Life

นอนไม่พอเป็นเรื่องใหญ่ นักวิจัยพบนอนชดเชยให้ร่างกายกลับมาฟิตเต็มร้อยนั้นแสนยาก

By: Chaipohn September 15, 2021

“นอนน้อยแต่นอนนะ แล้วเดี๋ยวค่อยนอนชดเชย” แนวคิดที่คนส่วนใหญ่วันนี้เชื่อเหมือนกันทั่วโลก แต่หลายคนอาจสังสัย ทำไมนอนยาว ๆ มาหลายคืน แต่ตื่นเช้ามากลับไม่รู้สึกสดชื่นแจ่มใสเลยแม้แต่นิดเดียว แถมยังเหนื่อยล้าสะสมจนกระทบทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจกลายเป็นคนห่อเหี่ยว

ทั้งหมดเกิดจาก “ปัญหาการนอน” ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของคน 45% ในโลกมีปัญหา

บอกก่อนเลยว่าปัญหานี้ไม่เกี่ยวกับอายุ แม้จะมีความเชื่อผิด ๆ ว่าวัยรุ่นมีพลังการฟื้นตัวที่ดีกว่าผู้ใหญ่ เพราะในผลวิจัย “Observing changes in human functioning during induced sleep deficiency and recovery periods” ทดลองกับวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีเวลานอนพักผ่อนน้อยกว่ามาตรฐานราว 30% เป็นเวลา 10 คืนต่อเนื่อง พบว่ามีผลข้างเคียงคือสติและการประมวลผลมีประสิทธิภาพต่ำกว่าปกติ สมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย ไม่สามารถรับอะไรใหม่ ๆ เข้าหัวได้ คิดอะไรสร้างสรรค์ไม่ออก ความสามารถในการแก้ปัญหาและตัดสินใจไม่เฉียบคมเหมือนปกติ แม้จะนอนให้เพียงพอเพื่อชดเชยถึง 7 วันแล้ว ก็ยังไม่สามารถกลับมาสดชื่นเหมือนเดิมได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมบางคนถึงรู้สึกง่วงไร้เรี่ยวแรงตลอดเวลา ในขณะที่บางคนมีพลังงานเต็มถังอยู่เสมอ

ตามรายงานจาก US Centers for Disease Control and Prevention  หากคุณตื่นเป็นเวลา 18 ชั่วโมงต่อเนื่อง จะมีผลให้ร่างกายเบลอเทียบเท่าการมีแอลกอฮอล์ในเลือดประมาณ 0.05% และหากไม่นอนเต็มเวลา 24 ชั่วโมง จะเพิ่มเป็น 0.10% ซึ่งใครเคยทำงานหนักแบบโต้รุ่งแล้วต้องขับรถไป present ลูกค้าจะนึกอาการนี้ออกได้ง่าย

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่สะท้อนพฤติกรรมการนอนของคนรุ่นใหม่ คือการนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน ทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ต่อเนื่อง ซึ่งแม้คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าร่างกายทำงานเป็นปกติ แต่ความจริงแล้วทั้งความจำและการตอบสนองทำงานได้ย่ำแย่ไม่แพ้คนที่อดนอนมาสองคืนติดต่อกันเลยทีเดียว

สาเหตุเป็นเพราะสมองของเราต้องการพักผ่อนแบบสนิทและสงบตาม sleep cycles ครบทุกขั้นตอนอย่างที่ควรจะเป็น เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและเคลียร์ความเครียดสะสมในสมองที่ต้องเจอความหนักหน่วงมาตลอดทั้งวัน ซึ่งมันจะซ่อมแซมให้เราไม่ครบกระบวนการหากร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอนั่นเอง

แล้วต้องนอนให้เพียงพอกี่วัน ถึงจะสามารถชดเชยจนร่างกายกลับมาทำงานเต็มประสิทธิภาพได้? นักวิจัยบอกว่า “ก็ไม่รู้เหมือนกัน” 

ไม่มีตัวเลขระบุแน่ชัดเป็นสมการได้ เพราะแต่ละคนมีสภาพร่างกาย พฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ที่แนะนำคือพยายามอย่าอดหลับอดนอนจะดีที่สุด ให้เริ่มมอบความสำคัญกับการนอนหลับเป็นลำดับต้น ๆ ของตารางในชีวิตประจำวัน หรือหากจำเป็นต้องอดนอนจริง ๆ ก็จงพยายามเคลียร์ตารางให้ตัวเองได้นอนชดเชยให้มากที่สุด

ที่สำคัญคืออย่าคิดว่าต้องดื่มเหล้าเพื่อให้นอนหลับง่าย นักวิจัยแนะนำว่าการนอนอย่างมีประสิทธิภาพคือการนอนด้วยสภาพร่างกายปกติ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ทานอาหารก่อนนอน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พยายามสะกดจิตตัวเองให้เข้านอนเป็นเวลา และที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าจากหน้าจอ smartphone อย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงก่อนนอน

แม้จะเป็นวิธีที่ดูค่อนข้างเบสิค แต่อย่างน้อยเมื่อเรารู้ถึงผลกระทบอันรุนแรงกว่าที่เคยคาดเอาไว้ ก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นที่ดีที่จะเริ่มหันมาจริงจังกับการนอนมากขึ้น

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line