Entertainment

ตามติดตำนานอันยาวนานของ My Bloody Valentine – Shoegaze ผู้ยิ่งใหญ่ กับผลงานที่ครองใจคนฟังเพลงทุกยุคทุกสมัย

By: unlockmen April 26, 2021

ถือเป็นข่าวดีมากๆสำหรับสาวกชาวร็อคจ้องเกือกผู้เป็นตำนานหลังจากคนฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งต้องหงุดหงิดที่ไม่สามารถฟังเพลงของ My Bloody Valentine ในทุกอัลบั้มผ่านช่องทางอย่าง Spotify หรือ Apple Music ได้เลย แต่ตอนนี้ปัญหาทุกอย่างได้คลี่คลายแล้ว พร้อมทั้งการเซ็นสัญญาเข้าสังกัดใหม่ นั่นก็คือ Domino Records

แม้ระยะเวลานับตั้งแต่ก่อตั้งวงในยุค 80s จวบจนปัจจุบัน จำนวนอัลบั้มจะน้อยมากเมื่อเทียบกับขวบปีอันยาวนานของพวกเขาและเธอ แต่ในแต่ละอัลบั้มกลับซ่อนความซับซ้อนและความยิ่งใหญ่จนสามารถพูดได้เต็มปากว่า อัลบั้มของ My Bloody Valentine นั้น คือมหากาพย์แห่งดนตรีอย่างแท้จริง เรามาทำความรู้จักอัลบั้มต่างๆพร้อมทั้งแนวคิดอันแสนอัจฉริยะของ Kevin Shields และวงดนตรีวงนี้ไปพร้อมๆกัน

จุดเริ่มต้นจากการแข่งขันคาราเต้

หลายวงอาจจะมีจุดกำเนิดจากการไปดูคอนเสิร์ตร่วมกัน หรือ เจอกันโดยบังเอิญที่ร้านแผ่นเสียง แต่ My Bloody Valentine กลับเจอกันที่สนามแข่งคาราเต้ ??? โดยในปี 1978 เมื่อ Kevin Shields และ Colm Ó Cíosóig ได้เจอกันโดยบังเอิญในการแข่งคาราเต้ที่เมือง South Dublin ทั้ง 2 คลิกกันอย่างรวดเร็วจากการนิยมชมชอบในดนตรีพังค์ที่ร้อนแรงในยุคนั้น มิตรภาพเพียงชั่วข้ามคืน ทำให้ทั้ง 2 หาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ชอบเพลงในแนวทางเดียวกัน และก่อตั้งวงพังค์ในชื่อ The Complex แต่วงก็มีอายุสั้นและปิดตัวลงอย่างรวดเร็วเพราะวงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เหลือเพียง Kevin Shields และ Colm Ó Cíosóig 2 คนเช่นเดิม ทั้ง 2 ตระเวนหาสมาชิกใหม่จนลงเอยที่วงดนตรี 3 ชิ้น ในชื่อ A Life in the Day และเล่นดนตรี Post-Punk ตามสมัยนิยม แม้ว่าคนฟังก็ยังไม่ให้การต้อนรับหมือนวงแรก แต่ทั้ง 2 ก็ยังไม่ละความพยายาม และเขาก็ผลักดันวงดนตรีชื่อใหม่ในนาม My Bloody Valentine เพิ่มสมาชิกใหม่อีก 2 คน นั่นคือ David Conway ในตำแหน่งนักร้องนำ และ Tina Durkin ในตำแหน่งคีย์บอร์ด และ Kevin Shields และ Colm Ó Cíosóig ประจำตำแหน่งกีตาร์, เบส และกลองตามลำดับ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชื่อวงนั้นดันไปคล้ายกับหนังสยองเลือดสาดที่ฉายก่อนหน้านี้

แต่วงก็ยังคงลุ่ม ๆ ดอน ๆ เช่นเดิม ทั้งวงยังคงเล่นดนตรีในคลับดับลินที่ไม่มีคนสนใจเช่นเดิม จนมีผู้หวังดีบอกกับ Shields และ Cíosóig ว่า “ฝีมือพวกนายเข้าท่านะ อย่าอยู่ในเมืองนี้เลย ออกไปหาแหล่งใหม่ที่พวกเขาสนใจนายดีกว่าดีกว่า” ทั้ง 2 เชื่อในคำพูดนั้น จึงลองย้ายไปอาศัยอยู่เนเธอร์แลนด์ เยอรมันและในเยอรมันนั้นเอง ผลงานอีพีชิ้นแรกของพวกเขาก็ถือกำเนิดขึ้นที่เมืองเบอร์ลินแห่งนี้

