Life

“รุ่นไม่ใหญ่แต่ใจนิ่ง” 4 สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณมีอิทธิพลต่อคนอื่นมากกว่าที่คิด

By: unlockmen February 28, 2023

ทันทีที่ได้ยินคำว่า ‘Influencer’ เราคงเผลอผูกโยงความหมายเข้ากับการตลาดออนไลน์ เน็ตไอดอล การมีผู้ติดตามจำนวนมาก มียอดไลก์ ยอดแชร์มหาศาล

แต่พ้นไปจากความหมายของการมีผู้ติดตามออนไลน์จำนวนมาก ๆ Influencer อาจหมายความถึงการที่เราเป็นผู้มีอิทธิพลต่อคนอื่นมากกว่าที่คิด (หยุดก่อน เราไม่ได้หมายความถึงผู้มีอิทธิพลจำพวกมาเฟีย วายร้าย เจ้าพ่อด้วยเช่นกัน)

แต่ถ้าสังเกตดี ๆ ในองค์กร หรือในทีม จะมีสักคนที่แม้ไม่ได้ตำแหน่งใหญ่โตอะไร แต่พูดอะไรใครก็พร้อมคล้อยตาม ทำงานอะไรคนก็ยินดีอาสาช่วยเหลือ มีคุณสมบัติของการเป็นผู้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกคนรอบข้าง โดยที่ใครคนนั้นไม่จำเป็นต้องมียอดผู้ติดตามล้นหลาม แต่มีสัญญาณบางอย่างที่เราอยากให้คุณลองสังเกตตัวเอง (และเพื่อนร่วมองค์กร) เพราะเราอาจเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลต่อใคร ๆ โดยไม่รู้ตัวมาก่อน

สัญญาณสำคัญสัญญาณหนึ่งที่ชี้ว่าในองค์กรนี้ ทีมนี้ หรือสภาพแวดล้อมนี้คุณมีอิทธิพลต่อคนรอบข้างมากคือการที่คุณคือจุดศูนย์รวมข้อมูล คุณรู้ว่าหัวหน้ากำลังเพ่งเล็งการทำงานของใคร คุณเข้าใจว่าทีมบริหารกำลังต้องการสื่อสารกับทีมมาร์เก็ตติง หรือรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ใครกำลังแอบชอบใคร

แต่การเป็นจุดศูนย์กลางข้อมูล เป็นคนละเรื่องกับการตั้งตัวเป็นหัวหอกล้อมวงนินทาคนอื่น โดยการนินทาอาจเป็นการพูดต่อ ๆ กันไปในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง หรือยังไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แต่ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่ไม่ว่าใครทำอะไร ข้อมูลเหล่านั้นมักมาถึงมือคุณก่อนเสมอ นั่นคือสัญญาณสำคัญของการเป็นผู้มีอิทธิพล

เพราะหมายความว่าคนในเครือข่ายสังคมที่อยู่วางใจ หรือเชื่อใจว่าการที่ให้ข้อมูลกับคุณไป คุณจะสามารถนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้

Georgia Institute of Technology ได้วิเคราะห์เครือข่ายทางสังคมและทำเป็นกราฟที่มีความเชื่อมโยงของความสัมพันธ์ในหลากหลายรูปแบบ การที่คุณคือศูนย์กลางข้อมูลอาจหมายถึงการที่คุณอยู่ในตำแหน่ง Betweenness Centrality ที่มีความเชื่อมโยงกับผู้อื่นมาก และหมายความว่าคุณมีความสำคัญ มีอิทธิพลต่อระบบเครือข่ายสังคมนั้นมากตามไปด้วย


การเป็นเป็นศูนย์กลางข้อมูลจากสารพัดด้านในองค์กร หรือที่ไหนก็ตาม เป็นเพียงสัญญาณเบื้องต้นว่าใครคนนั้นอาจเป็นผู้มีอิทธิพลต่อผู้คนรอบตัว แต่ที่มากไปกว่านั้นคือผู้ที่มีอิทธิพลต่อคนอื่นเข้าใจว่าควรจะบอกแค่ไหน ไม่บอกแค่ไหน พูดง่าย ๆ คือต่อให้เป็นศูนย์กลาง รับข้อเท็จจริงมา 100% ผู้ที่มีอิทธิพลต่อคนอื่นจริง ๆ จะไม่เที่ยวแพร่งพรายข้อมูล 100% ออกไปให้คนอื่น ๆ รู้

ไม่ใช่เพราะเขาเป็นสายกั๊ก หรือต้องการปั่นหัวใคร ๆ แต่อย่างใด แต่เขาตระหนักดีว่าการส่งต่อข้อมูลจำนวนมากออกไป จะสร้างความสับสนให้ผู้ฟังจนเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งตรงตามผลการวิจัยจาก University of Pennsylvania ที่กล่าวถึง “influence through ignorance” หรือการแสดงอิทธิพลผ่านการดูเป็นคนไม่รู้อะไร

