Music

NEWJEANS – DITTO : อ่านความหมายที่อยู่เบื้องหลังชีวิตอันมืดมนของเหล่าเด็กสาว ผ่านวรรณกรรม 3 เล่มของ HARUKI MURAKAMI

By: GEESUCH December 27, 2022

วันนี้ครบรอบ 1 อาทิตย์ที่เจ้าพวกแก๊งนมผงสุดเก่ง NewJeans ปล่อยเอ็มวีเพลง Ditto ออกมาพอดี จนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าทุกคนจะยังคงฮัมทำนอง Hoo-ooh, ooh-ooh กันอย่างไม่มีหยุดพัก และกระแสความดีงามยังทะลุกราฟอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดเมื่อวาน (26/12/2022) เจ้าพวกเด็ก ๆ สามารถพาเพลงนี้ทำ Perfect All-Kill ขึ้นที่ 1 ของทุกชาร์ตเพลงในเกาหลีใต้เป็นที่เรียบร้อย ! 

NewJeans

ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2022 ดูเหมือนว่าชื่อของ NewJeans ก็เป็น Hype Girls ที่ไม่มีแผ่วเลยในวงการเพลง ก็ต้องบอกว่า 4 เพลงแรกจาก 1st EP. ของวง (Attention, Hype Boy, Cookie, Hurt) นั้นคิดมาแม่นมาก-ทั้งในเรื่องของการวางคอนเซปต์สำรวจความเป็นเด็กสาว และหน้าตาของดนตรีที่จะมาหักล้างขนบความเป็น K-POP ของเกิร์ลกรุ๊ปแบบเดิมที่เคยมีมา ยิ่งพอมาถึงซิงเกิ้ลที่ 5 ชื่อ Ditto ก็ยิ่งตบคอนเซปต์นั้นอย่างแข็งแรงเข้าไปอีก   

เราจะยังไม่ขอเรียกตัวเองว่าเป็น Bunnies (เพราะยังไม่ได้รู้จักน้อง ๆ ละเอียดขนาดนั้น) แต่ใช้คำว่าแฟนคลับคนนึงไปก่อนละกัน แล้วแฟนคลับคนนี้ก็อิน Ditto ขั้นสุด จึงขอสร้างทฤษฎีสมคบคิดแบบสนุก ๆ ของตัวเองบ้าง ผ่านการจับนิยาย Realistic ทั้ง 3 เล่มดังของ Haruki Murakami ถอดความหมายเรื่องราวเบื้องหลังของเอ็มวี Ditto ที่ตอนแรกตั้งใจจะทำสนุก ๆ แต่ปรากฎว่ามันมีความเชื่อมโยงซึ่งสามารถอธิบายบางอย่างได้อย่างไม่น่าเชื่อเหมือนกัน โดยเฉพาะในแง่ความหมายของการ ‘ยึดติด’ ถึงใครบางคน และการเติบโตไม่ไหวของวัยเยาว์อันเป็นหัวใจหลักของทั้งหนังสือและเอ็มวี


NewJeans = New Era

Min Hee-jin

เล่าความเป็นมาของ NewJeans สักเล็กน้อย เพราะประวัติแบบละเอียดของน้อง ๆ กลุ่มนี้หาอ่านได้ไม่ยากแล้วในสื่อหลายหัว เราจึงขอพูดถึงคร่าว ๆ นิดเดียวพอดีกว่า (ป่าวขี้เกียจนะเว้ย)

NewJeans ประกอบด้วยสมาชิกหลัก 5 คน Minji (18) / Hanni (18) / Danielle (17) / Haerin (16) / Hyein (14) – เป็นวงเกิร์ลกรุ๊ปเปิดตัวค่ายใหม่แกะกล่องชื่อ ADOR ที่อยู่ภายใต้สังกัดของ HYBE Entertainment (วงประจำค่ายซึ่งทุกคนรู้จักกันดีอย่าง BTS หรือ LE SSERAFIM) 

