Life

รับมือ Mr. KNOW-IT-ALL มนุษย์ที่คิดว่ารู้ทุกอย่าง ความคิดตัวเองถูกเสมอ

By: Chaipohn March 17, 2022

“ทำไมมึงคิดแบบนี้วะ โคตรโง่ มันต้องคิดแบบกูถึงจะถูกโว้ย”

ทุกคนน่าจะเคยสัมผัสกับ Mr. Know-it-all มาแล้ว ไม่ว่าจะคนรอบข้าง และที่สำคัญคือโลกออนไลน์ คนที่แสดงความคิดเห็นเหมือนรู้จริง รู้ทุกอย่าง ความคิดของเขาคือความถูกต้องที่สุด ใครเห็นด้วย เราคือเพื่อนกัน ใครเห็นต่างคือคนโง่เง่าไร้สมอง ซึ่งคนประเภทนี้สามารถเรียกได้อีกอย่างว่า “Opinionated People”

การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของ Opinionated People มาจากโลก Social Media ที่ทุกคนแสดงความคิดได้อย่างอิสระและรวดเร็วแค่ปลายนิ้วพิมพ์ ไม่มีการจ้องตาเผชิญหน้า ทำให้เกิดระยะห่างที่รู้สึกปลอดภัย นำไปสู่การแสดงความคิดเห็นแบบไม่ต้องคิด วิเคราะห์ แยกแยะ แถมเป็นศูนย์รวมของคนแปลกหน้า จึงไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมา ทำให้ทุกวันนี้มีการแสดงความคิดเห็นที่นำไปสู่การโต้เถียงที่ไร้ประโยชน์ เพราะตัวของพวกเขานั้น ไม่รับฟังความคิด ไม่ได้เข้าใจที่มาที่ไปของแต่ละไอเดีย

Mr. Know-it-all ชอบแสดงตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ จากประสบการณ์ในโลกแคบ ๆ ที่เติบโตขึ้นมา โดยลืมไปอย่างสิ้นเชิงว่าโลกภายนอกยังมีความจริงในมุมอื่น ๆ อีกมากมาย

แม้ตัวเขาจะไม่รู้จริง แต่ก็จะไม่พยายามทำความเข้าใจ เพราะการยอมรับว่าตัวเองผิดนั้น จะทำให้พวกเขาดูเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา และทำลายความมั่นใจในตัวเองที่พวกเขามีอยู่จดหมดสิ้น พวกเขาจึงเลือกที่จะหาเรื่อง เปลี่ยนเรื่อง หรือล้อเลียนเมื่อมีคนอธิบายข้อมูลอีกด้าน แทนที่จะเปิดใจรับฟัง ซึ่งบางครั้งคนเหล่านี้ก็แสดงความเป็น Opinionated ออกไปโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งความหนักของ Mr. Know-it-all สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ

  1. Know-it-all โดยที่ตัวเองไม่รู้เรื่องอะไรเลย ตั้งใจเถียงจากจินตนาการโดยไม่รู้ตัว อันนี้หนักสุด เป็นคนโง่เขลาที่เข้าถึง internet
  2. Know-it-all แบบพอรู้เรื่องบ้าง แต่ก็ตัดสินความคิดคนอื่นแบบสุดขั้ว เป็นคน EQ ต่ำที่เชื่ออย่างเต็มร้อยว่าตัวเองรู้จริงมากกว่าใคร ตั้งใจเอาชนะแบบไม่แคร์

ในโลกของ Social Media หรือในสังคม offline ก็ตามที การรับมือกับ Mr. Know-it-all ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก เพราะคนพวกนี้มักจะยัดความคิดของตัวเอง ด่วนสรุปแม้จะอ่านไม่แตกฉาน ยังไม่เข้าใจประเด็นดีพอก็โพล่งตัดสินคนอื่นว่าผิด พร้อมกับพยายามยั่วโมโหจนเราหงุดหงิด สูญเสียสติในการตอบโต้ ด้วยการสนับสนุนความคิดของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อตอกย้ำความคิดของตัวเอง จนสุดท้ายกลับกลายเป็นเราที่หัวร้อน หงุดหงิดเสียสุขภาพจิตไปเอง

Michael Hall และ Kaitlin Raimi สองนักวิจัยเคยวิเคราะห์ระดับของความมั่นใจจนเกินพอดีไว้ใน Journal of Experimental Social Psychology โดยระบุว่าจากการให้ทำแบบทดสอบเพื่อแยกระดับ ‘Belief Superiority’ ว่าแตกต่างจาก ‘Belief Confidence’ อย่างไร

