DESIGN

นาฬิการะบบกลไกที่บางที่สุดในโลก เพียง 2 มิล “PIAGET ALTIPLANO ULTIMATE CONCEPT” 

By: LIT April 29, 2020

หลังสร้างสถิติใหม่จนเป็นที่พูดถึงอย่างมากในงาน SIHH 2018 กับ “PIAGET ALTIPLANO ULTIMATE CONCEPT” เรือนเวลาระบบกลไกที่บางที่สุดในโลก ที่นอกจากจะเปิดตัวด้วยความหนาเพียง 2 มิลลิเมตรแล้ว แบรนด์ยังผนึกเอานวัตกรรมรอบด้านไว้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความลับด้านโครงสร้างของกลไกและตัวเรือนที่ออกแบบให้ผสานเป็นชิ้นเดียว เม็ดมะยมดีไซน์เฉพาะที่กลมกลืนไปกับตัวเรือนและกระจกที่บางเฉียบ กลไกที่มีกำลังลานสำรองนานถึง 40 ชั่วโมง เป็นต้น

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีประเด็นที่หลายคนสงสัยว่า

“เรือนเวลาที่แสนจะซับซ้อนและเปี่ยมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงแบบนี้จะถูกผลิตเพื่อวางจำหน่ายหรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้นไอเท็มชิ้นนี้จะเหมาะสำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวันสักแค่ไหน”

คำตอบของเพียเจต์ก็คือ Yes และ Yes นั่นเอง

โดยแบรนด์ให้เหตุผลว่า “PIAGET ALTIPLANO ULTIMATE CONCEPT” ไม่ได้เป็นเพียงการเผชิญความ ท้าทายในระดับ Micro engineering อีกต่อไป แต่เป็นการทำงานร่วมกันอย่างหนักของเหล่าทีมนักพัฒนา วิศวกร ช่างนาฬิกา นักออกแบบ เพื่อส่งมอบเรือนเวลาที่เพรียวบางสู่ผู้ใช้งานตัวจริง และนี่คือ เส้นทางสู่ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จที่ทุกคนต่างรอคอย

 

From Drawing Board to Your Wrist

ย้อนกลับไปปี 1957 เพียเจต์ก้าวสู่โลกแห่งการปฏิวัติเรือนเวลาด้วยการเปิดตัวนาฬิกาดีไซน์บางเฉียบขึ้น ก่อนพัฒนาออกมาอีกหลายรุ่นจนกลายเป็นนาฬิการะบบกลไกที่บางที่สุดในโลก ณ ช่วงเวลานั้น ๆ อาทิ 900P ปี 2014 (3.65 มิลลิเมตร) และ 910P ปี 2018 (4.3 มิลลิเมตร) โดยหลอมรวม 3 พาร์ทสำคัญอย่าง ตัวเรือน ฝาหลัง และ เมนเพลท เป็นชิ้นเดียว

เพื่อตอกย้ำดีเอ็นเอของ “PIAGET ALTIPLANO ULTIMATE CONCEPT” และแนวคิดอันแสนขบถของแบรนด์ เพียเจต์ออกเดินทางสู่ความท้าทายครั้งใหม่ ด้วยการสร้างสถิติความเพรียวบางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยความหนาของตัวเรือนเพียง 2 มิลลิเมตร หรือเทียบเท่าความหนาของบัตรเครดิตที่วางซ้อนกันเพียง 2 ชั้นเท่านั้น มาพร้อมกลไกไขลานด้วยมือ Piaget 900P-UC ซึ่งทุกขั้นตอนล้วนถูกพัฒนาและสร้างสรรค์โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Piaget’s Research and Innovation division

• ใช้เวลากว่า 4 ปีในการถอดรหัสเรือนเวลาต้นแบบนับไม่ถ้วน
• หลังจากนั้นอีก 2 ปี จึงเข้าสู่ขั้นตอนทางวิศวกรรมและการออกแบบ เพื่อส่งมอบนาฬิการะบบกลไกที่บางที่สุดในโลกสู่ผู้ใช้งานตัวจริง
• การันตีด้วยสิทธิบัตรที่จดใหม่ถึง 5 ฉบับด้วยกัน (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

เริ่มจากการปรับโครงสร้างตัวเรือน เพื่อให้ฝาหลังทำหน้าที่เป็นฐานรองรับกลไกไปในตัว รังสรรค์ด้วยวัสดุใหม่อย่างโคบอลต์ผสมอัลลอยด์ที่ถูกพัฒนาให้แข็งและทนทานมากกว่าทองคำถึง 2.3 เท่า ส่งผลให้ตัวเรือนไม่โค้งงอแม้จะมีความบางอย่างสุดขั้วก็ตาม

