Business

“ฟีลมันหมดไฟ แต่ใจต้องทำงาน” จะทำอย่างไรดีเมื่อการออกจากงานไม่ใช่คำตอบ

By: unlockmen January 12, 2021

ช่วงนี้หลายคนน่าจะมีความเครียดและความกังวลกัน เพราะทุกอย่างในตอนนี้ดูไม่แน่นอนเสียเหลือเกิน ไม่มีใครรู้ว่า COVID-19 จะหายไปเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไรเราจะได้ใช้ชีวิตกันแบบปลอดภัยไม่กลัวโรค ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่สถานที่ต่าง ๆ จะเลิกโดนสั่งปิด ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไรเราถึงจะได้ทำในสิ่งที่อยากทำได้อย่างเต็มที่ซะที เหล่านี้คงทำให้หลายคนรู้สึกดาวน์ และไม่อยากทำงานกันบ้างแหละ

การทำงานที่ไม่อยากทำอาจทำให้เราเกิดความขี้เกียจ ซึ่งนอกจากจะทำให้เราไม่โปรดักทีฟแล้ว งานวิจัยบอกเราว่า ความขี้เกียจในระยะยาวอาจทำให้เรามีสุขภาพแย่ลง ร่ำรวยน้อยลง และมีความสุขน้อยลงด้วย แต่การออกจากงาน หรือ เปลี่ยนงานในช่วงนี้ คงเป็นเรื่องที่หลายคนรู้สึกว่า ยังไม่ปลอดภัยที่จะทำมัน เพราะอาจทำให้ถูกมองว่าไม่เป็นมืออาชีพ ไม่สู้งาน และขัดขวางความก้าวหน้าในการทำงาน บางคนจึงเลือกที่จะเก็บมันไว้ในใจ มากกว่าที่จะพูดเรื่องนี้ให้ใครฟัง และเผชิญหน้ากับปัญหานี้เพียงลำพังต่อไป

ฟังดูเป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนซัฟเฟอร์ แต่โชคดีที่มันยังมีวิธีการประคับประคองตัวเองให้ทำงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกัน เราได้นำวิธีเหล่านั้นมาแชร์กับทุกคนในบทความนี้ ลองทำตามดูแล้วดูว่ามันได้ผลมากแค่ไหน !!


ตอบให้ได้ว่าทำไมเราถึงยังต้องทำงานนี้อยู่

ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ควรจะมีการตั้งเป้าหมาย เพราะถ้าไม่ เราอาจรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่มันไร้ค่าไร้ความหมาย และหมดแพสชั่นในการทำมันได้อย่างรวดเร็ว ในการทำงานที่เรารู้สึกว่าไม่อยากทำก็เช่นกัน ถ้าเราจมอยู่กับความรู้สึกที่ว่าทำไมเราถึงยังตัองทำงานนี้ต่อไป ทุกอย่างมันก็คงมีแต่จะแย่ลง เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรทำเป็นอย่างแรก คือ การหาให้ได้ว่าทำไมเราถึงยังต้องทำงานที่น่าเบื่อหน่ายอยู่ ? เพราะเงิน? เพราะความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน? เพราะฐานะสังคม? เมื่อเป้าหมายในการทำงานเราชัดแล้ว กำลังใจมันก็มักจะมาเอง แต่ข้อควรระวังเมื่อเราจะตั้งเป้าหมายในการทำงาน คือ มันควรเป็นเป้าหมายที่เราเอนจอยกับมันจริง ๆ จะดีกว่า เป้าหมายที่เราไม่เอนจอยกับมัน เพราะมันจะไดร์ฟให้เราอยากทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ลองมองหาเป้าหมายที่ทำให้เรามีความสุขจากงานของเรา เช่น เราอาจจะอยากสร้างความสัมพันธ์ร่วมงานหลาย ๆ คน หรือ ได้รับการยอมรับในฝีมือจากหัวหน้า


ให้รางวัลตัวเองเมื่อทำเป้าหมายสำเร็จ

ถ้าเรารู้สึกว่า ไม่มีอะไรน่าสนใจในงานของเราเลย แต่เรายังจำเป็นต้องทำงานนี้อยู่ การให้รางวัลกับตัวเองเมื่อทำงานได้สำเร็จก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เรามีกำลังใจในการทำงานต่อไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ลองแตกเป้าหมายใหญ่ ๆ ออกเป็นเป้าหมายเล็ก ๆ เช่น เป้าหมายใหญ่ที่ต้องทำให้เสร็จใน 3 เดือน ออกเป็นเป้าหมายที่ต้องทำสำเร็จในแต่ละสัปดาห์ การทำแบบนี้จะช่วยให้เรารักษากำลังใจในการทำงานได้มากกว่า แต่เวลากำหนดรางวัลที่จะได้รับจากการทำเป้าหมายย่อย เราต้องระวังด้วยว่า รางวัลที่เรากำหนดขึ้นมาจะไม่ทำลายความรู้สึกดี ๆ ที่ได้จากการทำเป้าหมายสำเร็จ เหมือนกับ กำหนดว่าจะตั้งใจทำงานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อที่จะได้มีวันอู้ 3 วัน