 

This Is Your Bloody Valentine (1985)

GEEK! (1985)

จุดเริ่มต้น Post-Punk เพื่อกรุยทางสู่เส้นทางศิลปินอาชีพที่พลั้งพลาด

จุดเริ่มต้นของ MBV นั้นไม่ใช่แนวทาง Shoegaze อย่างที่รู้ ๆกั น เพราะระหว่างที่พวกเขาพำนักอยู่ในเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน (ที่ในยุคนั้นยังแบ่งตะวันตกและตะวันออก) อิทธิพลของดนตรี Post-Punk นั้นกำลังเบ่งบาน พวกเขาก็ตัดสินใจลงมือทำมินิอัลบั้มชุดแรกในชื่อ This Is Your Bloody Valentine ที่ในช่วงแรกนั้นยังไม่มีวี่แววของดนตรี Shoegaze เลยสักนิด มันเต็มไปด้วยความอื้ออึงกระแทกกระทั้นของดนตรี Post-Punk และ Gothic Rock อย่างเต็มเหนี่ยว แม้โดยรวมพวกเขาจะไม่ค่อยพอใจนัก จะสังเกตว่า Shields แทบไม่ค่อยกล่าวถึงมินิอัลบั้มชุดนี้เลย (รวมไปถึงแฟนเพลงยุคใหม่ที่ย้อนกลับมาฟังก้าวแรกแรกของพวกเขาที่ต่างพากันผิดหวัง) แต่ก็นับได้ว่าเป็นก้าวแรกที่น่าสนใจและทำให้พวกเขา พกพาความมั่นใจแล้วเดินทางไปยังลอนดอน เมืองท่าแห่งวงการดนตรีในทันทีในปีเดียวกัน พวกเขาย้ายมาอยู่ลอนดอน พร้อมการเปลี่ยนแปลงสมาชิกอีกครั้ง โดยการรับ Debbie Googe มาร่วมเป็นมือเบสประจำวง พวกเขาได้รับโอกาสจากค่ายเพลง Fever ในการทำ EP ใหม่เพื่อเป็นการลองตลาด โดยที่พวกเขาต้องออกทุนในการทำเพลงเองทั้งหมด ท่ามกลางเมืองใหญ่ที่การแข่งขันสูง พวกเขาต้องยอมทำมันแม้จะถูกเอาเปรียบก็ตาม จน EP ที่ชื่อ GEEK!แล้วเสร็จ โดยยังคงกลิ่นไอ Post-Punk อยู่ เพียงแต่เสริมเพิ่มความรุรังของซาวด์จนเป็น Noise Pop แต่ Shields ก็ยังไม่ปลื้มอีพีนี้ ซ้ำยังเคยเปรยถึงอีพีชุดนี้ว่า “มันคือความล้มเหลวอย่างแท้จริง” แม้จะมีเพลงเอกที่คนเริ่มรู้จักวงๆนี้แล้วอย่างเพลง No Place to Go ก็ตาม

 

The New Record by My Bloody Valentine (1986)

Ecstasy (1987)

ความพยายามครั้งใหม่ที่ไม่ยอมล้มเลิก

ท่ามกลางความรู้สึกล้มเหลวในคุณภาพงาน Shields จึงขอปลีกวิเวกกลับไปอยู่กับครอบครัวที่นิวยอร์ค ระหว่างนั้นเขาได้ฟังอัลบั้มรวมเพลงจากวงหน้าใหม่ที่แถมมากับนิตยสาร NME ในชื่อ C86 แล้วพบแรงบันดาลใจอันแรงกล้าให้เขาได้ลองลงมือทำเพลงอีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาลองเปลี่ยนแนวมาทำ Noise Rock อย่างเต็มตัว ภายใต้อีพีที่ชื่อว่า The New Record by My Bloody Valentine อีพีชิ้นนี้ทำให้วงได้ชาร์ท UK Independent Singles Chart เป็นครั้งแรกโดยสูงสุดที่อันดับที่ 22

แต่ไม่เท่ากับการได้ทำความรู้จักกับ Joe Foster ที่ตอนนั้นยังทำค่ายเพลงเล็ก ๆ ที่ชื่อ Kaleidoscope Sound เขาเห็นแววของหนุ่มสาวกลุ่มนี้และคิดว่าน่าจะเป็นตำนานในอนาคตอย่างแน่นอน

