

Business
10 บทเรียนธุรกิจดี ๆ จากผู้ก่อตั้งแบรนด์ Nike ที่มีมากกว่า ‘JUST DO IT’
By: unlockmen June 1, 2017 62952
คงไม่มีใครไม่รู้จักแบรนด์เครื่องกีฬาชื่อก้องโลกอย่าง Nike และถ้ารู้จักแบรนด์อย่าง Nike แล้วก็คงจะไม่พลาดสโลแกนคุ้นหูที่เอาไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตอย่าง ‘JUST DO IT’
แต่ใครจะรู้ว่าเจ้าสโลแกนดังนี่เองเป็นหนึ่งในหลักทางธุรกิจที่ Phil Knight ผู้ก่อตั้ง Nike ใช้เป็นหนทางในการดำเนินธุรกิจของตัวเองมาด้วย ไม่ใช่แค่เป็นสโลแกนเท่ ๆ สำหรับแบรนด์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ‘JUST DO IT’ ไม่ได้เป็นหลักการทางธุรกิจเดียวที่ผู้ก่อตั้ง Nike ยึดถือ แต่เขายังมีบทเรียนทางธุรกิจอื่น ๆ ที่เขาเรียนรู้มาตลอดชีวิตของเขาและแชร์ลงในหนังสือ ‘Shoe Dog: A Memoir by the Creator of Nike’ ซึ่งตอนนี้ก็ถูกย่อขนาดมาให้อ่านง่าย ๆ ไว้ทำตามได้ 10 ข้อด้วยกัน มา มาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
Phil Knight ใช้เวลาหลังเรียนจบไปกับการออกเดินทางเที่ยวรอบโลก ตอนนั้นเขาอายุ 24 ปี การเดินทางในขณะนั้นยังถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ แถมต้องใช้เงินอย่างมาก แต่เขาก็ไปมาทั่ว ทั้ง ญี่ปุ่น ฮ่องกง เวียดนาม อียิปต์ เคนย่า ตุรกี เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ การเดินทางครั้งนั้นทำให้เค้าค้นพบ เรียนรู้ และได้อะไรใหม่ ๆ ทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมทั้งด้านเศรษฐกิจที่เอามาใช้ในชีวิตได้ถึงปัจจุบัน
การเดินทางตอนนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากเหมือนยุค 60 อีกต่อไปแล้ว แถมตั๋วก็ถูกแสนถูก ดังนั้นก็อย่าปล่อยโอกาสของการเดินทางและเรียนรู้หลุดมือไปล่ะ
Phil Knight เคยขายทั้งประกันและพจนานุกรมมาก่อน และเขายอมรับว่าเขาไม่เชื่อ ไม่อินในสิ่งที่เขาขายเลย ผลที่ออกมา มันเลยทำให้เขาทำสิ่งนั้นได้ไม่ดี
ในทางกลับกันเมื่อเขามาขายรองเท้ากีฬา เขากลับทำมันได้ดีมาก นั่นเพราะเขาเคยอยู่ในทีมนักวิ่งของมหาวิทยาลัย เขาเชื่อในการวิ่ง เขาเชื่อในพลังของกีฬา และความเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ ความต้องการเอาชนะนี้ทำให้เขาทำมันออกมาได้ดีอย่างที่เราเห็นนี่เอง
ไม่ต่างจากสโลแกนที่เราคุ้น ๆ กัน Phil Knight ยืนยันว่าบางทีเราก็ต้องการแค่การลงมือทำมันไปเลยนี่แหละ โดยตอนที่เขาออกเดินทางไปรอบโลก แล้วไปญี่ปุ่น อยู่ ๆ เขาก็มีไอเดียบ้าบิ่นว่าอยากทำบริษัทสัญชาติอเมริกาที่ขายเครื่องแต่งกายแบบญี่ปุ่น แน่นอนว่าตอนนั้นเขาไม่มีเงิน ไม่มีบริษัท ไม่มีอะไรเลยนอกจากไอเดีย แต่เขาก็พาตัวเองไปคุยกับบริษัทรองเท้าอย่าง Onitsuka Tiger ที่คนไทยรู้จักดี ก่อนจะเป็นที่มาที่ทำให้เขาได้ดีลธุรกิจกับบริษัทนั้นจริง ๆ
นั่นเป็นแค่เหตุการณ์เดียวเท่านั้นที่อยู่ ๆ Phil Knight ก็ลงมือทำ แม้จะยังมีอุปสรรคมากมายรออยู่ แต่เขารู้สึกว่านั่นมันไม่ใช่ปัญหา ขอแค่เพียงเรามีความตั้งใจ เราก็แค่ลงมือทำมันซะ แค่นั้นเอง!
