World

“ในวันที่ทุกคนต้องใส่หน้ากาก” ย้อนรอยชีวิตและไลฟ์สไตล์ของผู้คนในช่วงสงครามโลก

By: TOIISAN January 17, 2019

เมื่ออาวุธเคมีที่มีคุณสมบัติทำลายล้างสูงอย่างแก๊สพิษไม่ได้ถูกใช้แค่ในสมรภูมิรบเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อทำลายล้างประชาชนทั่วไปด้วย ดังนั้นไม่ว่าใครต่างก็ต้องเตรียมรับมือกับอากาศปนเปื้อนที่พร้อมจะฆ่าเราได้ทุกเมื่อ ชีวิตที่ต้องใส่หน้ากากกันแก๊สพิษตลอดเวลาจะเป็นอย่างไร ? UNLOCKMEN จะพาย้อนเวลาไปสู่ยุคที่ทุกคนต่างก็ต้องใส่หน้ากากเข้าหากัน

timeline

สงคราม ควันและแก๊สเป็นสิ่งที่ถูกใช้งานคู่กันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว โดยการใช้ควันไฟไล่ต้อนศัตรูคู่ตรงข้ามให้ออกมาจากถ้ำ และในบางครั้งก็เพิ่มสารหนูลงไปในวัตถุดิบที่ใช้เผาไหม้ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อมีแก๊สพิษจึงทำให้มีหน้ากากกันแก๊ส จุดเริ่มต้นของสังคมหน้ากากจึงเริ่มต้นขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่นับเป็นการนำ Chemical weapons หรืออาวุธเคมีมาใช้อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นแก๊สน้ำตาที่เป็นอาวุธเคมีรุ่นแรกจากคลังแสงที่กลุ่มทหารฝรั่งเศสนำมาเริ่มใช้ในปีค.ศ. 1914 เมื่อทหารฝ่ายตรงข้ามสูดดมเข้าไปจะทำให้เยื่อบุโพรงจมูกระคายเคือง ส่งผลต่อหลอดลม ปอด รวมถึงดวงตา

rarehistoricalphotos

นอกจากแก๊สน้ำตาแล้วยังมีคลอรีนของฝ่ายกองทัพเยอรมัน เมื่อสูดดมเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและระบบการมองเห็น ทำให้ร่างกายเกิดสภาวะ Asphyxia หรือที่เรียกว่าภาวะร่างกายขาดออกซิเจนเฉียบพลัน มีอาการเจ็บหน้าอก อาเจียน และเสียชีวิตภายใน 2-3 นาที

รวมไปถึงอาวุธเคมีชนิดอื่น ๆ อย่าง ฟอสจีน และ มัสตาร์ด จึงเรียกได้ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นช่วงที่ต่างฝ่ายต่างก็งัดอาวุธเคมีขึ้นมาสู้กันอย่างดุเดือด

เมื่ออาวุธเคมีทวีความร้ายกาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างต้องเร่งผลิตหน้ากากกันแก๊สพิษขึ้นมาใช้อย่างจริงจัง แต่หน้ากากในช่วงแรกนั้นไม่สามารถต้านพิษจากสารเคมีที่ลอยอยู่ในอากาศได้ 100% จึงทำให้หน้ากากเริ่มร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จนเผาใบหน้าของผู้สวมใส่ และเมื่อถอดหน้ากากออกก็จะต้องสูดดมแก๊สพิษ ซึ่งไม่ว่าจะใส่หรือถอดก็แย่อยู่ดี

reddit

อาวุธเคมีมีประสิทธิภาพอย่างมากในการลดจำนวนฝ่ายตรงข้ามจึงทำให้บางครั้งมีการทิ้งระเบิดเคมีลงในเมืองใหญ่ ประชาชนต้องสูดดมอากาศที่เป็นพิษ แต่ละฝ่ายจึงต้องเร่งหาวิธีเพื่อป้องกันการจู่โจมของประเทศฝ่ายตรงข้ามที่ไม่รู้ว่าจะปล่อยระเบิดเคมีเมื่อไหร่

เมื่อไม่รู้ว่าจะถูกโจมตีในช่วงเวลาไหนบ้าง รัฐบาลอังกฤษที่อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ทำสงครามกับฝ่ายอักษะจึงได้เร่งให้โรงงานสิ่งทอทั่วประเทศผลิตกระเป๋าสำหรับบรรจุอากาศที่เชื่อมกับหน้ากากกันแก๊สพิษหลายล้านใบเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนชาวอังกฤษทุกคน แม้จะเป็นวิธีรับมือที่เสียค่าใช้จ่ายมหาศาลแต่ก็สามารถสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนชาวอังกฤษได้เป็นอย่างดี

