Life

“ขอโทษครับ คุณชื่ออะไรนะครับ” : ทำไมเราจึงชอบลืมชื่อ และวิธีการจำที่จะไม่ทำให้เราหน้าแตกอีกต่อไป

By: PEERAWIT August 7, 2018

ทุกครั้งที่เราเข้าสังคม ไม่ว่าจะเป็นการพบปะผู้คนใหม่ ๆ ตามงานอีเวนต์ เจอเพื่อนของเพื่อนในปาร์ตี้ หรือมีตติ้งครั้งแรกกับกลุ่มคนหน้าใหม่ ก็จะมีการแนะนำตัวกันตามปกติ มีกล่าวทักทาย ยกมือไหว้ ไม่ก็เชกแฮนด์กัน ช่างเป็นภาพการเริ่มต้นของมิตรภาพใหม่ที่แสนราบรื่น ทว่าความชื่นมื่นก็มักจะจบลง เมื่อเราดันลืมชื่อของคนคนนั้นในทันที !

พอเจอปัญหาลืมชื่อแบบนี้ สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือการแอบถามคนรอบข้างแถวนั้น ไม่ก็ต้องถามชื่อคนนั้นอีกที ซึ่งมันดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ที่แย่ที่สุดคือการจำชื่อผิด แล้วมั่นใจทักไปแบบเต็ม ๆ  หน้าแตกกันแบบเข้ม ๆ เลยทีเดียว แล้วมันมักจะเป็นแบบนี้อยู่ค่อนข้างบ่อยเหมือนกัน ซึ่งผลเสียที่ตามมาอาจจะมีมากกว่าที่คิด ทั้งสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ หรือเริ่มต้นมิตรภาพไม่สวย เป็นต้น ลองคิดดู พอคุณกับเขามาเจอกันอีกที เขาเรียกชื่อคุณถูก แต่คุณกลับจำชื่อเขาไม่ได้ เรียกชื่อเขาไม่ถูก ก็คงจะทำให้คนตรงหน้าเซ็งพอควร

ทำไมเราถึงชอบลืมชื่อคนที่เจอกันครั้งแรกในทันที ?  เรื่องนี้ Charan Ranganath ผู้อำนวยการโปรแกรมความจำและความสามารถของสมอง แห่ง University of California มีคำตอบ

 

ทำไมเราถึงลืม

คำอธิบายที่ง่ายที่สุดก็คือ เราอาจไม่ได้สนใจและไม่ได้ใส่ใจ เลยไม่จดจำ อย่างที่ Ranganath บอกไว้ว่า “คนทั่วไปมักจะจำสิ่งที่ดึงดูดใจให้เรียนรู้ได้ดีกว่า บางครั้งมันก็มีแรงจูงใจให้เราต้องจำชื่อคนคนนั้นให้ได้ แต่ในบางครั้งเราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ต้องให้ความสำคัญก็ได้”

แต่มันก็อาจไม่เป็นแบบที่บอกเสมอไป หลายครั้งที่เราตั้งใจจะจดจำ แต่กลับลืมเอาซะง่าย ๆ แบบนี้อาจเป็นเพราะเราประมาทที่จะจำ อย่างเช่นชื่อคนที่ดูเหมือนจะจำง่าย มีคนใช้เยอะ ๆ อย่าง เมย์, พลอย, แนน, ไอซ์, แบงค์, มาย, น้ำ, ฟ้า, นิว, บอล และเบียร์ (จากการสำรวจของกระทรวงวัฒนธรรม) อาจไม่กระตุ้นให้คุณตั้งใจจะจดจำ ขณะที่ชื่อบางชื่อที่มีเอกลักษณ์สุด ๆ ก็อาจจะเรียกยาก ทำให้จำไม่ได้ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะว่าการจำชื่อคนนั้น เราต้องจำแบบเชื่อมโยงชื่อกับใบหน้าและบุคลิกของคนนั้น ๆ ด้วย ซึ่งบางครั้งมันก็สร้างความสับสนได้ เพราะว่าในหัวของเรามันเต็มไปด้วยชื่อและใบหน้าที่หลากหลาย หากประมาทไปก่อนว่าไม่น่าจะจำยาก ก็อาจทำให้หลุดได้ง่าย ๆ แบบไม่ทันตั้งตัว

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราจดจำชื่อคนได้ไม่ค่อยชัวร์นั้น อาจมาจากการที่ถูกทำลายสมาธิในตอนที่กำลังแนะนำตัวกันอยู่ หรือถูกดึงดูดความสนใจไปยังจุดอื่น สุดท้ายกลายเป็นความว่างเปล่า เขาชื่ออะไรหว่า ?

