Business

ไปทำงานหรือไปสู้รบกับคน! “องค์กรที่ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยทางใจ”ทำให้คนทำงานห่วย

By: PSYCAT April 18, 2019

หากปราศจากความเชื่อใจ ความเป็นทีมก็ไร้ความหมาย

Paul Santagata ผู้เป็น Head of Industry แห่ง Google กล่าวไว้แบบนี้ และเราก็เห็นด้วยแบบปราศจากข้อกังขา คำพูดนี้ยังเชื่อมโยงกับทีมที่ทำงานมีประสิทธิภาพสูง ๆ ส่วนใหญ่มีสิ่งหนึ่งที่ตรงกันคือความรู้สึกมั่นคงทางใจ

ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่าความมั่นคงทางใจเชื่อมโยงกับความคิดสร้างสรรค์ การกล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ ลองจินตนาการดูสิว่าถ้าที่ทำงานที่เรามัวแต่กลัว กังวล ไม่มั่นใจว่าพูดอะไรก็ผิด พูดอะไรก็โดนต่อว่า โดนจ้องโจมตีตลอดเวลา จนเราไม่สามารถเชื่อใจหรือมั่นใจได้อีกต่อไป

สมองเราจะค่อย ๆ หยุดกระบวนการคิดหรือสร้างสรรค์ไปแล้วเอาแต่คิดว่าทำยังไงถึงจะเอาชนะได้เท่านั้น ซึ่งถ้าทุกคนในทีมคิดแต่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ก็คงไม่ต้องพูดถึงคุณภาพงานอีกต่อไปว่ามันจะห่วยลงแค่ไหน

ตื่นไปทำงานหรือตื่นไปรบ?” ถามตัวเองก่อนจะสายเกินไป

ในทางกลับกัน ถามตัวเองสิว่าวันนี้เราตื่นขึ้นมาไปทำงานด้วยความรู้สึกแบบไหน? ถ้ามีความสุขเต็มเปี่ยมอยากไปทำงานที่รักเต็มที่ดีใจด้วยที่คุณรู้สึกมั่นคงทางใจกับงานตรงหน้า

แต่ถ้ากำลังรู้สึกว่าการทำงานไม่ต่างอะไรจากการเดินเข้าสนามรบหรือสังเวียนต่อสู้ ต้องไปฟาดฟันเอาชนะกับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าอย่างหนักตลอดเวลา แถมเป็นการสู้ที่ไม่ได้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า แต่คล้ายว่าต้องสู้เพื่อหาว่าใครแพ้ใครชนะ ใครผิดใครถูกตลอดเวลา เสียใจด้วยคุณอาจกำลังอยู่ในทีมที่ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยทางใจให้ และมันคือส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของคนทั้งทีมห่วยลง!

แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไป ทุกปัญหามีทางออก ในเมื่อเรารู้แล้วว่าความรู้สึกมั่นคงทางใจเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ทีมทำงานได้มีประสิทธิภาพ เรายิ่งต้องสร้างพื้นที่และบรรยากาศการทำงานให้เป็นแบบนั้น เพราะไม่ว่าจะอยู่ในฐานะหัวหน้างาน คนทำงาน หรือตำแหน่งไหน เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของทีมและองค์กรทั้งนั้น องค์กรควรจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนทำงานรู้สึกท้าทาย แต่ไม่ใช่รู้สึกไม่ปลอดภัย พร้อมปะทะและเอาอีกฝ่ายให้ถึงตายตลอดเวลา

ถ้าอยากสร้างความมั่นคงทางใจไม่ใช่สนามรบ ลองใช้ หนทางต่อไปนี้ดู

เมื่อต้องถกเถียง ถกกันอย่างเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่ศัตรูคู่แค้น

ความพ่ายแพ้คือสิ่งท้าย ๆ ที่จะสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้มนุษย์ได้ เพราะการรู้สึกแพ้จะกระตุ้นให้ทุกคนเข้าใจว่ามาตรฐานการทำงานปกติคือการต้องต่อสู้แข่งขันกันเพื่อหาผู้แพ้ผู้ชนะเท่านั้น ไม่ได้หาคุณภาพ

ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหา ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน การถกเถียงควรถกเถียงกันแบบเพื่อนร่วมงาน แบบคนที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน ไม่ใช่มุ่งเอาแต่เอาชนะหรือพยายามหาข้อผิดพลาดมาทิ่มแทงอีกฝ่ายให้เละที่สุด วิธีการแบบนี้องค์กรจะไม่ได้อะไรใหม่ ๆ เลย

แทนที่จะสู้กันเพื่อหาว่าใครถูกหรือผิดสิ่งที่ควรทำคือการถามว่าเราจะไปถึงผลลัพธ์ที่ต้องการร่วมกันได้อย่างไรเพราะเราต้องตระหนักอยู่เสมอว่าการถกเถียงครั้งนี้มันเพื่อหาทางออกให้กับงานและขับเคลื่อนองค์กรต่อไป

วิธีที่ต่างไม่ได้แปลว่าผิด แค่ไม่ตรงกันและต้องหาจุดร่วมเพื่อผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร ไม่ใช่การเอาชนะ เมื่อใดที่การถกเถียงเป็นไปเพื่อหาทางออก เมื่อนั้นความปลอดภัยทางใจในทีมจะเพิ่มขึ้นมาเอง

คุยกันอย่างเคารพความเป็นมนุษย์ของทุกฝ่าย

รากฐานสำคัญของการเผชิญหน้าที่ทุกคนในทีมหรือองค์กรต้องจำให้ขึ้นใจคือการเคารพในความเป็นมนุษย์ อาจจะงง ๆ ว่าเคารพในความเป็นมนุษย์มันหน้าตาเป็นแบบไหน?

ก็เพราะเราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์หรือหุ่นยนต์ในสายพานการผลิตที่เหมือน ๆ กันไปหมดนี่แหละ เราถึงแตกต่าง หลากหลายและมีความคิด ความเชื่อเป็นของตัวเอง

ดังนั้นมันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะคิดเหมือนกันไปหมด แต่ภายใต้ความหลากหลายนี้เมื่อต้องคุยกัน จงคุยกันด้วยความเคารพในความต่างของอีกฝ่าย

การตระหนักถึงความเป็นมนุษย์อันหลากหลายของคนในทีมจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวอีกฝั่งมากขึ้น เพราะการที่เขามีประสบการณ์ต่างจากเรา เจอสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนเรา หรือแม้แต่ตำแหน่งงานที่ไม่เหมือนกัน อาจหมายความว่าเขารู้หรือเข้าใจอะไรในมุมที่เราไม่เข้าใจก็เป็นได้

ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะนึกถึงความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายอย่างไร ลองจำวลีนี้ไปใช้เหมือนเรานี่แหละ เช่น พี่อาทิตย์เขาก็มีความเชื่อ มีทัศนคติและประสบการณ์ที่คิดว่าดีที่สุดเหมือนเรานี่แหละ’, คุณศวิตาก็อยากให้บริษัทได้ผลประโยชน์สูงสุดเหมือนเรานี่แหละ’, น้องสมคิดก็คงอยากได้ความเคารพเวลาโดนวิจารณ์งานเหมือนเรานี่แหละ

การหาจุดร่วมในความเป็นมนุษย์ว่าอีกฝั่งก็เหมือนเรานี่แหละ” ทุกคนก็ล้วนมีความคิดความรู้สึกอยากช่วยให้ทุกคนในทีมทำงานร่วมกันด้วยความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยทางจิตใจมากขึ้น เพราะเรามองเห็นกันในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์ที่มาทำงานหาเงินอย่างไรจิตวิญญาณ

ลองแทนตัวเองในตำแหน่งคนอื่น

ในการทำงานที่ต้องการความคิดเห็นจากหลายฝ่ายเสมอ ๆ การถกเถียงกันจึงเป็นเรื่องปกติ แต่หลายครั้งที่การถกเถียงดำเนินต่อไปโดยที่เราไม่รู้เลยว่าเรากำลังปกป้องความคิดเห็นเรื่องงานของตัวเองหรือเรากำลังปกป้องอีโก้ของเราที่ไม่ยอมแพ้กันแน่ ?

