Business

ไม่อยากทำงาน! ‘Post-Vacation Blues’ภาวะหดหู่หลังหยุดยาว เรื่องเศร้าที่ใครก็เจอ

By: PSYCAT April 17, 2019

เมื่อวันสุดท้ายของวันหยุดยาวเดินทางไม่ถึงแบบไม่ทันตั้งตัว เสียงโอดครวญจากผู้ชายอกสามศอกอย่างเรา ๆ ก็ดังขึ้น เพราะรู้สึกว่าเรากำลังต้องกลับไปทำงานอีกแล้วเหรอเนี่ย? บางคนอาจแค่เซ็ง ๆ นอย ๆ บางคนอาจท้อนิด ๆ แต่บางคนอาจถึงขั้นหดหู่ทรมานจนไม่เป็นอันกินอันนอนเลยทีเดียว

แม้อาการแบบนี้จะเกิดขึ้นทุกครั้งหลังวันหยุดยาวจนเราอาจรู้สึกว่านี่ก็เป็นความรู้สึกเซ็งธรรมดาเมื่อต้องกลับไปทำงานนี่แหละ แต่ UNLOCKMEN ต้องบอกว่าคุณอาจกำลังคิดผิดอยู่ก็ได้ เพราะอาการ Post-Vacation Blues หรืออาการซึมเศร้าเหงาหว่องหลังวันหยุดยาว (ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว) เป็นอาการที่มีชื่อเรียกจริง มีคนเป็นกันจริง ๆ รับรองว่าไม่ใช่เราคนเดียวแน่ ๆ ที่มีอาการนี้ แล้วเราจะรับมือกับมันอย่างไรดี?

Post-Vacation Blues คืออะไรกันแน่?

17-03-21-crying-is-good-002

Post-Vacation Blues เป็นชื่ออาการที่ถูกเรียกแถบแคนนาดาและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ประเทศเครือสหราชอาณาจักรเรียกอาการนี้ว่า Post-Holiday Blues หรือชื่ออย่างเป็นทางการในวงการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า post-travel depression (PTD)

ภายใต้ชื่อภาษาอังกฤษชวนงุนงงหลายชื่อที่บอกไป ถ้าจะเข้าใจ Post-Vacation Blues อย่างง่ายที่สุด นี่คืออาการสุดเซ็งที่ต้องกลับไปใช้ชีวิตประจำวันหลังจากการได้หยุดยาว ๆ นั่นเอง

ไม่ต้องกังวลไปเราไม่ได้มีอาการแบบนี้อยู่คนเดียว เพราะคนที่เผชิญหน้ากับภาวะ Post-Vacation Blues นี้ล้วนแต่หดหู่กับการต้องกลับไปทำงาน เอาแต่คิดถึงความสุขในช่วงการได้หยุดพักผ่อน หรือการได้เดินทางไปเที่ยวที่ผ่านมา

Post-Vacation Blues มีที่มาอย่างไร?

youth-active-jump-happy-40815

ภาวะ Post-Vacation Blues เกิดจากการที่เรามีความสุข เราได้ไปสัมผัสกิจกรรมใหม่ ๆ สถานที่ใหม่ ๆ ผู้คนใหม่ ๆ หรือแม้แต่กิจกรรม สถานที่ ผู้คนเดิม แต่ในบริบทวันหยุดที่มีบรรยากาศชวนผ่อนคลายไม่เหมือนชีวิตประจำวันอันน่าเบื่อ

เมื่อเราเสพความสุข ความสนุก ความตื่นเต้นมาจนเต็มสูบ เมื่อต้องกลับมาเจอกิจกรรมวัตรประจำวันเดิม ๆ อันจืดชืดของตัวเอง จึงเกิดการเปรียบเทียบชีวิตปกติของตัวเองกับชีวิตช่วงวันหยุดว่าทำไมชีวิตประจำวันเรามันน่าเบื่อได้ขนาดนี้? แล้วก็จมลงอยู่กับความหดหู่นั้นไปชั่วขณะ ไม่อยากกลับมาใช้ชีวิตธรมดา อยากอยู่ในฝันแห่งวันหยุดยาวตลอดกาล