คิดว่าเป้าหมายอยู่ใกล้ดีกว่าไกลเกินเอื้อม

เรามักจะตั้งใจทำงานในช่วงแรก ดรอปลงในตอนกลาง และขยันมากขึ้นในตอนท้าย เพราะในช่วงท้ายเรามีความรู้สึกว่ามันใกล้จะถึงเป้าหมายแล้ว เราเลยใส่แรงในการทำงานมากขึ้นกว่าตอนกลาง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องแบ่งเป้าหมายใหญ่ออกเป็นย่อย ๆ เพื่อให้เรารู้สึกเข้าใกล้ความสำเร็จแล้วบ่อย ๆ นั่นเอง นอกจากนี้ เราสามารถเอาแนวโน้มนี้มาใช้เพื่อกระตุ้นให้เราตั้งใจทำงานมากขึ้นได้เช่นกัน ลองคิดว่า งานที่เราทำอยู่ ไม่ได้เพิ่งเริ่มเมื่อเราลงมือทำ แต่มันได้เริ่มมานานแล้วตั้งแต่ตอนคิดหัวข้อ วางแผนในการทำงาน จะช่วยให้เรารู้สึกว่าเป้าหมายมันก็ไม่ได้ไกลอย่างคิด ทั้งนี้เราสามารถใช้วิธีการนับถอยหลังถึงช่วงกลางได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น อีก 5 วันก็จะทำได้ถึงครึ่งหนึ่งแล้ว ดีกว่า คิดว่าอีก 10 วันถึงจะเสร็จ


ใช้คนรอบตัวเราให้เป็นประโยชน์

เรามักจะมีนิสัยเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้างอยู่เสมอ เรามักขยันทำงานมากขึ้นเมื่อเห็นเพื่อนร่วมงานที่นั่งข้าง ๆ ตั้งใจทำงาน แต่บางครั้งมันก็ทำให้เรารู้สึกแพนิคได้เหมือนกัน และสามารถทำให้เราตอบสนองกับมันได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ เกิดแรงบันดาลใจและอยากทำตาม และยิ่งรู้สึกแย่ลงจนอยากส่งงานของตัวเองให้คนอื่นทำ แน่นอนว่า เราไม่สามารถโยนงานของตัวเองให้คนอื่นทำได้ทุกครั้ง เมื่อเกิดเรื่องแบบนั้นขึ้น เราอาจต้องใช้วิธีอืนในการแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่น เราอาจถามเพื่อนที่โปรดักทีฟคนนั้นว่า เขากำลังทำอะไรอยู่ ? ทำไมเขาถึงพยายามอย่างหนักขนาดนั้น ? รวมถึง ให้เขาแนะนำด้วยว่าทำไมเราถึงควรทำตามเขา ? จะช่วยให้เราเข้าใจและเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานมากขึ้นได้เช่นกัน นอกจากวิธีการถามโดนตรง เราอาจใช้วิธีการเป็นผู้ให้คำแนะนำกับคนอื่นก็ได้เช่นกัน เพราะการให้คำแนะนำแก่คนอื่นจะช่วยให้เรามีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น


เข้าสู่โหมดโฟลว์ในการทำงาน

เราว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่าการทำงานแบบมีโฟลว์ (flow) กันมาบ้างแล้ว ซึ่งมันหมายถึงการทำงานแบบที่เราจมอยู่กับงานอย่างสมบูรณ์ โฟกัสกับมันอย่างเต็มที่ และมีความสุขในการทำมันด้วย ซึ่งการอยู่ในสภาวะโฟลว์จึงช่วยเราในเวลาที่เรารู้สึกไม่อยากทำงานได้ และเราสามารถเข้าถึงมันได้ หากมีตัวกระตุ้นที่ถูกต้อง การมองหาประโยชน์ที่จะได่รับจากการทำงาน หรือ การมองเห็นคุณในงานของตัวเอง ก็เป็นตัวกระตุ้นที่ดีที่จะช่วยให้เราเข้าสู่สภาวะโฟลว์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการเข้าสู่สภาวะโฟลว์ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เราเลยต้องตรวจสอบตัวเองดูว่าอะไรทำให้เราเข้าสู่สภาวะนี้ได้

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรารู้สึกว่างานที่ทำอยู่มันทำให้เรารู้สึกแย่ลงและแย่ลงเรื่อย ๆ มีโอกาสที่เราจะเป็นซึมเศร้า หรือ ปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมา เราอยากให้ทุกคนหยุดทบทวนสักนิดหนึ่งว่าอะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง งาน และ สุขภาพ หรือลองไปพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาดูอาจช่วยได้มากกว่า

 


Appendixs: 1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line