ในช่วงสงครามจึงได้เห็นผู้คนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นใคร ร่ำรวยหรือยากจน ผู้หญิงหรือผู้ชาย ต่างก็สวมหน้ากากกันแก๊สพิษออกมาทำกิจวัตรประจำวันกันเหมือนเป็นเรื่องปกติ เพราะถึงแม้จะอยู่ในช่วงสงครามและอากาศจะเลวร้ายแค่ไหนทุกคนต่างก็มีหน้าที่ที่ต้องทำและชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไป ถึงแม้จะทำให้การหายใจไม่สะดวกแต่พวกเขาก็ไม่มีทางเลือก

photolicioux

HuffPost

แม้ในช่วงสงคราม รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ จะผลิตหน้ากากและแจกจ่ายให้แก่ประชาชนของตัวเอง แต่หน้ากากที่ออกแบบมาในตอนแรกนั้นมีไว้สำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่โตแล้วเท่านั้น ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือเด็กทารกที่ปอดยังไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่จะไม่สามารถสูดหายใจผ่านหน้ากากกันแก๊สได้

แต่รัฐบาลอังกฤษและกลุ่มแพทย์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะทุกฝ่ายได้มีการวางแผนออกแบบหน้ากากกันแก๊สแบบพิเศษสำหรับเด็กทารก แต่อาจจะเรียกว่าหน้ากากก็คงไม่ได้ เนื่องจากวิธีใช้ต้องสวมครอบตัวเด็กเกือบทั้งตัวโดยมีวาล์วให้อากาศผ่านเพียงช่องทางเดียว และผู้ใหญ่จะต้องคอยบีบยางเพื่อปั๊มให้อากาศเข้าไปเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่าแม้จะอยู่ในช่วงสงครามที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดแต่ทุกฝ่ายต่างก็ไม่ละเลยเรื่องเล็ก ๆ ที่แสนสำคัญเหล่านี้

ไม่ใช่แค่เพียงประชาชนเท่านั้น สัตว์เลี้ยงก็ได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ลอยอยู่ทั่วในอากาศเช่นกัน เพื่อสร้างความปลอดภัยกับทุกชีวิต จึงได้มีการทำหน้ากากกันแก๊สพิษสำหรับสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือม้า และยังมีสัตว์จำนวนหนึ่งที่ต้องเข้าสู่สมรภูมิรบร่วมกับเหล่าทหาร ดังนั้นอากาศที่บริสุทธิ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นแม้กระทั่งกับสัตว์

mediastorehouse

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั่วทั้งยุโรปต่างรับรู้ถึงความน่ากลัวของแก๊สพิษ และนำหน้ากากกันแก๊สพิษไปใช้ในส่วนงานอื่น ๆ เช่น งานในเหมืองหรือโรงงานที่ทำอุตสาหกรรมหนัก รวมถึงในประเทศญี่ปุ่นบางเมืองก็มีการใส่หน้ากากกันแก๊สพิษเพื่อป้องกันฝุ่นควันจำนวนมากที่เกิดจากการปะทุของผู้เขาไฟ ทำให้หน้ากากกันแก๊สพิษเกิดการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น และไม่ได้มีไว้แค่ป้องกันสารพิษที่อยู่ในอากาศเท่านั้น

ในปี ค.ศ. 1935 รัฐบาลของหลายประเทศประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปฝึกการใช้หน้ากากกันแก๊สให้เป็น และให้มีติดบ้านไว้ทุกครัวเรือนเพื่อความสะดวกและปลอดภัย หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอีกครั้ง

ชาวญี่ปุ่นต้องใส่หน้ากากกันแก๊สเนื่องจากฝุ่นที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ

ซึ่งก็ถูกต้องตามที่รัฐบาลหลายประเทศในทวีปยุโรปตาดการณ์ไว้ เพราะในเวลาไม่นานเท่าไหร่นักสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนในประเทศร่วมสงครามก็ต้องหยิบหน้ากากขึ้นมาใส่กันอีกครั้ง

ถึงแม้ช่วงเวลาแห่งสงครามที่ทำให้ผู้คนในสังคมต้องสวมหน้ากากจะจบลงไปนานแล้ว แต่ UNLOCKMEN หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องราวในวันเก่าก่อนจะให้บทเรียนกับคนในยุคปัจจุบันได้เรียนรู้ และเตรียมรับมืออย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้เกิดสังคมหน้ากากแบบในช่วงสงครามโลกขึ้นอีกครั้ง

SOURCE1 SOURCE2 SOURCE3

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line