FASHION

SNEAKERS CODE: เจาะ “รหัสลับในรองเท้า”ของร้านค้าออนไลน์ ซื้อครั้งไหนก็เซียน

By: SPLESS August 17, 2018

การสั่งซื้อรองเท้าออนไลน์กลายเป็นอีกช่องทางช็อปปิ้งของผู้ชายสาย Sneakerhead อย่างเรา เพราะปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เอื้อให้เราไปซื้อเองที่ร้านอีกต่อไป หรือบางครั้งรุ่นที่ต้องการก็เป็นของหายากซึ่งมีขายแค่ในต่างประเทศเท่านั้น ลำบากต้องมานั่งรอพ่อค้าสายหิ้วไปอีก

แต่เมื่อเรากลายร่างมาเป็นนักช็อปฯ ออนไลน์มือใหม่ กลับต้องนั่งกุมขมับงงเป็นไก่ตาแตกกับสารพัด  Code แปลก ๆ ที่คนขายพิมพ์ต่อจากชื่อรุ่น ไม่ว่าจะเป็น DS , VNDS , OG , PE , LE

สำหรับคนที่โปรอยู่แล้ว คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าเป็นบางคนซึ่งยังไม่เชี่ยวชาญ แต่อยากได้รองเท้าดี ๆ มาครอบครองสักคู่แล้วละก็ กว่าจะทำความเข้าใจด้วยตัวเองของจะพาลหมดสต๊อกไปเสียก่อน วันนี้ UNLOCKMEN  จะขออาสาไขความกระจ่างของรหัสอักษรเหล่านี้ให้เอง

Converse All Star 1970 made in USA Seadstock / selectism

1. รหัส  DS หมายถึง Deadstock

DS คืออักษรย่อที่บ่งบอกว่ารองเท้าคู่ดังกล่าวไม่มีวางขายตามร้านทั่วไปแล้ว และไม่มีการเก็บไว้ในสต๊อก พูดง่ายๆ คือขายดีจนเกลี้ยงไปแล้ว บางรุ่นอาจยกเลิกสายการผลิต ไม่มีคู่ใหม่แน่นอน ตัวอย่างเช่น Converse ที่ผลิตใน ปี 60 s , 70 s , 80 s ทั้งหลาย

เรียกว่าถ้ามีรหัส DS ต่อท้ายส่วนใหญ่ เป็นของ Rare ขึ้นหิ้ง นาน ๆ จะหลุดมาสักคู่  โดยผู้โพสต์ขายมักจะบอกรายละเอียดสำหรับการดูของประกอบเช่น ชื่อรุ่น-ปี-  ต่อด้วยสภาพสิ้นค้า เช่น “มือสองมีกล่อง” หรือ  “มือหนึ่ง ไม่เคยใส่แต่ไม่มีกล่อง” เป็นต้น

รองเท้าจำพวก Deadstock อาจจะต้องอาศัยคนที่อยู่ในวงการมานานให้ช่วยดูอีกทีว่าเป็นของแท้หรือของปลอม เพราะราคาไม่ใช่ถูก ๆ คงต้องรอบคอบเป็นพิเศษสำหรับรหัสนี้

Nike Zoom Pegasus Turbo / gear patrol

 

2. รหัส VNDS หมายถึง Very Near Daedstock

VNDS คือรหัสย่อที่บอกว่ารองเท้าคู่นั้น ๆ เป็นของที่ใกล้จะหมดแล้ว จะหาไม่ได้ง่าย ๆ อีก บางทีอาจมีหลงเหลือตามร้านบ้าง แต่เหลือน้อยมาก อาจมีรุ่นแต่ไม่เหลือเบอร์แล้ว เป็นต้น  แน่นอนว่าราคาไม่แรงเท่า Deadstock  แต่ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว  ส่วนใหญ่เป็นรองเท้าออกมาใหม่และกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในเวลานั้น หรือเป็นสีที่นำเข้ามาจำนวนจำกัด เมื่อหมดแล้วก็จะเปลี่ยนสีไปเลย ไม่มีขายอีกเหมือน Shop ในบ้านเรานิยมทำกันส่วนใหญ่

