Life

“เหมือนต้องแข่งกับเวลาอยู่เสมอ” รู้จัก Hurry Sickness อาการป่วยไข้จากความเร่งรีบของชีวิต

By: unlockmen April 27, 2021

เราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างดูจะเดินทางได้เร็วไปหมด ไม่ว่าจะเป็น การพูดคุย การรับส่งข่าวสาร หรือ การทำงาน ฯลฯ ซึ่งวิถีชีวิตที่เร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนนี้ อาจทำให้เรากลัวการใช้ชีวิตแบบ slow life ขึ้นมา ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น กลัวว่าจะตามกระแสไม่ทัน กลัวว่าจะทำงานไม่ทัน เป็นต้น

และถ้าความกลัวหนักข้อขึ้น มันจะพัฒนาเป็น Hurry Sickness ได้ ซึ่งอาการนี้กระทบต่อความสุขของเราได้พอสมควร เราเลยอยากมาพูดถึงวิธีการรับมือกับ Hurry Sickness ให้อยู่หมัด

Hurry Sickness คือ ภาวะที่เรารู้สึกว่าต้องทำทุกอย่างด้วยความเร่งรีบตลอดเวลา โดยคนที่มีอาการนี้มักจะรู้สึกกดดันหรือตื่นตระหนกเหมือนต้องแข่งขันกับเวลา ส่งผลให้พวกเขาทำทุกเรื่องด้วยความเร่งรีบ ซึ่งสาเหตุที่อาการนี้เกิดขึ้นมา อาจเป็นเพราะรู้สึกว่าเวลาหนึ่งวันมีน้อยเกินไปสำหรับทำสิ่งต่าง ๆ หรือกลัวว่าถ้าทำอะไรช้าไปแล้ว จะพลาดอะไรบางอย่างไป จึงต้องรีบทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว กล่าวคือ Hurry Sickness เกิดขึ้นจากอาการยอดฮิตอย่าง Fear of Missing Out (FOMO) ได้เหมือนกัน

พฤติกรรมที่ชัดเจนในกลุ่มที่เป็น Hurry Sickness คือ Multi-Tasking เพราะคนกลุ่มนี้มักจะรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องทำอะไรทีละอย่าง ส่งผลให้พวกเขาต้องจับปลาสองมือทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน แถมพวกเขายังเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความอดทนด้วย พฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตในหลายด้าน เช่น ขัดแย้งกับคนอื่นง่ายขึ้น (เพราะพวกเขามักจะขัดคนที่คิดและพูดช้าอยู่เสมอ) หรือ ทำงานแย่ (เพราะพวกเขาไม่สามารถจดจ่อกับมันหรือตั้งใจทำมันได้อย่างเต็มที่) ดังนั้น เราเลยอยากมาแนะนำวิธีการเอาชนะ Hurry Sickness กันด้วยวิธีต่อไปนี้


ลดสปีดลง

ถ้าเราพยายามทำทุกอย่าง โดยไม่หาเวลาพักผ่อนให้ตัวเอง สักวันหนึ่งเราจะเหนื่อยและหมดไฟ เพราะพลังงานกายและใจเรามีจำกัด ถ้าเราใช้มันอย่างฟุ่มเฟื่อย และไม่ฟื้นฟูมัน สักวันหนึ่งมันก็หมดไปได้ ดังนั้น เราควรรู้จักเซฟพลังงาน โดยการเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ช้าลงกว่าที่เคยทำมา แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือเราต้องแยกแยะให้ได้ว่าเรื่องไหนที่ควรรีบทำ เรื่องไหนที่สามารถทำช้า ๆ ได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้การวางแผน และการเรียงลำดับความสำคัญของงานในแต่ละวัน


รักษาพลังบวกไว้


เมื่อชีวิตของเราถูกถาโถมด้วยงานหรือภาระ มันก็มีโอกาสที่เราจะคิดลบได้ง่ายและบ่อยขึ้น แน่นอนว่าสุขภาพจิตเราก็จะแย่ลงด้วยเหมือนกัน

เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เราต้องพยายามหาพลังบวกใส่ตัวเองอยู่เสมอ นึกถึงเรื่องราวดี ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อให้เกิดความสุข ตั้งเป้าหมายในการทำสิ่งต่าง ๆ บนพื้นฐานของความจริง เพื่อให้เรามีความหวัง และเกิดความสบายใจ


อย่าทำหลายอย่างพร้อมกัน

ชีวิตยุคใหม่อาจทำให้เราติดนิสัย Multitasking กันบ่อยขึ้น เพราะความนิยมในการใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ที่สามารถเปิดเว็ป แอปฯ ได้หลายหน้าจอพร้อมกัน

Multitasking ส่งผลเสียต่อการทำงาน เพราะมันทำให้เราเข้าสู่โหมดโฟลว์ (Flow) ไม่ได้ และทำให้เราไม่สามารถจดจ่อกับงานใดงานหนึ่งได้อย่างเต็มที่ ทำให้คุณภาพของงานลดลง ดังนั้นไม่เพียงแต่ต้องทำงานช้าลงพร้อมรักษาพลังบวกเท่านั้น เราต้องฝึกทำงานให้เสร็จทีละอย่างให้เป็นระบบด้วย


หาเวลาเบรกก่อนเริ่มงาน

นอกจากจะต้องทำทีละอย่างแล้ว เราควรให้เวลาตัวเองได้หยุดพักในระหว่างการทำงานด้วย เพราะเวลาที่เราทำงานเสร็จหนึ่งชิ้นแล้วเปลี่ยนไปทำอีกชิ้นหนึ่งทันทีโดยที่ไม่ได้หยุดพัก ความสามารถในการคิดของเราจะแย่ลง

ดังนั้นเราควรหาเวลาหยุดพักในระหว่างการทำงาน เพื่อขจัดความรู้สึกเร่งรีบ ฟื้นฟูพลังงาน ตั้งสติเพื่อให้พร้อมสำหรับการทำงานชิ้นต่อไป


ก่อนนอนอย่าลืมผ่อนคลายตัวเอง


ถ้าเกิดว่าอาการ Hurry Sickness ทำให้เราไม่สามารถนอนหลับได้เป็นปกติ ขอแนะนำให้ลองหากิจกรรมประจำก่อนนอนที่ช่วยให้หลับง่ายขึ้นดีกว่า เช่น ดื่มชา นั่งสมาธิ หรือ อาบน้ำอุ่น ฯลฯ เพราะการนอนหลับอย่างเต็มอิ่มและมีคุณภาพจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น และจะช่วยหยุดความวิตกกังวล และป้องกันปัญหาทางด้านจิตใจอื่น ๆ ที่มาจาก Hurry Sickness ได้ด้วย

สุดท้าย การเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเอาชนะ Hurry Sickness เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความอดทน กำลังใจจากคนรอบข้างจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน อย่าลืมพูดคุยปรึกษาคนรอบข้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ มันจะทำให้เราไม่รู้สึกลำพัง และมีกำลังใจในการต่อสู้ปัญหามากขึ้น


 

Appendix: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line