แต่เพราะสถานะของวงที่ถูกสั่นคลอนด้วยเงินเก็บที่ร่อยหรอ แถม David Conway ยังขอลาออกจากวง จนต้องวุ่นวายหาสมาชิกใหม่ สุดท้ายก็ได้ Bilinda Butcher มาร่วมวง จนสุดท้ายก็สามารถเข็นอีพี Ecstasy ได้ทันเวลา อีพีที่เพิ่มความสดใสไปกับดนตรี Twee Pop และลดทอนดนตรีในส่วน Noise Pop ลง นับได้ว่าเป็นอีพีที่หวานที่สุดตั้งแต่ที่วงเคยทำมา แต่ Shields กลับไม่พอใจอีพีนี้อย่างรุนแรง “มันไร้ทิศทาง ไม่มีซึ่งความตื่นเต้นใดๆ มันคือหายนะของวงชัดๆ” อีพีชุดนี้นำความเหนื่อยใจให้กับวงจนถึงขั้นจะยุบวง แต่ท้ายที่สุด อัศวินขี่ม้าขาวอย่าง Joe Foster ที่เคยร่วมงาน The New Record by My Bloody Valentin ด้วยกันเอ่ยปากชวนวงให้มาทำงานกับค่ายใหม่ของเขาที่กลายเป็นความผูกพันกันอย่างยาวนานในเวลาต่อมา ในชื่อ Creation Records นั่นเอง

 

You Made Me Realise (1988)

Feed Me with Your Kiss (1988)

การค้นพบตัวตนของ My Bloody Valentine

และแล้ว My Bloody Valentine ก็ได้รับโอกาสครั้งใหญ่จากค่ายน้องใหม่ไฟแรง ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลองทำสิ่งที่ถนัดและชื่นชอบ นั่นคือซาวด์ Noise ที่หนักข้อยิ่งกว่าเดิม ขณะเดียวกัน จากผลงานที่ผ่านมาของวง พวกเขาก็ทำให้พวกเขาได้คลี่คลายความคิดบางอย่างไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเอฟเฟคท์กีตาร์ให้รุนแรงยิ่งขึ้น รวมไปถึงเมโลดี้ที่สวยงามในแบบของ Dreampop ทั้งหมดทั้งมวล ก่อกำเนิดเป็นอีพีชิมลางในชื่อ You Made Me Realise ที่ Shields ได้อิทธิพลทางดนตรีมาจากวงฟากฝั่งอเมริกา อย่าง Sonic Youth และ Dinosaur Jr. ที่ทำให้ทิศทางของวงเปลี่ยนไปในทางที่เด่นชัดขึ้น โดยคำว่า Shoegaze นั้นยังไม่ถูกเรียกอย่างแพร่หลาย มันเกิดมาจากการจ้องเอฟเฟคท์กีตาร์ในระหว่างการเล่นดนตรี จนทำให้นักวิจารณ์เรียกศิลปินขี้อายที่ก้มหน้าก้มตาเล่นดนตรีเหล่านี้ว่า “Shoegazing” จนเหลือเพียงคำว่า “Shoegaze” จวบจนปัจจุบัน

อีพี You Made Me Realise อื้ออึงไปด้วยซาวด์ที่อัดทับซับซ้อนไปด้วยเสียงสะท้อนของเอฟเฟคต์กีตาร์ของ Shields ที่พ่วงตำแหน่งนักร่องร่วมกันกับ Bilinda Butcher อีพีชุดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและมั่นใจของวงหลังจากตรากตรำคลำหาแนวทางของตนมานานแสนนาน

ในปีเดียวกัน พวกเขาได้สานต่อด้วยอีพี Feed Me With Your Kiss ที่เสริมสร้างอารมณ์แปรปรวนที่หนักหน่วงและรุนแรง โดยเพลงเอก Feed Me With Your Kiss ก็เป็นซิงเกิ้ลเปิดตัวที่เสริมสร้างความมั่นใจของพวกเขา เพื่อก้าวเขาสู่การทำอัลบั้มเต็มเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปี

 

Isn’t Anything (1988)

