Business

ตอบไม่รู้แต่ดูฉลาด ‘4 วิธีตอบคำถามที่ไม่รู้’ ให้ดูเป็นมืออาชีพในที่ทำงาน

By: PSYCAT April 18, 2017

ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ผู้ชายอย่างเรา ต้องเผชิญหน้ากับคำถามเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่คำถามง่ายแสนง่าย อย่าง “วันนี้กินอะไรกันดี?” (ซึ่งจริง ๆ แค่คำถามแบบนี้ก็ไม่ง่ายแล้ว ถ้าแฟนเป็นคนถาม) ไปจนถึงคำถามที่ต้องการการตัดสินใจอย่างเรื่องงาน หรือคำถามที่ต้องการข้อมูล ต้องการความคิดเห็นเป็นคำตอบ

แน่นอนว่าเราไม่ใช่ Google จะมีคำตอบไปทุกสิ่งอย่างในทันใดก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่การเอาแต่ตอบปฏิเสธทุกคำถามว่า “ผมไม่รู้ ๆ” บ่อยครั้งเข้า ก็ดูจะเป็นการสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพ ดูขาดความเตรียมพร้อมและไม่มืออาชีพไปสักหน่อย โดยเฉพาะในที่ทำงาน ดังนั้นเพื่อคงความเป็นมืออาชีพเอาไว้ UNLOCKMEN ขอเสนอ 4 ประโยคเด็ดที่ใช้บอกว่า”ผมไม่รู้”แต่ทำให้ดูฉลาดขึ้นได้ อยากบอกผมไม่รู้ในที่ทำงาน (หรือที่อื่น ๆ ) ครั้งหน้า ลองเปลี่ยนมาใช้ประโยคพวกนี้แทนดีกว่า

1. “เดี๋ยวไปหาคำตอบมาให้นะครับ”

pexels-photo-57825

เมื่อเราเอาแต่ส่ายหัวและบอกว่า “ผมไม่รู้” นอกจากแสดงให้เห็นว่าเราไม่มีคำตอบ อาจแปลว่าเราไม่ใส่ใจที่จะช่วยเพื่อนร่วมงานอีกด้วย

ดังนั้นการบอกว่าเดี๋ยวจะหาคำตอบมาให้เป็นการตอบกลับที่มีคุณภาพมากที่สุดอีกวิธีหนึ่ง เพราะเป็นคำตอบแบบที่เราก็กล้ายอมรับแบบแมน ๆ ว่าคำตอบนี้เรายังไม่รู้ตอนนี้หรอกนะ แต่เราไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้นเพราะเราจะพยายามไปหาคำตอบมาให้พวกเขาด้วยต่างหาก

นอกจากนั้นการบอกว่าจะไปหาคำตอบมาให้ทีหลังยังทำให้คุณดูเป็นคนพึ่งพาได้ มีประโยน์ ช่างค้นหาข้อมูลในสายตาเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้างได้อีกด้วย

2. “ผมก็สงสัยอยู่เหมือนกัน”

pexels-photo-70292

ถ้าคำถามที่เราถูกถามมา นอกจากเราไม่รู้แล้ว ยังยากไปอีกระดับโดยที่เราก็ไม่รู้จะไปหาข้อมูลจากไหนมาตอบคำถามนี้เหมือนกัน เจอสถานการณ์แบบนี้ก็ไม่ต้องห่วงไป

แทนที่จะตอบว่า”ไม่รู้”เฉย ๆ เราอาจตอบว่า”เรื่องนี้ก็กำลังอยากรู้อยู่เหมือนกัน” การตอบแบบนี้จริง ๆ ความหมายก็ไม่ต่างกับการบอกว่าไม่รู้เท่าไหร่ แต่มันช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนถามให้อยู่ฝั่งเดียวกัน