ขณะที่ชิ้นส่วนอื่น ๆ ถูกปรับขนาดให้รับกับความบางในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็น
• จักร หรือ wheels ที่วัดความหนาได้เพียง 0.12 มิลลิเมตร (เปรียบเทียบกับจักรของกลไกดั้งเดิมที่มีขนาด 0.20 มิลลิเมตร)
• กระจกหน้าปัดที่ถูกลดทอนความหนาออกถึง 80 เปอร์เซนต์ จากเกณฑ์มาตรฐานหนาราว 1 มิลลิเมตร เหลือเพียง 0.2 มิลลิเมตร เท่านั้น
• กระปุกลาน หรือ mainspring barrel ที่ออกแบบใหม่ทั้งหมด และถึงแม้จะไม่มี cover หรือ drum ตามแบบเรือนเวลาทั่วไป แต่ก็ติดตั้งไว้กับ Ball-bearing ที่เชื่อมไว้กับเฟรมของนาฬิกา ส่งผลให้กลไกมีกำลังลานสำรองนาน 40 ชั่วโมง
• เม็ดมะยมระบบ “telescopic” ในดีไซน์ Flat ที่ราบเป็นระดับเดียวกับตัวเรือน โดยทำงานร่วมกับ “infinite screw” แทนเม็ดมะยมแบบดั้งเดิม ซึ่งจากการปฏิวัติโครงสร้างครั้งนี้ ส่งผลให้การปกป้องเม็ดมะยม และระบบป้องกันการหยุดของกลไกแบบไม่พึงประสงค์ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ
• จากดีไซน์หน้าปัดแบบเยื้องศูนย์กลาง ส่งผลให้แกนไขแบบดั้งเดิมไม่สามารถใช้งานได้ แบรนด์จึงแก้ปัญหาโดยสร้างแกนไขแบบ staggered ขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่แบรนด์จดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย
• โครงสร้างกลไกเป็นแบบกลับด้านโดยมีบริดจ์ติดตั้งอยู่บนหน้าปัด พ่วงด้วยอีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่ประยุกต์ให้การทำงานสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น นั่นคือการแทนที่เข็มชั่วโมงแบบดั้งเดิมด้วย Indicator disc ขณะที่เข็มนาทียังคงทำงานตามปกติ

 

A Finish Without Compromise

2 มิลลิเมตร ความบางอันเหลือเชื่อของ “PIAGET ALTIPLANO ULTIMATE CONCEPT” ที่ภายในซุกซ่อนชิ้นส่วนไว้ถึง 167 ชิ้นด้วยกัน โดยเกือบทั้งหมดถูกปรับขนาดลงเพื่อสร้างสถิติความบางแบบสุดขั้วให้สำเร็จ

ถึงอย่างนั้นในแง่ความแม่นยำ เที่ยงตรงและทนทาน ก็เป็นสิ่งที่แบรนด์ไม่ได้ละเลย โดยเฉพาะชื่อเสียงของเมซงด้านการผลิตกลไกที่ทำด้วยมือ ที่แต่ละชิ้นถูกตกแต่งอย่างพิถีพิถันเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญที่เพียเจต์ปลูกฝังมาเป็นเวลานาน

แน่นอนว่า ชิ้นส่วนเล็ก ๆ เหล่านี้คือความท้าทายที่แบรนด์ตั้งใจนำเสนอ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการตัดสินใจในแต่ละขั้นตอน เพราะหากผิดพลาดเพียงน้อยนิด ก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายอันใหญ่หลวงได้

ถึงอย่างนั้นทีมช่างศิลป์ของแบรนด์ก็ทำได้สำเร็จ ไม่เพียงแค่ขัดแต่ง “กลไก” ด้วยลายรัศมีพระอาทิตย์ และขัดเงาแบบซาตินเท่านั้น เพราะแม้แต่ “บริดจ์” ก็ยังถูกลบมุมและขัดแต่งอย่างงดงามเช่นกัน ปิดท้ายด้วยการเคลือบพีวีดีลงบนกลไกที่ช่วยเพิ่มความสะดุดตา ทั้งยังเข้ากันได้ดีกับตัวเรือนอีกด้วย

