

Survival
“ใจเสียเพราะไม่รู้เวลาทำงาน” วิธีรับมือการทำงานไม่เป็นเวลาที่ทำลาย work-life balance
By: unlockmen March 11, 2021 197174
การทำงานในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อนหน้าตรงที่ว่า เราต้องทำงานติดบ้านกันบ่อยขึ้น และหลายบริษัทก็ทยอยเปลี่ยนนโยบายการทำงานใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ปรากฎการณ์นี้อาจทำให้หลายคนเริ่มสับสนกับตารางชีวิตของตัวเอง ไม่รู้ว่าเวลาไหนควรเลิกงาน ไม่รู้ว่าเวลาไหนคือเวลาพักผ่อน ปัญหานี้ส่งผลเสียอย่างมาก UNLOCKMEN เลยอยากมาแชร์วิธีรับมือกับการทำงานไม่เป็นเวลา ซึ่งหากทำตามแล้ว จะสามารถรักษาประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันไปพร้อมกันได้
ก่อนอื่นเราอยากพูดถึงผลเสียที่เกิดขึ้นจากการทำงานไม่เป็นเวลาก่อน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นปัญหาที่เราต้องหาทางจัดการกับมัน โดยการทำงานไม่เป็นเวลา สามารถส่งผลเสียของเราได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
สร้างความกังวลใจ (Psychological Distress)– การทำงานแบบไม่รู้ว่าจะต้องเลิกงานเมื่อไร หรือ ไม่รู้ว่าควรทำงานหนักแค่ไหนในแต่ลัวีน ส่งผลให้เกิดความกังวลทางใจได้ เพราะมันทำให้เรารู้สึกสูญเสียความสามารถในการควบคุมชีวิตของตัวเอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดและอาการซึมเศร้าตามมาได้
ไม่สามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ (Sleep Quality) – ปัญหาที่คนทำงานไม่เป็นเวลามักเจอกัน คือ ปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะการทำงานไม่เป็นเวลา มักทำให้การวางแผนชีวิตทำได้ยาก และชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบ เช่น เรื่องการนอน คนในบางอาชีพ เช่น หมอ อาจต้องพร้อมเข้าโรงพยาบาลตลอดเวลา จนไม่สามารถนอนหลับสนิทได้
ไม่มีความสุข (Happiness) – การทำงานไม่เป็นเวลา อาจส่งผลเสียต่อความสุขในการทำงานร่วมถึงการใช้ชีวิตด้วย เพราะมันทำให้เรารู้สึกเหมือนต้องสนใจงานอยู่ตลอดเวลา จนไม่สามารถหาเวลาพักผ่อนให้กับตัวเองได้ คนที่ทำงานไม่เป็นเวลาจึงมักมีความทรมานในการทำงาน และไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิต
แม้ตารางชีวิตของแต่ละคนจะต่างกัน เช่น บางคนต้องทำงานล่วงเวลา บางคนทำงานแบบ on-call หรือ บางคนเวลาทำงานเปลี่ยนไปทุกสัปดาห์ เป็นต้น แต่ทุกคนก็สามารถใช้วิธีเดียวกันในการจัดการตัวเอง เพื่อให้เกิดความสมดุลในชีวิตและการทำงาน (work-life balance) ได้
กำหนดตารางชีวิตของตัวเอง
แม้เวลาทำงานจะไม่แน่นอน แต่เราจำเป็นที่จะต้องวางแผนชีวิตอยู่ดี เพื่อให้เราสามารถเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้ เวลาทำงานของแต่ละคนมักมีรูปแบบที่ตายตัว เช่น บางคนทำงาน 3 วันต่อสัปดาห์ หรื บางคนทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น ดังนั้น ลองกำหนดคร่าว ๆ ดูว่าวันไหนบ้างที่เราจะทำงาน และวันไหนบ้างที่เราจะไปทำอย่างอื่น แต่ที่สำคัญ คือ ตารางชีวิตของเราควรมีความยืดหยุ่น (flexibility) สามารถสลับเวลาทำงานและเวลาชีวิตได้อย่างสะดวก แบบนี้จะช่วยให้เรารับมือกับความไม่แน่นอนได้ดี และรักษาสุขภาพจิตไว้ได้ยาวนาน
คิดถึงสิ่งที่ต้องทำล่วงหน้า
นอกจากจะสร้างตารางชีวิตแล้ว เราควรคิดล่วงหน้าถึงสิ่งที่ต้องทำในวันถัด ๆ ไปด้วย ก่อนนอนเราอาจลองทำลิสต์สิ่งที่ควรทำในวันรุ่งขึ้น ในกระดาษหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรวดเร็วในการทำงาน และช่วยลดความกังวลให้กับเราด้วย นอกจากนี้ตอนจบวัน เราอาจทำลิสต์สิ่งที่เราทำสำเร็จแล้วในวันนั้นด้วย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เราเกิดกำลังใจในการทำงานต่อไป
รู้วิธีการงีบขั้นเซียน
อย่างที่บอกไปว่า การทำงานไม่เป็นเวลาส่งผลต่อการนอนหลับของเราได้ ซึ่งปัญหาเรื่องการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตได้ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น บั่นทอนพลังในการคิด การทำงาน รวมถึง ทำลายสมาธิในการใช้ชีวิต ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการงีบที่มีประสิทธิภาพ เราเลยอยากแนะนำให้ทุกคนใส่ช่วงเวลาในการงีบเข้าไปในแผนชีวิตด้วย และลองดูว่าวิธีการงีบแบบไหนเหมาะกับเราระหว่าง power nap และ coffee nap
อย่านั่งติดที่จนลืมเคลื่อนไหว
บางครั้งเราอาจทำงานอยู่กับที่นานเกินไป จนไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย และอาจเกิดปัญหาที่เลวร้ายตามมาได้ ดังนั้น ลองลุกขึ้นยืน และออกมาเคลื่อนไหวร่างกายดูบ้าง ไม่จำเป็นต้องนาน แค่เพียง 5 นาที ก็ช่วยให้เราอารมณ์ดีขึ้นได้
อย่าลืมบอกปัดงานถ้าเราทำมันไม่ไหว
บางครั้งเราก็ประเมินไม่ถูกว่างานที่มีอยู่ในมือตอนนี้มากไปหรือน้อยไป เพราะเราไม่ได้วางแผนว่าหนึ่งสัปดาห์เราควรทำอะไรบ้าง และควรใช้เวลาเท่าไหร่ในการทำ ดังนั้น ถ้าเรากำหนดสิ่งเหล่านี้ มันจะช่วยให้เราประเมินได้ว่างานที่เรารับอยู่มันเยอะพอหรือไม่สำหรับ 1 สัปดาห์ และถ้าเยอะเกินไปแล้ว อย่าลืมที่จะบอกปัดไม่รับงานอื่นเข้ามาทำเพิ่มด้วย เพื่อเซฟตัวเอง
อย่างไรก็ตาม บางครั้งถ้าเราไม่ได้เจอกับปัญหานี้คนเดียว แต่เพื่อนร่วมงานของเราก็เจอด้วย ปัญหาอาจอยู่ที่นโยบายของบริษัท ดังนั้นมันเลยจำเป็นที่จะต้องรายงานปัญหานี้ให้ หัวหน้าหรือผู้จัดการ รับรู้ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป