Business

PLAN FOR FAILURE: จงเตรียมพร้อมรับความล้มเหลว ถ้าอยากประสบความสำเร็จ

By: PSYCAT July 29, 2020

ถนนทุกสายมุ่งตรงสู่ “ความสำเร็จ” เราต่างพร้อมเผชิญขาขึ้นของธุรกิจที่ปั้นมากับมือ เรายินดีอ้าแขนรับหน้าที่การงานที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน แต่น้อยคนนักที่จะเตรียม “แผนแห่งการล้มเหลว” เอาไว้ ไม่มีใครอยากผิดพลาด ล้มเหลว แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อเราเผชิญความผิดพลาด (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่) การมีแผนแห่งการล้มเหลวรอไว้อยู่แล้ว จะช่วยให้เรารับมือ แก้ไข ไปจนถึงพลิกสถานการณ์กลับมาได้ราบรื่นกว่าการไม่เตรียมแพลนอะไรไว้เลย

ลำดับขั้นของความล้มเหลว ขีดเส้นที่เราจะไม่มีวันข้ามเอาไว้

หลายครั้งที่ความล้มเหลวไม่ได้จู่ ๆ สาดเข้ามาตูมเดียวเหมือนภูเขาไฟระเบิด แต่เกิดจากการที่เราค่อย ๆ เลือกทางเดินที่ผิด แล้วตอนแรกมันก็ยังดูไม่เสียหายมากนัก เราเลยไปต่อ แต่เหมือนว่ายิ่งไปต่อ ความล้มเหลวก็คล้ายจะขมวดกลายเป็นปมที่แก้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้ตัวอีกทีธุรกิจเราก็พังเกินกว่าจะกู้คืนแล้ว

ดังนั้นแผนแห่งการล้มเหลวที่เราควรเตรียมตัวเองไว้เพื่อหน้าที่การงานหรือธุรกิจของเรา คือการไล่ลำดับขั้นแห่งความล้มเหลวไว้แต่ต้น เช่น ขั้นที่หนึ่งเราเริ่มกู้หนี้ยืมสินมามากเกินกำลังจะจ่ายไหว ขั้นที่สองเราเริ่มทำทุกทางเพื่อให้ธุรกิจหรืองานเราไปรอด โดยยินดีทำลายทุกความสัมพันธ์ในชีวิต ฯลฯ

การกำหนดลำดับขั้นความล้มเหลวอาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่ผ่านการพิจารณาของเรามาอย่างดี เมื่อเรากำหนดไว้ ก็คิดวิธีแก้ หรือวิธีที่เราจะจัดการต่อไปถ้าเราไปถึงจุดนั้น การทำแบบนี้เราจะค่อย ๆ เห็นว่าเรากำลังเดินทางเข้าสู่ขาลง เราจะเข้าใจมากขึ้นว่าเส้นไหนที่เราข้ามไปได้ (และข้ามไปอย่างไร) หรือเส้นไหนที่เราถามตัวเองไว้แต่ต้นแล้วว่าจะไม่มีวันข้ามไปเด็ดขาด เพราะจะไม่ใช่แค่ความล้มเหลวเล็ก ๆ แต่อาจไปสู่หายนะยิ่งใหญ่ได้

สถานการณ์ที่แย่ที่สุดคืออะไร? แล้วเราจะรับมืออย่างไร?

ความล้มเหลวบางรูปแบบก็อาจมาในลักษณะหนังสยองขวัญที่เราเคยดู ตัวละครอาจจะแสนซวย ดวงตก ที่เจอความล้มเหลวสาดซัดมาทีเดียวเหมือนระเบิดลง แผนแห่งการล้มเหลวอีกอย่างที่เราควรเตรียมไว้เสมอคือการถามตัวเองว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจหรือหน้าที่การงานเราได้คืออะไร? ตรึกตรองและลงรายละเอียด พร้อมกับวิธีการรับมือแก้ไขเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นเอาไว้

อย่างน้อยที่สุดหากความล้มเหลวพลังทำลายร้างขั้นสุดมาปะทะกับเรา เราจะได้ไม่มัวทรุดตัวมึนงง แต่เราคิดถึงมันไว้แล้ว พร้อมกับวิธีรับมือกับมัน แม้เมื่อความล้มเหลวเกิดขึ้นมันอาจไม่ได้มีรายละเอียดตรงกับที่เราแพลนไว้ 100% แต่การได้เตรียมพังไว้ กับการคิดว่าเราจะไม่มีวันพังเลย สติและวิธีการจัดการนั้นต่างกันลิบลับแน่นอน