เพื่อสร้างสถิติความบางอันเหลือเชื่อ แบรนด์ยังเลือกใช้สายรัดข้อมือชนิดบางพิเศษ รังสรรค์จาก 2 วัสดุ ได้แก่ สายหนังจระเข้ และ สายถักสีน้ำเงิน ซึ่งด้านในบุด้วยหนังลูกวัว และ Kevlar เส้นใยไฟเบอร์ที่สังเคราะห์ขึ้นมาทำให้มีโครงสร้างที่แข็งแรงเป็นพิเศษ เข้าคู่กับหัวสายนาฬิกาทำจากโคบอลต์ และตัวเรือนขนาด 41 มิลลิเมตรได้อย่างลงตัว

 

 

Piaget Infinitely Personal – the Ultimate Luxury

Bespoke หรือ การปรับแต่งเรือนเวลาในแบบฉบับของตัวเอง ถือเป็นหนึ่งคีย์หลักที่แบรนด์ระดับลักชัวรี่ให้ความสนใจ อย่างเพียเจต์เองก็มีนวัตกรรมที่เรียกว่า “Style Selector” ที่เป็นที่รู้จักมากว่า 50 ปี นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกที่เพียเจต์ บูติค นิวยอร์ก

วัตถุประสงค์ ณ ขณะนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้บรรดาลูกค้าสามารถปรับแต่งเรือนเวลาได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็น การเลือกรูปแบบของตัวเรือน วัสดุที่นำมาทำเป็นหน้าปัดและสายรัดข้อมือ ไปจนถึงขนาดของอัญมณีที่นำมาประดับ

จากจุดเริ่มต้นในอดีต ส่งผลให้เพียเจต์ บูติคทั่วโลกนำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ เพื่อเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากที่สุด ดังผลลัพธ์ที่ปรากฏบนเรือนเวลา “อัลติพลาโน อัลติเมท คอนเซ็ปต์” ที่ลูกค้าเลือกปรับแต่งสีสันของบริดจ์และหน้าปัด, ขัดแต่งเข็มนาทีและเมนเพลท รวมถึงเลือกสายนาฬิกาที่เข้ากับสไตล์ของตนเอง เรียกได้ว่าสามารถปรับเปลี่ยนลูกเล่นได้มากกว่า 10,000 สไตล์ โอกาสที่จะซ้ำกับคนอื่นจึงแทบจะไม่มีเลยทีเดียว

Piaget – the King of Ultra-thin

สุนทรียศาสตร์ของเรือนเวลา ทั้งในเรื่องความบางและโค้งเว้าถูกหลายแบรนด์นำมาปัดฝุ่นใหม่จนเป็นที่ถูกใจเหล่านักสะสมอย่างมาก แต่สำหรับเพียเจต์ แบรนด์กลับคงความเหนียวแน่นในการรังสรรค์เรือนเวลาที่มีความเพรียวบางเป็นพิเศษเรื่อยมา นับตั้งแต่เปิดตัวกลไก 9P ในปี 1957

ย้อนกลับไปยุคบุกเบิกราวปี 1874 แม้เพียเจต์จะเป็นเพียงโรงงานผลิตชิ้นส่วนกลไก แต่แบรนด์แทบไร้คู่ต่อสู้ในด้านการสร้างสรรค์และพัฒนากลไกชั้นสูง ทั้งยังสร้างชื่อให้ผู้คนทั่วโลกต่างรู้จัก “อัลติพลาโน” ในฐานะเรือนเวลาที่บางอย่างสุดขั้วอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น

• กลไก 9P ที่หนาเพียง 2 มิลลิเมตร จนกลายเป็นนาฬิการะบบกลไกที่บางที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น
• กลไก 12P ปี 1960 นาฬิกากลไกอัตโนมัติที่บางที่สุดในโลก เปิดตัวด้วยความหนาเพียง 2.3 มิลลิเมตร

ไปจนถึงการใส่ฟังก์ชั่นต่าง ๆ กลไกสเกเลตันประดับเพชร และ กลไก 670P ปี 2017 ที่มาพร้อมฟลายอิ้ง ตูร์บิญอง แบบบางพิเศษ

นอกจาก “PIAGET ALTIPLANO ULTIMATE CONCEPT” จะทำหน้าที่สืบสานประเพณีอันเก่าแก่ของเมซงอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ยังเป็นที่จับตามองของเหล่า watch lover ด้วยว่า ทิศทางของเรือนเวลาที่แบรนด์จะรังสรรค์รุ่นต่อไปจะเป็นอย่างไร

สัมผัสเรือนเวลาและเครื่องประดับชั้นสูงจากเพียเจต์ (Piaget) ได้แล้ววันนี้ที่ เพียเจต์ บูติค โดย เอส ที ไดเมนชั่น ชั้น M สยามพารากอน โทร. 02-610-9678

LIT
WRITER: LIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line