น้อง ๆ NewJeans ถูกฟอร์มขึ้นตั้งแต่ Day 0 ผ่านการดูแลของ Min Hee-jin ในตำแหน่ง CEO ของค่าย ADOR ซึ่งเธอเคยเป็น Creative Director มือฉมังของ SM Entertainment มาก่อน เพราะฉะนั้น ความสำเร็จอันน่าตกใจของ NewJeans ที่เพิ่งจะเดบิวต์ในปี 2022 พูดให้ถูกคือเป็น 2022 ช่วงกลางปีด้วยซ้ำ ปล่อยเพลงเดบิวต์แรก ‘Attention’ ในเดือนกรกฎาคม จนสามารถสร้าง Real Time All-Kill ที่ 1 ของทุกชาร์ตเพลงในเกาหลีเป็นวงแรกของเกิร์ลกรุ๊ปของ Gen 4 และเป็นเพลงเดบิวต์แรกในรอบ 5 ปีที่สามารถทำแบบนั้นได้ ล้วนอยู่ในแผนของ Min Hee-jin ที่เธอเคยประกาศกร้าวถึงปณิธานอันแรงกล้าในการทำวงนี้ตั้งแต่ช่วงเวลาในปี 2021 แล้ว 

“ฉันพร้อมอย่างยิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเพลงผ่านค่าย ADOR โดยปราศจากความกลัวของความท้าทายใด ๆ ทั้งสิ้น เราจะนำเสนอศิลปะในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะสะท้อนปรัชญาอันเป็นเอกลักษณ์ของ ADOR” 

และคำว่า ‘NewJeans’ ในความหมายของเธอคือวงที่เปรียบเสมือน ‘ยีนส์’ แฟชั่นที่ได้รับการพิสูจน์จากกาลเวลาแล้วว่า Timeless มันอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกลูปชีวิตของผู้คนเสมอ แล้วสิ่งนี้จะเป็นไอคอนของคนในเจเนเรชั่นต่อไป ซึ่งพวกเขาจะไม่มีวันเบื่อมันลงได้เลย


Break The Rule Of Music By NewJeans

ความเห็นโดยส่วนตัวของเราในฐานะคนฟังเพลงคนนึง รู้สึกว่าสมการความสำเร็จของ NewJeans นอกจากการตลาด ความเก๋ของเมมเบอร์วง แฟชั่น Y2K และเหตุผลยิบย่อยอื่น ๆ แล้ว ‘แนวเพลง’ เป็นส่วนที่สำคัญมาก-หมายถึงองค์ประกอบของเพลงซึ่งทั้งหมดทำขึ้นเพื่อ ‘แก้ทาง’ ของดนตรีนิยมของเกาหลีใต้ในปี 2022

‘ทอนความซับซ้อน สร้าง Less Is More Music ขึ้นมา’

เราขออ้างอิงเพลง K-Pop จากลิสต์ ‘The Best K-pop Songs and Albums of 2022 So Far’ ของนิตยสาร TIME ที่ค่อนข้างอยู่ขั้วตรงข้ามกับ NewJeans ซึ่งจะช่วยให้สามารถอธิบายสมการ Less Is More Music ได้เห็นภาพมากขึ้น

– Maniac : Stray Kids (JYP)

– Fearless : Le Sserafim (HYBE)

– Glitch Mode : NCT Dream (SM Entertainment)

NCT Dream

ถ้าลองฟัง 3 เพลง (ชื่อเดียวกับอัลบั้มของแต่ละวง) ที่ยกตัวอย่างมาให้นี้ จะเห็นว่าอุตสาหกรรมเพลงเกาหลีใต้เขาให้คุณค่ากับศิลปะ และเปิดอิสระให้คนทำเพลงแบบสุดขีดมาก คือเพลงมันซับซ้อนในทุกระดับเลย ทั้งคอร์ด สัดส่วน หรือท่อนเพลงที่เปลี่ยน Mood เปลี่ยน Tempo (ความเร็วเพลง) แบบคาดเดาได้ยากตลอดเวลา ก็ต้องชมหนัก ๆ ทั้งคนทำงานเบื้องหลัง ศิลปิน และคนฟังที่เปิดใจรับจนเพลงแบบนี้เป็น Main Stream ของคนในประเทศและคนทั่วโลกได้ 

