Life

เหงากว่านี้ไม่มีอีกแล้ว! โลกยุคใหม่ทำให้วัยรุ่นต้องเหงาไปตลอดชีวิต

By: unlockmen May 16, 2023

บนโลกนี้มีคนเป็นล้านคน ทุกคนมีเป็นล้านใจ… แล้วทำไมวัยรุ่นยังเหงา? วัยรุ่นเป็นวัยแห่งความสนุกสนาน วัยแห่งความสดใสร่าเริง ประโยคข้างต้นนี้อาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปในยุคนี้ แต่อาจจะถูกเปลี่ยนเป็น “วัยรุ่น วัยแห่งความเหงา” แทน!

อะไรที่ทำให้วัยรุ่นรู้สึกเหงาในสังคมยุคปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่เราอยู่บนโลกที่มีผู้คนมากมายหลายพันล้านคน วันนี้ UNLOCKMEN จะพาไปฟังเสียงแห่งความเหงาของวัยรุ่น ที่ออกมาแชร์ความรู้สึกเหงาของพวกเขาให้ทุกคนได้อ่านกัน


“ฉันใช้เวลาอยู่นานในการพยายามหาว่า ฉันทำอะไรผิดไปถึงทำให้ฉันรู้สึกโดดเดี่ยวมากขนาดนี้ในตอนนี้… ฉันคิดว่าฉันได้สร้างความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นไว้แล้วซะอีก”

ประโยคที่น่าเศร้านี้เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2022 เป็นวิดีโอ TikTok ของผู้หญิงคนหนึ่งที่ออกมาพูดถึงมิตรภาพ และความเหงา พร้อมน้ำตาที่ไหลคลอออกมา จนกลายเป็นกระแสบน Twitter ที่มีคนเข้ามาให้กำลังใจ และแชร์ความรู้สึกเหงาของพวกเขากันเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นเธอยังบอกอีกว่า เธอมีคนที่รัก และเป็นห่วงเธอนะ แต่เห็นได้ชัดว่าเธอเป็นเพื่อน Tier 2 หรือ Tier 3 ของพวกเขา และนั่นส่งผลให้เธอต้องใช้ชีวิตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตามลำพังอย่างแท้จริง

จากกระแสนี้บ่งบอกว่า ความเหงาดูเหมือนจะขยายใหญ่ขึ้นมากขึ้นกว่าที่เคย แต่ยากที่จะบอกว่าการกักตัวในช่วง COVID-19 เป็นสาเหตุ มันอาจเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้เราเห็นปัญหาของสังคมในยุคปัจจุบันได้เร็วขึ้น ซึ่งผลจากการศึกษาของ Prince’s Trust บอกว่า 2 ปีหลังจากใช้มาตรการล็อกดาวน์ คนหนุ่มสาวร้อยละ 30 กล่าวว่าพวกเขาไม่รู้วิธีหาเพื่อนใหม่ และพวกเขาไม่เคยรู้สึกโดดเดี่ยวมากขนาดนี้มาก่อน


“ที่มหาวิทยาลัย ถ้าคุณออกไปทำกิจกรรมในแต่ละวัน คุณจะเจอคนอย่างน้อยสามคนที่คุณรู้จัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณมีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับพวกเขา”

นี่คือความรู้สึกของ Jasmine Grimshaw นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์วัย 23 ปี ผู้ที่รู้สึกโดดเดี่ยวมาตลอดชีวิต เธอคิดว่า Social Media นั้นทำให้ขาดความสัมพันธ์ที่มีความหมายระหว่างผู้คน ทำให้การพบปะกันแบบตัวต่อตัวนั้นหายไป “มันทำให้เราต้องเหงาทั้ง ๆ ที่อยู่ในโลกที่มีผู้คนมากมาย” เธอกล่าว

ซึ่งผลสำรวจของ BBC บอกว่ากลุ่ม Younger People หรือวัยรุ่นอายุ 16-24 ปีนั้น ผลจากการสำรวจกว่า 50,000 คน พบว่าพวกเขามีมวลความเหงาที่ใกล้เคียงกับผู้สูงอายุเลยทีเดียว 