ความหลากหลายทางดนตรี บดขยี้จนกลายเป็นจุดเริ่มของตำนาน

ด้วยกระแสชื่นชม บวกกับความชอบส่วนตัวของเจ้าของค่าย Creation Records อย่าง Alan McGee ที่ผลักดันบอกกับวงว่า “พวกนายทำอัลบั้มเต็มได้เลย เอา Feed Me with Your Kiss นี่แหละเป็นซิงเกิ้ลเปิดตัว” จากความคาดหวังที่จะทำเป็นเพียงอีพี พวกเขาก็ต้องคิดค้นกระบวนของอัลบั้มเสียใหม่ จนทำให้ Kevin Shields เริ่มซีเรียสกับการทำงานมากขึ้นกว่าเดิมเขาแทบไม่ได้หลับได้นอนส่งผลกับวงที่ต้องแบกรับแรงกดดันมากขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะ Bilinda Butcher ที่ได้รับแรงกดดันในฐานะนักร้องนำ “มันเป็นช่วงนรกสำหรับฉันเลย จำได้ว่าพวกเรานอนวันละ 2 ชั่วโมงตลอดการบันทึกเสียงอัลบั้มชุดนี้ ฉันต้องหลับในห้องอัดและตื่นงัวเงียมาเพื่อร้องเพลงตอน 7 โมงเช้า บางวันฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังอัดเพลงอยู่ ฉันนึกว่าฉันกำลังฝัน” แต่กลับกลายเป็นว่าน้ำเสียงอิดโรยอันแสนเหนื่อยล้า กลับเข้ากันได้กับดนตรีที่ไร้ทิศทางของ Shields เมื่อเขาผสมผสานทั้ง Shoegaze / Avant-Rock / Dream Pop / Lo-Fi / Noise Pop และ Experimental Pop ผสมเข้าด้วยกันอย่างลงตัว มันได้ทลายโลกของดนตรีที่ไม่จำเป้นต้องเป๊ะไปทุกตัวโน๊ตในรูปแบบร็อคคลาสสิค แต่ก็ไม่เละเทะในแบบที่ดนตรีพังค์ได้ทำจนพัง ความเลื่อนลอยที่มาพร้อมดนตรีที่ไร้ขอบเขต ทำให้อัลบั้มชุดแรกของ My Bloody Valentine กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สง่างามของวง และเต็มไปด้วยปัญหาที่ตามมาในอัลบั้มต่อไป

 

Loveless (1991)

มหากาพย์อัลบั้ม และความคุ้มคลั่งที่นำมาสู่ปัญหา

จากความสำเร็จจากอัลบั้มแรก แม้ยอดขายจะอยู่ในระดับปานกลาง แต่มันก็สร้างชื่อให้กับค่ายน้องใหม่อย่าง Creation Records ไม่ใช่น้อย Alan McKee จึงไฟเขียวให้วงรีบตักตวงความสำเร็จด้วยการทำอัลบั้มชุดที่ 2 ต่อเลยทันที Kevin Shields ก็ตกกับ McKee ว่าพวกเขาพร้อมแล้ว และคาดว่าจะบันทึกเสียงเสร็จภายใน 5 วัน แต่กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานอีกหลายต่อหลายปี

Shields เดินเข้า-ออกสตูดิโอต่างๆถึง 19 แห่ง อย่างไม่หยุดหย่อน แต่ก็ไม่เป็นที่พอใจสำหรับ Shields จาก 5 วันกลายเป็น 5 เดือน จากเดือนกลายเป็นปี จาก 1 ปีเป็น 2 ปี กว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นวงต้องใช้เวลาถึงเกือบ 3 ปี โดยค่าเสียหายของวงในการทำอัลบั้มนี้สิริรวมแล้วเป็นเงินถึง 160,000 ปอนด์ นอกจากสร้างบาดแผลให้กับความไว้ใจของ McKee ที่มีต่อวงแล้ว ยังเกือบทำให้ Creation Records เกือบล้มละลาย จนต้องขายกิจการให้กับ SONY ในภายหลัง (โชคดีที่ Oasis และยุค Britpop ที่ทำให้ค่ายนี้กลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง) ด้วยความที่เนี๊ยบสุดชีวิตของ Shields ที่ทำงานอย่างบ้าคลั่ง ทำให้วงเกือบแตกในความเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสต์ที่นับวันจะมากขึ้นไปทุกทีๆ แต่คนที่ปวดกบาลมากที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหน McKee ที่ต้องจ่ายเงินให้กับการทำงานที่บางสัปดาห์ไม่ได้เพลงซักท่อนเดียวให้เห็นเลย

จนในที่สุดอัลบั้ม Loveless ก็ปล่อยในปี 1991 มันกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการดนตรีที่เป็นรองเพียงอัลบั้ม Nevermind ของ Nirvana เพียงเท่านั้น นิตยสารทางดนตรีหลายหัวยกให้อัลบั้มนี้คือความยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยที่จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรีรุ่นหลังในอนาคต สื่อทุกสื่อ นักวิจารณ์ทุกคนต่างยกนิ้วโป้งให้อัลบั้มชุดนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ มีเพียงคนเดียวที่ยกนิ้วกลางให้นั่นก็คือ McKee เจ้าของค่ายที่เมื่อเสร็จสิ้นอัลบั้มนี้ก็โบกมือลาวงไม่เผาผีกันอีกต่อไป โดยทิ้งท้ายถึงอัลบั้มนี้ว่า “คนทั่วไปแม่งยกยอปอปั้นอัลบั้มห่านี่ราวกับมันเป็นงานซิมโฟนี่หมายเลข 7 หมายเลข 8 ของบีโธเฟ่น จริงๆแล้วแม่งก็แค่อัลบั้มที่คนทำไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด … สำหรับกูอัลบั้มเหี้ยนี่ก็แค่อัลบั้มโอเวอร์เรตต์อัลบั้มหนึ่งเท่านั้นแหละ”