เนื่องจากแม้เราสองคนไม่รู้คำตอบเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าไม่รู้ แล้วเราตัดจบการสนทนาเพียงเท่านั้น แต่เราจะดูเป็นมืออาชีพขึ้นเพราะเรากำลังสนใจ สงสัย และอยากรู้ในเรื่องเดียวกันกับเขา โดยอาจจะสานต่อบทสนทนาไปว่าเราสงสัยในประเด็นไหนเพิ่มเติม เราจะช่วยกันหาข้อมูลหรือคำตอบในเรื่องนี้กันในรูปแบบไหนได้บ้าง

3. “อืมม ถ้าให้ผมตอบให้ดีที่สุด ผมคิดว่า…”

17-03-29-helpful-001

บางทีคำถามก็ยาก ซับซ้อน จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่ามันมีคนที่รู้คำตอบที่แน่นอนของเรื่องนี้อยู่จริง ๆ ด้วยเหรอ? ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็อาจเป็นการเดา แต่ก็ไม่ใช่เดามั่ว ๆ แต่เดาเอาจากพื้นฐานความรู้ที่เรามี หรือเคยเรียนมา เคยอ่านเจอมา

สิ่งสำคัญก็คืออย่าตอบเหมือนว่าคำตอบนั้นเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด ใช่ที่สุด แต่ให้ตอบว่านี่เป็นแค่ทฤษฎีที่เราคิดขึ้นเอง โดยอ้างอิงจากความคิดแบบนี้ หรือความรู้แบบนั้น โดยไม่ชี้ชัดลงไปว่านี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องเชื่อฟัง

การตอบแบบนี้จึงดูมีความมืออาชีพ เพราะเราได้แสดงความคิดเห็น ได้บอกว่าเรารู้อะไรบ้าง แต่ก็ไม่ดูอวดเกินไปเพราะเราก็ไม่ฟันธงว่านี่คือคำตอบที่ดีที่สุด แถมเป็นการเปิดโอกาสให้คนในวงสนทนาได้ร่วมถกเถียงกันว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำตอบของเรา รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงคำตอบที่เขาคิดว่าดีที่สุดของตัวเองออกมากด้วย

4. “ทำไมเราไม่ลองถาม…ดูล่ะ?”

pexels-photo-288477

เมื่อคำถามถูกถามขึ้นมา บางทีเราก็รู้ทันทีเลยว่าเราไม่ใช่คนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด อาจจะมีพี่แผนกข้าง ๆ ที่เจ๋งเรื่องนี้จริง ๆ หรือเรามีเพื่อนที่ทำธุรกิจด้านนี้โดยเฉพาะซึ่งจะตอบคำถามนี้ได้รู้ลึก รู้จริงกว่าเราแน่ ๆ

ไม่ต้องกลัวว่าการส่งต่อคำถามไปให้คนอื่นจะดูเหมือนเป็นการปัดความรับผิดชอบ เพราะในภาพรวมการทำแบบนี้เป็นเรื่องที่ฉลาดมาก ๆ ในการยอมรับว่ามีคนที่มีความรู้มากกว่าเรา และไม่ลังเลที่จะเปิดโอกาสให้คนคนนั้นตอบ เราจึงดูเป็นมืออาชีพที่ยอมรับขอบเขตความรู้ของตัวเอง และไม่กีดกันคนอื่น เท่ไปอีก

การไม่รู้เป็นเรื่องไม่ผิด การตอบว่าไม่รู้ก็ยิ่งไม่ผิดเหมือนกัน ดีกว่าไม่รู้แล้วแถไปว่าตัวเองรู้เป็นไหน ๆ แต่ประโยค 4 ประโยคข้างบน ก็นับเป็นอีกทางเลือกในกรณีที่พูดคำว่าไม่รู้บ่อยเกินไปแล้ว ใช้ 4 ประโยคนี้แทนก็จะช่วยสร้างความเป็นมืออาชีพในบทสนทนาได้มากขึ้นกว่าเดิม

 

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line