็มที่ไม่มีการเอาเรื่องงานมาคิดแม้แต่น้อย

ผู้ที่ค้นพบสัดส่วนทองคำแห่งการทำงานนี้ เปิดเผยว่านี่เป็นเรื่องสุดพื้นฐานแห่งการทำงานของสมองมนุษย์เราเองนี่แหละ เพราะสมองเราจะพีคสุดทำงานได้เต็มประสิทธิภาพสุดประมาณ 1 ชั่วโมง และต้องการช่วงเวลาพักราว ๆ 15-20 นาที

แต่เราก็เข้าใจหัวอกคนทำงานดีที่ถ้าอยู่ ๆ จะไปประกาศตัวประท้วงการทำงาน 8 ชั่วโมงแล้วขอทำ ๆ หยุด ๆ เป็นท่อน ๆ แทนก็อาจทำได้ยากเหลือเกิน เราเลยเอา 4 ทริคเล็ก ๆ ที่จะจัดแบ่งเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมงให้ไปกันได้กับการทำงานเป็นส่วนอย่างมีประสิทธิภาพไปด้วยกัน

แบ่งเวลาเป็นส่วน ๆ : เรามักจะแบ่งเวลาเป็นระดับยิ่งใหญ่มาก่อน เช่น เดือนนี้เราจะทำอะไรให้สำเร็จ อาทิตย์นี้จะทำอะไรให้เสร็จสิ้นลองแบ่งเวลาเป็นระดับ 52 นาทีดูว่าภายใน 52 นาที เราจะทำอะไรให้เสร็จบ้าง แล้วตั้งหน้าตั้งตาทำมันอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้รู้ว่างานแต่ละอย่างเราต้องใช้เวลา 52 นาทีทั้งหมดกี่เซ็ตกันแน่

เคารพ 52 นาทีตรงหน้าของคุณ : ฟังเขามาว่า โห ทำแค่ 52 นาที แต่ผลงานล้ำเลิศกว่าชาวบ้านเขา เลยตั้งนาฬิกาจับเวลา 52 นาทีแล้วก็ทำอะไรมั่ว ๆ ไป ไม่ได้เด็ดขาด! เราต้องแบ่งเวลาและตามมาด้วยความเคารพ 52 นาทีนั้นให้เป็นเหมือนช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์ที่เราหรือใครก็จะมาล่วงละเมิดมันไม่ได้ ทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวกับงานที่ตั้งใจทำ ตัดทิ้งไป แล้วค่อยไปทำช่วงเวลาพักเท่านั้น

เคารพ 17 นาทีพักด้วยเช่นกัน : ผลการสำรวจออกมาแล้วว่าคนที่พักบ่อย ๆ สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่ไม่พักเลย ที่สำคัญคนที่พักแล้วตัดขาดจากงานก็ทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่พักไปคิดเรื่องงานไป ดังนั้นจงเคารพเวลาพักของตัวเองให้ได้ พาตัวเองออกจากโต๊ะทำงาน ห่างจากคอมพิวเตอร์ เดินเล่น อ่านหนังสือ หากาแฟกิน พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน รับรองว่าตอนที่กลับไปทำงานอีกครั้งหลังเบรค ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางเอง

อย่ารอให้ร่างกายเตือนเราว่าต้องพัก : เคยรู้สึกเหนื่อยจากการทำงานไหม? ร่างกายกำลังเตือนอะไรบางอย่างแล้วล่ะ ดังนั้นอย่าคิดว่า “เอาวะ ยังไม่เหนื่อย ทำต่ออีกหน่อยก็แล้วกัน” มันไม่เป็นผลดีทั้งต่อร่างกายและประสิทธิภาพการทำงานเลย ดังนั้นพักตามสัดส่วนทองคำแห่งการทำงานไว้เลยนี่แหละ จะได้ไม่ต้องทำงานไปเหนื่อยไปให้เสียประสิทธิภาพการทำงาน

เราเชื่อว่าผู้ชายที่เต็มที่กับชีวิตจะสามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานได้ทุกรูปแบบตราบเท่าที่รู้สัดส่วนและวิธีการที่เหมาะสมกับการทำงานของสมองของเรา และนำเอาไปใช้กับชีวิตมัน ๆ เพื่อให้ได้การทำงานสุดมีประสิทธิภาพออกมาได้ไม่ว่าสถานการณ์แบบไหน

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line