Business

OODA LOOP เทคนิคที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างว่องไวเหมือนทหารอากาศ

By: unlockmen January 17, 2022

เวลาขับเครื่องบิน นักบินอาจเจอกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิดได้ เช่น เจอเครื่องบินอีกลำหนึ่งบินสวนมา หรือ อากาศแปรปวนกระทันหัน ถ้านักบินตัดสินใจแก้ปัญหาเหล่านี้ช้าเกินไป อาจทำให้เกิดการสูญเสียได้ พวกเขาจึงต้องมีสกิลในการตัดสินใจและแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากพอสมควร UNLOCKMEN อยากมาแนะนำเทคนิคที่ชื่อว่า OODA Loop ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทหารอากาศใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เจอตอนขับเครื่องบิน แต่เทคนิคนี้สามารถนำไปใช้กับเรื่องอื่นได้เช่นกันอย่างการแก้ปัญหาในที่ทำงาน

OODA Loop เป็นเทคนิคในการตัดสินใจอย่างรวดเร็วของ John Boyd พันเอกประจำกองทัพอากาศสหรัฐในตำนานที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1927 – 1997 และได้ผลิตผลงานชิ้นโบว์แดงออกมามากมาย เช่น การสร้างทฤษฎี Energy-Maneuverability (EM) ที่เป็นต้นกำเนิดของเครื่องบินรบ F15 และ F16 หรือ การเขียนผลงาน Aerial Attack Study ที่นับว่าเป็น ไบเบิ้ลของการต่อสู้ทางอากาศที่ปฎิวัติวงการกองทัพอากาศทั่วโลก เป็นต้น

เทคนิคนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อรับมือกับ ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ของโลก เพราะมนุษย์ไร้ความสามารถในการเข้าใจข้อมูลทุกอย่างอย่างสมบูรณ์แบบ เราจึงต้องตัดสินใจในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน หรือ ตัดสินใจด้วยข้อมูลที่มีความกำกวมอยู่เสมอ  OODA Loop จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการก้าวข้ามเรื่องเหล่านี้

ทุกวันนี้ OODA Loop ถูกนำไปใช้ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ทางการทหาร หรือเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการแข่งขันทางธุรกิจ มันจะประกอบไปด้วย 4 หลักการที่ช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น ได้แก่ สังเกต (Observe) กำหนดตำแหน่ง (Orient) ตัดสินใจ (Decide) และปฏิบัติ (Act) ซึ่งเราควรใช้ 4 หลักการนี้ซ้ำไปซ้ำมาแบบเป็นลูป (Loop) เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดีที่สุด

 

Observe

OODA Loop สอนให้เรารู้จักสังเกตเป็นอันดับแรก เพราะการสังเกตช่วยให้เรารับรู้ถึงข้อมูลใหม่และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น เดต้า หรือ ข่าวสาร มันจะช่วยให้เราเปิดรับความรู้ใหม่มากขึ้น และเอาชนะความสับสนใจในใจได้ คนที่สังเกตเก่งมักสังเกตสิ่งอบตัวด้วยความผ่อนคลายและความระมัดระวัง นอกจากนี้พวกเขายังมี Situational Awareness หรือ ความสามารถในการรวบรวมและทำความเข้าใจข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน จนสามารถคาดการณ์สื่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

 

Orient

การกำหนดตำแหน่ง คือ การนำข้อมูลที่เราได้จากการสังเกต มาวิเคราะห์และสร้างเป็นความรู้และความเข้าใจใหม่ โดยคนที่กำหนดตำแหน่งเก่งมักมีความสามารถในการทำลายความคิดและความเชื่อแบบเก่า และนำความคิดและความเชื่อแบบใหม่มาใส่ในหัวของตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่น คนที่ขับรถไม่ดี อาจไม่รู้ว่าตัวเองขับรถไม่ดี จนกระทั่งได้รับข้อมูลและวิเคราะห์ออกมาว่าตัวเองขับรถไม่ดีจริง ๆ

 

Decide

พอมาถึงขั้นของการตัดสินใจ เราจะรู้ว่าตัวเองควรทำอะไรต่อไปแล้ว โดยข้อมูลที่ได้จากการ Orient อาจทำให้เกิดสมมติฐานหลายอย่าง เช่น การเรียนขับรถใหม่จะช่วยให้เราขับรถได้ดีขึ้น หรือ การเอาใจใส่คนรอบตัวมากขึ้นช่วยให้เราขับรถได้ดีขึ้น คนที่ตัดสินใจเก่งมักมีความสามารถในการเลือกสมมติฐานที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งเดียวอยู่เสมอ

 

Act

เมื่อเราเลือกสมมติฐานที่เราต้องการทดสอบได้แล้ว ต่อมา เราก็ต้องลงมือทดสอบมัน เพื่อดูว่าสิ่งที่เราคิดและลงมือทำมีข้อผิดพลาดตรงไหนบ้าง เมื่อเราลงมือทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ลองดูผลลัพธ์ที่ออกมา ถ้าเรายังเจอปัญหาอยู่ ให้เรากลับไปเริ่มสังเกตอีกครั้ง ยิ่งเราใช้ OODA Loop ซ้ำไปซ้ำมามากเท่าไหร่ เราจะได้ผลลัพธ์ในการตัดสินใจที่ดีขึ้น

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจมองว่า ODDA Loop เหมือนเป็นการเรียนรู้ปัญหา (Learning Process) มากกว่าวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งก็จริง เพราะมันคล้ายกับหลักการทดลองทางวิทยาศาสตร์มาก ไม่ว่าจะเป็น การรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเข้าใจตัวเองหรือสถานการณ์ ไปจนถึงการตั้งและทดสอบสมมติฐาน เพียงแต่ว่าเราต้องทำสิ่งเหล่านี้ซ้ำไปซ้ำมาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดวิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด


Appendix: 1 / 2 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line