Phil Knight เริ่มก่อตั้งบริษัท โดยมีพนักงานเป็นเพื่อนนักกีฬาของเขาสมัยที่เรียนมหาวิทยาลัย รวมถึงโค้ช และทีมคู่แข่งขันอื่น ๆ ทุกคนเชื่อใจเขาและเขาก็เชื่อใจทุกคน บางคนถึงกับมอบเงินเก็บก้อนสุดท้ายให้เขาในวันที่บริษัททำท่าจะแย่
รวมถึงภรรยาของเขาที่เข้ามาในชีวิตและไม่ได้เป็นแค่คนรักเท่านั้น แต่เขานับว่าเธอคือคู่ชีวิตที่เคียงบ่าเคียงไหล่กันมา ไม่ต่างจากครอบครัวของเขาที่เชื่อมั่นในตัวเขาเหลือเกิน
ความเชื่อมั่นในตัวคนที่เราทำงานด้วย หรือคนที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยจึงเป็นแรงผลักดันสำคัญของตัวเขาเอง และเป็นพลังดี ๆ ที่เขาก็อยากทำมันให้ดีที่สุดเพื่อสะท้อนกลับไปยังคนเหล่านั้นด้วย
เห็นทำธุรกิจใหญ่โตขนาดนี้ Phil Knight ก็เคยเป็นพนักงานประจำมาก่อน เขาเคยเป็นทั้งนักบัญชี เคยเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ โดยระหว่างการทำงานประจำ เขาก็ใช้ช่วงเวลาเสาร์ อาทิตย์ในการทุ่มเทให้ Blue Ribbon บริษัทที่ภายหลังเติบโตมาเป็น Nike อย่างทุกวันนี้
Phil Knight ให้เหตุผลว่าที่เขายังคงทำงานประจำ ไม่บุ่มบ่ามออกมาทำธุรกิจตัวเองเต็มตัว เพราะเขายังไม่มั่นใจว่ามันจะประสบความสำเร็จ แต่เมื่อลู่ทางมันค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น เขาก็ลาออกและทุ่มสุดตัวให้กับธุรกิจของตัวเอง
Phil Knight เรียนรู้จากการเจรจาธุรกิจมากมากมายนับครั้งไม่ถ้วน โดยสิ่งที่เขารู้สึกว่าสำคัญที่สุดคือการรู้ความต้องการของตัวเองให้ชัดเจน ไม่ต้องมัวมาเกรงใจ หรือคิดแทนคนอื่นว่าอะไรเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ แค่เราบอกความต้องการของเรา และพูดมันออกไปให้ชัดเจน ส่วนจะตกลงกันได้หรือไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยต่อรองกัน แต่เมื่อเราพูดความต้องการที่ชัดเจนของเราออกไปแล้ว จะช่วยเลี่ยงความเข้าใจผิดไปได้
Phil Knigh มองว่าการมีแผนสำรองให้ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการทำธุรกิจ บทเรียนนี้เกิดขึ้นเมื่อ Onitsuka Tiger ที่เป็น supplier รองเท้าให้เขาพยายามจะทิ้งเขาไปหาผู้กระจายสินค้ารายอื่น
แต่เขาก็ไม่ปล่อยให้ตัวเองเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เขาก็จัดการหาไลน์การผลิตรองเท้าของตัวเอง จนกระทั่งสุดท้ายแม้ supplier เจ้าเดิมจะทิ้งเขาไป แต่เขาก็สามารถขายรองเท้าแบรนด์ของตัวเองต่อไปได้อย่างราบรื่น
นี่อาจฟังดูเก่าแก่โบราณสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ ๆ พอสมควร เพราะ Phil Knigh เชื่อว่าการที่เราได้ควบคุมดูแลธุรกิจของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เขาถึงเลือกทำทุกทางเพื่อให้ตัวเองได้ดูแล ควบคุม และตัดสินใจทุกเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจของตัวเอง
แม้กระทั่งการขายหุ้น เขาก็ยอมให้ผู้ถือหุ้นได้เงินปันผลกำไร แต่จะไม่ยอมให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการตัดสินใจทำอะไรกับธุรกิจของตัวเขาเอง
ใจเสียกันไปตาม ๆ กันเมื่อ Onitsuka Tiger ที่เป็น supplier รายหลักจากญี่ปุ่นถอนตัวออกไปกลางครัน ขณะนั้นคนในบริษัทของ Phil Knigh ขาดความเชื่อมั่นเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาเชื่อว่าเหตุผลที่บริษัทประสบความสำเร็จเป็นเพราะรองเท้าที่มาจาก Onitsuka Tiger
แต่ Phil Knigh ไม่ยอมให้ทุกคนขาดความหวังและความเชื่อมั่น เขาบอกพนักงานทุกคนว่า ไม่ มันไม่ใช่เพราะรองเท้าจากญี่ปุ่นพวกนั้นที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ แต่มันเป็นเพราะแรงกาย และสองมือของเราต่างหาก! ซึ่งคำพูดเหล่านี้มันก็ช่วยให้ทีมของเขามีกำลังใจเพิ่มขึ้นมาได้จริง ๆ
Phil Knigh ต้องเผชิญช่วงเวลาที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดอยู่ตลอดระยะเวลาการทำธุรกิจ สิ่งที่ทำให้เขารอดมาได้คือใจที่พร้อมสู้ เขาสู้ทั้งกับรัฐบาลอเมริกา สู้ทั้งกับ Onitsuka Tiger
อย่างไรก็ตาม Phil Knigh ให้ความสำคัญกับการอยู่รอดของบริษัทตัวเองมาก เมื่อสู้ถึงที่สุด แล้วถึงจุดที่มีการยื่นข้อตกลงระหว่างกัน เขาก็ยินดีที่จะพอ และหาหนทางที่ทำให้บริษัทอยู่รอดต่อไปได้ และไม่เสียสิ่งที่ควรได้มากเกินไปนัก