แต่อย่างที่บอกไป ในกรณีของ NewJeans นั้นคือการกลับมาที่ Normal Form เพลงฟังสบาย มีความเป็น loop ในดนตรี และทอนองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างจนมันฟังแล้วออกมาน้อย แต่ลงตัวและได้ผลมาก ในแง่ของ Genre ดนตรีเอง ก็ให้ความรู้สึกว่าไม่ใช่หน้าตาเอกลักษณ์แบบ K-POP ที่เคยมีมาแบบก่อน ๆ ที่ปิดเนื้อร้องฟังยังรู้เลยว่าเป็นเพลง K-POP มันให้อารมณ์ที่มีความเป็น Western Music มากขึ้น ซึ่งนี่อาจจะหมายความว่ายุคสมัยใหม่ของ K-POP ได้มาถึงแล้วก็เป็นได้


Say It Ditto เพลงที่ดึงมาจากความทรงจำของ NewJeans (อีกครั้ง)

‘Ditto’ เป็นซิงเกิ้ลที่ 5 ของ NewJeans ซึ่งแตกต่างจาก 4 เพลงก่อนหน้าที่ให้ภาพความสดใสของวัยรุ่นไปอย่างสิ้นเชิง เพลงนี้คือการเปิดประตู Coming Of Age ที่พาเราเข้าไปสู่อีกพาร์ทสำคัญของการเติบโตในช่วงวัยเยาว์ ก็คือ ‘ความมืดหม่น’ นั่นเอง  

Written Of DITTO : Minji (NewJeans) / Jo Hyu-il (The Black Skirts) / Oohyo / Ylva Dimberg

พออ่านชื่อทีมเขียนเพลงของ Ditto ก็เข้าใจเลยว่าทำไมเพลงถึงออกไปทางลอย ๆ หม่น ๆ ทว่ายังมีเมโลดี้หวาน ๆ แบบที่เป็นเสียงของเด็กสาวซ่อนอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ถ้า Min Hee-jin อยู่เบื้องหลังเพลงนี้อีกล่ะก็นะ หึ ๆ พูดได้แค่คำเดียวว่า ‘ของจริง’ เก่งจัด ! คือมันชัดเจนมาก ๆ ว่า Mood พาร์ทไหนของเพลงมาจากคนไหน พูดถึงคุณ Jo Hyu-il ก่อนเลย เราทุกคนรู้จักเขาในนามของ The Black Skirts (เคยมาเล่นที่ไทยด้วยล่ะ) นี่คือบ่อกำเนิดความเศร้าหมองของวัยรุ่นแก๊งนมผงแบบไม่ต้องสงสัย แบบแทบจะเห็นภาพทับซ้อนกันขึ้นมาเลย ส่วนคุณ Oohyo เราขอเชียร์ทุกให้ทุกคนไปฟังเพลงของเขา แล้วจะเข้าใจว่าเมโลดี้ของเหล่าเด็กสาวในเพลงนี้มาจากเธออย่างแน่นอน 

Jo Hyu-il (The Black Skirts)

Oohyo

“ความเจ๋งก็คือ ใน Hype Boy กับ Attention มันเหมือนว่านั่นเป็นชิ้นส่วนของความทรงจำของพวกเราเอง ว่าพวกเราใช้ชีวิตในเวลานั้นอย่างไร ส่วนหนึ่งจากความทรงจำของพวกเราถูกแคปเจอร์เป็นมิวสิควิดีโอ ฉันดีใจที่ Ditto ก็ออกมาในรูปแบบนั้นเหมือนกัน”

– Hanni (NewJeans)

ถ้าใครได้ดูคลิป Reaction ที่วง NewJeans มานั่งดูเอ็มวีเพลง Ditto ทั้ง Side A และ B ไปด้วยกันแล้ว จะเห็นว่าน้อง ๆ รู้สึกแบบลงลึกกับตัวเพลงนี้มาก ๆ เหตุผลสำคัญก็คงเป็นแบบคำพูดของ Hanni ข้างบน เพลงของ NewJeans ถูกเขียนและสร้างเอ็มวีจากชีวิตส่วนหนึ่งของพวกเธอทั้ง 5 คน .. ย้อนกลับไปใน EP แรก ถ้าอ่านเครดิตดูจะเห็นว่า เพลงเดบิวต์ ‘Attention’ มี Daniel เป็นผู้ร่วมแต่งอยู่ในนั้นด้วย และเพลงประจำชาติอย่าง ‘Hype Boy’ ตัวของ Hanni ก็มีส่วนร่วมเขียน ส่วน Ditto ก็มาเป็น Minji ในอนาคตจะต้องมีเพลงของ Haerin กับ Hyein อย่างแน่นอน เพราะมันคือการสร้างเพลงจากชีวิตของ NewJeans ยังไงล่ะ   