ภาวะ Post-Vacation Blues มักจะอยู่กับเราประมาณ 2-3 วันหลังจากวันหยุดยาว และมีแนวโน้มว่ายิ่งเรามีความสุขกับช่วงวันหยุดยาวของเรามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจะจมอยู่กับภาวะนี้มากเท่านั้น โดยรายที่เป็นหนัก อาการนี้ก็อาจอยู่กับเรายาวนานไป 2-3 อาทิตย์เลยเช่นกัน

แต่ไม่ต้องห่วงเพราะวันนี้ UNLOCKMEN มีวิธีรับมือกับอาการ Post-Vacation Blues มาไว้ใช้ต่อสู้ ใช้บรรเทาอาการซึมเทาแบบคร่าว ๆ จะได้ตื่นมาทำงานแบบกระตือรือร้นมีประสิทธิภาพ

เริ่มต้นงานอดิเรกใหม่ ๆ กันเถอะ

pexels-photo-31143

ตลอดเวลาแห่งวันหยุดยาว เรามักได้ทำอะไรที่แปลกใหม่ไปจากชีวิตประจำวันของตัวเอง หรือต่อให้เป็นกิจกรรมเดิน ๆ อย่างการเดินเล่น ดูหนัง กินข้าว ก็มักจะเป็นการได้ทำกิจกรรมนั้น ๆ ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำกับที่เราเจอทุกวัน

ภาพกรุงเทพฯวันหยุดยาวที่ร้างไร้ผู้คน การได้เดินสยามชิล ๆ แบบไม่ต้องเบียดคน หรือภาพวิวสถานที่ท่องเที่ยวที่เราไปพิชิตมายังติดตาติดใจอยู่ ความรู้สึกแปลกใหม่ของการได้ทำอะไรเหล่านั้นอาจขาดหายไปช่วงที่เรากลับมาจากวันหยุดยาวใหม่ ๆ

ดังนั้นอย่าปล่อยให้โอกาสดี ๆ หลุดลอยไป เราถือโอกาสเริ่มต้นการทำกิจกรรมใหม่ ๆ ให้ชีวิตตัวเองกันเถอะ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนภาษาใหม่ การลองทำอาหารต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเตือนเราถึงความรู้สึกตื่นเต้นตอนได้พักผ่อนยาว ๆ และทำอะไรใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี

นับถอยหลังรอวันหยุดครั้งหน้า

pexels-photo-297642

เมื่อเราเสพติดความสุขจากการพักผ่อน ก็บอกกับร่างกายและจิตใจตัวเองเสียเลยว่า ได้! ได้ไปพักแน่ โดยปักหมุดกำหนดทริปหน้าที่แน่นอน โดยอาจเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์แล้วออกทริปสั้น ๆ หรือจะเป็นวันหยุดยาวครั้งต่อไป วางแผนให้ชัดเจนไว้เลยว่าจะไปเที่ยวที่ไหน จะได้กินอะไร หรือจะได้เจอเพื่อนคนไหนบ้าง

การรอคอยว่าเมื่อไหร่จะได้หยุดไปพักแบบไม่มีจุดหมายอาจสร้างความรู้สึกว่านี่คือการรอคอยที่ไม่มีวันสิ้นสุด แต่ถ้าเรากำหนดวันไปเที่ยวครั้งต่อไปให้ชัดเจนขึ้น อย่างน้อยเราก็มีเรื่องน่าตื่นเต้นให้ตั้งตารอไปถึงวันนั้น

เชื่อมโยงชีวิตประจำวันกับวันหยุดยาวครั้งล่าสุด

17-04-11-wine-002

การที่อยู่ ๆ สนุกมาก ๆ แล้วความรู้สึกต้องมาจบลงอย่างกระทันหันเกินไปก็อาจสร้างความรู้สึกช็อคให้กับสภาพจิตใจได้ ดังนั้นอย่าให้ตัวเองกลับเข้าสู่สภาวะการทำงานแบบฉับพลันเกินไป ด้วยการเชื่อมโยงเรื่องราวของวันหยุดที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น

