Life

ทำไมเรายัง MOVE ON จากความรักครั้งเก่าไม่ได้ รู้จัก Pistanthrophobia โรคกลัวเจ็บเพราะไว้ใจคนอื่น

By: unlockmen September 26, 2020

ความรักสำหรับบางคน คงเปรียบเหมือนดาบสองคม ตอนคบกันอยู่มีความสุขกันเหลือเกิน แต่พอเลิกกันกลับเจ็บปวดรวดร้าว จะเป็น จะตาย! บางเคสอาจเจอการนอกใจ โกหก หรือ หลอกลวง และประสบการณ์เหล่านี้ได้แปรเปลี่ยนเป็นบาดแผลในใจ จนทำให้พวกเขาไม่กล้าไว้วางใจที่จะมีความสัมพันธ์กับใครอีก และเป็นโรคทางจิตเวชที่ชื่อว่า โรคกลัวการไว้ใจผู้อื่น (pistanthrophobia)

วันนี้ UNLOCKMEN อยากเล่าให้ฟังว่าโรคนี้มีที่มาอย่างไร ร้ายแรงแค่ไหน และ จะป้องกันเยียวยามันได้อย่างไรบ้าง

 

 

Pistanthrophobia เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

โรคกลัวการไว้ใจผู้อื่น (pistanthrophobia) เป็นโรคที่กลัวความเจ็บปวดจากการไว้วางใจคนอื่นมากเกินไป (โดยเฉพาะคนรัก) ซึ่งเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์การถูกหักหลังในความรักครั้งก่อน เช่น โดนนอกใจ หรือ หลอกลวง เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยจะเกิดเป็นความวิตกกังวลเวลาจะมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่ เพราะไม่กล้าไว้วางใจใคร และกลัวว่าเหตุการณ์แบบเดิมจะเกิดขึ้นซ้ำอีก และทำให้พวกเขาไม่สามารถมีความรักครั้งใหม่ได้

สำหรับอาการของที่คนเป็นโรค pistanthrophobia จะมีทั้ง อยากหลีกหนีจากเหตุการณ์ ผู้คน หรือ วัตถุ ที่ทำให้เกิดความกลัว, หายใจไม่ทั่วท้อง, หัวใจเต้นรั่ว และตัวสั่น ในสถานการณ์ทางสังคม พวกเขามักหลีกเลี่ยงการสนทนา หรือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับคนที่อาจเป็นคู่รักของเขาในอนาคต ปฏิเสธการจีบ การออกเดท หรือ การมีความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกกับคนอื่น มีความวิตกกังวลหรือความต้องการที่จะหลีกหนีบทสนทนาที่สร้างความรู้สึกอึดอัดโดยเฉพาะบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับการความสัมพันธ์ใกล้ชิด (intimacy) การออกเดท หรือ คู่รักในอนาคต

Pistanthrophobia เป็นรูปแบบหนึ่งของโรคกลัว (phobia) ที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของกลไกความกลัว (fear mechanism) ในสมอง โดยโรคกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะจะเรียกว่าเป็น ‘specific phobias’ เช่น โรคกลัวที่แคบ (claustrophobia) หรือ โรคกลัวรู (trypophobia) เป็นต้น ซึ่ง specific phobias จะมีทั้งหมด 2 กลุ่มได้แก่

 

1.โรคกลัวเฉพาะอย่างที่ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์หรือไม่เชื่อมโยงกัน (nonexperiential or nonassociative specific phobia) – โรคกลัวประเภทนี้จะไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเราได้เรียนรู้ที่จะกลัวสิ่งนั้นมาก่อน (พูดง่ายๆ คือ อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นเอง) และเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรม ครอบครัว สภาพแวดล้อม และ ปัจจัยทางด้านพัฒนาการ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เคยมีประสบการณ์กลัวความมืด ร่างกายอาจจะเรียนรู้ว่าความมืดเป็นภัย และสร้างความอ่อนไหวต่อความมืด (sensitization) ขึ้นมา จึงเกิดเป็นโรคกลัวความมืด (nyctophobia) เป็นต้น