แต่เหตุผลอีกข้อที่ทำให้น้อง ๆ อินเพลงนี้เป็นพิเศษนั้น เราเชื่อว่าคงเป็นเพราะความ Cinematic ของตัวเอ็มวี ที่ทั้งมี Story Line แบบเป็นจริงเป็นจังครั้งแรก แถมยังเลือกแคปเจอร์ภาพของโรงเรียนมัธยมอีกต่างหาก ไม่แปลกใจเลยที่มันจะทำงานกับความรู้สึก Nostalgia ของทุกคน เพราะขนาดพวกเธอทั้ง 5 คนเอง ยังรู้สึกแบบนั้นล่วงหน้าเผื่ออนาคตไปเรียบร้อยแล้ว 

“พวกเราทั้ง 5 ร้องไห้ตั้งแต่ในช่วงเวลาที่อายุเท่านี้ แล้วในอนาคตล่ะ ถ้าพวกเรามานั่งดูเอ็มวีตัวนี้กันอีกครั้งจะรู้สึกยังไงนะ ในวันหนึ่งที่พวกเรากลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว … จินตนาการไม่ออกเลย”

– Minji (NewJeans) 


Stay in the middle

Like you a little, don’t want no riddle

말해줘, say it back, oh, say it, ditto

Ditto Story : ในวันที่ฮีซู (Heesoo) เปิดกล่องความทรงจำที่เธอปิดตายไปแล้วขึ้นมาอีกครั้ง มันทำให้เธอได้พบกับม้วนวิดีโอเทปที่บันทึกช่วงเวลาในสมัยมัธยมของตัวเอง ใครบางคนที่เป็นตัวละครหลักในกล้องคือกลุ่มเพื่อนของเธอ ใครบางคนนั้นก็เป็นกลุ่มเพื่อนเพียงกลุ่มเดียวที่เธอ (เคย) มีและใช้เวลาด้วยกัน แต่ว่า … กลุ่มเพื่อนเหล่านั้นคงไม่ใช่จินตนาการที่เธอสร้างขึ้นมาเอง เพื่อกลบปมด้อยที่ว่ามีเธอเพียงคนเดียวในช่วงวัยเยาว์ครั้งนั้นหรอก จริงมั้ย ? 

และนั่นก็คือเรื่องราวทั้งหมดจากเอ็มวี Side A และ B ก่อนที่จะเกิดการตีความออกไปมากมาย


Chapter 1 : ความทรงจำวัยเยาว์ที่แสนมีค่า และบาดแผลของการเป็น ‘คนนอก’ เมื่อถูกเพื่อนขับออกจากกลุ่ม
Book : ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ (Colorless Tsukuru Tazaki and His Years of Pilgrimage)  

ก่อนจะเล่าเรื่องใด ๆ ตามที่เกริ่นเอาไว้สุดเท่ว่า Chapter ที่ 1 คำถามสำคัญที่สุดคือ “NewJeans มีตัวตนจริงมั้ย ?” คำตอบในทฤษฎีสมคบคิดของเราคือ “ใช่ เคยมีตัวตนอยู่จริง” แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง (ที่เราขออุบเอาไว้เล่าทีหลัง) พวกเธอทั้ง 5 คนหายไป ทิ้งฮีซูเอาไว้คนเดียว และการถ่ายวิดีโอของฮีซูคือการฉายซ้ำของภาพความทรงจำซึ่งเธอและเพื่อนกลุ่นี้เคยมีร่วมกัน ประหนึ่งว่าการใช้สายตามองผ่านวิดีโอจะทำให้เธอได้เห็นเพื่อนทั้ง 5 อีกครั้งนึง 

