Business

เรียนรู้แบบโคตรอัจฉริยะด้วย “เทคนิคที่ไอน์สไตน์สอนลูกชาย” ให้เก่งเหมือนตัวเอง

By: PSYCAT July 26, 2017

ใคร ๆ ก็อยากเก่ง จะเก่งมาก เก่งน้อย หรือเก่งในหนทางไหน แต่การได้เป็นอัจฉริยะในศาสตร์ที่เราชอบก็เป็นเรื่องที่เราทุกคนต่างใฝ่ฝัน แต่อะไรคือเทคนิคการเรียนรู้ของอัจฉริยะระดับโลกอย่างไอน์สไตน์? เราพอจะเลียนแบบเทคนิคการเรียนรู้จากเขาได้ไหม? แล้วมันจะยากเกินความสามารถของเราไปหรือเปล่า?

ถ้าคุณกำลังสงสัยเหมือนกันกับเรา วันนี้ UNLOCKMEN มีคำตอบจากจดหมายที่ไอน์สไตน์เขียนถึงลูกชายตัวเองมากฝากกัน

ความอัจฉริยะของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นที่รับรู้กันทั่วไป แม้แต่เด็กประถมยังต้อง อ๋อ เมื่อเอ่ยถึงเขา ซึ่ง UNLOCKMEN คงไม่ต้องเสียเวลาบรรยายอะไรให้มากความ

นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมาจนคุ้นหูว่าเขาไม่ได้เกิดมาแล้วถูกยอมรับว่าเป็นคนที่อัจฉริยะตั้งแต่เด็ก แต่เขากลับเคยถูกสบประมาทจากครูของตัวเองด้วยซ้ำว่าในชีวิตนี้ไม่น่าจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้

นั่นแปลว่าเราทุกคนก็มีสิทธิเรียนรู้ ฝึกฝนในหนทางของตัวเอง จนช่ำชองหรือเก่งในสิ่งที่เราสนใจ

ย้อนกลับไปในปี 1915 ในขณะนั้นไอน์สไตน์อาศัยอยู่ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน แต่ลูกชาย 2 คนของเขาอาศัยอยู่ที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย

ในยุคสมัยที่อีเมล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ยังไม่เปิดเผยตัวตนออกมา หนทางเดียวที่ไอน์สไตน์จะสื่อสารกับลูกชายของเขาได้ก็คงหนีไม่พ้นการเขียนจดหมาย โดยเขาเขียนจดหมายถึง ฮานส์ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ลูกชายวัย 11 ขวบของตัวเอง

จากนั้นจดหมายฉบับนั้นก็เดินทางผ่านกาลเวลา จนกระทั่งถูกรวบรวมไว้ในหนังสือเรื่อง Posterity: Letters of Great Americans to Their Children ที่รวบรวมเอาจดหมายของบุคคลสำคัญที่เขียนถึงลูก ๆ ของตัวเองเอาไว้

เนื้อความในจดหมายตอนหนึ่งของไอน์สไตน์ที่เขียนถึงลูกชายของเขาซึ่งกำลังเรียนรู้การเล่นเปียโน มีข้อความดังนี้

“… พ่อดีใจที่ลูกสนุกสนานกับเล่นเปียโน พ่อคิดว่าการได้เล่นเปียโนและการเรียนรู้งานช่างไม้มันช่างเหมาะสมกับคนอายุเท่าลูกเหลือเกิน มันเหมาะเสียยิ่งกว่าการเรียนรู้ในโรงเรียนเสียอีก เพราะทั้งสองอย่างนี้มันคือสิ่งที่เข้ากับเด็ก ๆ อย่างลูกที่สุด

เล่นเปียโนต่อไป เรียนรู้สิ่งที่ทำให้ลูกมีความสุขต่อไปนะ ถึงแม้มันจะเป็นสิ่งที่ครูไม่ได้สั่งให้ทำ เพราะนี่แหละคือวิธีการเรียนรู้ได้มากที่สุด มันคือการที่เราได้เรียนรู้ ได้ทำอะไรด้วยความสุข ความสนุก มันทำให้เราไม่ได้สังเกตเลยด้วยซ้ำว่าเวลาผ่านไปมากแค่ไหนแล้ว

พ่อเองก็เหมือนกันนั่นแหละ บางทีพ่อก็ง่วนอยู่กับการทำงานของตัวเองจนลืมกินข้าวกลางวันไปเลยก็มี…”

วิธีที่ไอน์สไตน์บอกกับลูกชายของตัวเอง แทบไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะไอน์สไตน์เชื่อว่าการเรียนรู้ต้องเป็นไปด้วยความสุข ไม่ใช่สักแต่จะเร่งเรียนอย่างคร่ำเคร่ง

ไม่แปลกใจเลยที่ตอนเด็ก เขาจะไม่ใช่หัวกะทิของโรงเรียน แต่สนุกกับการแก้โจทย์เลขด้วยต้องเอง นำไพ่มาต่อประกอบเป็นสิ่งต่าง ๆ เพราะเขารู้สึกว่าการถูกบังคับให้เรียนสำหรับเขาช่างไม่สนุก และกำหนดกรอบไม่ให้ได้คิดอะไรบ้างเลย

อย่างไรก็ตาม UNLOCKMEN ไม่ได้บอกว่า ไป ทุกคนไม่ต้องเรียนในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย เพียงแต่เสนอทางเลือกว่าการเรียนรู้อย่างสนุกสนานจะยิ่งทำให้เราเรียนรู้ได้ดีกว่าเดิม เราอาจลองหาจุดกึ่งกลางระหว่างความสุขของตัวเองกับการถูกกำหนดให้เรียนรู้ดูก็ได้ อาจจะเรียนรู้ได้ทั้งสนุก ทั้งเต็มที่กว่าที่เคยเหมือนไอน์สไตน์และลูกชายของเขา

SOURCE1SOURCE2SOURCE3

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line