 

2.โรคกลัวเฉพาะอย่างที่เกิดจากประสบการณ์ (experiential-specific phobia) – โรคกลัวประเภทนี้จะมีต้นตอมาจากประสบการณ์แย่ๆ ในอดีต อย่าง โรคกลัวการไว้ใจผู้อื่น (pistanthrophobia) เองก็จัดอยู่ในโรคกลัวประเภทนี้ เพราะต้นเหตุมาจากประสบการณ์การไว้วางใจในความสัมพันธ์แย่ๆ ในอดีต และผลที่ตามมา คือ ทำให้กลัวการกระทำที่เคยทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แย่ (คือ การไว้วางใจคู่รัก)

 

ซึ่งภัยร้ายของ specific phobias นอกจากจะทำให้เราเกิดความกลัวและความวิตกกังวลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไปแล้ว อาจนำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Psychiatry (2016) ระบุว่า ความกลัวประเภทเฉพาะเจาะจง (spcific phobias) เช่น โรคกลัวการไว้ใจผู้อื่น (pistanthrophobia) โรคกลัวความสูง (acrophobia) ฯลฯ มีความเกี่ยวข้องกับการเป็น โรคหัวใจ (cardiac diseases) โรคระบบทางเดินอาหาร (gastrointestinal diseases) โรคระบบทางเดินหายใจ (respiratory diseases) ภาวะข้อต่ออักเสบต่างๆ ไมเกรน และโรคต่อมไทรอยด์

ดังนั้น ผู้ที่เป็น Pistanthrophobia รวมถึง specific phobias อื่นๆ จึงควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป


เราจะเยียวยาและป้องกัน Pistanthrophobia ได้อย่างไร ?

สำหรับวิธีการป้องกันและเยียวยา Pistanthrophobia สามารถทำได้ดังนี้

 

1.เริ่มความสัมพันธ์ครั้งใหม่ให้เหมือนไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน

ประสบการณ์รักร้าวรานครั้งเก่า อาจทำให้เรามองในแง่ร้ายว่าความสัมพันธ์ครั้งต่อไปจะเหมือนกับที่ผ่านมาทั้งหมด (ซึ่งไม่จริงเลย!) เราก็เลยไม่ได้มีความสัมพันธ์กับใครสักที ดังนั้น ถ้าอยากมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่ จึงต้องทำลายความคิดลบนี้ให้ได้ก่อน เพื่อให้เรา move on ต่อไปได้ และที่สำคัญเราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งก่อนด้วย เช่น ถามตัวเองว่าต้องการอะไรจากความสัมพันธ์ และพร้อมเปิดใจให้กับคนรักคนใหม่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนต่อไปในอนาคต เพราะงานวิจัยบางชิ้น (2019) บอกว่า เราอาจสร้างความสัมพันธ์กับคนรักใหม่ในรูปแบบที่เราทำกับคนรักเก่าได้ ซึ่งพอเราสร้างความสัมพันธ์แบบเดิมๆ (ที่ล้มเหลว) ซ้ำไปซ้ำมา เราอาจพบกับจุดจบของความสัมพันธ์แบบเดิมๆ และชีช้ำกับความรักไปตลอดก็เป็นได้

 

2.ต่อกรความคิดลบด้วยความคู่ตรงข้าม

สำหรับใครที่เป็น pistanthrophobia สิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มทำเลย คือ ลดความกังวล อาจเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติด้านลบให้เป็นด้านบวก เช่น เมื่อเรากังวลว่าความสัมพันธ์ครั้งใหม่จะเหมือนกับความสัมพันธ์ครั้งที่ผ่านมาๆ ก็ให้เราลองเปลี่ยนเป็นว่า ความสัมพันธ์ครั้งใหม่จะไม่เหมือนเดิม และมีโอกาสที่มันจะดีขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา เป็นต้น