สถานการณ์ของฮีซูใน Side B หลังจากที่คนดูได้รู้แล้วว่า NewJeans หายไป แทบจะไม่ต่างกันเลยกับตัวละครเอกในหนังสือ ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ ซึ่งเล่าเรื่องของ ทสึคุรุ ทะซากิ ชายหนุ่มที่จู่ ๆ วันหนึ่งกลุ่มเพื่อนที่รักกันอย่างเหนียวแน่น ก็ขับเขาออกจากกลุ่มโดยไร้เหตุผล ปราศจากสัญญาณล่วงหน้า และทำให้เขาหมกมุ่นอยู่กับความตายเพราะถูกความทรงจำในวัยเยาว์ของตัวเองทำร้าย

Colorless Tsukuru Tazaki and His Years of Pilgrimage

Tsukuru Tazaki Effect คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับฮีซู เธอกลายเป็น ‘คนนอก’ ของกลุ่มเพราะเพื่อนทั้ง 5 คนหายไปพร้อมกัน แบบฉับพลัน และไม่เคยมีเหตุผลของการจากลาเอ่ยออกมาเลย ในช่วงวัยเยาว์ที่ต้องการยอมรับมากที่สุดกลับโดนถีบออกแบบนี้ มันไม่แปลกเลยถ้าสุดท้ายแล้วฮีซูจะตกอยู่ในความเศร้าเกินคำบรรยาย แล้วพยายามลืมเพื่อนเพียงกลุ่มเดียวของเธอไปในตอนสุดท้าย     

ฉากหน้าเศร้าที่ซัพพอร์ตประเด็นคนนอกของฮีซูได้ดีที่สุดฉากหนึ่ง คงหนีไม่พ้นฉากเต้นในห้องเรียนของกลุ่ม NewJeans ที่มีฮีซูบันทึกภาพวิดีโออย่างเหงา ๆ อยู่คนเดียว แล้วคนในห้องมองฮีซูเป็นตัวประหลาด มันแสดงถึงว่าก่อนมี NewJeans ฮีซูก็เป็นคนนอกของทุกคนมาก่อน เพราะไม่มีใครเลยที่จะอยู่ข้างเพื่อเข้าใจการกระทำของฮีซูที่ระลึกถึงกลุ่มเพื่อนที่หายไปของเธอ 

อีกฉากสำคัญที่เอ็มวีมีความเชื่อมโยงกับหนังสือมาก ๆ คือฉากทาเล็บและเขียนเฝือกที่แขนของฮีซู ทุกคนจะเห็นว่าพอ NewJeans หายไปแล้ว มีเพียงเล็บสีแดงที่นิ้วก้อยเพียงนิ้วเดียวเท่านั้นที่หลงเหลือเป็นหลักฐานอยู่บนนิ้วของฮีซู ในหนังสือ ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ มูราคามิให้ตัวเอกทสึคุรุเป็นคนไร้สีสัน ในแง่ของความหมายที่ว่าเพื่อนในกลุ่มของเขามีชื่อจริงที่สื่อความหมายถึง ‘สี’ กันหมดเลย ยกเว้นทสึคุรุเพียงคนเดียวเท่านั้น และในความเห็นของทสึคุรุ เขาเชื่อว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่มีอะไรเลยหากขาดเพื่อนกลุ่มนี้ไป-ขาดสีสันที่จะมาเติมให้กับชีวิตของเขาเอง .. ในส่วนของฮีซูที่เป็นคนนอกมาเสมอก่อนจะเจอ NewJeans นั้น ‘สีแดง’ ที่เธอได้รับจึงมีความหมายว่าเธอไม่ได้ไร้สีสันในสายตาของเพื่อนกลุ่มนี้ นิ้วก้อยเป็นตัวแทนของคำสัญญาอันหนักแน่นในความเชื่อของเพื่อน ๆ ของเธอ และสีแดงอาจจะหมายถึงว่าอยากให้เธอมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้แม้จะไม่มี NewJeans แล้วก็ตาม


