Life

NIHON STORIES: “ROLAND KING OF HOSTS” ชายผู้คร่ำหวอดในเลานจ์สู่ความมั่งคั่งจากธุรกิจสีเทา

By: TOIISAN April 22, 2021

ใคร ๆ ต่างก็รู้ว่าญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความบันเทิงยามค่ำคืน หากคุณเดินไปถูกที่ ถูกทาง ถูกแหล่ง คุณจะพบกับความมหัศจรรย์เหมือนเปิดประตูโลกใบใหม่ตั้งแต่ ‘เกอิชา’ ที่มอบความบันเทิงด้านศิลปะและดนตรีชั้นสูง พบกับ JK Bussiness บริการเพื่อนคุยยามเหงาและการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กสาวมัธยมปลาย คลับเฉพาะทางที่มี ‘เด็กนั่งดริ๊ง’ คอยต้อนรับ ไปจนถึง ‘บาร์โฮสต์’ ที่เหล่าบริกรชายจะดลบันดาลความสุขให้ตามต้องการ

เมื่อเอ่ยถึงบาร์โฮสต์ ภาพในความทรงจำของคนไทยมักเป็นผู้ชายใส่สูท ผมซอยสั้นสไตล์ญี่ปุ่น ที่มักยืนต้อนรับลูกค้าอยู่หน้าร้าน หรือบางร้านก็ให้หนุ่ม ๆ ไปยืนเรียกลูกค้าตามย่านท่องเที่ยวดัง

ทว่าชายที่ถูกเรียกว่า King of Hosts หรือ ‘ราชาแห่งบาร์โฮสต์’ กลับฉีกแนวภาพจำเดิม ๆ ไปไกลกว่าที่คิด เมื่อเขาไว้ผมสีทองยาวสลวยกว่าสุภาพสตรีบางคนที่เป็นลูกค้าของเขาเสียอีก ชายคนดังกล่าวถูกขนานนามด้วยชื่อในวงการว่า “โรแลนด์”

โรแลนด์เข้าวงการบาร์โฮสต์ตั้งแต่อายุ 18 ปี ชื่อจริงของเขาคือ โทโจ มาโคโตะ (Toujou Makoto) นักเรียนดีเด่นที่เพิ่งสอบติดมหาวิทยาลัยโตเกียว ทว่าเริ่มเรียนได้นิดเดียวเขาเริ่มตั้งคำถามกับชีวิตตัวเองว่า ‘เรียนจบไปแล้วจะทำอาชีพอะไร?’ คิดใคร่ครวญอยู่นานว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำอะไร มีความถนัดอะไร

พอคิดวาดภาพชีวิตตัวเองเป็นพนักงานออฟฟิศที่ต้องสวมสูทสีดำเหมือนคนอื่น ๆ เดินไปยังสถานีรถไฟที่อัดคนทำงานเบียดแน่นเต็มโบกี้ นั่งทำงานบนโต๊ะที่ถูกกั้นเป็นคอก บรรยากาศออฟฟิศในจินตนาการชวนให้หดหู่ และสิ่งที่ทำให้โรแลนด์รู้สึกรับตัวเองไม่ได้ที่สุดคือ เขาไม่อยากเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เพียงแค่ 200,000 เยนต่อเดือน (ประมาณ 58,000 บาท)

เด็กหนุ่มอนาคตไกลตัดสินใจเลิกเรียน มุ่งหน้าสู่ธุรกิจกลางคืนที่เขาคาดว่าจะต้องทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ แต่เด็กหนุ่มหน้าใหม่ที่เข้าสู่วงการบาร์โฮสต์ คงไม่มีทางก้าวขึ้นสู่อันดับหนึ่งได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน แรกเริ่มเขาต้องทำงานอยู่ในบาร์เล็ก ๆ ชื่อ ซีบร้าคลับ

