GROOMING

ศิลปะการเข้าร้านตัดผม กับ 5 วิธีได้ทรงผมดั่งใจ ไม่พลาดท่าพาทรงเด๋อออกจากร้าน

By: Thada April 3, 2018

การเริ่มต้นเช้าวันใหม่ที่ต้องตื่นมาส่องกระจกแล้วพบว่าผมของตัวเองในปัจจุบันไม่ใช่ทรงในอุดมคติอีกต่อไป ทั้งยาวกระเซิง แทงหูทิ่มตา จนเกิดความคิดว่าคงถึงเวลาต้องหั่นออกให้เรียบร้อยเสียหน่อย แต่ความน่ากลัวที่ผู้ชายมักจะต้องเจออยู่เป็นประจำก็คือ การเสี่ยงดวงในร้านตัดผม เพราะเราเองยังจดจำครั้งล่าสุดที่เข้าร้านตัดผมได้ว่า เมื่อบอกให้ช่างตัดทรง Undercut แบบพี่หมื่นเรืองไป แต่เมื่อเสร็จกลับพบว่าทรงที่ได้มาเหมือนกับทหารพึ่งปลดประจำการมาไม่มีผิดเพี้ยน แล้วจะโทษใครได้ล่ะทีนี้ ตัวเราเองหรือช่างตัดผม ? ถ้าไม่อยากให้ความผิดพลาดแบบนี้เกิดขึ้นอีกล่ะก็วันนี้ UNLOCKMEN มี 5 ศิลปะการเข้าร้านตัดผมมาฝาก ให้คุณไม่ต้องพลาดได้ผมผิดทรงกลับบ้านอีกต่อไป


1. หารูปตัวอย่างให้เหมาะสม

การนำรูปทรงผมไปให้ช่าง จะช่วยคุณได้มากทีเดียว ควรเก็บข้อมูลก่อนจะออกไปร้าน เพราะเราจะมีเวลาเลือกอย่างไม่ต้องเร่งรีบ ค้นหาภาพจากโทรศัพท์หรือนิตยสาร โดยเลือกจากแบบที่มีรูปหน้าและชนิดของผมคล้ายกับเรามากที่สุด อย่าทึกทักไปเองว่านี้แหละใช่ และเมื่อขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้เพื่อเตรียมตัดก็ใช้ภาพชี้จุดให้ช่างดูอย่างชัดเจนว่าคุณต้องการตัดแต่ละส่วนออกแค่ไหน บอกช้า ๆ ไม่ต้องกลัวช่างจะอารมณ์เสียกับความเรื่องมาก เพราะทุกวันนี้การใส่ใจในเรื่องที่ทำให้ตัวเองดูดีเป็นสิ่งที่ทุกคนทำกัน


2. เน้นย้ำกับสิ่งที่คุณต้องการเป็นพิเศษ

ถ้าคุณต้องมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างตัดผม ให้เน้นจุดบอกไปเลย เพราะบางทีช่างก็อ่านใจเราไม่ออก ตัวอย่างเช่น ผมข้างบนเอาออกนิดเดียว ส่วนนี้ก็ต้องขยายความคำว่านิดเดียว ว่าจะให้ตัดออกตรง ซอยให้บางลง หรือแค่เก็บส่วนชี้ฟู ถ้าคิดว่าร้านที่เข้าช่างรู้จักศัพท์เฉพาะ เช่น Fade ( ไถ่ไล่ระดับผมจากบางไปหนา ) , Trim ( ใช้กรรไกรตัดเล็มผมบางส่วนออก ) ก็สั่งด้วยศัพท์เฉพาะ แต่ถ้าพูดไปแล้วช่างทำหน้างง ก็ใช้คำบ้าน ๆ บอกตรง ๆ ไปเลย


3. อธิบายความยาวให้เป๊ะ

มันคือข้อตกลงในการทำงานเป็นทีมระหว่างช่างและตัวคุณเอง อธิบายความยาวผมทุกส่วนที่คุณต้องการ เช่น ผมด้านหน้าเอาไว้ 5 นิ้ว ด้านข้างส่วนบน 2 นิ้วที่เหลือไถเลย แล้วก็เลือกเบอร์ไปเลยว่า 1, 2, 3 โดยส่วนใหญ่ผู้ชายจะชอบเลือกความยาวปัตตาเลี่ยนเบอร์ 2 เพราะจะไม่สั้นจนเห็นหนังศีรษะขาวเกรียน แต่ก็ไม่ยาวจนต้องเข้าร้านบ่อย ๆ ในระหว่างตัดถ้าเห็นว่าช่างกำลังทำให้ผมสั้นเกินไป ก็ควรบอกว่าพอแล้ว ทรงนักเรียนจะได้ไม่แวะมาเยี่ยมเยียนหัวคุณอีก


