World

NIHON STORIES: “UBASUTE” ตำนานเก่าแก่ของญี่ปุ่น กับการทิ้งเหล่าผู้ชราไว้กลางป่า

By: TOIISAN January 29, 2021

‘ญี่ปุ่น’ คือดินแดนแห่งความแตกต่าง พวกเขาล้วนมีเรื่องเล่าที่เป็นเอกลักษณ์ มีทั้งเรื่องน่าชื่นชมยินดี มีทั้งเรื่องสลดหดหู่ชวนประณาม ทุกอย่างเปลี่ยนผ่านไปตามค่านิยมของสังคม อะไรถูก อะไรผิด ช่วงเวลาที่แตกต่างจะเป็นผู้กำหนดแล้วให้สังคมตัดสินว่าสิ่งเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้องกันแน่

แม้ปัจจุบันแทบทุกประเทศมักสอนลูกหลานให้ดูแลพ่อแม่เมื่อพวกเขาแก่ตัวลง ทว่าช่วงเวลาหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นกลับมีเรื่องเล่าถึงการทิ้งเหล่าผู้ชราไว้กลางป่า หรือภูเขาที่ห่างไกลชุมชน แล้วปล่อยให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายตามยถากรรม

ธรรมเนียมการทิ้งคนแก่ที่ว่ามีชื่อเรียกว่า อูบะสุเตะ (Ubasute) หรือบางครั้งเพี้ยนเสียงเป็น โอบะสุเทะ (Obasute) ที่มีความหมายว่าการทิ้งคนชราหรือทิ้งบุพการี มีบันทึกบางส่วนระบุว่าอูบะสุเตะถูกเขียนขึ้นในสมัยเอโดะ เรื่องเล่าของหลายครอบครัวจะนำญาติพี่น้องวัยชราที่ร่างกายอ่อนแอขึ้นหลัง แบกเดินเข้าไปในป่าลึก บ้างก็เดินขึ้นเขาไปยังพื้นที่รกร้าง แล้วทิ้งญาติผู้นั้นไว้เดียวดายจนตาย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในช่วงเวลาที่อดอยากยากลำบาก และผู้ชราที่ถูกเลือกก่อนมักเป็น ‘เพศหญิง’

ชาวญี่ปุ่นบางส่วนจะเรียกอูบะสุเตะว่าเป็นวัฒนธรรมย่อย เพราะเชื่อว่าเรื่องราวการทิ้งบุพการีให้ตายกลางป่าเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ ทว่านักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ปักใจเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง พร้อมพยายามหาหลักฐานอ้างอิงว่าอูบะสุเตะเป็นเพียงเรื่องเล่า พบในบทกวีหรือนิทานพุทธศาสนาเท่านั้น ดังเช่นนิทานเรื่องหนึ่งที่เล่าถึงแม่ลูกคู่หนึ่งไว้ชวนหดหู่ใจ

‘ในส่วนลึกของภูเขา ลูกชายแบกแม่ขึ้นหลังเดินเข้าไปทิ้งในป่าตามธรรมเนียม ผู้เป็นแม่ขี่หลังลูกคอยหักกิ่งไม้ที่แขนเธอเอื้อมถึงตลอดทาง ด้วยเป็นห่วงเวลาขากลับ ลูกชายที่เธอรักจะได้ไม่หลงทาง’

อีกหนึ่งสมมติฐานเกี่ยวกับอูบะสุเตะ เล่าว่าการทิ้งพ่อแม่วัยชราเป็นเพียงแค่การเปรียบเปรยสิ่งที่ลูกหลานชาวญี่ปุ่นปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ เพื่อสอนสั่งเป็นภาพสะท้อนว่าวัยเด็กพ่อแม่อุ้มชู ดูแลจนเติบใหญ่ แต่เมื่อพ่อแม่แก่ตัวเด็ก ๆ กลับนำพวกเขาไปทิ้งไว้ให้รอความตาย เพื่อให้ตระหนักถึงประเด็นความกตัญญู

เรื่องราวการทิ้งผู้สูงอายุที่เป็นตำนานบอกเล่าต่อกันมา สอดคล้องกับชื่อภูเขาอูบะสุเตะ (Ubasute-yama) ที่บางคนเรียกว่า ภูเขาคามูริกิ (Kamuriki-yama) ที่มีความสูงกว่า 4,108 ฟุต (1,252 เมตร) ในจังหวัดนางาโนะ ที่ปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้านว่าเป็นภูเขาที่โด่งดังเพราะผู้คนมักไปฆ่าตัวตายที่เขาลูกนี้ แต่บางพื้นที่ก็อ้างอิงว่า โอกิกาฮาระ (Aokigahara) ป่าทึบทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือใกล้กับภูเขาไฟฟูจิต่างหาก ที่เป็นพื้นที่ยอดนิยมของการทำอูบะสุเตะ

 

อูบะสุเตะถูกเล่าขานในสมัยก่อนสืบทอดเรื่อยมา มัตสึโอะ บาโช (Matsuo Basho) กวียุคศตวรรษที่ 17 ร่างภาพชื่อว่า ‘A Visit To Sarashina Village’ ก่อนเปรยถึงสายลมแผ่วในฤดูใบไม้ร่วงที่ชวนให้อยากนั่งดูพระจันทร์เต็มดวงบนภูเขา แต่ภูเขาลูกที่เห็นดวงจันทร์ชัดที่สุดอยู่ในหมู่บ้านซาราชินะ ชุมชนที่ชาวบ้านมักนำพ่อแม่วัยชราไปทิ้งไว้ในป่ากลางเขา

‘ในความฝันของข้าพเจ้า หญิงชรากับตัวข้า นั่งน้ำตานองหน้า เพื่อชื่นชมดวงจันทร์’
‘In my dream, An old woman and I, Sat together in tears, Admiring the moon.’

วันเวลาเดินผ่านไป อูบะสุเตะถูกทิ้งไว้ข้างหลังหลายยุคหลายสมัย เรื่องที่ถูกมองว่าโรแมนติก เล่ากันเป็นปกติกลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ ‘ไม่ซื้อ’ ไปเสียแล้ว แต่ในช่วงหลังมานี้เริ่มเกิดการตั้งคำถามว่า อูบะสุเตะส่งเสริมการฆาตกรรมในญี่ปุ่นสมัยใหม่หรือไม่? และธรรมเนียมที่เป็นเรื่องเล่านี้จะถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิมเพียงเล็กน้อย

เหตุการณ์หดหู่ปนสะเทือนขวัญเกิดขึ้นเมื่อปี 2018 กับการรายงานข่าวชายชราวัย 63 ปี ถูกกล่าวหาว่าพาพี่สาวแท้ ๆ ที่พิการไปทิ้งไว้บนเขาให้อดอาหารจนตาย ส่วนอีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในปีเดียวกัน หญิงวัยกลางคนถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวเพราะทิ้งพ่อแม่ที่แก่ชราตรงสถานีใกล้ทางด่วน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจของหลายครอบครัวที่ย่ำแย่ ทำให้พวกเขาต้องพาคนแก่ไปทิ้งไว้ที่บ้านพักคนชราและสำนักงานด้านการกุศลต่าง ๆ

ญี่ปุ่นกับประเด็นผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ท่ามกลางสถานการณ์น่าเป็นห่วงเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้สูงอายุไปจำนวนมาก รวมถึงการที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมานานพอสมควรแล้ว เรื่องราวของอูบะสุเตะจึงถูกพูดถึงขึ้นอีกครั้งในยุคปัจจุบัน

Source : 1 / 2 / 3 / 4
Source Photo : 1 / 2 / 3 / 4

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line