Business

ลดขยะในมือท่าน แล้วกำเงินไปซื้อขยะกลับมา เราอยู่บนโลกที่ผู้คนเต็มใจซื้อขยะ

By: anonymK August 20, 2019

ขาย “ขยะ”
ซื้อ “ขยะ”
ใช้ของในมือไม่ให้เกิด “ขยะ”

คุณเชื่อไหม? ทุกวันนี้โลกทั้งใบกำลังหมุนด้วยเรื่อง “ขยะ” โดยสมบูรณ์ อ่ะ ถ้ายังไม่เชื่อว่าวันนี้ผู้คนเริ่ม crazy เรื่องขยะมากน้อยแค่ไหน ลองดูว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมไหนบ้างที่ไม่เอาเรื่องขยะเข้าไปบรรจุในกลยุทธ์นั้น? แคมเปญที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศมีหลายระดับตั้งแต่ระดับอสังหาฯ จนมาถึงบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารในมือ

“พี่ ๆ มาซื้ออันนี้หน่อยดิ มันรีไซเคิลจากขยะนะ รักษ์โลก”

ถ้าใครพูดประโยคนี้เมื่อหลายปีที่แล้วก่อนกระแสรักษ์โลกจะมาถึง เราจะแค่ฟังมัน แต่ไม่อยากจะควักเงินในกระเป๋าให้เท่าไหร่ เราอาจจะถามราคามัน แต่พอรู้ว่า process อื่นของมันที่ทำให้มันแพง เราจะบอกว่า “งั้นซื้อของใหม่ดีกว่า” ส่ายหน้าแล้วก็ซื้อของใหม่เพิ่มขยะกันไป ส่วนของมือสองนี่ไม่ต้องพูดถึง เพราะมักจะมีคนพูดว่า “เอามาจากศพไหนก็ไม่รู้” หรือไม่ก็เรื่อง “ระวังเชื้อโรค” ค่านิยมเรื่องการรักษ์โลกก็เลยมีแต่จิตสำนึก แต่จิตอยากจะซื้อไม่ค่อยเกิดเท่าไหร่

แยกขยะไม่ใช่หน้าที่เรา โลกร้อนก็ไม่น่าจะเกิดทันเราตาย ก่อนหน้านี้คนในประเทศเราไม่มีความคิดเรื่องระบบการแยกขยะ เราคิดว่าถ้าแยกจากต้นทาง พอรถเขียว กทม. เก็บไปก็เอาไปรวมกัน ไม่เชื่อประโยชน์ที่มหาศาลที่กลับมาจากขยะ และไม่เชื่อเท่าไหร่ว่าขยะจะนำกลับมาสร้างคุณค่าได้

ตัวอย่างสินค้าระดับโลกที่หันมาสนับสนุนด้วยการสร้างคอลเลกชัน Limited คือการผลิต Ultraboost จากขยะในทะเลในปี 2017 / Credit photo: Adidas

วันนี้พอธารน้ำแข็งละลาย อุณหภูมิสูงขึ้น ทั่วโลกตื่นตัว มาเรียม พะยูนที่คนไทยรักต้องสังเวยชีวิตไป จนถึงสารพิษจากไมโครพลาสติกที่เรากำลังจะได้กินมันผ่านเนื้อสัตว์ในแหล่งน้ำปนเปื้อน ทำให้เรารู้สึกว่ามันใกล้ตัวกว่าที่คิด นั่นแหละคือจุดที่การตลาดพลิกมาเอาชนะผู้บริโภคด้วยของที่ใช้งานแล้ว หรือถ้าจำเป็นต้องสร้าง “ขยะ” ก็ขอให้มั่นใจว่าวันหนึ่งข้างหน้าขยะเหล่านี้จะหายไปจากโลกโดยไม่สร้างอันตรายให้เรา

 

โอกาสในการเลือกซื้อของ = โอกาสในการใช้ชีวิตและให้ชีวิต

ฟังดูมันไม่น่าจะยิ่งใหญ่ขนาดนี้ไหม? แต่ความจริงแล้วมันเป็นได้ขนาดนั้นแหละ จากข่าวปลาวาฬจนถึงพะยูนตัวโปรดที่สุดท้ายต้องตายไปเพราะขยะพลาสติก เพิ่มความตระหนักให้เรามากขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องการเลือกซื้อเลือกใช้ ขณะเดียวกันนอกจากเรื่องนี้สิ่งที่น่าสนใจคือภาวะโลกร้อนที่หลายประเทศให้ความสนใจในระดับโลก ถึงขนาดสร้าง agreement ไว้ลงนามร่วมกันและไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามด้วย