ทัศนคติด้านลบเป็นปัญหาต่อเราทั้งกายและใจ คือ มันไม่ได้ทำให้เราเป็นโรคกลัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วย ‘ทัศนคติด้านลบ’ ‘ความรู้สึกสิ้นหวัง’ และ ‘ความรู้สึกหมดหนทางช่วย’ ได้รับการยืนยันแล้วว่า สามารถสร้าง ‘ความเครียดเรื้อรัง’ ที่ทำให้การทำงานของฮอร์โมนขาดความสมดุล ทำลายสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับความสุข แถมยังทำลายภูมิคุ้มกันของเราด้วย

 

3.อย่ารีบหาคนใหม่ทันทีหลังจากอกหัก

หากเพิ่งอกหักมาใหม่ๆ เราแนะนำว่า อย่ารีบเยียวยาจิตใจด้วยการรีบหาคู่รักคนใหม่ เพราะหากเรายังรู้สึกเจ็บปวดจากความรักครั้งเก่าอยู่ พอรีบหาใหม่ แล้วต้องผิดหวังอีก มันก็จะยิ่งเจ็บช้ำมากขึ้นไปอีก  อีกทั้ง หากเรายังลืมคนรักเก่าไม่ได้ แล้วรีบหาคนรักใหม่ เราก็ไม่เปิดสามารถเปิดใจให้กับคนรักใหม่ได้อย่างเต็มที่เหมือนกัน ดังนั้น เราควรใช้เวลาในการเตรียมใจให้พร้อมรับคนใหม่ก่อน (แต่จะใช้เวลานานเท่าไหร่ เรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับแต่ละคน)

อย่างไรก็ตาม เรื่องการออกเดทหลังอกหัก ผู้เชี่ยวชาญก็ได้แนะนำไว้ว่าควรทำเมื่อลืมแฟนเก่าได้แล้ว และพร้อมเปิดใจกับคนใหม่ โดย Susan Winter ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ได้แนะนำไว้ว่า การเดทหลังอกหักที่ดี่ที่สุด คือ เดทเมื่อคุณยอมรับว่าแฟนเก่าเป็นแฟนเก่าด้วยเหตุผลที่ดี ส่วน Dr. Paulette Sherman นักจิตวิทยา ได้แนะนำไว้ว่า คนอกหักจะพร้อมมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่ เมื่อพวกเขามีเห็นคุณค่าในตัวเองสูง เปิดใจ และพร้อมที่ใจอ่อนต่อหน้าคนใหม่ๆ

 

4.อย่าอยู่นิ่งเวลาอกหัก…ไปออกกำลังกายซะ!

เมื่อเราเพิ่งเลิกกับแฟนมา แน่นอนว่าความเจ็บมันยังเข้มข้นอยู่ เพราะบาดแผลยังใหม่อยู่ ซึ่งความเจ็บปวดจากการอกหักอาจไม่ต่างจากความเจ็บปวดจากการถูกทำร่างกาย เพราะงานวิจัยบอกเราว่า สมองส่วนที่ถูกกระตุ้นเมื่อเราเจ็บกายเป็นส่วนเดียวกับที่ถูกกระตุ้นเมื่อเราถูกปฎิเสธ และเมื่อเราสูญเสียคนรัก แต่ข่าวดี คือ บาดแผลทางจิตใจสามารถเยียวยาได้ด้วยการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยคลายความเครียด ระงับความโกรธ และความคับข้องใจ และยังทำให้สมองของเราหลั่งสารเอ็นโดฟินซึ่งช่วยให้เรารู้สึกดีด้วย  เราเลยอยากแนะนำว่า หากได้รับบาดแผลทางใจมาเมื่อไหร่ ให้รีบเปลี่ยนชุด แล้วไปออกกำลังกายซะ!

 

อย่างไรก็ตาม ถ้ารู้สึกว่าการเชื่อใจคนอื่นยังเป็นเรื่องยากอยู่ อาจลองขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัด เช่น นักจิตวิทยา หรือ จิตแพทย์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ช่วยให้เราค้นหาต้นตอของปัญหา และให้การรักษาที่ถูกวิธีได้

 


Appendix: 1 / 2 / 3

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line