ช่วงปีแรกของการทำงาน เขาไม่มีลูกค้าประจำ เงินที่ได้ก็ไม่เป็นอย่างหวัง แต่จะให้ย้อนกลับไปเรียนมหาวิทยาลัยก็คงไม่ทันเสียแล้ว ไม่มีทางเลือกใดนอกจากต้องเดินหน้าต่อในเส้นทางที่ตัวเองเป็นผู้เลือก

ประสบการณ์ทำให้โรแลนด์เริ่มเป็นหนุ่มแพรวพราว เขารู้ว่าจะต้องพูดเมื่อไหร่ รู้ว่าจะต้องเป็นผู้ฟังให้มาก ลูกค้าส่วนใหญ่มักต้องการแค่การรับฟังเรื่องชวนปวดหัวในแต่ละวัน สาว ๆ ส่วนใหญ่อยากระบายเรื่องเครียด พร้อมกับรับคำป้อยอเล็กน้อยจากบาร์โฮสต์หน้าตาดี

การพบลูกค้ามากหน้าหลายตา ทำให้รู้ว่าลูกค้าผู้หญิงส่วนใหญ่ชื่นชอบผู้ชายหุ่นดี ช่วงเวลากลางวันที่จะเป็นเวลาแห่งการนอนหลับพักผ่อน ก็ต้องถูกแบ่งไปเข้ายิม ออกกำลังกาย เพื่อให้ได้กล้ามเนื้อที่ดูดี ดึงดูดลูกค้าทุกเพศทุกวัย

นอกจากหุ่นที่ต้องเฟิร์มตลอดเวลา วาทศิลป์อันยอดเยี่ยม ยังมีอีกสิ่งสำคัญของการเป็นบาร์โฮสต์ที่ใคร ๆ ก็ปฏิเสธข้อนี้ไม่ได้คือเรื่องของ ‘หน้าตา’ แม้รสนิยมและบรรทัดฐานเรื่องหน้าตาจะเป็นปัจเจก โรแลนด์ก็ไม่ลังเลที่จะยอมเสียเงินจำนวนมากไปกับการศัลยกรรมเพื่อให้ได้ใบหน้าที่พิมพ์นิยมในสังคมมากที่สุด เขายอมรับว่าจ่ายเงินเพื่อทำตาสองชั้น ทำจมูก ฉีดโบท็อกซ์ ร้อยไหม เข้าคลินิกดูแลผิวเป็นประจำ ซึ่งเงินที่เสียไปกับการทำใบหน้าให้ดูดีมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านเยน (ประมาณ 3 ล้านบาท)

แม้จะลงทุนไปมาก แต่เม็ดเงินที่เขาได้กลับมาจากธุรกิจกลางคืนที่ก้ำกึ่งระหว่างสีขาวกับสีดำนั้นมากเกินคาด เขาทำทุกอย่างเพื่อไต่ขึ้นอันดับต้น ๆ ของหนุ่มบาร์โฮสต์ ย้ายจากบาร์ขนาดเล็กเป็นบาร์ระดับพรีเมียม ก่อนสร้างตำนานด้วยการทำลายสถิติบาร์โฮสต์ชายที่ทำเงินต่อคืนได้สูงที่สุดในญี่ปุ่น คิดเฉลี่ยง่าย ๆ ว่า ภายในระยะเวลา 1 เดือน โรแลนด์สามารถทำเงินได้กว่า 42 ล้านเยน หรือประมาณ 12 ล้านบาท (ยังไม่หักค่าใช้จ่ายกับทางเลานจ์) จนโดนแซวว่าร่ำรวยกว่าลูกค้าที่มาใช้บริการกับเขาเสียอีก

โรแลนด์มักปรากฏตัวในย่านกลางคืนของโตเกียวพร้อมกับรถคันโปรดยี่ห้อ โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) การแต่งตัวก็ต้องดูดีมีระดับเสมอ สูทจะต้องสั่งตัดพอดีตัว กลิ่นกายจะต้องหอมด้วยน้ำหอมราคาแพง ผมต้องมัดหรือจัดทรงให้เข้าที่ตลอดเวลา เรื่องราวชีวิตของเขาบางทีอาจจะเวอร์กว่าหนุ่มโฮสต์ในมังงะก็ว่าได้