หมายเหตุ ระหว่างทางก่อนที่วงจะทำอัลบั้ม Loveless สำเร็จ พวกเขาออกอีพีขัดตาทัพ 2 ชุดนั่นก็คือ Glider (1990) กับ Tremolo (1991) สามารถหาฟังได้ใน Streaming เช่นกัน

 

m b v (2013)

การทิ้งช่วงอันยาวนานเพื่อสืบสานตำนานให้กลับคืนมา

หากอัลบั้ม Loveless นั้นทิ้งช่วงจากอัลบั้มแรกไป 3 ปียังไม่สาแก่ใจ อัลบั้มชุดที่ 3 พวกเขาจัดหนักทิ้งช่วงไปถึง 22 ปีเลยทีเดียว เรียกได้ว่า ถ้าเด็กถือกำเนิดในช่วงอัลบั้มชุดที่ 2 เขาจะเติบโตจนรับปริญญาและทำงานในชุดที่ 3 กันเลย

จริงๆ วงเองไม่ได้หายไปไหน นับตั้งแต่ออกจาก Creation Records พวกเขาก็จัดการเซ็นสัญญากับค่าย Island Records ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่สูงถึง 250,000 ปอนด์ จนวงไปสร้างสตูดิโอส่วนตัวที่ลอนดอนตอนใต้ แต่สุดท้ายความเจ้ากี้เจ้าการของ Shields ก็ทำให้วงต้องยุติลงในปี 1997 ทิ้งไว้เพียงวัตถุดิบของวงที่บันทึกเอาไว้เป็นเพลงที่รวมกันได้ 60 ชั่วโมง ไว้ดูต่างหน้า ซึ่ง Shields ก็หาได้แยแสไม่ “มันคุ้มที่จะทิ้งให้มันตายไป มันไม่มีทั้งชีวิตและจิตวิญญาณอยู่ในนั้นสักนิด”

จน 10 ปีผ่านไป พวกเขากลับมารวมตัวอีกครั้งในปี 2008 เพื่อเป็นเฮดไลน์ให้กับเทศกาลดนตรี Coachella และจัดการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลกตลอดจนถึงปี 2009 ข่าวดีที่ทุกคนรอคอยก็มานั่นคือการประกาศอัลบั้มชุดที่ 3 อย่างเป็นทางการ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีให้เห็น นอกจากอัลบั้ม EP’s 1988–1991 ที่ออกในปี 2012

จนสุดท้าย ปี 2013 วงก็ออกอัลบั้มที่ชื่อ m v b กับค่าย Domino Records ซึ่งยังคงไว้ซึ่งความซับซ้อนของซาวด์เช่นเดิม นับเป็นการรอคอยที่คุ้มค่า โดย Shields ก้าวไปอีกระดับขั้นของการเป็นพ่อมดแห่งเสียงที่ตรึงคนฟัง ด้วยซาวด์ที่ลุ่มลึกยิ่งกว่าเดิม แต่จัดจ้านและซับซ้อนไปตามวัยที่ส่งผลให้พวกเขาก้าวขึ้นสู่จุดสู่สุดแห่งการสร้างสรรค์สรรพเสียงที่สมบูรณ์แบบและบ้าคลั่งอันคุ้มค่าที่รอคอยมายาวนานนับ 20 กว่าปี

และนี่ คืออีก 1 หน้าตำนานของวงดนตรีที่แม้จะอยู่ยงยาวนานในวงการมาเกือบ 40 ปี แต่มีผลงานที่เป็นที่กล่าวขานถึงความยอดเยี่ยมเอาไว้ให้กับวงการ Shoegaze ได้ประจักษ์ถึงฝีไม้ลายมือ การไม่หยุดอยู่กับที่, การเปลี่ยนแนวทางเพื่อหาแนวที่เหมาะสม และมุ่งมั่นทำจนกว่าจะได้งานที่ดีถึงจะปล่อยให้ได้ฟังกัน ก็ได้แต่หวังว่าชุดที่ 4 จะไม่ต้องรอนานเป็นชั่วอายุคนถึงจะได้ฟังนะ

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line