 

วิธีการจดจำ

Mnemonic หรือ เทคนิคการช่วยจำแบบต่าง ๆ สามารถช่วยให้เราจำชื่อคนได้ง่ายขึ้น เช่น ลองหากิจกรรมที่คนคนนั้นชอบทำ หรือเหตุการณ์ที่ทำให้คุณเจอกับเขาเอามาพ่วงกับชื่อของเขา เช่น เจอคุณเบียร์ครั้งแรกที่ลานเบียร์, น้ำกับฟ้าเป็นเพื่อนกัน, คุณจอห์นชอบจ็อกกิ้ง หรือคุณเมย์มีรอยสักรูปอัศวินเจได ก็ใช้ประโยค May the force be with you. มาช่วยจำซะเลย จากนั้นก็ลองทดสอบดูว่าเราจำชื่อคนนั้นได้จริง ๆ มั้ยหลังจากแนะนำตัวกันแล้ว โดยทิ้งช่วงหลังจากเริ่มจดจำไม่นาน อาจจะประมาณสองสามนาที แล้วลองทวนดูว่าเราเอาชื่อของคนนั้นมาผูกกับเรื่องราวอะไร แล้วนึกใบหน้าของเขาออกมั้ย

อีกตัวช่วยที่จะทำให้จำชื่อคนที่เพิ่งรู้จักได้ดีขึ้นก็คือ การทวนชื่อของคนคนนั้นออกมาทันทีที่ทราบชื่อ เช่น

เพื่อนใหม่ : “สวัสดีครับ ผมชื่อบอลนะ”

คุณ : “ครับ สวัสดีครับ ยินดีที่ได้รู้จักครับคุณบอล”

จากนั้นก็เรียกชื่อเขาแทนคำว่าคุณระหว่างสนทนาประโยคต่อ ๆ ไป ก็จะช่วยทำให้จดจำได้ดีขึ้น

แต่ถ้ายังลืมจริง ๆ ก็ลองพยายามนึกภาพย้อนไปตอนที่เจอคนนั้น แล้วก็ค่อย ๆ ลำดับเหตุการณ์ อาจจะช่วยให้ชื่อของคุณนั้นผุดเข้ามาในหัวได้ จากนั้นก็รีบจดจำซะ แต่ถ้ายังลืมจริง ๆ ทางออกที่ดีที่สุดก็อาจจะต้องยอมเสียหน้าถามไปตรง ๆ แต่เราแนะนำว่าให้พยายามนึกชื่อก่อน ว่าเรานึกชื่ออะไรออก แล้วถามไปด้วยความสุภาพ แสดงความสนใจที่จะรู้จักกันจริง ๆ แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ลืม เช่น “ขอโทษนะครับ เราเคยเจอกันที่งานอีเวนต์เมื่อสัปดาห์ก่อน ไม่ทราบว่าใช่คุณพลอยหรือเปล่าครับ ? “ แบบนี้ก็จะสมูธขึ้นมาเยอะเลย จำถูกก็ดีไป หากจำผิด ผู้ถูกถามก็ยินดีจะบอกกล่าวกันใหม่

อย่างไรก็ตาม มีคนบนโลกนี้น้อย ๆ มาก ๆ ที่สามารถจดจำชื่อคนได้ถูกต้อง 100% ปัญหานี้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่นักหากมันเกิดขึ้นกับตัวเรา แต่ด้วยความที่ UNLOCKMEN อยากให้ผู้ชายทุกคนได้พัฒนาศักยภาพในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการใส่ใจคนรอบข้าง จึงอยากจะให้หนุ่ม ๆ ลองเอาวิธีการจำชื่อคนอย่างง่าย ๆ ที่เรานำมาแชร์กันไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

เพราะคุณอาจมีโอกาสทำความรู้จักสาวที่ใช่เพียงครั้งเดียว…

PEERAWIT
WRITER: PEERAWIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line