ผลการทดสอบพบว่า คนที่อยู่ในกลุ่ม Belief Superiority คือคนที่มั่นใจสูงยิ่งกว่า โดยในหัวจะคิดว่า “ความคิดของฉันเท่านั้นที่ถูกต้องที่สุด (My belief is totally correct)” และเมื่อทำการตรวจความรู้ในเรื่องที่ตัวเองมั่นใจ พบว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความคลาดเคลื่อนระหว่างสิ่งที่คิดว่ารู้ กับข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด สิ่งที่พวกเขาคิดว่าถูกนั้น ในความเป็นจริงแล้วผิดเกือบทั้งหมด และไม่มีท่าทีที่จะทำความเข้าใจในข้อมูลใหม่แม้จะมีการหยิบยื่นให้ก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีท่าทีไม่พอใจมากที่สุดเมื่อมีการอธิบายว่าสิ่งที่พวกเขารู้นั้นผิด หรือเมื่อรู้ว่าตัวเองได้คะแนนจากแบบทดสอบที่คิดว่ารู้ดีที่สุด แทนที่จะยอมรับและค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่ม คนกลุ่มนี้เลือกที่จะท้าทายแหล่งข้อมูลที่ใช้เฉลยคำตอบซะอีก ซึ่งใกล้เคียงกับผลวิจัย Dunning-Kruger effect ที่คนเก่งมัก underestimate ตัวเอง เพราะคิดว่าถ้าตัวเองรู้ คนอื่นก็น่าจะรู้เหมือนกัน ในขณะที่คนโง่มักจะประเมินค่าตัวเองไว้สูงเกินไปจนมั่นใจแบบผิด ๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจก่อนจะตัดสินว่า คนอื่น หรือ ตัวเราเองกันแน่ ที่เป็นคนประเภท Opinionated Know-it-all เพราะถ้าสิ่งที่เราคิดนั้นผิด แล้วสิ่งที่คนอื่นแนะนำถูกต้อง การที่เราไม่รับฟังคำอธิบาย จะทำให้เราเองนั่นแหละที่กลายเป็นคนมีปัญหา ดังนั้นวิธีที่เราอยากแนะนำเมื่อมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นคือ

  • รับฟังความคิดเห็นก่อนเสมอ

การบอกว่าตัวเองถูก คนอื่นผิด ประกอบด้วยคนสองฝั่ง ดังนั้นเราควรต้องเช็คตัวเองให้ดีก่อนว่าตัวเองอยู่ฝั่งไหน เริ่มต้นด้วยการเปิดใจรับฟังข้อมูลหรือมุมมองที่คนนำเสนอและฟังดูมีเหตุผลก่อนทุกครั้ง มันแสดงถึงความมี EQ ที่ดี และสามารถใช้ข้อมูลที่ถูกต้องไปพัฒนาตัวเองได้ แต่ถ้าเจอคนที่แสดงความคิดเห็นแบบรุนแรง ตัดสิน ยัดเยียดโดยไม่เข้าใจ ก็ให้ข้ามไปข้อสอง

  • Keep calm and ช่างแม่ง ช่างมัน 

เหมือนที่พี่ตั๊ก บริบูรณ์ เคยบอกกับเราในบทสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ เพราะปัญหาเกิดจากคนที่มี EQ ต่ำ หรือตั้งใจมาแสดงความคิดเห็นแบบผิด ๆ โดยไม่รับฟัง การแสดงถึง emotional intelligent ที่สูงกว่าคือการควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ดี ไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลถ้าคนนั้นแสดงความเป็น Mr. Know-it-all เต็มที่ ปล่อยเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ให้มันผ่านไป เพราะการตอบโต้จะยิ่งกระตุ้นให้คนประเภทนี้ร้อนใจเนื่องจากกลัวจะเสียจุดยืนและความมั่นใจผิด ๆ ของตัวเองไป

นอกจากทำความเข้าใจก่อนว่าเราหรือเขาที่เป็น Opinionated Know-it-all เรายังควรพิจารณาอีกข้อว่าการแสดงความคิดเห็นจากคนอื่นนั้น aggressive จริง หรือเราแค่ sensitive เกินไปเองจนไม่สามารถอธิบายเหตุผลเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของตัวเองได้ ถ้าเป็นอย่างหลัง เราเองก็ควรจะปรับมุมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และถ้าสิ่งที่เราคิดนั้นผิด ก็สามารถเปิดใจแก้ไขให้ถูกต้องได้ สุดท้ายก็เป็นตัวเราเองที่จะได้พัฒนาศักยภาพในการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้ดีและมีความสุขมากขึ้น

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line