ในช่วงแรกใครหลายคนจะรู้สึกดีที่มีคนคอยให้ข้อมูลจำนวนมาก ๆ แต่ท้ายที่สุดมนุษย์ที่รู้ว่าอะไรควรเก็บ อะไรควรบอกต่างหากที่จะช่วยป้องกันความเข้าใจผิดหรือความผิดพลาดได้ เนื่องจากข้อมูลที่มากเกินไป (และรับจากการส่งต่อหลาย ๆ ทอด) ก็อาจเกิดความผิดพลาดระหว่างส่งต่อได้เสมอ การรู้จักเงียบจึงเป็นทางออกที่ลงตัว


การทำงานดี มีประสิทธิภาพก็เป็นสัญญาณว่าเรามีอิทธิพลต่อคนรอบตัวได้ด้วยเหรอ? คุณอาจสงสัย เราอยากบอกว่าได้ และอาจเป็นสัญญาณที่มีความหมายในทางที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่องานวิจัย Self-Other Mergence in the Frontal Cortex during Cooperation and Competition จากนักวิจัยด้านจิตวิทยาจาก University of Oxford กล่าวว่ามนุษย์เราต้องประเมินความสามารถของตนเองและความสามารถของผู้อื่นอยู่ตลอดเพื่อการเอาตัวรอดในสังคม

งานวิจัยระบุว่าแม้มนุษย์อย่างเรา ๆ จะประเมิณความสามารถตัวเองผ่านเพอร์ฟอร์แมนซ์ตัวเองเป็นหลัก แต่เราก็รู้จักเทียบเพอร์ฟอร์แมนซ์ตัวเองกับคนในสิ่งแวดล้อมเดียวกันเช่นกัน โดยมนุษย์เลือกจะทำตามคำที่ที่มีเพอร์ฟอร์แมนซ์ดี ๆ หรือเห็นเด่นชัดที่เห็นได้ในบรรยากาศทำงานใกล้ ๆ

พูดง่าย ๆ ว่าถ้าคุณคือคนหนึ่งที่ทำงานมีประสิทธิภาพแบบเห็นเด่นชัด คุณอาจกำลังส่งอิทธิพลการทำงานบางอย่างให้เพื่อนร่วมงานโดยไม่รู้ตัว จึงไม่แปลกที่องค์กรที่มีคนขยัน หรือทำงานดีเยอะ ๆ คนในทีมก็พากันกระตุ้นตัวเอง โดยความมีอิทธิพลนี้จะยิ่งชัดมาก ถ้าคนที่ทำงานมีประสิทธิภาพสูงคนนั้นเป็นคนไม่โอ้อวด หรือถ่อมตัว


ครั้งหนึ่งเราเคยเชื่อกันว่าการสื่อสารนั้นต้องมุ่งตรงไปที่ผู้ฟังอย่างเดียวว่าพูดแบบไหนถึงจะทำให้คนฟังเชื่อหมดจด หรือคล้อยตามหมดใจ แต่การศึกษาด้านสมองที่ชื่อ Creating Buzz: The Neural Correlates of Effective Message Propagation อาจทำให้เราต้องทำความเข้าใจใหม่

การศึกษานี้ทดลองสแกนสมองของผู้รับสาร ระหว่างที่มีคนพูด พบว่าไม่ใช่แค่เรื่องข้อมูลหรือวิธีการพูดเท่านั้นที่มีความหมาย แต่การที่ผู้ฟังรับรู้ได้ว่าผู้พูดเองก็กำลังตื่นเต้น หรืออินกับสิ่งที่ตัวเองพูดมาก ๆ ก็ส่งผลต่อปฏิกิริยาทางสมองของผู้ฟังที่เลือกจะเชื่อ ไม่เชื่อ ชอบ ไม่ชอบ หรือคล้อยตามไหมด้วยเช่นกัน

สัญญาณหนึ่งของการเป็นผู้พูดที่มีอิทธิพลต่อคนในองค์กรหรือทีมคือการที่คุณตื่นเต้นที่จะได้สื่อสาร หรือส่งต่อประเด็นออกไป ถ้านอกเหนือไปจากเรื่องปฏิกิริยาทางสมองแล้ว การที่มีใครสักคนตื่นเต้นหรืออินมาก ๆ กับสิ่งที่เขาพูด ก็ย่อมมีพลังดึงดูดให้คล้อยตาม หรืออยากฟัง คนที่พูดไปอย่างนั้น ๆ อยู่แล้ว แม้ว่าข้อมูลจะแทบไม่ต่างกันก็ตาม

 

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนหนึ่งที่มีสัญญาณของการเป็นผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ครบถ้วน หรือมีบ้าง ก็ไม่ต้องตกใจไป หากมีครบถ้วนก็ใช้การมีอิทธิพลต่อผู้อื่นในทางที่ดี ทำงานให้มีประสิทธิภาพทะลุขีดขึ้นไปอีก ส่วนใครที่มีบ้างหรือไม่มีก็ไม่สำคัญเท่าเมื่อรู้ว่าอะไรมีผลต่อการโน้มน้าว หรือดีต่อการทำงานแล้ว ลองลงมือปฏิบัติตาม เราอาจกลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อคนอื่นมากกว่าที่เราคิดได้ในที่สุด


 

SOURCE 1, 23, 4, 5

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line