Chapter 2 : สายฝนที่เป็นตัวแทนของการพบพาและลาจาก
Book 2 : การปรากฎตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก (South Of The Border, West Of The Sun)

แม้ว่าไทม์ไลน์ของเพลงนี้จะไม่ได้เล่าอย่างชัดเจนว่า NewJeans กับ ฮีซู มาเป็นเพื่อนกันได้อย่างไร แต่เป็นไปได้ว่าฉากในสายฝนคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเธอสนิทสนมกัน 

ในนิยาย การปรากฎตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก เล่าเรื่องของ ฮาจิเมะ ชายหนุ่มอายุ 30 กลาง ๆ ผู้ประสบความสำเร็จทุกอย่างในชีวิต มีครอบครัวที่ดี ลูกที่น่ารัก และเป็นเจ้าของบาร์แจ็ซที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น แต่ฮาจิเมะกลับมีรูกลวงโหว่ในจิตใจที่ไม่อาจถมให้เต็มได้เสมอมาตลอดชีวิต เขาใช้ชีวิตโดยคิดถึงรักแรกในวัยเยาว์มาโดยตลอด และแล้ว วันหนึ่งที่ฝนตกอย่างหนัก ใครคนนั้นก็มาปรากฎตัวต่อหน้าของฮาจิเมะอีกครั้ง

‘ฝนตก’ ในเอ็มวีและนิยายเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้นในความหมายที่ว่า ‘เป็นช่วงเวลาแห่งการพบพาและลาจาก’ จาก Side A โถงทางเดินของประตูทางออกที่มุ่งหน้าสู่ทางกลับบ้านของเหล่าเด็กสาว ฮีซูที่บังเอิญเจอกลุ่ม NewJeans ตัดสินใจที่จะหุบร่มของตัวเองเดินตากฝนกลับเหล่าสาว ๆ เหตุการณ์นี้สร้างความสนิทสนมเกิดขึ้น

ฉากฝนตกใน Side B เหตุการณ์เดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้งแต่มีบางอย่างต่างไป NewJeans ที่โถงทางเดินเป็นเพียงจินจนาการผสมกับความทรงจำของฮีซูเพียงเท่านั้น ในความจริงพวกเธอทั้ง 5 คนได้หายไปแล้ว ฮีซูจึงตัดสินใจกางร่มเดินกลับบ้านเพียงคนเดียว เป็นการแสดงความรู้สึกโกรธ น้อยใจ เศร้าใจ และเสียใจที่เธอมีต่อเพื่อนในกลุ่ม การบอกลาความทรงจำล้ำค่าอย่างการรู้จักกันเป็นครั้งแรกนั้น เป็นการแสดงออกที่หมายความว่าเธอกำลังพยายามลืมเหล่า NewJeans และมีชีวิตเป็นของตัวเองให้ได้ โดยที่ฮีซูก็เลือกที่จะไม่พูดคำว่าลาก่อนใด ๆ ออกมาเหมือนกัน 

South Of The Border, West Of The Sun

พูดถึง การปรากฎตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก กันอีกสักเล็กน้อย จริง ๆ นอกจากสัญลักษณ์ของ ‘ฝน’ ที่เราบอกไปก่อนหน้า ในหนังสือยังให้ฝนเป็นตัวแทนของวิญญาณและความตายด้วยเหมือนกัน ในฉากฮาจิเมะพารักครั้งแรกของตัวเองไปปล่อยอัฐิของลูกสาวที่เสียไปลงสู่แม่น้ำ เขาได้รับคำถามจากเธอว่า “เป็นไปได้มั้ยที่อัฐิจะระเหยกลายเป็นไอแล้วตกลงมาเป็นฝน” เป็นไปได้มากว่าเหล่า NewJeans ในฉากนี้อาจเป็นวิญญาณจริง ๆ ไม่ใช่แค่เพียงจินตนาการของฮีซูเท่านั้น


Chapter 3 : บาดแผลของวัยเยาว์ที่ฝังรากไปตลอดชีวิต และใครสักคนที่อยู่เคียงข้างกัน
Book 3 : ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย (Norwegian Wood) 

“Only The Dead Stay Seventeen Forever”

อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในเอ็มวี Ditto คือการมีอยู่ของ NewJeans เพราะนี่คือตัวละครที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับเส้นเรื่องของเอ็มวีอย่างรุนแรงที่สุด ทั้งการเปลี่ยนให้ฮีซูกลายเป็นคนใหม่ ในแบบที่ดีที่สุดเมื่อทั้งหมดเป็นเพื่อนกัน และอย่างแย่ที่สุดเมื่อพวกเธอจากไป .. NewJeans ในความทรงจำของฮีซูไม่เคยเศร้าเลยสักครั้ง มีแต่รอยยิ้ม ความสดใน และเปี่ยมด้วย Girl Power ของเด็กสาววัยแรกรุ่น แต่ภายใต้สิ่งเหล่านั้นทำให้เราเชื่อว่าการหายไปของพวกเธอ เกี่ยวข้องกับการจบชีวิตด้วยตัวเองบนดาดฟ้าของโรงเรียน   

คุณสามารถพูดได้เลยว่าในช่วงอายุ 17 ปีเป็นช่วงวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกสับสนเต็มไปหมด อย่างที่คนอ่านนิยายเรื่อง ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย ไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมตัวละครอย่าง ‘คิซึกิ’ ถึงเลือกจบชีวิตของตัวเองในวัย 17 ปี แล้วได้กลายเป็นแผลเป็นให้กับเหล่าเพื่อนสนิทของตัวเองไปตลอดชีวิต ในด้านมืดของวัยเยาว์ การหมกหมุ่นกับความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก

ฉากสำคัญที่จะตอบคำถามสำคัญซึ่งถูกวางเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า “NewJeans ที่เคยมีชีวิตอยู่หายไปใหนแล้ว” ก็คือฉากดาดฟ้าของโรงเรียน หนึ่งในที่ซ้อมเต้นของเหล่าเด็กสาว ถ้าสังเกตุดี ๆ จะเห็นว่าฉากนี้เป็นเพียงฉากเดียวที่ทำให้ฮีซูยิ้มออกมา แสดงว่าความทรงจำที่ล้ำค่าที่สุดของเธอเกิดขึ้นที่นี่อย่างแน่นอน แต่ทว่า เมื่อฮีซูตัดสินใจทิ้งกล้องซึ่งบันทึกช่วงเวลาของเพื่อนเพียงกลุ่มเดียวของเธอลงจากดาดฟ้า ทฤษฎีของเราเป็นแบบนี้ ทุกคนจะเห็นว่าหลังจากที่ NewJeans จากไป ฮีซูไม่เคยมูฟออนไปไหนได้เลย เธอยังคงถ่ายวิดีโอเลียนแบบเหตุการณ์ที่มี NewJeans อยู่ตลอดเวลา , ยังคงเดินไปที่โถงทางเดินที่ได้รู้จักเพื่อนกลุ่มนี้เป็นครั้งแรก ‘การฉายภาพซ้ำ’ คือสิ่งที่ฮีซูกำลังทำอยู่ และฉากทิ้งกล้องลงมาจากข้างบนดาดฟ้าใน Side B ฮีซูก็กำลังฉายภาพซ้ำอีกครั้ง-เป็นภาพซ้ำแบบเดียวกับที่กลุ่มเพื่อนของเธอตัดสินใจบอกลาโลกนี้ไปพร้อมกัน …  

แต่การฉายภาพซ้ำครั้งนี้มีความหมายแฝงว่าฮีซูต้องการบอกลาความทรงจำที่มีต่อเพื่อนของตัวเองเป็นครั้งสุดท้ายด้วยเหมือนกัน        

Norwegian Wood

เพราะ Ditto เป็นอีกเพลงที่สร้างมาจากภาพความทรงจำของสมาชิก NewJeans ในช่วงวัยมัธยมปลาย (16-18) การที่จะบอกว่า ‘กวาง’ ในฉากจบคือ NewJeans ที่ได้กลายเป็นผู้พิทักษ์ที่คอยปกป้องฮีซู พร้อมให้กำลังใจว่าถึงวัยเยาว์จะเต็มไปด้วยความเจ็บปวดแบบที่ไม่มีทางลืมได้ลงตลอดชีวิต แต่บนโลกนี้จะมีคนที่อยู่ข้างเธอเสมอใน เป็นแมสเสจแฝงที่ NewJeans ต้องการส่งให้แฟนคลับ Bunnies ทุกคน รวมถึงให้กำลังใจพวกเธอเองซึ่งอยู่ในจุดสูงสุดของชื่อเสียง อันมันมีผลต่อความเครียดในทุกเมื่อด้วย เราว่าเป็นคำอธิบายที่น่าเห็นด้วยเลยทีเดียว  

