Life

สร้างข้ออ้างเพื่อลดความเจ็บเมื่อล้มเหลว !! รู้จัก SELF-HANDICAPPING อาการขัดขวางความสำเร็จของตัวเอง

By: unlockmen March 29, 2021

สมัยเรียนเคยกันไหม ? ทั้ง ๆ ที่พยายามอ่านหนังสือและตั้งใจเรียนมาตลอด แต่พอถึง 1 วันก่อนสอบ เรากลับเลือกที่จะนอนดึก วันสอบเลยไม่ค่อยพร้อมทำข้อสอบเท่าไหร่ หรือ ตอนทำงาน เคยมีช่วงที่ต้องนำเสนอโปรเจ็กต์ใหญ่ แต่พยายามทำตัวเองให้ไม่พร้อมนำเสนอไหม ?

พฤติกรรมทำลายตัวเองเหล่านี้เรียกว่า “Self-handicapping” ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อเราต้องการป้องกันความเจ็บปวดจากความล้มเหลวหรือผิดหวัง มันจะเปิดช่องให้เราโทษอย่างอื่นได้ เช่น เมื่อผลการสอบแย่ เราสามารถโทษเพื่อนที่ชวนนอนดึกได้ โดยไม่ต้องโทษตัวเองที่ไม่ยอมเตรียมพร้อม หรือว่า ตอนที่ทำงานได้ไม่ดี เราจะสามารถโทษบรรยากาศที่ไม่เป็นใจแทนที่จะโทษตัวเองที่ไม่ยอมตั้งใจทำงานได้เหมือนกัน

แม้ Self-handicapping จะปกป้องใจเราได้จริง แต่มันก็ทำให้เราทำงานได้แย่ลง ตัดสินใจได้แย่ลง และใช้ชีวิตได้แย่ลงเหมือนกัน เราเลยอยากให้ทุกคนรู้ทันอาการ Self-handicapping พร้อมแนะนำวิธีที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถผ่านมันไปได้ดีด้วย


Self-handicapping เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ถ้าพูดกันตาม common sense ใคร ๆ ก็อยากประสบความสำเร็จ และก้าวหน้าในสิ่งที่ตัวเองทำกันทั้งนั้น Self-handicapping จึงไม่น่าจะเป็นพฤติกรรมของคนปกติสักเท่าไหร่ แต่ความเป็นจริง Self-handicapping เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะธรรมชาติของมนุษย์มักรับความผิดหวังไม่ได้ พอทำพลาดขึ้นมา มักรู้สึกไม่สบายใจ เครียด ซึมเศร้า ฯลฯ กัน ส่งผลให้ความภาคภูมิใจในตัวเอง (self-esteem) ลดลงอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย ดังนั้น เราจึงมัก Self-handicapping กัน เพื่อที่จะไม่ต้องโทษตัวเอง ไม่ต้องเจ็บปวดมาก และสามารถปกป้อง self-esteem ของตัวเองไว้ได้ตลอด

ปรากฎการณ์ Self-handicapping ได้รับการวิจัยกันมานานกว่าหลายสิบปีว่า เกิดขึ้นจากความไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 Stephen Berglas และ Edward Jones สองนักวิจัยได้ทำการทดลองให้เด็กนักเรียนเล่นอนาแกรม 2 ประเภท ได้แก่ แก้ได้ และ แก้ไม่ได้ หลังจากนั้น นักวิจัยได้บอกนักเรียนว่าทำได้ยอดเยี่ยม เพื่อให้กลุ่มที่เล่นอนาแกรมแบบแก้ไม่ได้ เกิดความสับสน แล้วจึงให้พวกเขาเลือกรับยา 2 ประเภท ได้แก่ ยาที่จะช่วยให้พวกเขาทำผลการทดสอบได้ดีขึ้น และยาที่จะทำพวกเขาทำผลการทดสอบได้แย่ลง (ซึ่งขั้นนี้เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการทดลองนี้เลย) ก่อนที่นักวิจัยจะให้เกิดการทดลองเล่นอนาแกรมอีกครั้ง

ผลการทดลองออกมาว่า กลุ่มที่เล่นอนาแกรมแบบแก้ไม่ได้เกินครึ่งเลือกที่จะรับยา ‘ลดความสามารถของตัวเอง’ ในขณะที่กลุ่มเล่นอนาแกรมแบบแก้ได้เลือกที่จะรับยาประเภทนี้แค่ 13% เท่านั้น นำไปสู่ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยว่า เมื่อคนมั่นใจในความสามารถของตัวเอง พวกเขาจะอยากได้สิ่งที่ช่วยให้พวกเขาทำงานได้ดีขึ้น ในขณะที่ คนที่ไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง มักจะต้องการยาที่ทำให้เขาทำผลงานได้แย่ลง เพื่อให้พวกเขามีปัจจัยภายนอกในการกล่าวโทษเมื่อล้มเหลว หลังจากนั้นก็มีการศึกษาเรื่อง Self-handicapping กันมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและวิชาการ


เราจะเลิกขัดแข้งขัดขาตัวเองได้อย่างไรบ้าง ?