หนทางหนึ่งที่ดีคือเมื่อใดที่มีการประชุม หรือเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงกันเรื่องไอเดีย เราควรลองสร้างสถานการณ์สมมติไว้ล่วงหน้าว่าเมื่อเราพูดไอเดียนี้ออกไป คนอื่นจะคิดเห็นและโต้ตอบกลับมาอย่างไรบ้าง? เมื่อคิดได้แล้วก็ลองตอบคำถามหรือข้อโต้แย้งเหล่านั้นด้วยเหตุผลไว้ล่วงหน้าดู

การที่เราแทนตัวเองไปในสถานการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นจะช่วยทำให้เราเห็นว่า เวลาเราตอบตัวเองอย่างมีเหตุผลนั้นเป็นอย่างไร? ทำให้เห็นว่าไอเดียของเราอาจมีจุดด้อยแบบไหนบ้าง? และเมื่อเจอข้อโต้แย้งอย่างนั้นจริง ๆ เราจะเข้าใจได้ว่าข้อโต้แย้งนั้นมีเหตุผล และเราจะรู้ทันทีว่าเรากำลังตอบกลับไปอย่างมีเหตุผลอย่างที่เตรียมมา หรือเราก็ดันหัวร้อนเพราะโกรธที่คนมาวิจารณ์จนเป๋ไปเลย

สามคำถามหลัก ๆ ที่ควรถามตัวเองอยู่เสมอ คือ

  1. ประเด็นหลักของเราคืออะไร?
  2. คนอื่น ๆ มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อไอเดียของเราอย่างไรบ้าง?
  3. เราจะตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านั้นอย่างไร

การเอาตัวเองมาเป็นบุคคลที่สามในสถานการณ์หรือลองจินตนาการว่าคนอื่นจะคิดยังไงจะทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เห็นข้อด้อยตัวเองมากขึ้นและอาจเห็นมุมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นโดยไม่ได้จดจ่ออยู่แค่การปกป้องไอเดียตัวเองเพราะกลัวแพ้

เปลี่ยนจากต่อว่าเป็นตั้งคำถาม

ไม่ว่าใครก็ตาม เมื่อรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกต่อว่าย่อมรู้สึกเหมือนตัวเองถูกโจมตีอยู่ จึงไม่แปลกที่การถูกต่อว่าในองค์กรบ่อย ๆ จะทำให้คนทำงานรู้สึกว่าโดนจ้องเล่นงานอยู่เสมอจนรู้สึกไม่มีความมั่นคงทางใจ

แต่ถ้าไม่ต่อว่าเรามีทางเลือกไหนอีกบ้าง? อีกทางเลือกแทนการต่อว่าคือการตั้งคำถาม เพราะการต่อว่าแปลว่าเราคิดแทนเขาหมดแล้วว่าเขาคิดอะไร รู้สึกอะไร ถึงทำสิ่งนั้นออกมาและเราตัดสินว่ามันผิด สมควรถูกต่อว่า แต่การตั้งคำถามหมายความว่าเราต้องการรู้ว่าเขาคิดอย่างไร หรือมีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้เขาต้องทำสิ่งนี้ออกมา

ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้ชี้แจงในมุมของตัวเอง เช่นการถามว่าผมคิดว่าคุณไม่ได้ตั้งใจให้มันออกมามีลักษณะแบบนี้ คุณน่าจะมีปัจจัยหลายอย่างที่ผลักให้ต้องทำ ลองเล่าให้ผมฟังหน่อย

แทนที่จะสั่งให้เขาไปแก้หรือปรับ ลองตั้งคำถามคนในทีมคนนั้นว่าคุณว่าเราควรทำยังไงต่อดี?” เพื่อให้เขารู้สึกมั่นคงว่าเรายังให้โอกาสเขาได้แก้ไขสิ่งที่พลาดไป และที่สำคัญที่สุดคือคำถามที่ว่าผมพอจะช่วยคุณได้มั้ย อยากให้ผมช่วยอะไรบ้าง

การมีเพื่อนร่วมทีมที่ต้องการหาต้นเหตุแห่งความผิดพลาดและแก้ไขได้ตรงจุด โดยไม่เอาแต่ต่อว่าและชี้นิ้วสั่งจะช่วยให้องค์กรกลายเป็นพื้นที่แห่งความมั่นคงทางใจได้มากขึ้น

