

World
“ได้แค่ฝันแต่ไม่มีตังค์อยู่” 5 ประเทศค่าครองชีพสูงประจำปี 2020 เพราะทุนชีวิตแสนแพง
By: unlockmen March 5, 2020 177845
การจัดอันดับประเทศที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกประจำปี 2020 ถือเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร ประเทศที่เคยอยู่อันดับสูงอย่างฮ่องกงกับสิงคโปร์ถูกแซงอันดับขึ้นมาด้วยหลายสาเหตุ บางประเทศมีราคาที่ดินและค่าครองชีพถูกลงจากวิกฤตการเมือง บางประเทศมีประท้วงยาวนาน จนทำให้อันดับปีนี้น่าสนใจไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว
การจัดอันดับประเทศค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกจัดโดยนิตยสารธุรกิจของสหรัฐฯ CEOWORLD จากการรวบรวมข้อมูลทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีค่าครองชีพ ค่าสาธารณูปโภค ราคาที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย เสื้อผ้า ค่ารถแท็กซี่ ค่าบริการการขนส่งสาธารณะ กำลังซื้อมวลรวมของประชาชนในประเทศ และนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์วัดกับประเทศค่าครองชีพสูงมากเป็นปกติอยู่แล้วอย่างมหานครนิวยอร์ก เพื่อจัดอันดับว่าประเทศใดมีภาพรวมแพงที่สุด
การใช้นิวยอร์กเป็นเกณฑ์มาตรฐานการประเมินถือว่าเป็นธรรมเนียมที่ทำมานานหลายปี ปกตินิวยอร์กมีคะแนนดัชนีอยู่ที่ 100 ดังนั้นประเทศใดมีคะแนนสูงกว่า 100 จะถูกจัดว่าเป็นประเทศค่าครองชีพสูง และผลจากการสำรวจกว่า 132 ประเทศ ได้ผลสรุปออกมาว่า 5 ประเทศดังต่อไปนี้มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกประจำปี 2020
ดัชนีค่าครองชีพ: 83
ดัชนีการเช่า: 31.92
ดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติน้อยอย่างประเทศเดนมาร์กขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ในปีนี้ อาจเป็นเพราะเดนมาร์กมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่เป็นสันทรายกว้าง ส่วนพื้นที่บริเวณอื่นก็เป็นธารน้ำแข็ง ที่ดินจึงมีราคาสูงไม่แพ้กับประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น
แม้จะมีที่พักอาศัยไม่มากเท่าไหร่นัก แต่เดนมาร์กเป็นรัฐสวัสดิการขนาดใหญ่จัดเต็มสวัสดิการแก่ประชาชน แถมยังเป็นประเทศที่ติดอันดับการมีรายได้เข้าประเทศมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ด้วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพด้านการเมือง ทำให้การค้าเสรีสร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจดี ตลาดแรงงานยืดหยุ่น ไม่ค่อยเกิดปัญหาตกงานหรือปัญหาขาดแคลนที่พักอาศัย จึงไม่แปลกที่ค่าครองชีพสูงกว่าเมืองอื่น ๆ ใกล้เคียง
ดัชนีค่าครองชีพ: 83.35
ดัชนีการเช่า: 25.97
หากมีการจัดอันดับวัดจากค่าครองชีพ ค่าเช่า หรือค่าที่ดิน ประเทศญี่ปุ่นมักติดอันดับต้น ๆ เสมอมา เพราะเกาะญี่ปุ่นมีพื้นที่ไม่มากนักแต่มีประชากรจำนวนมากอาศัยอยู่ ที่ดินบางย่านในเมืองโตเกียวจึงมีราคาแพงกว่าทองคำ ถ้าใครไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นและต้องการห้องพักแบบมาตรฐาน มีห้องน้ำในตัวพร้อมกับบริการที่ดีเยี่ยม ราคาที่พักส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ 3,495 บาทต่อคืน (วัดจากราคาห้องใน Airbnb โตเกียว) สำหรับมนุษย์เงินเดือนผู้ไม่มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตัวเองจะต้องจ่ายค่าเช่าห้องพักราว 43,142 บาทต่อเดือน