  


Final Chapter : ทฤษฎี ‘ที่นี่’ กับ ‘ที่อื่น’ ในโลกของ Haruki Murakami By Readery Podcast ที่อธิบายความตายของ NewJeans

ใน Readery Podcast EP.119 ที่พูดถึงหนังสือ Norwegian Wood ของมูราคามิ ได้มีการยกประเด็นน่าสนใจที่ว่า ‘มูราคามิต้องการจะนำเสนอโลกในหนังสือของตัวเองแบบไหน’ แบ่งออกเป็น 2 แบบชัด ๆ เอาไว้แบบนี้ 

1.ที่นี่ = โลกปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่ มีชีวิตอยู่ และดำเนินชีวิตอยู่

2.ที่อื่น = โลกในอีกมิติที่เส้นเวลาคู่ขนานกันกับ ‘ที่นี่’  

ซึ่งถ้าเอาทฤษฎีนี้มาจับกับเอ็มวีของ Ditto ที่เราเชื่อว่า NewJeans เคยมีชีวิตอยู่จริง ได้จากไปแล้ว พร้อมกับโผล่มาเป็นวิญญาณในบางครั้งเพื่อดูแลฮีซู ก็จะสามารถอธิบายความ Sur-Real ได้เป็นอย่างดี ว่าฮีซูที่อยู่ ‘ที่นี่’ ได้ยึดติดกับ NewJeans ซึ่งอยู่ ‘ที่อื่น’ ตลอดเวลา และในบางครั้งนั้น โลกของที่นี่กับที่อื่นก็สามารถเชื่อมเข้าหากันได้ด้วย ซึ่งเราจะขอยกฉากสำคัญให้เห็นภาพนั้น พร้อมกับสรุปว่าในช่วงเวลาที่มูฟออนไม่ไหว ฮีซูมีความปราถนาอันน่าเศร้าที่แท้จริงอย่างหนึ่งซึ่งเธอไม่ได้เลือกทำอยู่ด้วย

ในเอ็มวี Side A ฉากที่ฮีซูกับ NewJeans นอนหลับอยู่บนโซฟาด้วยกัน เป็นเพียงไม่กี่ฉากในเรื่องที่พวกเธอทั้ง 6 คนมีฎิสัมพันธ์แบบแตะเนื้อต้องตัวกันจริง ๆ เราเชื่อว่าการที่ฮีซูเลือกปิดกล้องแล้วหันหน้าเข้าหาทุกคนรวมถึงเธอด้วยบนโซฟานั้น แสดงถึงความรู้สึกลึก ๆ ที่ว่า ‘เธออยากเป็นคนที่อยู่ในกล้องกับเพื่อน ๆ ไม่ใช่คนนอกคนนึงที่ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวแบบนี้ ทำไมตัวเองถึงไม่ได้หลับไหลไปตลอดกาลมีชีวิตอยู่เพียงในความทรงจำผ่านกล้องวิดีโอไปด้วยกัน’ เมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาพร้อมกับพบว่า NewJeans ไม่มีอยู่จริง ความปราถนาของฮีซูก็ไม่มีวันเป็นจริงได้อีกเลย     

ในมุมหนึ่ง พื้นที่ของ ‘วัยเยาว์’ เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยมิติอันซับซ้อนเกินหยั่งถึง สวยงามยิ่งกว่าดอกไม้ชนิดไหน และเปราะบางเพียงเป่าเบา ๆ ก็แหลกสลาย …  น่าสนใจว่าคอนเซปต์การสำรวจวัยเยาว์ของ NewJeans จะถูกสำรวจต่อไปทางไหนกันนะ


Source

1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line