ประโยคที่อธิบายวิกฤตนี้ว่าถึงเวลาที่หลายฝ่ายต้องลุกมาเคลื่อนไหวเพื่อโลกคือตอนนี้และจะช้ากว่านี้ไม่ได้ คือประโยคที่คุณป๊อก – อรรถพร คบคงสันติ ภูมิสถาปนิกชาวไทย กล่าวถึงสภาวะโลกไว้อย่างน่าสนใจในรายการ Perspective (25:51 : Perspective) ว่า

“ปัจจุบันนี้ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์เขาเรียกว่าเราอยู่ในช่วงนาทีสุดท้ายก่อนที่โลกจะแตก เลยเที่ยงคืนจะไม่เหลือมนุษย์ ตอนนี้เราอยู่ที่ประมาณ 5 ทุ่มปลาย ๆ แล้ว…”

เราจะย้อนเข็มเวลานี้กลับได้ไหม หรือจะตรึงมันไว้ได้นานแค่ไหน นั่นย่อมขึ้นอยู่กับสำนึกร่วมที่ทุกฝ่ายมีต่อกัน ถ้าเราคิดจะละลายน้ำแข็งขั้วโลกผ่านการบริโภคของเรา ทำลายสิ่งมีชีวิตรอบข้างโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ห่วงโซ่สุดท้ายจะจบลงด้วยการรับสภาพของเราเอง โอกาสทั้งหมดจึงอยู่ที่ตัวเรา “You are what you think”

 

เราไม่อยากเป็นถังขยะโลกได้หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือสนับสนุนการกลับมาของขยะ

คนมาทิ้งขยะหน้าบ้านเรา เรายังโกรธเลย แล้วนับประสาอะไรกับประเทศหรือพื้นที่ที่เราอยู่ ใครที่ตามข่าวมาเรื่อย ๆ จะเห็นหลายประเทศลุกฮือขึ้นมาประกาศตัวว่าจะไม่ยอมให้ประเทศโน้นนี้ส่งของมาทิ้งที่ประเทศตัวเองอีกต่อไป เช่น ฟิลิปปินส์ส่งขยะในตู้คอนเทนเนอร์ 69 ใบ กลับคืนไปยังประเทศแคนาดาเมื่อเดือนพฤษภาคม หรือมาเลเซียประกาศจะส่งคืนขยะพลาสติก 450 ตัน ไปยังประเทศที่ส่งมาอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เป็นต้น

สำหรับเมืองไทยเอง เราก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นถังขยะโลก เนื่องจากในรายงาน ‘ต่อกรการค้าขยะพลาสติกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ขององค์กรกรีนพีซ ระบุว่าไทยนำเข้าขยะพลาสติกมากขึ้นจากเดิม 69,487 ในปี 2559 สูงขึ้นเป็น 481,381 ตันในปี 2561 เป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากมาเลเซียและเวียดนาม (Voice TV, 2019)

หลายธุรกิจในไทยจึงตื่นตัว หาทางออกด้วยการใช้ประโยชน์จากขยะหรือการลดขยะ เช่น ถนนจากพลาสติกของ SCG ที่นำยางมะตอยมาผสมกับพลาสติกแล้วนำมาราดถนน ขณะที่ฝั่งลดขยะก็มีร้านแนวที่ใช้โมเดล Loop หรือการวนซ้ำของสิ่งของ นำสิ่งเหลือใช้มาผลิตใหม่ ร้านมือสองเป็นทางเลือกการหมุนเวียนในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่กลายเป็นที่นิยมทั้งเรื่องราคาและภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป ส่วนร้านอาหารทั่วไปเราก็เริ่มจะได้ยินคำว่า Zerowaste กันบ่อย ๆ บางร้านถึงขั้นปลูกผักเอา ทำขยะมูลฝอยที่ได้ไปผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพเพื่อลดขยะอย่างครบวงจร บรรจุภัณฑ์เริ่มเทตลาดไปใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ทดแทน

 

เอาขยะมาใช้ ทำไมน่าใช้ เอาขยะมาใช้ ทำไมถึงแพงกว่า

เชื่อว่าคนเกินครึ่งคิดว่าถ้าวัสดุมันมาจากของเหลือใช้ ต้นทุนมันต้องต่ำกว่าของใหม่ แต่ความจริงบางครั้งมันกลับตาลปัตร เพราะถึงของที่ได้จะเป็นของใช้แล้ว ราคาต้นทุนน้ำพักน้ำแรง และทัศนคติที่ซ่อนอยู่ มันมีมูลค่ามากกว่าที่คิด เรายกตัวอย่างเคสล่าสุดของนันยางแล้วกัน เพราะเชื่อว่าน่าจะมีคนเห็นและมีคนสั่งซื้อกันบ้างแล้ว