เนื่องจากเป็นช่วงวัยแห่งการเปลี่ยนผ่านสถานการณ์มากมายในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนการศึกษา ย้ายเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย ต้องย้ายออกจากบ้าน หรือออกไปเรียนต่างเมือง ต้องพยายามสร้างตัวเองให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดิ้นรนเพื่อหาทางให้ประสบความสำเร็จในชีวิต นั่นจึงเป็นช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียด ความกดดัน แยกห่างจากสังคม อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ อาการซึมเศร้า และวิตกกังวล


“ฉันคิดว่าการเป็นคนผิวสี และการเป็น non-binary นั้น ทำให้มันยากขึ้นไปอีกขั้น ที่จะมีคนเข้ากับฉันได้ และเข้าใจฉันจริง ๆ ด้วยความแตกต่างในการใช้ชีวิต ฉันต้องการเพื่อน หรือความสัมพันธ์ที่แตกต่างจากที่คนส่วนใหญ่ต้องการ”

นี่คือความรู้สึกของ Tam Adisi อายุ 24 ปี นักศึกษาต่างเมืองที่อาศัยอยู่ในเมืองแมนเชสเตอร์ พบว่าการย้ายถิ่นฐานเพื่อไปประกอบอาชีพ และเข้ามหาวิทยาลัยทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว และรู้สึกแปลกแยก

สะท้อนให้เห็นว่าความเหงาไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับสังคม และเมือง นั่นทำให้สถานที่ในอังกฤษเช่น Aycliff West ใน County Durham หรือ Fieldway ใน Croydon ได้รับการกล่าวขานว่ามีอัตราความเหงาที่สูงกว่าปกติ และได้รับการขนานนามว่าเป็นย่านที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง เนื่องจากไม่ได้รับส่วนแบ่งการพัฒนาที่ยุติธรรม และขาดแคลนทรัพยากร หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ที่เอื้อให้ผู้คนรวมตัวกันเป็นชุมชน


“อยู่ ๆ ก็เศร้านะ ฉันในวัย 20 ปี มาติ่งคนเดียว เดินห้างสยามคนเดียว กินข้าวคนเดียว ถ่ายงานส่งอาจารย์คนเดียว กลับบ้านคนเดียว โคตรเหงา”

มาต่อกันที่เมืองไทยกันบ้าง ประโยคข้างต้นเป็นความรู้สึกของวัยรุ่นอายุ 20 คนหนึ่งที่โพสต์ระบายลง Twitter ในยุคที่คลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป จนทำให้เขารู้สึกว่าใช้ชีวิตเพียงลำพัง ซึ่งสะท้อนบริบทในการอยู่อาศัยของสังคมไทย ที่เป็นสังคมปิด

‘รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา’ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวไว้ว่า 

“เราไม่ได้รู้จักคนแถวบ้าน ถึงจะเป็นวัยเดียวกันก็แค่เคยเห็นหน้า แต่กลับรู้จักคนที่บ้านอยู่ไกลมากแต่เรียนที่เดียวกัน ขณะที่เมืองชั้นนำคบกับคนที่มีความสนใจเดียวกัน เพราะมีพื้นที่หลากหลายให้เจอกันได้ เมื่อเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะเยอะเขากลับบ้านไปรู้จักกับคนในชุมชนของตัวเอง ในขณะที่สังคมปิดแบบเรา ก่อนกลับบ้านก็ต้องไปที่ศูนย์การค้าใจกลางเมือง เพื่อให้เพื่อนเราที่อยู่กันคนละที่มาหากันได้”

ซึ่งตรงกับผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดลที่พบว่า วิธีคลายเหงาที่คนไทยชอบใช้คือ การเล่นโซเชียลมีเดีย การไปคาเฟ่ และการไปช็อปปิ้ง โดยมีคนเหงาจำนวนสูงกว่า 26.75 ล้านคน คิดเป็น 40.4% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งกลุ่มผู้มีภาวะความเหงาสูงสุด คือกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงาน

เสียงแห่งความเหงาจากวัยรุ่นทั้งสี่คนนี้ สะท้อนให้เห็นว่าโลกในยุคปัจจุบันนั้น เต็มไปด้วยความเหงา ความโดดเดี่ยว ความรู้สึกแปลกแยก และปัญหาที่ก่อให้เกิดความเหงา ความเศร้ากับวัยรุ่น ซึ่งอยู่ในวัยเปลี่ยนผ่านที่กำลังกดดัน และอ่อนไหว สิ่งที่สำคัญจริง ๆ ในชีวิตของมนุษย์เรานั้นอาจไม่ใช่เงิน หรือความสำเร็จในชีวิต แต่เป็นสังคมที่ดี ความสัมพันธ์ดี ๆ และสภาพแวดล้อมของเมืองที่ดี ที่เอื้อให้เกิดการพบปะพูดคุยกันของ “วัยรุ่น วัยแห่งความเหงา”


เพื่อเป็นตัวช่วยในการลดความเหงาของวัยรุ่น วันนี้ UNLOCKMEN ได้ไปรวบรวมวิธีแก้เหงา จาก istrong มาฝากวัยรุ่นทุกคนกัน

อ่อนโยนกับตัวเอง

ก่อนที่จะไปเรียนรู้วิธีแก้เหงาวิธีอื่น ๆ อยากให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะอ่อนโยนกับตัวเองก่อน การเข้าใจตัวเองว่าเรากำลังรู้สึกเหงา รู้สึกแย่ และบอกกับตัวเองว่า เราไม่ใช่คนเดียวที่มีปัญหา การเรียนรู้ที่จะให้กำลังใจตัวเอง จึงเป็นอีกทักษะหนึ่งที่เราควรที่จะลงมือทำ 

เสพสื่อที่ดีต่อสุขภาพจิต

สิ่งที่เราเสพ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ข่าวสาร หรือหนังนั้นล้วนมีผลต่อสุขภาพจิต การเสพข้อมูลด้านลบ อาจจะทำให้เรารู้สึกแย่ ดังนั้นเราควรหลีกเลี่ยง และถ้าหากรู้สึกไม่ดี ให้ลองเปิดเพลงที่ชอบฟัง หนังที่ชอบดู เลือกเสพข้อมูลที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเรา จะช่วยทำให้เรารู้สึกดี และมีความสุขได้

ทำกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อตัวเราเอง และผู้อื่น 

การเลือกทำกิจกรรมที่เราชอบ และมีประโยชน์ต่อตัวเราเองนั้น ส่งผลต่อความรู้สึกทางด้านบวก ทำให้เกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จ ที่ส่งผลให้เรามีความสุขมากยิ่งขึ้น และการสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น จะนำมาซึ่งความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และแทนที่ความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นจากความเหงาได้

พบปะพูดคุยกับผู้คน

และข้อสุดท้ายหากลองทำทุกข้อแล้วยังช่วยให้หายเหงาไม่ได้ อาจจะต้องยืมมือผู้อื่นเข้ามาช่วย ซึ่งไม่ใช่การรบกวนให้เขาช่วย แต่เป็นการขอยืมมือ ชวนมาพบปะพูดคุยกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนประเภท Introvert หรือ Extrovert ทุกคนล้วนต้องการ การเชื่อมโยงกับบุคคลอื่น ต้องการความรู้สึกมีส่วนร่วม และการยอมรับกันทั้งนั้น การมีเพื่อน ครอบครัว หรือคนที่เราจะสามารถแบ่งปันความรู้สึกได้ จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เราสามารถเริ่มต้นในการเชื่อมต่อกับคนอื่นได้โดยการเริ่มแชทหา โทรหา หรือเริ่มเข้าไปพูดคุยกับคนอื่นก่อนก็ได้

สุดท้ายอยากให้วัยรุ่นทุกคนผ่านพ้นความเหงา ความเศร้าที่เกิดขึ้นนี้ไปได้ด้วยดี หาวิธีแก้เหงาที่เหมาะกับตัวเอง ส่วนใครที่แก้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ขอให้อยู่กับมันให้ได้อย่างมีความสุขก็พอ รักตัวเองให้มาก ๆ ให้อภัยตัวเองให้มาก ๆ และอย่าใจร้ายกับตัวเอง เป็นกำลังใจให้วัยรุ่นทุกคนครับ

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line