กล้าวิจารณ์ก็ต้องกล้ารับคำวิจารณ์กลับ

ในฐานะหัวหน้างานหรือบางตำแหน่งที่เรามักต้องแสดงความคิดเห็นหรือวิจารณ์งานหรือไอเดียของคนในทีมอยู่เสมอ หลายครั้งที่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเราพูดโอเคไหม? แรงไปหรือเปล่า? หรืออ้อมไปอ้อมมาจนคนฟังไม่ได้อะไร? หรือบางทีเราอาจเป็นคนที่สั่งงานไม่รู้เรื่องจนได้งานแย่ ๆ ออกมาแล้วเอาแต่โทษว่าคนอื่นทำงานผิดโดยไม่เคยถามตัวเองเลยด้วยซ้ำว่าเราสื่อสารเป็นยังไง

ดังนั้นอีกทางที่จะสร้างความมั่นคงทางใจโดยไม่เอาแต่โทษคนอื่นก็คือหลังจากการการวิจารณ์งานครั้งที่สำคัญ ๆ หรือสั่งงานครั้งใหญ่ ทุกครั้งเราควรถามคนที่เราวิจารณ์ไปตรง ๆ เลยว่า

  • การวิจารณ์ครั้งนี้ของผมเป็นไงบ้าง อะไรที่คุณว่ามันโอเคและอะไรที่ไม่โอเค?”
  • คุณได้ฟังข้อความพวกนี้จากผมแล้วรู้สึกอย่างไร?”
  • คุณว่าผมควรปรับการวิจารณ์ (หรือการสั่งงาน) ยังไงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น?”

ครั้งหนึ่ง Paul Santagata ผู้เป็น Head of Industry แห่ง Google เคยถามคำถามพวกนี้กับผู้จัดการอาวุโสของเขา และผู้จัดการคนนั้นตอบกลับมาว่า

“ผมรู้สึกเหมือนโดนต่อยเข้าที่ท้องแรง ๆ  แต่คุณไม่ได้แค่ต่อยนี่เนอะ คุณแสดงหลักฐานที่สมเหตุสมผลและนั่นแหละทำให้ผมอยากฟังมากขึ้นด้วยซ้ำ คุณกระตือรือร้นและดูอยากหารือจริง ๆ ว่าผมอยากแก้ไขมันอย่างไร ซึ่งนี่แหละนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริง”

นอกจากนั้นการทำแบบนี้ยังทำให้เห็นด้วยว่าเราไม่ได้มาเพื่อวิจารณ์อย่างเดียว แต่เรามาเพื่อรับฟังคำวิจารณ์ด้วย คนในทีมจะเห็นว่าเราก็เป็นคนที่เปิดใจรับฟังคนหนึ่ง

อยากให้ทุกคนรู้สึกมั่นคงทางใจก็ต้องถามทุกคนสิ!

หนทางที่เราบอกไปทั้งหมดก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่  Paul Santagata ทำเป็นประจำก็คือการถามคนในทีม ถามพนักงานในองค์กรตัวเองเป็นประจำว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรบ้าง ? รู้สึกมั่นคงปลอดภัยทางใจแค่ไหนเมื่อต้องทำงาน

การถามโดยตรงหรือมีแบบสำรวจคอยดูในช่วงเวลาที่สม่ำเสมอนอกจากจะได้คำตอบโดยตรงยังแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจความรู้สึกของคนในทีมสิ่งนี้ยิ่งทำให้เห็นว่าเราพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาไม่ใช่แค่ใช้แรงงานแล้วจบไป

การทำงานในสถานการณ์ที่ใจพร้อม อย่างไรก็มีประสิทธิภาพดีกว่าการทำงานด้วยใจกระวนกระวายและรู้สึกไม่มั่นคง 6 หนทางต่อไปนี้ UNLOCKMEN เชื่อว่าถ้าไปปรับใช้ดี ๆ ไม่ใช่แค่ในที่ทำงานเท่านั้น ในความสัมพันธ์ ในครอบครัว หรือระดับที่ใหญ่กว่านั้นได้ และการเป็นคนที่เคารพผู้อื่นและอยากมอบความมั่นคงทางใจให้คนอื่นช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่นและมีความฉลาดทางอารมณ์ขึ้นหลายระดับ

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line