“นันยาง” ร่วมมือกับ “ทะเลจร” (แบรนด์ Upcycling วัสดุจากทะเลซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร) ทำโปรเจกต์รุ่น Limited ออกมา ใช้ชื่อรุ่นว่า “Khya” หรือ “ขยะ” นำรองเท้าแตะที่ถูกทิ้งตามท้องทะเลกลับมาผลิตใหม่ โดยใช้ส่วนผสมระหว่างช้างดาวกับรองเท้าแตะยี่ห้ออื่นเพื่อลดปริมาณขยะและทำให้ขยะกลายเป็นสิ่งของที่กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ซึ่งต้องบอกก่อนว่าขยะรองเท้าแตะแบบนี้เป็นขยะที่ใช้เวลาย่อยสลายนาน มักทำจากวัสดุโฟมยาง EVA ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก

รองเท้าแตะรุ่นนี้เป็นรุ่น Made to order หรือเรียกง่าย ๆ ว่าผลิตตามไซซ์ อุตสาหกรรมรันไปแบบคราฟต์ไม่ได้ทำเป็นล็อตปั๊มทีเดียวได้หลายอัน เรื่องโปรดักชั่นก็ใช้เวลา แรงงานและซับซ้อน เพราะแบรนด์กล่าวว่า 1 คู่ที่เราซื้อเกิดจากการเก็บขยะทะเล 5 กิโลฯ การเก็บขยะนำกลับมาผลิตใหม่ต้องใช้แรงงานคนที่เพิ่มขึ้น ความซับซ้อนด้านการขึ้นรูปของกระบวนการผลิตก็เพิ่มขึ้นตอนมากกว่ารองเท้าช้างดาวปกติถึง 3 เท่า

จากช้างดาว 99 บาทจึงกลายร่างแปะป้ายใหม่ที่ 399  (รวมค่าจัดส่งในประเทศไทย) แม้ราคาจะเพิ่มขึ้นแต่ยอดจองก็วิ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะเขาประกาศทำแค่ 200 คู่เท่านั้นเพื่อตั้งเป้าลดขยะ 1 ตัน

KHYA™ (ขยะ) flip-flops. Product of Trash.

ขอแนะนำ รองเท้าแตะ KHYA™ (ขยะ)รองเท้าที่ผลิตจากการเก็บขยะทะเล 5 กิโลกรัมจากการร่วมมือระหว่าง รองเท้าช้างดาว x ทะเลจร x พันธมิตร.รายละเอียดสินค้า- ราคา 399 บาท (จัดส่งฟรีในประเทศ)- ผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น (Made to order)- ระยะเวลาการสั่งซื้อ วันที่ 14 – 23 ส.ค. 62 เท่านั้น- ส่งมอบสินค้า เดือน พฤศจิกายน 2562.ช่องทางการจัดจำหน่าย1. LAZADA : https://www.lazada.co.th/shop/nanyang-marketing-co-ltd-shop/ (Thailand)2. SHOPEE : https://shopee.co.th/nanyang_official_shop (Thailand)3. Thailand Post Mart : https://www.thailandpostmart.com/shop/nanyangflagshipstore(Thailand and Global shipping)*4. ที่ทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขาทั่วประเทศ*5. โทร 1545.ขนาดรองเท้า (ความยาวเท้า)S ( 21-23 cm) [ ~ ประมาณเบอร์ 9 ช้างดาว ~ ]M (23-25 cm) [ ~ ประมาณเบอร์ 9.5 ช้างดาว ~ ]L (25-27 cm) [ ~ ประมาณเบอร์ 10.5 ช้างดาว ~ ]XL (27-29 cm) [ ~ ประมาณเบอร์ 11.5 ช้างดาว ~ ].be a part of the solution.#KHYAflipflop—————————-KHYA™ (ขยะ) flip-flops. Product of Trash.Copyright © 2019. The Nanyang Marketing (Thailand) in cooperation with Tlejorn project.All Rights Reserved.www.KHYA.net | www.nanyang.co.th |@nanyanglegend

โพสต์โดย นันยาง Nanyang เมื่อ วันพุธที่ 14 สิงหาคม 2019

 

ฟัง story คุณว่าน่าใช้ไหม? ดูดีไซน์ก็ถือว่าสวยงาม ถ้าสิ่งที่เราซื้อคือคนละไม้คนละมือล่ะจะสนใจหรือเปล่า? สำหรับเรามันเพียงพอที่จะอุดหนุน เพื่อให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น วันนี้สิ่งที่เราสวมไม่ใช่ “ขยะ” แต่มันคือ “ไลฟ์สไตล์” เพื่อบอกจุดยืนว่าเราจะดูแลโลกใบนี้อย่างไร ก่อนเที่ยงคืนจะมาถึง

เราจะซื้อขยะถ้ามันย่อยสลายได้
เราจะใช้สิ่งของนั้นมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อยืดอายุการใช้งาน
เราจะสนับสนุนสินค้าจากขยะ เพื่อแสดง agreement ร่วมกันกับโลกใบนี้

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 /4 / 5

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line