4. เสริมว่าคุณจัดแต่งทรงผมตัวเองแบบไหน

สร้างความเข้าใจให้ช่างด้วยการบอกลักษณะจัดทรงผมของเรา เช่น ปกติคุณหวีเสยผมไปด้านซ้ายหรือขวา เซ็ตไปในทิศทางหรือลักษณะใด ปล่อยผมแบบไหน ผลิตภัณฑ์ที่ใช้คืออะไร จะเป็นประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะถ้าช่างคนนั้นมีความเข้าใจเรื่องผมจริง ๆ ก็สามารถออกแบบทรงผมเพื่อให้เข้ากับลักษณะการเซ็ทของคุณด้วย ยิ่งถ้าเราและช่างรู้จักชื่อของทรงผมเหมือนกัน เขาเองก็จะทำงานได้ราบรื่นขึ้น


5. อย่าบาดหมางกับช่างเด็ดขาด

พูดเป็นสาระเลยนะ เราไม่ได้หมายความว่าถ้าเกิดทะเลาะกับช่างตัดผมขึ้นมาแล้วเขาจะแกล้งคุณโดยการ ตัดพลาด ตัดผิด แต่ความใส่ใจและตั้งใจของช่างอาจน้อยลงนั่นเอง เมื่อบอกความต้องการของตัวเองไปแล้ว ถ้ามีความคิดเห็นจากช่างก็ควรรับฟัง อย่ายืนกระต่ายขาเดียว ดึงดันจะตัด เพราะอีกคนคือผู้เชี่ยวชาญ ที่ไถมาเป็นร้อยเป็นพันหัวแล้ว ลองรับฟัง ขอความคิดเห็น หรือความช่วยเหลือในกรณีเกิดปัญหา เพราะชะตาชีวิตของทรงผมคุณ อยู่ในมือคนที่มีทั้งกรรไกร และปัตตาเลี่ยนหนัก ๆ เพราะฉะนั้นอย่าเสี่ยงเลย

แถม : เคล็ดลับการตีสนิทกับช่างตัดผม

สุภาพ : หลังจากเปิดประตูเดินเข้ามาให้ร้าน ทักทายช่างด้วยรอยยิ้มอย่างสุภาพอ่อนน้อมแบบไทย ๆ ของเรานั้นแหละ เพราะถึงแม้เป็นงานบริการช่างก็เป็นคนที่มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนกันกับเรา หากนัดเวลาไว้แต่มาสายก็ควรขอโทษ แม้บางครั้งสิ่งนี่จะเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เมื่อเข้าไปเจอช่างหน้าโหดตัวเต็มไปรอยสัก แต่อย่าตัดสินคนจากภายนอก ช่างหน้าโหดนิสัยดีมีเยอะแยะ แถมบางคนเข้าใจแฟชั่นเป็นอย่างดีอีกด้วย

สนุกกับการสนทนา : บางครั้งเรามักเจอช่างตัดผมที่ชวนคุยเก่งยังกับคนขับแท็กซี่เลยใช่ไหม อย่ารำคาญไปเพราะเขาแค่อยากให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย เปิดหัวข้อคุยสัพเพเหระเป็นเรื่องดี เพราะช่วยให้ความเขินเกรงใจหมดลงไป ทำให้คุณสามารถสื่อสารความต้องการมากขึ้น

ลองใช้คำแนะนำของเราในระหว่างอยู่ในร้านตัดผมดู มันจะช่วยให้คุณไม่ต้องอารมณ์เสียกับทรงผมไม่ถูกใจ ออกจากร้านอีกเผลอ ๆ แล้วคุณอาจได้พบเจอช่างคนโปรด หรือร้านประจำที่จะช่วยให้คุณถูกใจทุกครั้งที่ต้องการเปลี่ยนทรงผมก็ได้ในอนาคต

source 

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line