ตำนานยังถูกเล่าขานต่อไปอีกว่าในคืนวันเกิดของโรแลนด์ เขามาทำงานที่คลับตามปกติ หากใครเคยดูภาพยนตร์หรือมังงะเกี่ยวกับบาร์โฮสต์ เด็กนั่งดริ๊งและโฮสต์ทั้งชายและหญิงที่โด่งดังจะสามารถจัดงานวันเกิดตัวเองในบาร์ที่ตนสังกัดได้ แขกปาร์ตี้วันเกิดส่วนใหญ่มักเป็นลูกค้าประจำกระเป๋าหนัก พวกเขาและเธอจะยอมจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อเปิดแชมเปญ ไวน์ หรือวิสกี้ดี ๆ แบบไม่อั้นเพื่อโฮสต์ที่ตัวเองชื่นชอบ

ในงานวันเกิด โรแลนด์สามารถทำให้แขกยอมจ่ายเงินกว่า 10 ล้านเยน (2.8 ล้านบาท) ภายในเวลาเพียงแค่คืนเดียวได้แบบสบาย ๆ และเคยมีรายการโทรทัศน์ที่ตามโรแลนด์ไปถ่ายสารคดี ก็ได้ภาพประทับใจชวนช็อกกลับมาด้วย เมื่อลูกค้าสาวจ่ายเงินค่าบริการด้วยเงินสดเป็นปึก ๆ วางเป็นกองพะเนินอยู่เต็มโต๊ะ

จากข้อมูลอัปเดตของ Soranews ระบุว่า โรแลนด์ มีเงินมากพอที่จะออกผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมเป็นของตัวเองได้แล้ว แต่ยังเป็นแบรนด์ขนาดเล็กอยู่ รวมถึงแบรนด์เครื่องดื่มแก้เมาค้าง ที่ใช้ตัวเองเป็นพรีเซนเตอร์ บางครั้งก็จ้างเพื่อนโฮสต์ของตัวเองมานำเสนอผลิตภัณฑ์ เนื่องจากรายได้ของการเป็นโฮสต์คือค่าดริ๊งในร้าน พวกเขาจึงต้องดื่มหนักทุกคืน

นอกจากสินค้าที่ออกแบบเอง โรแลนด์ยังเคยจัดนิทรรศการเกี่ยวกับตัวเองชื่อว่า “Ro Land Ore ka Ore Igai ka” ภายในงานจะมีการจัดแสดงภาพถ่ายของเขา รวมถึงการฉาย VR (เล่นใหญ่มาก) และการจัดงานครั้งดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100,000 คน จนทำให้เขาเชื่อมั่นว่าตัวเองจะยังคงสร้างรายได้อยู่เรื่อย ๆ ก่อนเปิดช่องยูทูบชื่อ The Roland Show ที่มีผู้เข้าชมมากกว่า 2.5 ล้านครั้ง

สถิติรายได้ของโรแลนด์กลายเป็นของขึ้นหิ้งที่หนุ่มโฮสต์จำนวนไม่น้อยอยากล้มแชมป์ให้ได้ ตัวเลขที่ใกล้เคียงที่สุดเกิดขึ้นในปี 2019 คูนุงิ อากายะ (Kunugi Akaya) โฮสต์ชื่อดังของคลับ Acqua ระบุว่าเขาได้รับของขวัญจากลูกค้าสาวขาประจำเป็นลัมโบกินีคันงามรุ่น Huracan Performante 2018 ราคา 11 ล้านบาท เมื่อดูเรื่องราวของโฮสต์เบอร์ต้น ๆ ของวงการ ก็ทำให้เห็นว่าพวกเขามั่งคั่งมากขนาดไหน