การเขียนบันทึกการเดินทางถึงทริปที่เราเพิ่งไปมา หรือการหัดทำอาหารท้องถิ่นของที่เที่ยวที่เราไปกินแล้วรู้สึกชอบ หรือถ้าเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศมาหมาด ๆ ก็เปิดเพลงภาษาของประเทศนั้นคลอ ๆ สร้างบรรยากาศเหมือนว่าเรายังอยู่ที่นั่นก็ดูชิคไปอีกแบบ หรือถ้าเพิ่งไปเจอเพื่อนที่นาน ๆ เจอกันทีก็เอารูปปาร์ตี้ครั้งล่าสุดมาตั้งไว้ดูต่างหน้า

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้รอบ ๆ ตัวเรายังมีกลิ่นอายของความสุข วันพักผ่อน และเรื่องราวดี ๆ ผสมผสานกับชีวิตประจำวันที่เราต้องใช้ และเราจะไม่รู้สึกว่าถูกดึงออกมาจากความสุขเร็วเกินไป

ทำความสะอาดบ้านดูไหม?

pexels-photo-31034

แม้จะฟังดูเป็นคำแนะนำที่แปลกที่สุด แต่การเคลียร์บ้าน ทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่หลังวันหยุดยาว จะช่วยทำให้เรากลับมาเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมที่เราเคยใช้ชีวิตก่อนวันหยุดยาวได้ดีที่สุดอีกทางหนึ่ง เนื่องจากวันหยุดอาจเป็นช่วงเวลาที่เราออกเดินทาง ไปเล่นน้ำ ไปกินข้าว ไปบ้านญาติ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกไม่คุ้นเคยกับบ้านตัวเองเสียอย่างนั้น

การทำความสะอาดบ้าน จัดข้าวของให้เข้าที่เข้าทางหลังช่วงวันพักผ่อน จึงสามารถช่วยให้เราปรับตัวเข้ากับความคุ้นเคยเดิม ๆ เรียนรู้ที่จะย้อนเตือนตัวเองถึงความสุข ความผ่อนคลายของการได้นอนพักผ่อนอยู่บ้าน

มองหาความสุขเล็กน้อยรอบตัว

pexels-photo-169687

ทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการรับมือภาวะ Post-Vacation Blues การที่เราเจอก้อนความสุขขนาดมหึมาช่วงวันหยุด อาจทำให้เราซึมซับกับความสุขเล็กน้อยรอบกายแล้วรู้สึกว่าไม่เต็มอิ่มเท่าเดิม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่านี่คือชีวิตเรา เราจะปล่อยให้ตัวเองหดหู่ไม่ได้ เริ่มเปลี่ยนความคิดเสียตั้งแต่ตอนนี้ว่า วันหยุดก็ดีนะ แต่ชีวิตเราปกติก็ไม่ได้แย่สักหน่อย

มองหาเรื่องที่เราชอบเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของตัวเองแล้วลิสต์เอาไว้ซึมซับความสุขเล็กน้อยรอบกายเหล่านั้น แม้ความสุขมันจะไม่ได้ถาโถมเข้ามาเหมือนวันหยุด แต่ถ้าเรามีความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ สะสมไปทุกวัน มันก็ดีไปอีกแบบใช่ไหมล่ะ

ก็รู้ว่ามันสนุกมากจริง ๆ วันหยุดที่ผ่านมา พอจะต้องกลับไปทำงานก็หดหู่นิด ๆ ท้อหน่อย ๆ ได้ แต่ก็อย่าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความทุกข์นาน ในเมื่อสุดเหวี่ยงกับการเที่ยวได้ เราก็ต้องกลับมาหามุมที่สุดเหวี่ยงในชีวิตประจำวัน ในงานของเราให้เจอ ถ้าค่อย ๆ ปรับใจให้คิดแบบนั้นแล้วความสุข ความสนุก ความตื่นเต้นคงไม่พ้นมือผู้ชายคูล ๆ อย่างเราไปได้

SOURCE1SOURCE2SOURCE3SOURCE4

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line