Life

อยากตั้งใจทำงาน แต่สมาธิหลุดบ่อย! ดูข้อควรรู้ที่จะช่วยให้เราโฟกัสได้ตลอดทั้งวัน

By: unlockmen November 18, 2020

“สมาธิ” เป็นหนึ่งในสิ่งที่เรารักษาไว้ได้ยากที่สุด และหลายคนน่าจะเคยสมาธิหลุดโดยไม่ได้ตั้งใจบ่อย ซึ่งพอสมาธิหลุดแล้ว ผลที่ตามมาก็มักจะเป็นการทำงานต่อที่ยากขึ้น วันนี้ UNLOCKMEN เลยอยากมาแนะนำวิธีการรับมือและป้องกันอาการเสียสมาธิ เพื่อให้เราสามารถโฟกัสได้ตลอดทั้งวัน และจะช่วยให้เราสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ตลอดวัน

 

เกิดอะไรขึ้นในสมองเวลาที่เราจดจ่อกับอะไรบางอย่าง ?

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ อธิบายไว้ว่า เวลาที่เราจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สมองส่วนที่ถูกกระตุ้นจะเป็นสมองส่วน Prefrontal cortex ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเพ่งความสนใจไปยังสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยตั้งใจ อ้างอิงจากงานวิจัยของ Massachusetts Institute of Technology (MIT) การเพ่งความสนใจไปยังใบหน้า และสถานที่ที่อยู่รอบตัวเรา จะเกี่ยวข้องกับการทำงานของ Inferior frontal junction (IFJ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Prefrontal cortex และมีบทบาทในการควบคุมระบบการให้ความสนใจของสมอง และทำงานควบคู่ไปกับสมองส่วนที่ทำหน้าที่รับรู้ความรู้สึก ประมวลผลใบหน้า และตีความเหตุการณ์ที่เรากำลังเผชิญหน้ากับมันอยู่

ส่วนความสนใจแบบอัตโนมัติจะเกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่เรียกว่า Parietal cortex ซึ่งจะทำงานในเวลาที่เราได้ยินเสียงดัง หรือ ถูกจู่โจมโดยสัตว์ร้าย สมองส่วนนี้จะปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจแบบอัตโนมัติ ซึ่งกลไกนี้ทำให้ เราสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที

ว่ากันว่า สมองของเราสามารถโฟกัสได้นานถึง 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นต้องมีการพักสมองสัก 20 – 30 นาที แล้วจึงจะกลับมาโฟกัสได้เหมือนกัน แต่ถ้าสมองของเราสูญเสียสมาธิ อาจต้องใช้เวลาตั้งแต่ 5 นาที 15 นาที หรือ 25 นาที เพื่อให้เรากลับมามีสมาธิดังเดิม ซึ่งการสูญเสียสมาธิเกิดขึ้นได้ จากการทำงานของสมอง เมื่อมันรับรู้ว่ามีสิ่งที่เราควรให้ความสนใจมากกว่าสิ่งที่เรากำลังสนใจอยู่  และจำเป็นต้องทำให้เราเปลี่ยนจุดโฟกัส มันจะทำให้เราหันเหความสนใจของตัวเองไปยังสิ่งอื่น และสูญเสียสมาธิกับสิ่งที่โฟกัสอยู่ไป

การสูญเสียสมาธิสามารถส่งผลเสียต่อการทำงานของเราได้ เพราะเมื่อเราไม่สามารถโฟกัสกับงานได้ เราก็จะไม่สามารถตั้งใจทำงานได้ เราจึงทำงานได้แย่ลง หรือ ทำงานได้ช้าลง พนักงานออฟฟิศอย่างเราน่าจะเจอกับสิ่งรบกวนกันบ่อย ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนร่วมงาน สายโทรศัพท์ อีเมล์ พอถูกสิ่งเหล่านี้รบกวนความ productive มันก็ลดลงไป แต่บางครั้งเราก็อาจทำให้ตัวเองถูกรบกวนได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน เช่น คนที่ชอบทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน (multitasking) จะมีความสามารถในการโฟกัสด้อยกว่าคนอื่น อ้างอิงจากงานวิจัยของ Standford University (2009) พบว่า คนที่ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันอย่างหนัก (Heavy multitaskers) จะมีปัญหากับสิ่งรบกวนสมาธิ การจัดระเบียบความทรงจำ และการสลับเปลี่ยนงาน มากกว่า คนที่ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันในระดับที่ต่ำกว่า (Light multitaskers)

 

แล้วเราจะทำอะไรบ้างได้บ้างเพื่อไม่ให้เราโฟกัสหลุด ?