สิ่งสำคัญของการขึ้นเป็นโฮสต์ที่มีชื่อเสียงและมีรายได้ต่อเดือนหลักสิบล้านบาท จำเป็นต้องพึ่งองค์ประกอบหลายอย่างทั้ง บุคลิก การพูด หน้าตา ร่างกาย และอีกสิ่งสำคัญที่ได้ยินได้ฟังบ่อย ๆ จากโฮสต์มีชื่อ คือ ‘การเป็นตัวของตัวเอง’ หากเปิดรายชื่อโฮสต์ 5 อันดับแรก (ที่อันดับมีขึ้นมีลงทุกปี) จะพบว่าพวกเขามักมีลักษณะโดดเด่นแตกต่างกันไป อย่างโรแลนด์ก็คงหนีไม่พ้นผมสีทองยาวสลวย และร่างกายบึกบึนที่สวนทางกับหน้าหวาน ๆ ของเขา

เมื่อประสบความสำเร็จสูงสุดจึงเริ่มผันตัวมาเป็นนักธุรกิจที่ใช้ประสบการณ์จากการเป็นโฮสต์ กลายเป็นผู้บริหารบาร์โฮสต์จากเงินทุนของตัวเองชื่อ THE CLUB ที่เปิดตัวในเดือนเมษายน 2019 ทว่ากลับต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่อย่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้กิจการต้องปิดตัวลงอย่างเลี่ยงไม่ได้

ต่อมาในปี 2020 เขาถูกเชิญไปให้คำปรึกษากับการสร้างมังงะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนุ่มโฮสต์เรื่อง Roland Zero ที่เขียนโดย อิโนเอะ โนริโยชิ (Inoue Noriyoshi) เล่าถึงการเดินทางในเส้นทางบาร์โฮสต์ของโรแลนด์ จนกระทั่งกลายเป็นหนึ่งในคนที่มีชื่อเสียงต่อวงการบันเทิงญี่ปุ่น (นอกจากการเป็นโฮสต์ เขายังรับถ่ายแบบและเป็นพิธีกรรายการ) ซึ่งยอดขายมังงะเรื่องดังกล่าวก็มียอดทะลุ 100,000 เล่มเรียบร้อยแล้ว

ส่วนปี 2021 เขาเริ่มก้าวใหม่ที่ใหญ่กว่าครั้งไหน ๆ ด้วยการเปิดตัวแบรนด์เครื่องแต่งกายสำหรับสุภาพบุรุษชื่อ Christian Roland ก่อนยืนยันว่าดีไซน์เสื้อผ้าจะไม่ซ้ำกับใครอย่างแน่นอน ควบคู่กับการเอาเงินลงทุนในกิจการหลายหลายประเภท อาทิ ร้านเสริมความงาม ร้านอาหาร ตัวแทนจำหน่ายนำเข้าแชมเปญจากต่างประเทศ

เพราะหนุ่มโฮสต์ทุกคนต่างก็รู้ตัวดี ไม่มีใครสามารถทำอาชีพนี้ได้ไปจนแก่ เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น พวกเขาก็ต้องร่วงหล่น และเปิดทางให้กับเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ ๆ ได้เข้ามาแทนที่ในสักวัน การนำเงินที่ได้จากธุรกิจกลางคืนมาลงกับธุรกิจที่สะอาดและยั่งยืนกว่า ปัจจุบันชายคนนี้มีบริษัท Roland Group ซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น Sparkling Wine, อาหารเครื่องดื่ม, Fashion, Beauty, งาน Presenter, Model และอีกสารพัด เรียกได้เต็มปากว่าตอบโจทย์วันที่เขาเลือกลาออกจากมหาลัยเรียบร้อยแล้ว

ถือเป็นอีกหนึ่งทางเดินชีวิตที่แน่วแน่ที่ผู้ชายคนนี้เลือกเดิน ไม่ว่ามันจะเทาหรือขาว แต่การตั้งใจไปให้สุด การยอมลงทุนเพราะรู้ว่าอะไรคือหัวใจสำคัญที่จำเป็นในเส้นทางนี้ ความเคร่งครัดในการดูแลตัวเอง เทคแคร์ลูกค้าจนติดใจ ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใคร ๆ ก็ทำได้แน่นอน

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line