จากทั้งหมดที่พูดกันมา หลายคนคงเห็นแล้วว่า Self-handicapping ไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ และทำให้เราสูญเสียอะไรไปมากมายเหมือนกัน เราเลยอยากมาแนะนำวิธีการเอาชนะอาการนี้กันแบบจริงจังกัน เริ่มจาก

รู้ตัวเมื่อพฤติกรรมนี้เกิดขึ้น

สิ่งแรกที่เราควรทำ คือ รู้ตัวเวลาที่ Self-handicapping เกิดขึ้น โดยเราจะรู้ตัวได้ ก็ต้องลองถามตัวเองด้วยคำถามนี้ “ทำไมเวลาต้องการทำงานให้ดี ถึงไม่ค่อยทุ่มเทให้กับมันมากพอ ?” เราอาจพบว่า ตัวเองกลัวล้มเหลว เลยไม่ค่อยใส่ใจ หรือพบว่า ตัวเองไม่ค่อยมีความมั่นใจ เลยทำงานแบบไม่ตั้งใจ

เราอาจลองคิดย้อนกลับไปว่า ที่ทำงานไม่ดี หรือ เรียนได้แย่ เป็นเพราะเราไม่ถนัดจริงหรือเปล่า เราอาจพบว่า จริง ๆ แล้ว เหตุผล คือ เราเตรียมตัวไม่พร้อมเองก็ได้ การรับรู้และยอมรับว่าาปัญหาเกิดจากตัวเรเาอง จะเป็นก้าวแรกที่จะช่วยให้เรารอดพ้นจากนิสัย Self-handicapping ไปได้

ฝึก Growth Mindset

ถ้าเราเชื่อว่าไม่มีวันเปลี่ยนแปลงตัวได้แล้ว เราจะยิ่งติดอยู่ใน Self-handicapping เพราะเราจะไม่เห็นโอกาสที่เราจะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และเลือกที่จะหาข้ออ้างในการทำผลงานที่ยอดแย่ของตัวเอง แทนที่จะทำให้เกิดเรื่องแบบนั้น จะดีกว่าหากเชื่อว่าตัวเองสามารถพัฒนาขึ้นได้ตลอดเวลา เพียงแค่ลงแรง และทุ่มเทให้กับมันอย่างเต็มที่ และที่สำคัญอย่าเอาคุณค่าของตัวเองไปแขวนไว้ที่ความสามารถของตัวเอง เราควรมองเห็นคุณค่าในตัวเองทุกที่ทุกเวลา

อย่าเอาความล้มเหลวมานิยามตัวเอง

ล้มเหลวกี่ครั้งก็ไม่สำคัญ เท่ากับลุกขึ้นมาได้ใหม่ เพราะถ้าเราไม่ลุกขึ้นมา เราก็ไม่มีวันที่จะประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น อย่าปล่อยให้ความล้มเหลวแค่ไม่กี่ครั้ง ทำเราสิ้นหวัง และทำลายตัวเอง อดทน ล้มและลุก พร้อมเรียนรู้จากความผิดพลาด จะเป็นเรื่องที่ดีกว่า

กล้าที่จะเจ็บ

อย่ากลัวว่าความล้มเหลวจะทำให้เราเจ็บปวด จนเราไม่กล้าที่จะลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง เพราะถ้าเรากลัว เราจะหมดโอกาสในการประสบความสำเร็จ และยากที่เราจะหลุดจากความล้มเหลว ดังนั้น เราจึงต้องกล้าที่จะยอมรับเจ็บความเจ็บปวด เรียนรู้จากความผิดพลาด และพร้อมจะเสี่ยง เพื่อให้เราโตขึ้นได้มากกว่าเดิม

มองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น

เวลาที่เราคิดว่าตัวเองทำอะไรสักอย่างไม่ได้ หรือ มองว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญหน้าอยู่เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ลองเปลี่ยนความคิดใหม่ดู เช่น ถ้าความคิดบอกว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานนี้ ลองเปลี่ยนความคิดใหม่เป็น “มีหลายคนที่ทำงานแบบเดียวกันกับเรา และแน่นอนว่าพวกเขาก็ต้องเรียนรู้งานเหมือนกัน ไม่ได้เกิดมาแล้วทำได้เลย” เป็นต้น แล้วความหวังจะเกิดขึ้นตามมา

“No pain no gain” เป็นคำที่ใช้ได้ในตอนที่เราอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ หรือ ทำอะไรที่มีความเสี่ยง และเป็นความจริงที่ว่า แม้สุดท้ายเราจะลงมือทำแล้ว ได้รับบาดแผลมา เรามักจะได้เรียนรู้อะไรใหม่สักอย่างสองอย่างจากบาดแผลเหล่านั้น


Appendixs: 1 / 2 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line