มองข้ามช็อต เพราะเหตุใดจึงล้มเหลว? เหตุผลที่จะคอยดึงเราไว้ไม่ให้หลงทาง

หัวอกคนทำธุรกิจหรือคนทำงานที่ปั้นโปรเจกต์นั้น ๆ มากับมือ บางครั้งก็รู้สึกรัก ทุ่มเทให้ราวกับลูกในไส้ หลาย ๆ หนเราจึงเผลอใช้อารมณ์ หรือเข้าข้างกับสิ่งที่เราลงทุนลงแรงมากไป โดยไม่ได้พิจารณาหลายสิ่งจากข้อเท็จจริง

แผนแห่งการล้มเหลวอีกอย่างที่เราควรเตรียมไว้ก็คือ การพิจารณาว่าถ้ามีความผิดพลาดล้มเหลวเกิดขึ้นนั้น มันจะเป็นความผิดพลาดแบบไหนได้บ้าง? และความผิดพลาดนั้นจะมีสาเหตุมาจากอะไร? เช่น บริษัทขาดทุนย่อยยับเพราะตามเทรนด์ในตลาดไม่ทัน เพราะผู้บริหาร (ซึ่งก็คือตัวเราเอง) มั่นใจในความสามารถตัวเองมากจนไม่ยอมรับฟังคำแนะนำจากคนอื่น

การได้ลิสต์ความผิดพลาดล้มเหลว และสาเหตุของความผิดพลาดนั้น จะทำให้เราทำงานหรือดำเนินธุรกิจไปอบ่างมีสติและมองอะไรตามข้อเท็จจริงมากขึ้น เช่น ถ้าวันหนึ่งเรารู้สึกว่าเรารักธุรกิจที่เราทำมากับมือนี้มาก และเรารู้ดีที่สุด ใครจะมารู้ดีไปกว่าเราได้ อย่างน้อยการที่เราเคยลิสต์ไว้ว่านิสัยแบบนี้อาจนำไปสู่ความผิดพลาดในระยะยาว เราก็จะสามารถดึงตัวเองให้กับมามองความเป็นจริง หรือสิ่งที่ควรปรับได้มากขึ้นก่อนความล้มเหลวเหล่านั้นจะมาเยือน

“จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า…” ฝึกสมองให้คิดแก้ปัญหาเร็วไว

นักธุรกิจหรือคนทำงานที่ยืนอยู่บนความมั่นคงมาตลอด คิดแต่ว่าจะปีนขึ้นไปให้สูงขึ้น ๆ กว่านี้ได้อย่างไร? เราจะสำเร็จกว่านี้ได้ด้วยหนทางไหน ก็ไม่แปลกที่เมื่อหลายอย่างเริ่มพังทลาย หรือความล้มเหลวเข้าปะทะ แล้วเราปรับอะไรไม่ถูก

อีกแผนแห่งการล้มเหลว คือการฝึกตัวเองด้วยการโยนคำถามให้ตัวเอง “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า…” จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าพรุ่งนี้เราโดนปลดออกจากงานประจำ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าอีก 2 เดือนต่อจากนี้เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสถานการณ์แย่ลงจนสภาพจิตใจเราไม่พร้อมจะทำงาน จะเกิดอะไรขึ้นถ้า ลูกค้าไม่ซื้อเราอีกต่อไป ฯลฯ

คำถามเหล่านี้คือการเพิ่มสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งสถานการณ์ที่ดีและไม่ดี การโยนคำถามและฝึกให้ตัวเองคอยหาคำตอบ วันละ 1-3 คำถาม จะทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ว่า สถานการณ์อาจจะพลิกผันไปในทางที่เราไม่คาดคิดสุด ๆ ได้เสมอ ไม่เพียงเท่านั้น เรายังเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้า เมื่อสถานการณ์นั้นมาถึงจริง ๆ เราจะปรับตัวได้ทันที หรือเร็วกว่าการที่ไม่เคยคิดถึงมันมาก่อน

Plan for failure จึงเป็นสิ่งที่เราไม่ควรละเลย โดยเฉพาะถ้าอยากไต่ไปให้ถึงความสำเร็จทางธุรกิจและหน้าที่การงาน เพราะคนที่สำเร็จได้ ไม่ใช่คนที่ไม่เคยล้มเหลว แต่เป็นคนที่รู้วิธีรับมือและเรียนรู้จากความล้มเหลวเหล่านั้นได้ต่างหาก

 


SOURCE 12

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line