ดัชนีค่าครองชีพ: 100.48
ดัชนีการเช่า: 46.95
ประเทศตั้งอยู่ในยุโรปเหนืออย่างไอซ์แลนด์รับอันดับ 3 ประเทศที่มีราคาค่าครองชีพที่แพงที่สุดปีนี้ แม้ดินแดนน้ำแข็งทิวทัศน์สวยงาม มีบ่อน้ำพุร้อนกลางหิมะ ภูเขาไฟ และทุ่งลาวาตอบโจทย์คนรักธรรมชาติจะมีจำนวนประชากรไม่มากนัก แต่ด้วยการเก็บภาษีสูงลิบจนทำให้ไอซ์แลนด์เป็นประเทศรัฐสวัสดิการที่มีคุณภาพ รวมถึงการท่องเที่ยวตามหาแสงเหนือสามารถสร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศ
นอกจากนี้ข้อมูลขององค์กรยูโรแซทปี 2018 ยังระบุอีกว่า ค่าครองชีพ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในไอซ์แลนด์สูงกว่าค่าครองชีพเฉลี่ยของประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ทวีปเดียวกันสูงถึง 56% เพราะประเทศไอซ์แลนด์ต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าเป็นหลัก ดังนั้นอาหารและเครื่องดื่มของที่นี่จึงมีราคาพึ่งสูงมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่เงินเดือนเฉลี่ยของคนในไอซ์แลนด์อยู่ที่ 115,750 บาท ทำให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนสามารถสู้กับราคาสินค้าที่แพงได้
ดัชนีค่าครองชีพ: 101.43
ดัชนีการเช่า: 36.15
นอร์เวย์ที่ขึ้นชื่อเรื่องค่าเช่าราคาโหดติดอันดับ 2 ประเทศค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกแบบสบาย ๆ โดยเฉพาะกับเมืองหลวงออสโลมีค่าเช่าห้องสูงลิบ หากใครต้องการเช่าห้องพักกลางเมืองต้องจ่ายเงินราว 2,700 บาทต่อคืน หรือถ้าเช่าแบบรายเดือนต้องเตรียมเงินไว้จ่ายช่วงสิ้นเดือนสูงถึง 37,568 บาท แถมราคาที่ว่าถือเป็นห้องขนาดกลางไม่ได้ดีหรือแย่ที่สุด แต่ถ้าอยากได้ราคาถูกกว่านี้ก็อาจจะแคบมากหรืออยู่ในย่านที่ไม่น่าอาศัยอยู่เท่าไหร่นัก
ดัชนีค่าครองชีพ: 122.4
ดัชนีการเช่า: 50.25
สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ผู้คนทั่วโลกรับรู้ได้ถึงความสวยงามทางธรรมชาติ มีภูเขาแมทเทอร์ฮอร์น (The Matterhorn) อันโด่งดัง ทิวทัศน์ไกลสุดลูกหูลูกตารับประกันความสะอาดของอากาศ รวมถึงเป็นประเทศที่เคยได้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ประชาชาติสูงที่สุดในโลก
การเกิดดุลเป็นผลมาจากการบริการและการท่องเที่ยว เมื่อธรรมชาติงดงามทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันมาจากทั่วทุกมุมโลก เศรษฐกิจโต ค่าครองชีพจึงสูงตามอย่างช่วยไม่ได้ ประชากรราว 133,000 คน ที่ยังเช่าที่พักอาศัยอยู่เสียค่าใช้จ่ายคิดเริ่มต้นเป็นเงินประมาณ 2,500 บาท ต่อคืน หรือ 43,016 ต่อเดือน
CEOWORLD
การคำนวณที่พักรายวันและรายเดือนวัดจากราคามาตรฐานของโรงแรมทั่วไปกับการจองผ่านเว็บ Airbnb สำหรับปี 2020 ประเทศในทวีปยุโรปถือว่ามาแรงมาก ๆ เพราะจาก 20 อันดับแรกมีประเทศที่อยู่ในยุโรปไปแล้ว 9 ประเทศ ส่วนประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับ 52 จากทั้งหมด 132 ประเทศ โดยไทยมีดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 49.77 มีดัชนีการเช่า 17.1 ส่วนประเทศที่มีค่าครองชีพถูกสุด ๆ จนได้อันดับ 132 คือประเทศปากีสถาน เขยิบขึ้นมาหน่อยคืออัฟกานิสถาน อินเดีย และซีเรียตามลำดับ
หากช่วงนี้หนุ่ม ๆ คนไหนมีแผนจะย้ายถิ่นที่อยู่ ก็อย่าลืมศึกษาเรื่องราคาที่ดินและค่าครองชีพกันให้ดี ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการตั้งรกรากในประเทศใหม่ครับผม