พูดง่าย ๆ คือถ้าถูกใจก็ห้ามช้าเหมือนกัน ส่วนมากเป็นมือหนึ่ง หรืออาจมีมือสองที่เจ้าของซื้อไปแล้วใส่ไม่พอดี จึงอยากขายออกเลยในช่วงที่กำลังนิยมกันอยู่นั่นเอง

adidas NMD R1 OG white / Freshnessmag

3. รหัส OGs หมายถึง Originals

น่าจะเป็นอักษรย่อที่เห็นผ่านตากันบ่อยที่สุดทั้งหลาย ซึ่งรหัสนี้แสดงว่ารองเท้าคู่นั้น “เป็นรุ่นต้นฉบับ” คือผลิตและวางขายเป็นรุ่นแรก ซีรีส์แรกของสายการผลิตนั้น โดยคนมักจำสับสนกับคำว่า Retro ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงเพราะ Retro ก็การนำรองเท้ารุ่นเดิมที่เคยผลิตมาก่อนแต่อาจเคยได้รับความนิยมมาก จึงมีการผลิตซ้ำเพื่อขายใหม่อีกครั้ง อย่าสับสนกันนะครับ OG หมายถึงรุ่นแรก ท่องไว้  ๆ

Nike Kyrie 4 Duke Blue PE / sneakernews

4. รหัส PE หรือ Player Edition

รหัสนี้ส่วนใหญ่มักเจอในรองเท้ากีฬาต่าง ๆ โดยเฉพาะบาสเกตบอล เพราะนอกจากใส่ออกกำลังแล้วยังสามารถใส่แฟชั่นได้ด้วย โดยเป็นรุ่นที่ออกแบบมาให้เหมือนคู่ที่นักกีฬาใส่ลงแข่งขันในสนาม อาจวางขายตาม Shop บางแห่ง (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ) หรือวางขายภายในเวลาจำกัดเฉพาะช่วงเทศกาลหรืออีเวนต์สำคัญเท่านั้น

แต่ยังมี PE อีกความหมายคือ Player Exclusives คือผลิตมาตามความต้องการของตัวนักกีฬาไว้ใส่ส่วนตัวโดยเฉพาะ ไม่มีวางขายที่ไหนทั้งนั้น ถ้าใครไปเห็นเข้าละก็เข้าใจได้เลยว่ามีเพียง 2 แบบคือ ของปลอม และได้รับจากนักกีฬาในสนามแข่งและเอามาออกประมูลขายเท่านั้น

 

Blue Vans Star Wars Themed Authentic LE / Vansstore

5. รหัส LE  หรือ Limited Edition

เช่นเดียวกับสินค้าอื่น ๆ  Sneakers รหัส LE หมายความว่าเป็นรุ่นพิเศษ ที่ผลิตขึ้นมาตามวาระโอกาสต่าง ๆ  อาจเป็นงาน Collaboration ระหว่างแบรนด์ด้วยกัน หรือกับบุคคลที่มีชื่อเสียง และแน่นอนว่ามักผลิตในจำนวนที่จำกัด ตามสูตรทุกอย่าง งานนี้มีการอัพราคากันรัว ๆ แน่นอน

ยังมีอักษรย่อหรือศัพท์เฉพาะอีกมากมายในโลกของ Sneaker  ซึ่ง UNLOCKMEN จะมาขยายความให้อีกเพิ่มในเร็ววันนี้  แต่รับรองว่า 5 ข้อด้านบนก็ครอบคลุมสำหรับการซื้อรองเท้าผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยตัวเอง  ส่วนใครยังไม่เข้าใจรายละเอียดอะไร เราแนะนำเลยว่าให้กล้าสอบถามพ่อค้า เพราะคนขายที่ดีย่อมอธิบายและช่วยเหลือเราเสมออยู่แล้ว

SPLESS
WRITER: SPLESS
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line