เมื่อยุคนี้เป็นยุคที่เราถูกรบกวนสมาธิกันง่ายขึ้น เราจดจอได้ยากขึ้น เพราะการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย  เราเลยจำเป็นรู้วิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้ตัวเองสมาธิหลุด ซึ่งจะช่วยรักษาความ Productive ในการทำงานของเราไว้ และจะทำให้เราพัฒนางานของตัวเองไปได้เรื่อย ๆ ด้วย เราอยากแนะนำให้ทุกคนที่กำลังเจอกับปัญหาสมาธิหลุดง่ายลองทำสิ่งเหล่านี้ดู

สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ ความพร้อมทั้งกายและใจ เพราะถ้าเราไม่พร้อม เช่น นอนดึก ร่างกายทรุดโทรม เราก็จะไม่มีแรงสำหรับโฟกัสสิ่งใด เราเลยอยากแนะนำให้ทุกคนหันมาดูแลตัวเองให้มีความพร้อมอยู่เสมอ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ นั่งสมาธิ ทานอาหารให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน  และนอนหลับให้เพียงพอ

เมื่อกายพร้อม ใจพร้อมแล้ว สิ่งที่ควรทำในลำดับถัดมา คือ  ค้นหาพฤติกรรมวายร้ายที่มักทำให้เราเสียสมาธิได้เสมอ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักมาในรูปแบบของพฤติกรรมคลายความเครียด หรือคลายเบื่อ  เช่น อาการง่วงเหงาหาวนอน เช็คมือถือ เช็คโซเชียลมีเดีย ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้เป็นอุปสรรค์ต่อการทำงานของเรา มันทำให้เราโฟกัสกับงานได้น้อยลง เมื่อเราระบุมันได้แล้ว เราก็จะสามารถรับมือกับพฤติกรรมเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารู้ตัวว่าตัวเองมักง่วงนอนในเวลางาน เราอาจปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ เช่น อาจลองทำงานแบบยืนดู  หรือ ถ้าเรารู้ตัวว่าตัวเองชอบเช็คมือถือในเวลางาน ก็อาจลองปิดการแจ้งเตือน (Notification) เพื่อไม่ให้เกิดเสียงที่จะมารบกวนเรา เป็นต้น

อีกหนึ่งทริคที่เราอยากแนะนำ คือ การวางแผนเวลาพัก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะอย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า คนเราไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ตลอดเวลา  และยิ่งฝืนก็จะยิ่งแย่ด้วย สำหรับการวางแผนเวลาพัก เราอาจลองใช้เทคนิคที่เรียกว่า Pomodoro Technique  เกี่ยวข้องกับการโฟกัสกับงาน 25 นาที (สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่ https://www.unlockmen.com/pomodoro-technique)

เทคนิคต่อมาที่เราอยากแนะนำ คือ การฟังเสียง ซึ่งมีงานวิจัยที่บอกว่าช่วยให้เราโฟกัสกับงานได้ดีขึ้นเหมือนกัน  เช่น การฟังเพลงคลาสสิก อาจลองวิธีการฟังคลื่นเสียงจูนสมองแบบ Binaural Beats ที่จะช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย เพิ่มความตื่นตัว และช่วยให้เราโฟได้ดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม  เราไม่ควรโทษตัวเอง เมื่อเราสูญเสียสมาธิ  มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะสูญเสีย  เพราะอย่างที่บอกไปว่า มันยากที่คนเราจะมีสมาธิอยู่ตลอดเวลา และการโทษตัวเองก็ไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากนำมาซึ่งความมัวหมอง และความบอบช้ำทางจิตใจ สิ่งที่เราควรทำมากกว่าการโทษตัวเอง จึงเป็นการยอมรับและชื่นชมในความพยายามของเรา เช่น อาจบอกตัวเองว่าเก่งแล้วที่สามารถรักษาสมาธิได้นานขนาดนี้ จะช่วยให้เรามีความสุขและมีกำลังใจมากขึ้น


Appendixs: 1 / 2 

 

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line